บทเรียนที่ไม่ตาย 2 ชาตรี สำราญ


วรรณกรรมหรือวรรณคดีแต่ละเรื่อง ถ้านำมาสอนให้ลึกซึ้ง สอนให้เห็นชีวิตในชีวิต สอนให้เข้าถึงชีวิตจริงที่ซ่อนอยู่ในวรรณคดีก็จะเกิดปัญญาอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ปัญญาแห่งการเรียนรู้เพื่อสร้างเกรด แต่เป็นปัญหาเพื่อแก้ปัญหาชีวิตของตนเองได้

ทำไมจึงต้องสอนให้นักเรียนคิดเป็น

               สังคมปัจจุบันนี้เป็นสังคมข่าวสารข้อมูล (Information Society) เมื่อสังคมมากด้วยข่าวสารข้อมูล  เราย่อมที่จะเป็นผู้บริโภคข่าวสารข้อมูล  ถ้าเราไม่ศึกษาไม่วิเคราะห์ข่าวสารแล้วก็จะสับสนกับชีวิต เพราะข่าวสารที่ประดังกันเข้ามานั้น แม้ว่าจะเป็นข่าวเดียวกัน แต่บ่อยครั้งที่สาระของข่าวกลับต่างกัน ยากที่จะตัดสินใจว่าจะเชื่อข่าวที่มาจากใครได้มากกว่ากัน ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องสอนให้ผู้เรียนเรียนรู้วิธีการรับข่าวสารข้อมูล รู้และเข้าใจวิธีการแลกเปลี่ยนข่าวสารและวิธีการศึกษาข่าวสารข้อมูลที่รับมา ร่วมกันสร้าง สังคมของความรู้  ( knowledgeSociety)ครูผู้สอนจะต้องนำผู้เรียนเข้าไปเรียนรู้ความจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตและสังคม ฝึกฝนผู้เรียนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้(Learning  Person ) 

               ปัญหาหลากหลายที่เกิดขึ้นในสังคม  เหตุการณ์หลาย ๆ เหตุการณ์ที่เชื่อมโยงหรือสอดคล้องกับผู้เรียนผู้สอนจำเป็นที่จะต้องหยิบยกปัญหาเหล่านั้นมาเป็นสถานการณ์เรียนรู้สู่ผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ร่วมกันศึกษา  เรียนรู้ ร่วมกันคิดวิเคราะห์ สร้างข้อสรุปเป็นความรู้ใหม่ สร้างวิธีคิดใหม่  สร้างมุมมองใหม่ ไม่นำตนเองไปแข่งขันกับสังคมรอบข้าง แต่ฝึกเป็นผู้มองตนเอง แข่งขันกับตนเองเพื่อพัฒนาตนเอง  ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ร่วมกันทำงานอย่างผู้มีคุณธรรม จริยธรรม ส่งเสริมจิตวิญญาณประชาธิปไตยให้มีในตัวผู้เรียน นั่นคือผู้เรียนจะต้องคิดเป็น พึ่งตนเองได้และรู้จักวิธีการแก้ปัญหา นี่คือปัญญา  ที่ต้องการให้เกิดแก่ผู้เรียน

               คำว่า ปัญญา   มีความหมายอยู่ 2  ความหมาย  ความหมายแรก หมายถึงปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้จากสถานศึกษา จนกระทั่งได้รับปริญญาบัตรสูงขึ้นไปตามลำดับ ยิ่งถ้าได้เกียรตินิยมด้วยก็ถือว่ามีปัญญาดี นี่คือปัญญาทางโลกย์  ความหมายที่สอง หมายถึงผู้ที่เรียนรู้จักตนเอง จนเห็นและเข้าถึงความจริงในความเป็นจริงของสรรพสิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับตนรู้เท่าทัน  ความรู้สึกนึกคิดหรืออารมณ์ต่าง ๆที่เกิดขึ้นในตน  เห็นอารมณ์นั้น ๆ  แล้ว ละไปได้  ไม่ให้มาก่อเกิดปรุงแต่งเป็นอารมณ์ยืดยาว  ไม่ทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะรู้เท่าทัน  ไม่นำมาคิดต่อ อารมณ์เหล่านั้นก็หมดไป  การรู้เท่าทันและละอารมณ์เหล่านี้ได้ นี่แหละคือตัวปัญญา ในความหมายที่สอง  อันเป็นความรู้ที่สามารถนำตนให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้เป็นความรู้ทางธรรม

               คำว่าปัญญาในความหมายที่สองนี้แหละ  จะเกิดขึ้นได้นั้นผู้ปฏิบัติการเรียนรู้จะต้องรู้ได้ด้วยตนเอง ความรู้อย่างนี้จะมีอยู่ในตนเอง ไม่มีใครสามารถป้อนให้เกิดได้  จดให้ท่องจำ  จำแล้วก็ไม่เกิดปัญญา จะมีปัญญาได้ต้องปฏิบัติตามขั้นตอน ด้วยวิธีการที่สอดคล้องกับจริตของตน จากสมาธิไปสู่วิปัสสนา  ซึ่งมีหลากหลายวิธีการ ครูผู้สอนเป็นเพียงผู้บอกวิธีการเท่านั้นแต่ไม่สามารถบอกตัวรู้หรือความรู้ให้ผู้เรียนได้ ถึงจะบอกความรู้ให้แต่ผู้เรียนจะไม่เกิดตัวรู้ เพราะตัวรู้ของใครของคนนั้นในขณะที่ผู้เรียนสร้างความรู้( Constructivism) ด้วยวิธีการสมาธิ  วิปัสสนา จนรู้เท่าทันอารมณ์หรือรู้จักตนเอง(Self awareness) แล้ว  ผู้เรียนจะเกิดความปิติขึ้นในตนเอง บางคนจะนั่งร้องไห้ด้วยความปิติใจ ตรงนี้การชื่นชมตนเอง ( Self esteem)ก็จะเกิดขึ้น  จิตใจจะชื่นบาน จะร่าเริงในธรรม เมื่อฝึกฝนต่อไปจนรู้จักตนเองมากขึ้น ๆ ตัวรู้หรือปัญญาก็จะกล้าแกร่งขึ้น  ตรงนี้ความคิดอ่านที่ถูกต้อง ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ ก็จะเกิดขึ้นเป็น อัตตมโนทัศน์ (Self concept )  เมื่อถึงขั้นนี้ผู้เรียนก็จะเกิดความเชื่อมั่นในตนเอง ( Selfconfidence)  จะสามารถควบคุมตนเอง (Self   control ) ได้ และตรงนี้เองที่ผู้เรียนจะเกิดเอกลักษณ์เฉพาะตน (Self  Identity ) นี่คือปัญญาที่ต้องการให้เกิดแก่ผู้เรียนทั้งทางโลกและทางธรรม

               ถ้าหากผู้เรียนมีปัญญาทั้ง  2  นัยยะ เกิดขึ้นจะส่งผลดีแก่ผู้เรียนอย่างไรบ้าง

               เท่าที่เห็นอยู่เนือง ๆ   ในปัจจุบันนี้คือ การฆ่าตัวตายของนักเรียนนักศึกษา ดังที่ปรากฏอยู่ในข่าวไม่ว่าจะเป็นในเมืองไทยหรือต่างประเทศ

               นักเรียนคนหนึ่งเรียนเก่งมาก เกรดอยู่ระดับ  4 ทุกวิชาที่ผ่านมา  บังเอิญภาคเรียนนี้เกรดลดลงเหลือแค่ 3.8 นักเรียนคนนี้กระโดดตึกตายถามว่าทำไมนักเรียนคนนี้จึงทำอย่างนี้ ก็ขอตอบว่านักเรียนคนนี้มีปัญญา  ตามความหมายที่หนึ่งคือเรียนเก่ง แต่ขาดปัญญาตามความหมายที่สอง คือไม่รู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง เพราะไม่รู้และเห็นความจริงในความเป็นจริงตรงนี้ถ้าเธอผู้นั้นคิดได้ว่าระหว่างเสียงสรรเสริญเกี่ยวกับเกรดการเรียน กับพ่อ แม่ครอบครัวของตน  สิ่งไหนมีคุณค่ากว่ากันการฆ่าตัวตายก็จะไม่เกิดขึ้น

               อีกตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งตกเป็นข่าวรายวันบ่อย ๆ คือความผิดหวังจากความรัก เด็กวัยเริ่มรุ่นทุกวันนี้จะมีจิตหมกมุ่นอยู่ในเรื่องความรักต่างเพศมาก ส่งผลให้มีการสมหวังและผิดหวังเกิดขึ้น มีบางคนพอผิดหวังก็ฆ่าตัวตาย  กรณีนี้ถ้าเธอผู้นั้นคิดได้ว่าระหว่างความรักของเพศตรงกันข้ามกับความรักที่พ่อแม่มอบให้ ไหนจะเหนือกว่ากัน  หรือถ้าลมหายใจยังมีอยู่ สิ่งนั้นที่ขาดไปย่อมจะหาใหม่ได้ ป่วยการมาเสียเวลากับการพรากจาก ตั้งต้นชีวิตใหม่จะดีกว่า ถ้าเธอคนนั้นรู้เท่าทัน อารมณ์ของเธอ การฆ่าตัวตายก็จะไม่เกิดขึ้น

               เรื่องราวดังตัวอย่างเล็ก ๆ 2  ตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นนี้จะมีบ่อย ๆ ในสังคมบ้านเมืองเรา มีปัญหาอย่างนี้เกิดขึ้นมาครั้งหนึ่งก็จะมีการ“คิดว่า” จะหาทางแก้ไขครั้งหนึ่ง แล้วก็หายไป  พอเกิดปัญหาอีกก็คิดอีก แต่ก็หายไปอีก เป็นอย่างนี้ตลอดมา ถามว่า “แล้วจะให้ทำอย่างไร

               คำถามดังกล่าวเป็นคำถามที่น่าจะนำมาคิดหาวิธีการแก้ไขโดยเฉพาะในบทเรียนที่เรียนอยู่ในห้องเรียน

               วรรณกรรมหรือวรรณคดีแต่ละเรื่อง ถ้านำมาสอนให้ลึกซึ้ง สอนให้เห็นชีวิตในชีวิต สอนให้เข้าถึงชีวิตจริงที่ซ่อนอยู่ในวรรณคดีก็จะเกิดปัญญาอีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่ปัญญาแห่งการเรียนรู้เพื่อสร้างเกรด แต่เป็นปัญหาเพื่อแก้ปัญหาชีวิตของตนเองได้ บทเรียนวันนี้แม้จะเรียนวรรณคดีคือ หนังสือโบราณ แต่วิธีการเรียนต้องไม่โบราณ  ต้องเท่าทันปัจจุบัน เท่าทันกระแสสังคมของผู้เรียนที่ผกผันไปตามกิเลสโลกอันจัดเป็น โลกียทัศน์ของนักเรียนนักศึกษาวันนี้

               พระอภัยมณี  ศรีสุวรรณ  สินสมุทร  สุดสาคร กว่าจะจบเรื่อง  ร้องไห้หลายครั้งเพราะไม่สมหวังในความรัก ขุนช้าง  ขุนแผน  นางวันทองก็เช่นกันมีปัญหาเรื่องรักสามเส้า  เรื่องราวเหล่านี้ น่าจะนำมาเรียนรู้มานั่งอภิปรายมาคิดว่า

-  ถ้าเราเป็นขุนแผนหรือนางวันทองจะทำอย่างไร

-  ถ้าเราเป็นขุนช้างจะทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดเรื่องดังกล่าวขึ้นมาได้

- เรื่องราวแบบในวรรณคดีนี้มีปรากฏในปัจจุบันหรือไม่ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร  ทำไม และควรทำอย่างไรจึงจะแก้ไขปัญหาด้วยดีได้

คำถามอย่างนี้น่าจะนำมาจุดประกายให้ผู้เรียนคิดได้เพราะเขาได้คิด   ผู้สอนอย่าสอนแต่เรียนรู้  ประวัติวรรณคดี ควรสอนให้เรียนรู้แก่นแท้ของธรรมะที่แฝงอยู่ในวรรณกรรมนั้นๆ สอนให้ผู้เรียนเรียนรู้วิธีการสร้างความคิดใหม่หรือมโนทัศน์ใหม่สอนกระบวนการเรียนรู้ใหม่ วิธีการเรียนรู้ที่มีวิธีคิด วิธีการแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง โดยใช้เงื่อนไขจากวรรณคดีที่มีอยู่ในปัญหาชุมชน ปัญหาสังคมและปัญหาที่เกิดในตัวของผู้เรียนเอง วรรณคดีจะต้องไม่เป็นเรื่องโบราณ แต่จะเป็นวรรณกรรมร่วมสมัย เพราะผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยวิธีการเรียนรู้ที่ทันสมัยและทันใจผู้เรียน บทเรียนอย่างนี้จึงเป็น บทเรียนที่ไม่ตาย

อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume... 

หมายเลขบันทึก: 483356เขียนเมื่อ 27 มีนาคม 2012 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท