เทคนิคการสร้างแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการ 9 ชาตรี สำราญ


การเริ่มต้นเรียนรู้ย่อมเป็นเรื่องยาก ต้องคอยฝึก พาทำ นำคิด เพราะนักเรียนจะฝึกทำ ฝึกวางแผนต้องนึกประเด็นที่จะนำมาวางแผน

9.  ขั้นที่  5   ของการวางแผน

การบูรณาการสอน

 

                ตอนที่ผ่านมาผมให้นำเสนอเรื่องการวิเคราะห์  ผ่านการเรียนรู้ที่คาดหวังสู่จุดประสงค์การเรียนรู้  แล้วตอนนี้อันเป็นตอนสุดท้ายของการวิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้  คือ  วิเคราะห์จุดประสงค์การเรียนรู้สู่สาระการเรียนรู้  ดังตัวอย่างต่อไปนี้

จุดประสงค์การเรียนรู้

สาระการเรียนรู้

1.1     นักเรียนสามารถวางแผนการสำรวจ สังเกต เปรียบเทียบลักษณะของตนเองกับคนในครอบครัวได้

1.2     นักเรียนสามารถนำแผนการสำรวจ สังเกต เปรียบเทียบลักษณะของตนเองกับคนในครอบครัวไปปฏิบัติจริงได้

1.1   วิธีการวางแผนการสำรวจ สังเกต เปรียบเทียบลักษณะของตนเองกับคนในครอบครัว (ดูเอกสารประกอบการสอนหมายเลข 1)

1.2  วิธีการ นำแผนการสำรวจ สังเกต เปรียบเทียบลักษณะของตนเองกับคนในครอบครัวไปปฏิบัติจริง (ดูเอกสารประกอบการสอนหมายเลข 1 )

มาถึงตรงนี้มีข้อสังเกตว่า  ตรงสาระการเรียนรู้ข้อ 1.1 และ 1.2 นั้น มีคำว่า วิธีการเพิ่มเข้ามาด้วยนั้น หมายถึงว่า  ในกรณีใดที่ทักษะกระบวนการนั้น  คุณครูยังไม่เคยนำสอนนักเรียนรุ่นนี้ (ที่กำลังนั่งเรียนอยู่) จึงเป็นทักษะ กระบวนการใหม่สำหรับผู้เรียน  ให้ใช้คำว่า วิธีการนำหน้า  นั่นหมายถึงว่า ทักษะกระบวนการนี้คุณครูต้องสอนให้นักเรียนทำได้  เพื่อจะสามารถนำไปปฏิบัติจริง เมื่อเป็นวิธีการใหม่ที่คุณครูต้องสอนก็จำเป็นต้องมี เอกสารประกอบการสอน หรือคู่มือครูขึ้นมาด้วย  เพราะครูคนใดที่จะนำไปสอนจะได้นำศึกษาก่อนสอน  และในกรณีที่ทักษะ กระบวนการนั้น ๆ คุณครูเคยนำสอนกับนักเรียนรุ่นที่กำลังนั่งเรียนอยู่นี้แล้ว  ให้ใช้คำนำหน้าว่า การ และคุณครูไม่ต้องสอนวิธีการนั้นอีก ปล่อยให้นักเรียนฝึกปฏิบัติไป คุณครูเพียงแต่คอยเป็นพี่เลี้ยงเท่านั้น  นั่นหมายความว่า ทักษะกระบวนใดเป็นเรื่องใหม่ มีคำว่าวิธีการนำหน้าคุณครูจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้สอน  แต่ถ้าทักษะกระบวนการใดนำหน้าด้วยคำว่า การ คุณครูจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็นผู้คอยอำนวยการหรือเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้เรียน

                สิ่งที่ผมนำเสนอทั้งการและวิธีการนี่ช่วยให้ง่ายต่อผู้ตรวจสอบหรือผู้นิเทศ แผนการเรียนรู้ว่า แผนใดที่ผู้สอนนำทักษะกระบวนการใหม่ ๆ มาฝึกฝนผู้เรียนบ้าง และฝึกมากน้อยเพียงใด ก็นับจำนวนการและวิธีการดูได้

                การเริ่มต้นเรียนรู้ย่อมเป็นเรื่องยาก ต้องคอยฝึก พาทำ นำคิด เพราะนักเรียนจะฝึกทำ  ฝึกวางแผนต้องนึกประเด็นที่จะนำมาวางแผน เช่น

                1. เราเรียนเรื่องนี้ทำไม       (ตั้งจุดประสงค์การเรียน)

                2. รายละเอียดของเรื่องที่จะสอนมีอะไรบ้าง (สร้างสาระการเรียน )

                3. รายละเอียดเหล่านี้จะไปเรียนรู้ที่ไหน กับใคร (หาแหล่งเรียน)

                4. เราจะออกแบบการเก็บข้อมูลแบบใด

คำถามเหล่านี้ นักเรียนจะต้องฝึกนึก  ฝึกคิด   ฝึกวิเคราะห์เท่าที่ผมนำสอนมานานนับสิบปี  พบว่า  แรกเริ่มนั้น นักเรียนคิดไม่ได้  คิดไม่เป็น  ผมต้องตั้งคำถามนำ  เช่น  ผมจะถามว่า “ทำไมเธอต้องเรียนวิธีการวางแผน”  นักเรียนก็จะตอบคำถามผมว่า เรียนทำไม  ผมจึงถามเขาว่า “ถ้าเธอตอบอย่างนี้  เธอจะตั้งคำถามอย่างไร”  ตรงนี้แหละเป็นการสอนที่ไม่ใช่การบอก  ถ้าจะให้เร็วก็เขียนเรียงรายข้อให้นักเรียนลอกแบบไปก็จะใช้เวลาไม่เกิน 30  นาทีเสร็จ  แต่ไม่รับรู้เพราะครูยังไม่ได้สอน  ผมจึงคิดว่า  ต้องให้นักเรียนเรียนรู้จากการสอน ไม่ใช่เพียงแต่รับทราบ  นักเรียนต้องค่อย ๆ ฝึกนึก  ฝึกวางแผนทีละนิด ๆ ทำบ่อย ๆ  เขาก็จะเป็นขึ้นมาได้เอง  นี่คือการฝึกให้ผู้เรียนเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง  ส่วนการปฏิบัติจริงนั้น เวลา 3 ชั่วโมง จะมากหรือน้อยต้องดูที่กระบวนการที่นักเรียนวางแผนไว้  ว่าเขามีขั้นตอนการทำงานอย่างไรบ้าง  แต่นั่นแหละแผนการเรียนรู้หรือแผนการสอน  เป็นเพียงสิ่งที่คาดหวังว่า  เรื่องนี้งานนี้เราน่าจะใช้เวลาเพียงแค่นี้   ตอนปฏิบัติจริงยาวมากหรือน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ได้  นั่นคือ เราจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาไว้เพื่อใช้สอนในรุ่นต่อ ๆ ไป  ตรงนี้จะเห็นได้ว่า แผนการเรียนรู้แต่ละแผนนั้นจะไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่  ใช้ครั้งหนึ่งปีหนึ่งก็พัฒนาครั้งหนึ่ง  ตรงนี้แหละบทบาทของการบันทึกระหว่างสอนหรือบันทึกหลังสอนจึงมีคุณค่าต่อคุณครูมืออาชีพ

                การที่ผมได้นำเรื่องวิธีการวางแผนการเรียนรู้มาเพิ่มเติมในสาระการเรียนรู้ เพื่อนำสู่การจัดกิจกรรมการเรียนรู้นั้น เพราะในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ (หน้า 37 )   ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า “ให้ผู้เรียนคิดวางแผน  ออกแบบการทดลองและลงมือปฏิบัติ...”  ซึ่งความต้องการของรัฐนี้ระบุไว้ในระยะที่  2  และขณะนี้เราอยู่ในระยะที่  3 เป็นระยะที่นักเรียนจะต้องปฏิบัติกิจกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( Science  and  technology  project )  “ ที่ผู้เรียนระบุปัญหาหรือคำถามตามความสนใจของตนเองหรือของกลุ่ม  วางแผน  หาวิธีการที่จะแก้ปัญหาด้วยการสร้างทางเลือกที่หลากหลาย... ”  และจุดเน้นได้ระบุไว้ในการจัดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้กลุ่มวิทยาศาสตร์  หน้า  38 ว่า

                “มาตรฐานการเรียนรู้ตามสาระที่  8   ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  เป็นมาตรฐานด้านทักษะและกระบวนการเรียนรู้  สถานศึกษาต้องนำมาตรฐานดังกล่าวไปจัดในการเรียนการสอนทุกสาระทุกช่วงชั้น...

                สำหรับตัวสาระที่  8  มาตรฐาน ว. 8.1  นั้น ผมขอนำตัวมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่ 2 ( ป4-6)  มาให้ดู  ถ้าสนใจทุกช่วงชั้นก็สามารถเปิดดูได้ในสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์

  1. ตั้งคำถามที่เกี่ยวกับประเด็นหรือเรื่องหรือสถานการณ์ที่จะศึกษาตามที่กำหนดให้หรือตามความสนใจ
  2. วางแผนการสังเกต  สำรวจ  ตรวจสอบหรือศึกษาค้นคว้าหลาย ๆ วิธี คาดการณ์สิ่งที่จะพบจากการสำรวจ ตรวจสอบ และเสนอวิธีการสำรวจตรวจสอบ
  3. เลือกวิธีการสำรวจ ตรวจสอบ ที่สามารถปฏิบัติได้และใช้อุปกรณ์อย่างถูกต้อง  เหมาะสมในการสังเกต  การวัดให้ได้ข้อมูลครอบคลุมและเชื่อถือได้
  4. บันทึกข้อมูล  วิเคราะห์  ประเมินผล  ข้อมูลในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ และตรวจสอบผลที่ได้กับสิ่งที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า  นำเสนอผลและข้อสรุปที่ได้
  5. สร้างคำถามใหม่ ที่นำไปสู่การสำรวจตรวจสอบในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
  6. แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ  อธิบาย  ลงความเห็น  และสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้
  7. บันทึกและอธิบายผลการสังเกตอย่างตรงไปตรงมา มีเหตุผลและมีประจักษ์พยานตัวจริง
  8. นำเสนอ  จัดแสดงผลงาน โดยอธิบายด้วยวาจาหรือเขียนเกี่ยวกับแนวคิด  กระบวนการและผลของโครงงานหรือชิ้นงานให้ผู้อื่นเข้าใจ

ที่ผมนำตัวบ่งชี้ของมาตรฐานการเรียนรู้ช่วงชั้นที่  2  ( ป.4-6)  มาให้พิจารณานี้  เพื่อจะให้เราได้เห็นว่า ตัวบ่งชี้แต่ละตัวนั้นคุณครูจะต้องสร้างหรือฝึกฝนนักเรียนบ่อย ๆ  จึงจะเกิดทักษะเหล่านั้นขึ้น  เช่น  ข้อ  1  การตั้งคำถามที่เกี่ยวกับประเด็นจะค้นหา  กับข้อ  5  สร้างคำถามใหม่  ข้อความ  2  ข้อนี้ สำหรับเราผู้เป็นครูอาจจะมองออกและเห็นว่าง่าย แต่ทว่า พอนำสอนจริงนั้น  นักเรียนจะเกิดอาการสับสน  เพราะมันเป็นการสร้างคำถามเหมือนกัน  เขาไม่เข้าใจหรอกว่า สร้างคำถามเหมือนกันแต่ไม่เหมือนกัน คุณครูจะต้องทำให้ดูว่า  แรกเริ่มเป็นการสร้างคำถามเพื่อไปค้นหาเรื่อง จะต้องตั้งคำถามอย่างไร  ถามลึกแค่ไหนและมาก – น้อยเพียงใด  ส่วนในข้อ  5  นั้นเป็นการสร้างคำถามเพื่อไป ตรวจสอบเรื่อง ที่จะค้นหามาได้ว่าข้อมูลเพียงพอหรือไม่  เพื่อที่จะได้ตั้งคำถามไปค้นหาเพิ่มเติมจนได้ข้อมูลเป็นที่พอใจ  และในข้อ  6  แสดงความคิดอย่างอิสระ  อธิบายลงความเห็น  ทักษะทั้ง  3  อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสอนครั้งเดียวแล้วทำได้  แต่ต้องฝึกหัด  ฝึกฝน  ฝึกปรน นั่นแหละนักเรียนจึงจะสามารถทำได้  ก็เป็นเช่นที่ผมได้กล่าวในตอนต้นว่า “การเริ่มต้นเรียนรู้ย่อมเป็นเรื่องยาก”  แต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้  ถ้าเราพยายามทุกอย่างย่อมทำได้

                จากที่ผมได้นำเสนอมาตั้งแต่ตอนที่ 5  มาจนถึงตอนนี้  ก็เป็นอันว่าเราเดินทางมาได้ถึงครึ่งทาง คือ เราวิเคราะห์หลักสูตรเสร็จแล้ว  แต่เป็นตัวอย่างที่ผมยกมาให้ดู  เฉพาะการวิเคราะห์รายวิชาเท่านั้น   ยังไม่ได้แสดงภาพของการวิเคราะห์แบบบูรณาการ ซึ่งต่อไปจะนำเสนอให้เห็นภาพครับ

อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume...


หมายเลขบันทึก: 482958เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2012 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท