บทเรียนที่ไม่ตาย 3 ชาตรี สำราญ


คนไม่เคยคิดเป็นระบบ พอถูกถามให้คิดติด ๆ กัน ชักจะง่วงนอนขึ้นมาทันที เพราะสมองมันล้า มันเหนื่อย สมองต้องทำงานหนัก จากที่เคยจำ เคยรำลึกได้มาให้คิดได้ มันต้องใช้สมองคนละซีกกัน เดิมทีเคยใช้แต่สมองซีกขวา มาเป็นหน้าที่ของสมองซีกซ้าย ความเหนื่อยจึงเกิดขึ้น ดังนั้นต้องสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบแต่ฝึกฝนอย่างต่อเนื่องแบบหวังผล

คิดอย่างมีเหตุมีผล

                 การสอนให้ผู้เรียนรู้จักคิดจนกระทั่งถึงขั้นคิดเป็นนั้น    ผู้สอนจะต้องค่อย ๆ สอน  อย่าเร่งรีบสอนทีเดียวให้เป็น  ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น   คือ  คนไม่เคยคิดเป็นระบบ  พอถูกถามให้คิดติด ๆ กัน  ชักจะง่วงนอนขึ้นมาทันที  เพราะสมองมันล้า  มันเหนื่อย  สมองต้องทำงานหนัก  จากที่เคยจำ  เคยรำลึกได้มาให้คิดได้  มันต้องใช้สมองคนละซีกกัน  เดิมทีเคยใช้แต่สมองซีกขวา  ซึ่งเป็นการทำตามจังหวะ  จินตนาการจดจำแล้วเปลี่ยนมาคิดวิเคราะห์    วิจารณ์หาเหตุผลอันเป็นหน้าที่ของสมองซีกซ้าย   ความเหนื่อยจึงเกิดขึ้น  ดังนั้นต้องสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป   ไม่เร่งรีบแต่ฝึกฝนอย่างต่อเนื่องแบบหวังผล

                แรก ๆ ฝึกให้ผู้เรียนคิดอย่างมีเหตุมีผล สอนให้รู้ก่อนว่า “เพราะเหตุใดจึงเกิดเรื่องนี้ขึ้นมา”  หรือที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “เพราะสิ่งนี้มีจึงมีสิ่งนี้  เพราะสิ่งนี้ไม่มีจึงไม่มีสิ่งนี้”  ดังนั้น เรื่องที่ควรหยิบยกมาสอนควรเป็นเรื่องง่าย ๆ   ใกล้ตัวผู้เรียนแบบว่า

            เมื่อคืนฝนตกหนัก

            น้ำท่วมถนน

เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่มักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ   และใกล้ตัวผู้เรียน   เรียนเสร็จแล้ว  ผู้สอนถามว่า  อะไรเป็นเหตุ   อะไรเป็นผล   ถ้าผู้เรียนมองเห็น ภาพแล้ว  ผู้เรียนจะตอบได้   ลองให้ผู้เรียนคิดเรื่องอื่น ๆ มาเขียนบ้าง   พร้อมทั้งบอกด้วยว่า “ไหนเหตุ   ไหนผล”  ถ้าผู้เรียนเข้าใจแล้ว  ฝึกคิดต่อไปอีกจนผู้เรียนเกิดความ(คิด)คล่อง

                “เมื่อคืนฝนตกหนัก  น้ำท่วมถนน”   เป็นประโยคที่เกิดจาก เหตุเดียว   ผลเดียว  ลองคิดประโยคหลายเหตุ ผลเดียว ดูบ้างแบบ

                ท่อระบายน้ำตัน

                ฝนตกหนักเมื่อคืน

                น้ำจึงท่วมถนน

ประโยคแบบนี้เรียกว่า  หลายเหตุ  ผลเดียว  ลองเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิดประโยคแบบนี้อีก เช่น

                ฉันเป็นโรคกระเพาะอาหารอักเสบ

                ลืมรับประทานยาก่อนอาหาร

                รับประทานอาหารที่มีรสเผ็ด

                ฉันจึงปวดท้อง

จากประสบการณ์สอนที่ผ่านมา  มีผลงานของผู้เรียนเท่าที่จำได้ จำแต่ผลงานได้  ลืมชื่อเจ้าของผลงาน  เพราะนานนับยี่สิบปีแล้ว  เช่น

  1. ดอกไม้บานแต่เช้า

แมลงบินมาดูดน้ำหวาน

2. ผีเสื้อหลายสีบินมาที่ดอกไม้

เด็ก ๆ ยืนดู

3. ฉันขี้เกียจเรียนหนังสือ

ตอบข้อสอบไม่ได้

สอบไม่ผ่าน

ถูกคุณแม่บ่นว่า

ฉันต้องเรียนแก้ตัวใหม่

ข้อความที่  3  เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเด็กผู้ชายคนหนึ่ง  เป็นเรื่องจริงของเขา   ยังจำได้ตอนที่เขานำผลงานมาส่ง   เด็กน้อยบอกว่า เหตุเดียว แต่ผลมากจัง

                ผลงานของผู้เรียน ผู้สอนควรกระตุ้นให้ผู้เรียนช่วยกันเขียนแล้วตกแต่งให้สวยงาม  นำประดับไว้ที่ป้ายแสดงผลงาน  ซึ่งจะเป็นแหล่งเรียนรู้ล้ำค่าของผู้เรียน เพราะเมื่อแต่ละคนมาอ่านผลงานตรงนั้นแล้ว  จะช่วยให้คิดงานใหม่  ได้อีกคนละหลาย ๆ ความคิด  เป็นการทำแบบฝึกหรือการบ้านที่ครูไม่ได้มอบหมาย  แต่ผู้เรียนเขาจะคิดทำด้วยตัวของเขาเอง  ครูเพียงแต่สร้างพื้นที่แสดงผลงานของผู้เรียนไว้ให้เพียงพอ

                ธรรมดาของผู้เรียนนั้น  เมื่อเห็นแบบ  เห็นตัวอย่าง  เขาก็จะนำมาคิดสร้างผลงานของตนเองได้  ผู้เรียนบางคนที่อ่านเขียนไม่คล่อง  เขาก็จะสร้างผลงานตามแบบของเขา  ขอเพียงผู้สอนให้ความสนใจต่อผลงานของเขาให้เท่าเทียมกับงานชิ้น     ดี ๆ   ของคนที่เรียนเก่ง  เขาก็จะมีกำลังใจในการสร้างผลงานของตน   ดังตัวอย่าง  ผลงานชิ้นหนึ่งเขียนว่า

                อ่านไม่ค่อยออก

                เขียนไม่ค่อยได้

                จะกลับบ้าน

ปรากฏว่าผลงานชิ้นนี้   ครูผู้สอนนำมาให้เพื่อน ๆ วิจารณ์ในเชิงบวก   ผลของการวิจารณ์ทำให้เจ้าของผลงานชิ้นนี้ดีใจและพยายามเขียนอีกเพราะเพื่อน ๆ บอกว่า

-          ผู้เขียน  เขียนจากความจริง  จึงประทับใจมาก

-          ผู้เขียนใช้คำง่าย ๆ แต่ได้ใจความดี  น่าสนใจวิธีคิด

-          คนเขียนความจริงโดยใช้คำง่าย ๆ  นั้น คิดเขียนได้ยาก

มาถึงตรงนี้ใคร่จะบอกว่า  แรก ๆ  ที่ผู้เรียนส่งผลงาน  ผู้สอนจะต้องช่วยวิจารณ์ผลงานในเชิงบวกให้บ่อย ๆ   เพราะจะช่วยขยายแนวคิดให้ผู้เรียน  ทุกครั้งที่ได้ฟังคำวิจารณ์จากครูผู้สอน  เจ้าของผลงานจะได้ความคิดจะเห็นทาง ที่จะพัฒนางานเขียนของตนต่อไป  ต่อมาฝึกให้ผู้เรียนผลัดกันวิจารณ์ผลงานในเชิงบวกบ่อย ๆ  จะเป็นการฝึกขยายความ(คิด)ของผู้วิจารณ์และเจ้าของผลงานและพร้อมกับฝึกภาษาหรือการนำภาษามาใช้ได้อย่างดี   เริ่มต้นการวิจารณ์จะอยู่ในวงแคบ  ต่อ ๆ ไปภาษาของผู้เขียนจะค่อย ๆ  ขยายความคิด  ขยายวงคำ ที่นำมาวิจารณ์ได้มากขึ้น  และแน่นอนผู้เรียนจะติดใจภาษาของผู้สอนแล้ว  นำมาใช้ในการวิจารณ์ผลงานของกันและกัน  ดังตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นข้างต้นก็ไม่เป็นไร  เพราะนั่นแหละคือ การขยายวงคำ ของผู้เรียน  เมื่อผู้เรียนขยายวงคำออกไปมาก ๆ  การพัฒนางานเขียนของผู้เรียนก็จะปรากฏเห็นขึ้นชัดเจน

                อีกอย่างหนึ่งที่เคยจัดทำมาแล้วคือ ให้ผู้เรียนนำผลงานของตนกับเพื่อน มาหาความเหมือน  ความต่างกัน   เมื่อหาได้แล้วก็นำเหตุผล หรือ ยกเหตุผล  มาอธิบายให้เห็นภาพว่า มีจุดใดที่เหมือนกัน  มีจุดใดที่ต่างกัน  ทำไมจึงเป็นอย่างนั้นมีเหตุผลใดประกอบให้เห็นว่า ควรจะรับฟังได้  นี่คือการฝึกให้ผู้เรียนคิดอย่างมีเหตุผล  แน่นอนว่าแรกเริ่มนั้น  ผู้เรียนจะหาจุดต่าง  จุดเหมือนได้น้อย  แต่ฝึกไปฝึกไป ๆ  ทุกอย่างจะเพิ่มขึ้นการมองหาเหตุผลก็จะมีมากขึ้น  นั่นคือจะสามารถอธิบายให้ยาวขึ้นได้   ตรงนี้ผู้สอนจะต้องใจเย็น  ต้องอดทน  ต้องรอได้ บทบาทของผู้สอนตรงนี้คือ ผู้ฝึก  ผู้สอน นั่นคือจะต้องสอนจะต้องฝึกให้ผู้เรียนคิดหาความเหมือน  ความต่างกันในรูปแบบที่ต่างกัน  เพื่อว่าผู้เรียนคนหนึ่งอาจจะพอใจวิธีคิดแบบหนึ่ง  แต่อีกคนหนึ่งจะพอใจวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง  เพราะฉะนั้น  ครูผู้สอนควรสอนรูปแบบการคิดหลาย ๆ รูปแบบ  เพื่อเป็นตัวเลือกให้แก่ผู้เรียน

 

                วิธีการคิดจะช่วยให้ผลของการคิดเห็นภาพชัดเจน

             

                1. เช้าตรู่ดอกไม้บาน           ผีเสื้อบินมาดูดน้ำหวาน

                2. เช้าตรู่ฝนตก                     รถติด

   (ลงไม่ได้ กรุณาอ่านที่
https://sites.google.com/site/chatreesamran/hnangsux/-doc-13 ครับ)

วงกลมซ้อน   (Venn Diagram)  ภาพประกอบหมายเลข 1

 

 

                จากประสบการณ์การสารสอนคิดเชิงเหตุผลที่ผ่านมา  พบว่าเมื่อให้ผู้เรียน คิดเขียนแบบ  “เมื่อคืนฝนตกหนัก  น้ำท่วมถนน”  นั้น ผู้เรียนส่วนหนึ่งจะคิดเขียนไม่ได้  เพราะไม่เข้าใจว่า  อะไรคืออะไร  ก็ลองให้คิดเขียนแบบ

                เพราะ  ฝนตกหนักเมื่อคืนนี้

                น้ำจึงท่วมถนน

ปรากฏว่า  มีผู้เรียนกลุ่มหนึ่งสามารถคิดเขียนเรื่องราว คิดเชิงเหตุผลได้ และอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้นำสอนคือ คิดเขียนแบบ

                ถ้าฝนตกหนัก

                น้ำจะท่วมถนน

วิธีคิดเขียนแบบนี้ก็ช่วยให้ผู้เรียนคิดเขียนได้เช่นกัน  เมื่อพบภาพอย่างนี้จึงคิดว่า  รูปแบบ การคิดเขียนหรือวิธีการ คิดเขียนนั้น  ควรสอนให้เห็นภาพวิธีการคิดหลาย ๆ วิธี  หลาย ๆ รูปแบบ  เพราะผู้เรียนคนหนึ่งอาจจะเข้าใจวิธีการหรือรูปแบบการคิดแบบหนึ่ง  แต่ผู้เรียนอีกกลุ่มหนึ่งอาจจะเข้าใจวิธีคิด  เขียนอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างกันไป

            ผู้เรียนแต่ละคนสนใจวิธีเรียนแต่ละรูปแบบ  ถ้ามีแบบให้ผู้เรียนเลือกได้ ก็จะตอบสนองความต้องการของผู้เรียนรายบุคคล

               

                ถามว่าเมื่อผู้เรียนคิดเขียนเชิงเหตุผลได้แล้ว จะนำมาใช้ประโยชน์อย่างไรบ้าง  เท่าที่ได้เคยนำใช้กับการวิเคราะห์ข่าว เพิ่มเติมจากใคร  ทำอะไร  ที่ไหน  เมื่อไร  อย่างไร  นั้นได้กระตุ้นให้ผู้เรียนค้นหาเหตุที่เกิดข่าวและผลที่เกิดขึ้น  โดยไม่ได้ให้วิเคราะห์ว่าใคร  ทำอะไร  ที่ไหน  เมื่อไร  อย่างไรเลย  แต่บทสรุปจะออกมาในรูปแบบการวิเคราะห์แบบนั้นผสมผสานเข้าไปด้วย  เช่น

                เหตุ        ตำรวจชายแดนจับคนค้ายาบ้าสองผัวเมียชาวเขมรได้ที่ชายแดนจังหวัดตราดเมื่อ........

                ผล          สามารถจับยาบ้าได้   จำนวน  220  เม็ด

                                สามารถขยายผล จับผู้รับซื้อยาบ้าไปขายต่อได้อีก  1  คน

ซึ่งจะเห็นได้ว่า  ประโยคเหตุและประโยคผลนี้ระบุชัดเจนว่า  ใคร  ทำอะไร  ที่ไหน  เมื่อไร  อย่างไร  อย่างครบถ้วน

                กรณีนี้หรือกลวิธีสอนแบบนี้นั้น  ถ้าผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนค้นข่าว จากสื่อสิ่งพิมพ์มานั่งวิเคราะห์  แยกเหตุหาผล จนช่ำชองแล้ว  ฝึกจนสามารถวิเคราะห์ หาความน่าเชื่อถือของข่าวที่มีอยู่ในเนื้อข่าวได้  นี่คือสุดยอดของการเรียนรู้  นี่คือบทเรียนที่มีส่วนสัมพันธ์กับชีวิตจริง  ด้วยเหตุว่าสังคมปัจจุบันนี้เต็มไปด้วยข่าวลือ  ข่าวกุ  ข่าวปล่อยและข่าวจริง  ที่ผสมผสานกันจนกระทั่ง  ถ้าไม่เก่งจริง ดีจริงก็จะแยกไม่ออกว่า “อะไรคือข่าวจริง  อะไรคือข่าวลวง”  ดังนั้น ผู้เรียนจะต้องฝึกฝนเรียนรู้เรื่องนี้  เพื่อความอยู่รอดในสังคม  บทเรียนอย่างนี้แหละที่โรงเรียนจำเป็นจะต้องฝึกฝนให้ผู้เรียนเกิดทักษะถาวร สอนให้ผู้เรียนเรียนรู้จนเกิดเป็นทักษะชีวิต

                การรู้เท่าทันสังคมส่งผลให้มีชีวิตอยู่รอดในสังคม

 

อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume... 

หมายเลขบันทึก: 483357เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2012 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท