การประกันสุขภาพของนักศึกษาต่างด้าวที่พำนักอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส


ระบบการประกันสุขภาพของนักศึกษาต่างด้าวในประเทศฝรั่งเศสจะใช้อายุเป็นเกณฑ์พิจารณาว่าอยู่ภายใต้การบังคับของกฎหมายประกันสังคมหรือไม่

 

จากที่ได้กล่าวมาในบันทึกก่อนหน้านี้ว่าการประกันสุขภาพของนศ.ต่างด้าวในฝรั่งเศสนั้น ดูจะง่ายกว่ากรณีของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เนื่องจากนศ.ต่างด้าวเหล่านี้ต้อง “ซื้อ” ประกันค่ะ  แต่อย่างไรก็ตามยังมีกรณียกเว้นที่นศ.ต่างด้าวอาจไม่ต้องซื้อประกันแต่สามารถยื่นคำร้องขอเข้าใช้ประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานฟรีได้เช่นกัน ต่อไปนี้จะเป็นการเล่าเรื่องจากประสบการณ์นะคะ 

 

๑) กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำประกันสุขภาพ

 

เป็นกรณีของนักศึกษาอายุระหว่าง ๑๖ ถึง ๒๘ ปี และได้ลงทะเบียนเรียนในสถานศึกษาขั้นสูง (คือระดับมหาวิทยาลัยหรือเทียบเท่า) ที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำประกันสุขภาพหากนักศึกษาไม่มีประกันสุขภาพของบิดามารดาครอบคลุมถึง (เนื่องจากบางหน่วยงานมีสวัสดิการที่ดีสามารถครอบคลุมมาถึงบุตรได้ แต่ต้องเป็นบุตรอายุ ๑๖ ถึง ๑๙ ปี เช่น การรถไฟ SNCF หรือทำงานในกองทัพ หรืออาชีพทางเกษตรกรรมที่มีการคุ้มครองในลักษณะนี้ให้ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ) โดยในการลงทะเบียนเรียนแต่ละปีการศึกษานั้น ทางสถานศึกษาจะบังคับให้ต้องแสดงเอกสารว่ามีประกันสุขภาพประกอบเสมอ หากไม่มี จะต้องถูกบังคับให้สมัคร โปรดสังเกตว่าเงื่อนไขนี้มิได้กล่าวถึงสถานะผิดกฎหมายหรือถูกกฎหมายของนักศึกษาต่างชาติที่มาจากนอกสหภาพ ขอเพียงแต่สถานศึกษารับเข้าเรียนและมีอายุตามที่กำหนด ก็มีสิทธิและหน้าที่ในเรื่องประกันสุขภาพสำหรับนักศึกษาแล้ว

(อย่างไรก็ตาม การเข้าเรียนในสถานศึกษาขั้นสูงได้ ก็มิได้หมายความว่าทางราชการฝรั่งเศสจะต้องออกวีซ่าสำหรับการพำนักระยะยาว ๑ ปี ให้เสมอไป เป็นเรืองที่แยกต่างหากไปจากสิทธิในการประกันสังคม)

 

Mutuelle étudiante

คือ องค์กรหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลการประกันสุขภาพของนักศึกษา ซึ่งจะมีตั้งแต่ระดับชาติและย่อยไปเป็นระดับภูมิภาค  โดยที่แต่ละแคว้นอาจจะมีบริษัทที่ขายประกันต่างกันไป ที่บอกว่าต่างกันเพราะใน Alsace อาจมีบริษัทที่รับประกันภัยต่างไปจากที่แคว้น Nord-Pas de Calais แต่โดยมากแล้วก็เป็นเครือเดียวกันที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศค่ะ ซึ่งการบริการต่างๆอาจต่างกันไป นักศึกษาต้องเลือกให้ดีค่ะ เพราะอาจมีปัญหาตามมาภายหลัง บางแห่งจ่ายยาก จะเอาเอกสารเพิ่ม บางแห่งจ่ายง่าย ก็สบายไป จะได้เอาเวลาไปเรียนแทนที่จะต้องมาวุ่นวายกับเอกสารประกันทั้งวันทั้งคืน    

             เมื่อสมัครไปแล้วก็จะได้เลขที่ประกันสุขภาพ ซึ่งบริษัทประกันจะนำชื่อเราไปขึ้นทะเบียนไว้กับ la caisse primaire d'assurance maladie (CPAM) ค่ะ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง และจะเป็นหน่วยงานสำคัญที่เราจะกล่าวถึงต่อไปในการขอ “ความคุ้มครองเพิ่มเติม” ค่ะ 

 

 สิทธิที่จะได้รับจากการประกันสุขภาพของนักศึกษา

 

ได้รับการคุ้มครองพื้นฐานในการรักษาพยาบาลและการดูแลเมื่อตั้งครรภ์ การรักษาพยาบาลพื้นฐาน ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดหรือบางส่วนในการรักษาพยาบาล  และค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ที่ใช้ในการรักษานั้นๆ  นอกจากนี้นักศึกษายังสามารถ “ซื้อ” ความคุ้มครองรูปแบบต่างๆเพิ่มเติมได้อีกด้วยค่ะ แต่ละ Clause ก็จะมีราคาค่าใช้จ่ายต่างกันไป และให้ความคุ้มครองที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากว่าการประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานนั้นจะไม่ครอบคลุมถึงบางกรณีค่ะ เช่น การประกอบแว่น (คือ การจะตัดแว่นซักครั้งเป็นเรื่องลำบากมากสำหรับคนไทยอย่างอ้อม เพราะต้องไป “นัดพบ” จักษุแพทย์เสียก่อนซึ่งคิวยาวหลายเดือน จากนั้นจักษุแพทย์จะวัดและตรวจสายตาอย่างละเอียดก่อนจะออกใบสั่งให้ไปประกอบแว่นตาที่ร้านขายแว่น โปรดจำไว้ว่าร้านขายแว่นจะไม่ตัดแว่นให้คุณถ้าไม่มี Prescription) ค่าใช้จ่ายในการประกอบแว่นจะไม่รวมค่ะ จึงมีทางเลือกให้ซื้อประกันเพิ่มแต่แรกเพื่อให้สามารถได้รับเงินค่าแว่นคืนได้ภายหลัง อาจสงสัยว่าก็แค่ค่าแว่นเอง.... จะบอกว่าราคาแพงขั้นเทพสำหรับคนต่างชาติค่ะ เลนส์คู่นึงตกประมาณ ๓๕๐ ยูโร ยังไม่รวมกรอบแว่นอีกต่างหาก จะดีมากหากนำมาจากเมืองไทยค่ะ แต่ถ้าอยู่นานแบบไม่ยอมกลับหรือกลับไปไม่ได้ก็ต้องใช้ทางเลือกข้างต้นนี่ นอกจากเรื่องแว่นตาแล้ว ยังมีคุณหมอฟันค่ะที่ไม่รวม กล่าวคือค่าใช้จ่ายในการทันตกรรมจะไม่รวมในประกันขั้นพื้นฐาน ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง หากคิดว่าจะต้องทำฟันแน่นอน ก็ควรซื้อประกันเพิ่มในส่วนนี้ค่ะ 

 

                สำหรับรายละเอียดเปอร์เซนต์ที่จะได้รับเงินคืน แต่ละบริษัทจะทำตารางเปรียบเทียบให้อย่างชัดเจนค่ะ สามารถหาอ่านได้ก่อนตัดสินใจซื้อ โดยมากที่แตกต่างกันจะเป็นเรื่องของการคืนเงินค่ายาค่ะ จะต่างกันไปตามสีของฉลากยา ฉลากสีขาวคืนกี่เปอร์เซนต์ สีน้ำเงินคืนกี่เปอร์เซนต์ นอกจากนี้เมื่อเดินทางไปศึกษา ดูงาน ฝึกงานในต่างประเทศ ก็สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศและได้รับเงินคืนเช่นกันตาม Clause ที่ได้ซื้อไว้  จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับนักศึกษาที่ต้องเข้าโปรแกรมแลกเปลี่ยนไปต่างประเทศ ซึ่งมักจะกำหนดไว้ให้เราต้องมีประกันสุขภาพไปด้วยเสมอค่ะ 

                อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่ารักษาพยาบาลที่การประกันสุขภาพขั้นพื้นฐานไม่คุ้มครองไปถึงนั้น วิธีการที่นักศึกษาอาจใช้ได้ก็คือ ให้ยื่นเรื่องขอประกันเพิ่มเติมจาก la Caisse primaire d'assurance maladie (CPAM) ค่ะ เรียกว่า Couverture maladie universelle complémentaire (CMUC) หากได้ส่วนนี้มาช่วย ผลก็คือ ไม่ต้องจ่ายอะไรเลยค่ะแม้แต่ยูโรเดียว ทั้งค่าแพทย์ ค่ายา

 

ค่าใช้จ่ายที่นักศึกษาต้องรับผิดชอบ

 

สำหรับปีการศึกษา ๒๐๑๑-๒๐๑๒ นั้น ต้องจ่ายคนละ ๒๐๓ ยูโรค่ะ โดยอัตราจะเพิ่มขึ้นทุกๆปี สามารถแบ่งจ่ายเป็น ๓ งวดได้ด้วย แต่ถ้าไม่จ่าย ก็จะถูกตัดประกัน เห็นได้ว่าราคาสูง ซึ่งเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและค่าครองชีพของทางนี้ แต่ถ้าเทียบกับการรักษาพยาบาลที่ได้รับก็ถือว่าคุ้มค่า   

 

#ข้อยกเว้น  

 

แน่นอนว่ามีข้อยกเว้นอยู่เสมอค่ะ คนที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าประกันคือ

- นักศึกษาที่ใช้ประกันของบิดาหรือมารดา

- นักศึกษาที่ได้รับทุนการศึกษา

- นักศึกษาที่อยู่ในสถานะของ Pupille de la Nation เป็นสถานะพิเศษค่ะ หมายถึงคนที่เป็นเหยื่อของสงคราม เริ่มใช้มาตั้งแต่สมัย WW I และได้มีการแก้ไขกฎหมายมาเรื่อยๆ ซึ่งตามกฎหมายฝรั่งเศสปัจจุบันนั้นครอบคลุมถึงเหยื่อของการก่อการร้ายด้วยค่ะ  ยกตัวอย่างเช่น นักศึกษาที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิตในสงคราม หรือพิการอันเนื่องมาจากการถูกจับตัวไประหว่างสงคราม หรือบิดามารดาเสียชีวิตจากการก่อวินาศกรรม (นึกถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้) เป็นต้น

 

                จะเห็นได้ว่าไม่ว่านักศึกษาจะมีสัญชาติใดก็ตาม ก็อาจได้รับการยกเว้นไม่ต้องชำระเบี้ยประกันสุขภาพได้ และข้อยกเว้นสุดท้ายเป็นเรื่องความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างเห็นได้ชัดค่ะ ซึ่งบรรดาผู้ได้รับการยกเว้นจะต้องมีเอกสารประกอบค่ะ

                ที่บอกว่าระบบนี้ดูเป็นไปได้ง่ายกว่า ก็เนื่องมาจากว่าผู้เอาประกันต้องจ่ายเงินซื้อประกันนั่นเอง เงินทุนในเรื่องนี้จึงมีที่มาเห็นได้เป็นรูปธรรม ส่วนกรณีที่เข้าข้อยกเว้น ซึ่งคงทำให้เงินส่วนนี้หายไปพอสมควร แต่เข้าใจว่ารัฐคงมีหนทางหาเงินส่วนนี้มาเติม เช่น่จากภาษีทั่วไป หรือจากเงินสมทบที่ได้จากทางอื่น เพื่อให้ระบบการประกันสุขภาพนักศึกษาเป็นไปได้อย่างยั่งยืน

 

๒) กรณีที่กฎหมายมิได้บังคับให้ต้องทำประกันสุขภาพ 

 

                เป็นกรณีที่นักศึกษาอายุเกิน ๒๘ ปี แต่ยังคงศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาขั้นสูง ซึ่งเป็นปกติของนักศึกษาต่างด้าวที่มาเรียนที่ฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอกก็ตาม เมื่อตกอยู่ในสถานะนี้ถามว่านักศึกษาจะยังมีสิทธิใดๆในการประกันสุขภาพหรือไม่?  ตอบว่ามีค่ะ  เพียงแต่กฎหมายมิได้บังคับเท่านั้น ทางเลือกที่เป็นไปได้คือ ยื่นคำร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงาน CPAM หรือซื้อประกันจากบริษัททั่วไปซึ่งจะมีราคาสูงมาก

                เมื่ออายุเกิน ๒๘ ปี จะย้ายจากระบบประกันสุขภาพของนักศึกษามาเป็นระบบประกันสุขภาพทั่วไปค่ะ สามารถยื่นของความคุ้มครองในการรักษาพยาบาลได้ที่ La Caisse primaire d'assurance maladie (CPAM)  ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐมีอยู่ทุกเมือง โดยแบ่งเป็น

 

                ๒.๑ ประกันสุขภาพขั้นพื้นฐาน  Couverture maladie universelle de base : CMU

 

เงื่อนไขในการยื่นขอประกันสุขภาพส่วนนี้ คือ ต้องมีถิ่นที่อยู่ประจำในฝรั่งเศส โดยกฎหมายได้ให้คำจำกัดความคำว่า ต้องอยู่อาศัยติดต่อกันเป็นเวลามากกว่า ๓ เดือน แต่มีข้อยกเว้นเรื่องระยะเวลานี้สำหรับคนที่มาฝึกงานในโครงการแลกเปลี่ยนต่างๆ รวมถึงผู้ลี้ภัยหรือกำลังยื่นขอลี้ภัยในฝรั่งเศสก็สามารถขอได้ค่ะ  

 

สำหรับคนไร้ที่อยู่อาศัย Homeless หรือ SDF ก็มีสิทธิได้รับการประกันสุขภาพเช่นกันค่ะ โดยต้องไปขอลงทะเบียนต่อหน่วยงานอีกหน่วยงานหนึ่ง เพื่อให้ออกใบรับรองว่ามีการอาศัยในฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่องมากกว่า ๓ เดือน เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้มีการดูแลคนอย่างทั่วถึงและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับคนเหล่านี้ไว้ได้ค่ะ คือจับขึ้นทะเบียนให้หมด

 

คนต่างด้าว หมายความว่าอย่างไร?  ตามกฎหมายประกันสุขภาพฝรั่งเศส หมายถึง คนที่มิได้มีสัญชาติของรัฐสมาชิก EU ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาหรือไม่ก็ตาม กฎหมายกำหนดชัดเจนว่า ต้องเป็นผู้อยู่อาศัยในฝรั่งเศส “อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” เท่านั้น  ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองค่ะ

 

ส่วนคนต่างด้าวประเภทที่มีสัญชาติของรัฐสมาชิก ตามหลักแล้วไม่อาจขอประกันชนิดนี้ได้ เนื่องจากแต่ละรัฐย่อมมีประกันสุขภาพเป็นของตนเองและสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลที่ได้ตามกม.รัฐตนในสถานพยาบาลของรัฐอื่นได้ค่ะ  แต่อาจมีข้อยกเว้นได้ตามแต่กรณีไป เช่นเจ็บป่วยร้ายแรงหรือกะทันหัน

 

เงื่อนไขเกี่ยวกับเงินที่ต้องชำระเพื่อเข้ารับประกัน 

 

ตามปกติแล้วพลเมืองทุกคนที่อาศัยอยู่ในฝรั่งเศสอย่างถูกต้องตามกม. สามารถยื่นขอประกันสุขภาพชนิดนี้ได้ แต่อาจต้องชำระค่าบริการหากมีเงินได้เกินกว่าที่กำหนดไว้ หมายความว่า การยื่นขอประกันนี้จะต้องมีเอกสารรับรองการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากสรรพากร หรือ Trésor public (ในเรื่องนี้นั้นแม้จะเป็นคนต่างด้าว หากจะยื่นขอ CMU ก็ต้องไปยื่นแบบต่อสรรพากรท้องถิ่นค่ะ ปกติแล้วบุคคลมีหน้าที่ต้องยื่นแบบเสียภาษี เมื่ออายุ ๒๐ ปี แม้ว่าจะไม่มีเงินได้ก็ตาม ทำให้คนต่างชาติก็สามารถมีเอกสารทางภาษีได้เช่นกันค่ะ)

ด้วยเหตุนี้เองคนต่างด้าวที่จะสามารถขอ CMU จึงต้องมีสถานะถูกกฎหมาย เพราะสังเกตว่าทุกขั้นตอนต้องมีการลงทะเบียน และต้องเกี่ยวข้องกับราชการ  

 

                 ๒.๒ ประกันสุขภาพเพิ่มเติม Couverture maladie universelle complémentaire : CMUC  

 

จริงๆแล้วก็เป็นส่วนที่เหมือนกับ Mutuelle étudiante complémentaire นั่นเอง เพียงแต่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือเบี้ยประกัน แต่จะต้องมีเอกสารประกอบการขอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอกสารแสดงสถานะทางการเงิน ว่ามีรายได้ต่ำกว่าที่กำหนดทำให้ไม่อาจรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ค่ะ  สามารถยื่นคำร้องได้ที่ La Caisse primaire d'assurance maladie (CPAM) ในแต่ละเมือง  

  

                ๒.๓ ความช่วยเหลือในการรักษาโรคจากรัฐ Aide médicale de l’État : AME    

 

สำหรับข้อสุดท้าย ซึ่งเคยกล่าวไปแล้วในครั้งก่อน จะขอยกยอดไปอธิบายในคราวถัดไปค่ะ เพราะเห็นว่าเกี่ยวข้องกับบุคคลที่พำนักอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส "อย่างผิดกฎหมาย"  

 

 

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากเว็บไซต์ของทางราชการฝรั่งเศสค่ะ 

http://www.service-public.fr/

http://www.securite-sociale.fr/

หมายเลขบันทึก: 483134เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2012 06:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 11:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท