แลกเปลี่ยนเรียนรู้พื้นที่ Tract C ณ สสช.ห้วยมอญ


หลังจากเมื่อสองเดือนที่แล้ว ได้ชักชวนเอาบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในสถานบริการสาธารณสุขชุมชน(สสช.) พร้อมด้วยอสม.เชี่ยวชาญ(อสม.ช.) จำนวน ๑ คน เรียกว่าเป็นคู่หูบัดดี้ที่ได้ร่วมปฏิบัติงานในพื้นที่ ได้มาเรียนรู้เรื่องการจัดการสุขภาพชุมชน (ดูบันทึกครั้งที่แล้ว) ณ บ้านปัวชัย ตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เป็นระยะเวลา ๒ วัน ๑ คืน เพื่อให้บุคลากรและอสม.ได้เรียนรู้แนวคิดและวิธีการจัดการสุขภาพชุมชน โดยใช้บ้านปัวชัยเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องการสร้างอสม.ช. และพยาบาลประจำครอบครัว ในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน เป็นการส่งเสริมให้ชุมชนดูแลกันเอง 

แต่เนื่องจากพื้นที่สสช.นั้น นับว่าเป็นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร มีบริบทที่แตกต่างกันไป ศักยภาพและความพร้อมของบคุลากรและชุมชนก็แตกต่างไปจากพื้นราบทั่วไปค่อนข้างมาก ดังนั้นวิธีการปฏิบัติย่อมแตกต่างไปตามบริบทของพื้นที่ เอาปัญหาและความต้องการของพื้นที่เป็นตัวตั้ง เน้นสร้างอสม.และชุมชนในการดูแลจัดการสุขภาพของตนเอง หลังจากได้เรียนรู้และได้แนวคิดแล้วก็ได้นำเอาวิธีการไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ ครบ ๒ เดือน จึงได้ชักชวนกันมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานในแต่ละพื้นที่ โดยได้จัดสัญจรไปยังพื้นที่ สสช.บ้านห้วยมอญ ตำบลเรือง อำเภอเมืองน่าน ในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๕๕ มีบุคลากรในสสช.และอสม.เข้าร่วมเวทีราว ๕๐ คน

กระบวนการเรียนรู้เริ่มจากคุณฌัชชภัทร พานิช สาธารณสุขอำเภอภูเพียง ได้โหมโรงเรื่องความสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และบทเรียนจากการนำทีมบุคลากรสสอ.ภูเพียง ไปเรียนรู้ในพื้นที่โครงการภูฟ้าพัฒนา ในพื้นที่บ้านน้ำว้า ตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอบ่อเกลือ ที่พบว่าจากวิธีคิดที่ได้นำไปปรับใช้ในพื้นที่ยากลำบากนั้นต้องปรับให้สอดคล้องกับพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มแกนนำในพื้นที่นั้นส่วนใหญ่จะไม่ได้อยู่บ้าน ออกปรับจ้างต่างถิ่น ทำให้มีปัญหาพอสมควรในการจัดเวทีพูดคุยเพื่อขับเคลื่อนงาน แต่ก็อาศัยอสม.และผู้ใหญ่บ้านเป็นแกนหลัก เริ่มจากการกำหนดละแวกคุ้มของอสม.ให้ชัดเจน คัดกรองค้นหาปัญหาในพื้นที่ พบว่าปัญหาปากท้องเป็นเรื่องสำคัญ ก็จะเริ่มจากให้ชุมชนมีกิน อยู่รอดก่อน แล้วค่อยเติมเรื่องอยู่อย่างมีสุขภาพดีตามมา

หลังได้เกริ่นนำพอเครื่องร้อน ก็ได้ให้สสช.ห้วยมอญ เจ้าของพื้นที่ได้มาบอกเล่าเรื่องราวการจัดการสุขภาพพื้นที่ โดยสสช.บ้านห้วยมอญ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๓๖ รับผิดชอบประชากร ๑ หมู่บ้าน มี  ๓ กลุ่มบ้าน(ป๊อก) ประชากร ๗๓๐ คน มีเจ้าหน้าที่ ๒ คน และอสม.ช. ๒ คน ที่เข้ามาช่วยดูแล สำหรับกระบวนการจัดการสุขภาพชุมชน ได้ดำเนินการดังนี้

  • การคัดกรองภาพ กลุ่มเป้าหมายอายุตั้งแต่ ๑๕ ปีขึ้นไป
  • การนำเอาข้อมูลคัดกรองสุขภาพมาแบ่งกลุ่มเป้าหมาย และกำหนดละแวกคุ้มการดูแล มีการคืนข้อมูลให้แก่ชุมชน
  • จัดเวทีประชาคมค้นหาปัญหาในชุมชน พบว่ามีปัญหาหลักได้แก่ การดื่มสุรา, การใช้สารเคมีในเกษตรกร, ฝุ่นละอองจากการสีข้าวโพด, ปัญหาอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชน(การเลี้ยงหมู), การส่งเสริมการออกกำลังกาย ซึ่งแต่ละปัญหาก็ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
  • การจัดอบรมอสม.ช.และพยาบาลประจำครอบครัว ในกลุ่มเป้าหมายผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุที่ขาดการดูแล
  • การอบรมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง
  • นำอสม.ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาฝึกงานในสสช.วันละคน ในเรื่องการวัดความดัน วัดไข้ การทำแผล การดูแลพยาบาลเบื้องต้น
  • ให้อสม.ช.ได้ออกติดตามเยี่ยมบ้านในละแวกคุ้มตนเอง
  • ค้นหาบุคคลต้นแบบ
  • สรุปผลการเยี่ยมบ้านร่วมกันทุกเดือน

ซึ่งในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครั้งนี้สสช.ห้วยมอญ ได้นำเอาบุคคลต้นแบบเลิกเหล้า บุคคลต้นแบบเลิกบุหรี่ บุคคลต้นแบบการดูแลตนเอง พยาบาลประจำครอบครัว แกนนำชุมชน อบต. มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย ทำให้เห็นรูปธรรมของงานและกระบวนการทำงานได้ชัดเจนขึ้น

 

“การกิ๋นเหล้าเหมือนกับเอาเงินขว้างลงแม่น้ำ”

“ผมจบหลักสูตรการกิ๋นเหล้าแล้ว แต่หลายคนยังไม่จบหลักสูตร”

 

หลังจากนั้นภาคบ่าย ได้แบ่งกลุ่มย่อยตั้งวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่ว่าแต่ละพื้นที่ได้มีการจัดการสุขภาพอย่างไรหลังจากการจัดเวทีครั้งที่แล้ว ซึ่งในภาพรวมก็จะเห็นว่าแต่ละพื้นที่ได้กลับไปพูดคุยกันในพื้นที่ มีการอบรมอสม.ช.และพยาบาลประจำครอบครัว กำหนดกลุ่มเป้าหมายการดูแลและเยี่ยมบ้าน มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่ การค้นหาบุคคลต้นแบบ

ช่วงท้ายของการเรียนรู้ได้มีการแลกเปลี่ยนประเด็นการพัฒนาสสช.ร่วมกัน และคุณฌัชชภัทร พานิช ก็ได้ย้ำความคิดสำคัญในการที่จะทำงานบนหลักการพึ่งตนเอง สร้างผลงานให้เป็นรูปธรรม เน้นการเรียนรู้เชิงปฏิบัติ ทำแล้วกลับมาทบทวนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเป็นระยะๆ โดยครั้งหน้าจะนัดหมายกันที่ สสช.บ้านดอยติ้ว ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นไปอย่างมีพลัง เห็นรูปธรรมของงานชัดเจนมากขึ้น เห็นประเด็นบางอย่างที่จะกลับไปทำงานต่อ เห็นพลังการเรียนรู้ มีพลังใจที่จะกลับไปทำงานต่อในพื้นที่ เพื่อพี่น้องประชาชนที่อยู่ชายขอบ ได้มีความอยู่ดีมีสุข เข้าถึงบริการสุขภาพ สามารถพึ่งตนเองได้ทางสุขภาพ แล้วอีก ๒ เดือนกลับมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันใหม่

 

...........................................................

ขอบคุณ บุคลากรสสช.ห้วยมอญ อสม. และแกนนำชุมชนบ้านห้วยมอญ เจ้าของพื้นที่ที่ได้นำเรื่องราวดีดีมาแบ่งปัน

ขอบคุณบุคลากรสสช.และอสม.จากพื้นที่ห่างไกลทีมาร่วมเรียนรู้และแบ่งปันประสบการณ์ดีดีแก่กันและกัน

ขอบคุณทีมสสอ.ภูเพียง ที่จัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีพลัง

ขอบคุณเจ้าหน้าที่หน่วยจัดการต้นน้ำสะเนียน-สะไล ที่เอื้อเฟื้อสถานที่และอำนวยความสะดวกต่างๆ

 

หมายเลขบันทึก: 483360เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2012 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ศรัจจันทร์ อุดมแก้วกาญจน์

ชื่นชมและให้กำลังใจ..ผู้ทำงานในที่ยากลำบากทุกคนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท