ผลงานทางวิชาการ การพัฒนาชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่องงานช่าง ชั้น ม.3


การพัฒนาชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่องงานช่าง ชั้น ม.3

ชื่อเรื่อง  การพัฒนาชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง งานช่าง วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนโนนปูนวิทยาคม จังหวัดศรีสะเกษ
 
ชื่อผู้วิจัย  นายถาวรณ์  วังสำเภา ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ โรงเรียนโนนปูนวิทยาคม อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ องค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ


บทคัดย่อ

        การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่องงานช่าง ที่มีประสิทธิภาพ  ตามเกณฑ์ 80/80 เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่องงานช่าง ศึกษาทักษะการปฏิบัติงานของนักเรียนระหว่างการเรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง งานช่าง และศึกษาความพึงพอใจต่อการเรียนรู้โดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง งานช่าง วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนโนนปูนวิทยาคม  จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งทำการศึกษากับกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 โรงเรียนโนนปูนวิทยาคม จังหวัดศรีสะเกษ ปีการศึกษา 2554 จำนวน 25 คน ได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) ห้องเรียน ระยะเวลาที่ทำการวิจัยตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ถึงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554 รวม 12 สัปดาห์ ใช้เวลาในการศึกษา 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ รวม 24 ชั่วโมง

        เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 12 แผน 2) ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง งานช่าง จำนวน 12 ชุด 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังการใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ จำนวน 40 ข้อ เป็นแบบปรนัยเลือกตอบ 4 ตัวเลือก 4) แบบทดสอบย่อยแต่ละชุดฝึกทักษะปฏิบัติ ชุดละ 10 ข้อ เป็นแบบปรนัยเลือกตอบ 4 ตัวเลือก 5) แบบประเมินทักษะการปฏิบัติงาน 5 ด้าน ได้แก่ การวางแผนการปฏิบัติงาน ความมีวินัยและมุ่งมั่นในการทำงาน การทำงานเสร็จตรงเวลา ความสมบูรณ์ของงาน ความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน และ 6) แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ โดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่องงานช่าง วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และเปรียบเทียบคะแนนทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยการทดสอบค่าที (t-test dependent) สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้
        1. ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง งานช่าง วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ 82.93/81.10
        2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน โดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง งานช่าง วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
        3. ผลการศึกษาทักษะการปฏิบัติงานวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี โดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง งานช่าง นักเรียนมีทักษะการปฏิบัติงานอยู่ในระดับดีมาก โดยมีคะแนนเฉลี่ย เท่ากับ 44.10 คิดเป็นร้อยละ 91.87 และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 2.89
        4. ผลการศึกษาความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ หลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ เรื่อง งานช่าง วิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้อยู่ในระดับมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.72  ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.54

        ผลการวิจัยครั้งนี้ สามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับครูผู้สอนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ในการพัฒนาการเรียนรู้ โดยใช้ชุดฝึกทักษะปฏิบัติ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในการนำผลการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการจัดการกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 483462เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2012 00:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท