นวัตกรรมเครื่องพ่นสารเคมี


หมออนามัย นวัตกรรมเครื่องพ่นสารเคมี

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหินซ้อน อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

นายอานนท์ ภาคมาลี นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญกา

 

 เครื่องพ่นสารเคมีหรือ หมอกควัน (Fogging machine หรือ Thermal fog generator)

       เป็นเครื่องพ่นที่ใช้ความร้อนทำให้น้ำยาเคมีแตกตัวเป็นละออง  อุณหภูมิที่ใช้สูงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของสารตัวทำละลายที่มีจุดเดือด หรือจุดระเหิด (Boiling point หรือ Evaporating point) ซึ่งมักนิยมใช้สารตัวทำละลายที่มีอุณหภูมิสูง 100 องศาเซลเซียส เพราะถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้จะมีผลในการทำลายคุณภาพของสารเคมีซึ่งมักจะมีความเข้มข้นต่ำ สารตัวทำละลายที่นิยมใช้ ได้แก่ น้ำมันดีเซล เมื่อสารเคมีแตกตัวจะถูกแรงลมเป่าทำให้ฟุ้งกระจาย ในรูปหมอกควัน ขนาดเม็ดน้ำยา (Droplets) มีเส้นผ่าศูนย์กลางระหว่าง 10- 60 ไมครอน ( micron ) เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน จะใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิงในการทำงานของเครื่อง  ความจุของถังน้ำมันเชื้อเพลิง ตั้งแต่ 1.4 - 2 ลิตร  อัตราการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 1.5 –2 ลิตร/ ชั่วโมง  กำลังทำงานเครื่องพ่น  24- 25 แรงม้า หรือ 15,000 - 16,100  กิโลแคลอรี่ / ชั่วโมง  การจุดระเบิดใช้พลังงานจากถ่านไฟฉาย ขนาด 1.5 โวลท์ จำนวน 4 ก้อน  ต่อแบบอนุกรม  และมีคอยล์จุดระเบิดสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์     อัตราการไหลของน้ำยา ตั้งแต่ 8 -30 ลิตร/ ชั่วโมง แล้วแต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหัวพ่น  ถังใส่น้ำยาเคมี มีทั้งชนิดที่เป็นโลหะ และ พลาสติก  มีความจุ ตั้งแต่ 5 - 6.5 ลิตร  น้ำหนักเครื่องพ่นเปล่า 7- 8 กิโลกรัม  หากรวมน้ำหนักน้ำยาเคมีจะมีน้ำหนักประมาณ15 กิโลกรัม

ชนิดเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน (Fogging) ปัจจุบันเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควันที่ใช้ ได้แก่ เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควันชนิดสะพายไหล่ อาทิเช่น

   -  เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควันสวิงฟ็อก (Swingfog) รุ่น SN -11 , SN -50 และ SN -50 N

   -  เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควันพัลฟ็อก ( Pulpfog ) รุ่น KP-10 SP

   -  เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควันไอจีบ้า ( Igeba ) รุ่น TF -30 และ TF- 35

   -  เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควันซุปเปอร์ฮอค ( Superhawk )

   -  เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน เอส เอส ฟ็อก ( SS fog )

   -   เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควันโกลเด็นฟ็อก ( Goldenfog )

หัวพ่น (Nozzle)

     หัวควบคุมการไหลของสารเคมีที่ใช้ในการพ่นสารเคมี หรือหมอกควันจะมีหลายขนาด แต่ละขนาดจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางหัวฉีดที่แตกต่างกัน   ซึ่งจะทำให้อัตราการไหลของสารเคมีแตกต่างกัน หัวพ่นที่ได้รับมาพร้อมกับการซื้อเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน จะมี 3 ขนาด  ได้แก่

(1)  ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง0.8 มิลลิเมตรจะมีอัตราการไหลของสารเคมี จำนวน10 ลิตร /ชั่วโมง

(2) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.0 มิลลิเมตร  จะมีอัตราการไหลของสารเคมี จำนวน17 ลิตร/  ชั่วโมง

(3) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.2 มิลลิเมตร  จะมีอัตราการไหลของสารเคมี จำนวน24 ลิตร/  ชั่วโมง

การเตรียมความพร้อมในการใช้งานเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน

       ตรวจสอบหัวเทียนว่ามีไฟหรือไม่  โดยวิธีถอดหัวเทียนออกมาจากเครื่อง  แล้วเสียบปลั๊กหัวเทียนแตะกับบริเวณที่เป็นโลหะ  กดปุ่มสตาร์ท กรณีที่เป็นเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควันสวิงฟอกซ์  สำหรับเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควันพัลส์ฟอกซ์ หรือเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควันไอจีบา  ให้สูบลมกระบอกสูบ  จะทำให้มีกระไฟวิ่งผ่านหัวเทียน  หากไม่มีกระแสไฟวิ่งผ่าน  หรือกระแสไฟไม่แรงให้ทำความสะอาดเขี้ยวหัวเทียน แต่หากพบว่าไม่มีกระแสไฟให้เปลี่ยนหัวเทียนใหม่ ปกติเขี้ยวหัวเทียนจะห่างประมาณ2 มิลลิเมตรหรือเท่ากับความหนาของเหรียญบาท

ตรวจสอบว่ามีถ่านไฟฉายในรังถ่านหรือไม่   และถ่านมีไฟหรือไม่ ใส่น้ำมันเชื้อเพลิงในถังน้ำมันให้มีช่องว่างพอประมาณ หรือ 3 / 4 ของถัง เพื่อให้มีอากาศสำหรับระบบการไหลเวียนน้ำมันเชื้อเพลิง  ส่วนใหญ่เครื่องพ่นหมอกควันจะใช้น้ำมันเบนซิน 91 และหากน้ำมันเบนซินค้างอยู่ในเครื่องพ่นนานหลายเดือน ควรเททิ้ง  เนื่องจากค่า อ๊อกเทนของน้ำมันจะเหลือน้อย   ทำให้เครื่องสตาร์ทไม่ติด ตรวจสอบว่าหัวพ่นอุดตันหรือไม่ ตรวจสอบแผ่นไดอะแฟรม ว่าอยู่ในสภาพดีหรือชำรุด  หากชำรุดควรเปลี่ยนใหม่  ไม่ควรใช้วัสดุอื่นมาประยุกต์ใช้แทน  เนื่องจากวัสดุนั้นจะไม่สามารถทนความร้อนได้  จะทำให้เกิดการละลายเมื่อเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควันทำงานไปได้สักพักหนึ่ง ใส่น้ำยาเคมี ปิดฝาให้สนิท ปิดก๊อกน้ำยาเคมี และก๊อกน้ำมันเชื้อเพลิง ตรวจสอบสายสะพายให้เรียบร้อย

การติดเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน

          1. สูบลมกระบอกสูบเบาๆ 4-5 ครั้ง  เพื่อให้มีแรงดันในระบบน้ำมันเชื้อเพลิง

          2.เปิดก๊อกน้ำมันเชื้อเพลิง โดยหมุนทวนเข็มนาฬิกา ให้สุด และสูบลมจนกว่าเครื่องจะติด สำหรับเครื่องพ่นสวิงฟอก จะต้องกดปุ่มสตาร์ทด้วย

          3. เมื่อเครื่องติดแล้ว ปล่อยให้เครื่องทำงาน 1- 2 นาที เพื่อให้เครื่องร้อน  ควรฟังเสียงเครื่องว่าดังสม่ำเสมอหรือไม่  หากเสียงไม่สม่ำเสมอให้ปรับอัตราการไหลของน้ำมันเชื้อเพลิง

           4. เปิดก๊อกน้ำยาเคมี  หลังจากพ่นสารเคมี หรือหมอกควันนาน 40 นาที  ควรพักเครื่องประมาณ 10-15 นาที ขณะที่พักทีมงานควรเติมน้ำมันเชื้อเพลิง  และน้ำยาเคมีให้พร้อมที่จะใช้ทำงานต่อไป

 การปิดเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน

         ปิดก๊อกน้ำยาเคมี ปล่อยให้เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน ทำงานต่อไป  จนกระทั่งหมอกควันหายไปจากปลาย ท่อพ่นจึงปิดก๊อกน้ำมันเชื้อเพลิง คลายฝาถังน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อปล่อยความดันในถังออกมา คลายฝาถังน้ำยาเคมี เพื่อปล่อยความดันในถังออกมา หากเครื่องพ่นดับอย่างกะทันหัน  จะมีไฟลุกที่ปลายท่อพ่น  ให้ปิดก๊อกน้ำยาเคมี  แล้วสูบลมกระบอกสูบ  เพื่อให้เกิดแรงลมเป่าน้ำยาเคมีออกมา  สูบลมจนไม่มีเปลวไฟ  แล้วจึงปิดเครื่อง หรือหากเกิดไฟลุกไหม้ที่เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน ให้ใช้ผ้าหนา ๆ คลุมทับให้ไปดับ  อย่าตกใจแล้วโยนเครื่องพ่นทิ้ง  เพราะจะทำให้เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควันเสียหายได้       

การบำรุงรักษาเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน

เครื่องพ่นหมอกควันเป็นครุภัณฑ์ที่มีราคาแพง   ระบบการทำงานของเครื่องพ่นประกอบด้วย

ข้อต่อ และท่อทำให้อุดตันได้ง่าย  ประกอบกับบางครั้งเครื่องจะถูกยืมไปใช้  หากผู้ใช้ไม่มีความรู้  ความเข้าใจในการใช้เครื่องที่ถูกต้อง  จะทำให้เครื่องพ่นชำรุดเสียหายได้ง่าย  ดังนั้น  ผู้ที่ใช้เครื่องพ่นควรมีการบำรุงรักษาเครื่องพ่นเพื่อให้มีอายุการใช้งานได้ยาวนาน  คุ้มค่ากับงบประมาณที่จัดซื้อ วิธีการบำรุงรักษามีดังนี้

         เมื่อเสร็จงานในแต่ละวันควรทำงานสะอาดเครื่องพ่น ไม่ให้คราบน้ำยาทำให้ความเสียหายชิ้นส่วนต่าง ๆ ล้างถังน้ำยาด้วยน้ำสะอาด  และเมื่อหมดฤดูกาลใช้เครื่องพ่นแล้วไม่ควรปล่อยน้ำยาค้างในถัง  เพราะน้ำยาจะตกตะกอน  ทำให้เกิดการอุดตันที่ท่อพ่น หรือหัวพ่นได้ ล้างท่อพ่น และหัวพ่น  โดยการเติมน้ำสะอาด ติดเครื่อง แล้วเปิดก๊อกน้ำยา เพื่อให้น้ำล้างท่อและหัวพ่น ถอดแผ่นไดอะแฟรม มาทำความสะอาด  เช็ดให้แห้ง  แล้วใส่กลับเหมือนเดิม ทำความสะอาดท่อพ่นโดยใช้แปรงทองเหลืองขัดถูตะกันที่ปลายท่อทุก 3 เดือน ทำความสะอาดหัวเทียน หากไม่ใช้เครื่องเป็นเวลานาน ๆ ควรนำถ่านไฟฉายออกมาจากรังถ่าน  หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดการบวม และกัดกร่อนชิ้นส่วนต่าง ๆ

ปัญหาที่มักพบในการใช้เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน

       1. เครื่องไม่ติด   วิธีการแก้ไขตรวจสอบระบบไฟ  โดยทดสอบว่าหัวเทียนมีไฟหรือไม่  ตรวจสอบถ่านไฟฉายที่อยู่ในรังใต้เครื่องตรวจสอบน้ำมันเชื้อเพลิง  ควรเติมให้เกือบเต็ม   ประมาณ ¾ ของถังน้ำมันเชื้อเพลิงใช้น้ำมันเบนซิน91 หากน้ำมันเชื้อเพลิงตกค้างอยู่ในถังนานแล้ว           ควรเททิ้ง     เนื่องจากจะมีค่าอ๊อกเทนต่ำตรวจสอบระบบน้ำมันเชื้อเพลิง  โดยการถอดแผ่นไดอะแฟรม เปิดฝาถังน้ำมัน สูบหลาย ๆ ครั้ง   สังเกตการดูดของน้ำมันภายในตัวคาร์บิวเรเตอร์   ถ้าไม่เห็นน้ำมันให้ถอดลิ้นควบคุม น้ำมันแล้วทำความสะอาด

          2. เครื่องติด แต่ทำงานไม่ปกติ หรือติดแล้วดับ  วิธีแก้ไขปรับปุ่มปรับอากาศและน้ำมัน จนเสียงเครื่องดังปกติ  ไม่สะดุด วิธีการปรับปุ่มปรับอากาศ  หากหมุนตามเข็มนาฬิกา อากาศจะเข้ามากขึ้น  และหากหมุนทวนเข็มนาฬิกาอากาศจะเข้าน้อยลง  หากเครื่องทำงานอ่อนลง  เกิดจากมีเขม่าเกาะจับภายในท่อพ่น และที่ Swirl vane  แก้ไข โดยใช้แปรงทองเหลืองทำความสะอาดที่ปลายท่อพ่น  และให้คลาย Swirl vane  ออกมา  ทำความสะอาดด้วยแปรงทองเหลือง  แล้วใส่เข้าไปเหมือนเดิม

          3. เครื่องไม่ปล่อยหมอกควัน หรือปล่อยหมอกควันน้อย  วิธีแก้ไข ตรวจสอบฝาถังน้ำยาว่าผิดแน่นหรือไม่  ตรวจสอบสายน้ำยา (Solution pipe) ว่าอุดตันหรือไม่ ตรวจสอบว่า Solution socket อุดตันหรือไม่ ตรวจสอบว่าหัวพ่น (Solution nozzle) อุดตันหรือไม่ ตรวจสอบว่าก๊อกน้ำยา (Solution tap) อุดตันหรือไม่ 

          4. หากเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอก เสียหรือชำรุดจะดำเนินการอย่างไร วิธีแก้ไข หากเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน เสียหรือชำรุดไม่มากนัก สามารถติดต่อสอบถามการซ่อมได้ที่ศูนย์ควบคุม โรคติดต่อนำโดยแมลง (ศตม) หรือหน่วยควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง (นคม) หากเครื่องพ่นเสียไม่มากนัก จะแก้ไขให้ทันที แต่หากเป็นอะไหล่ที่มีราคาสูง จะประสานบริษัท เพื่อจัดซื้ออะไหล่มาซ่อมบำรุงให้   หรือแจ้งให้ตัวแทนจำหน่ายมาทำการซ่อมบำรุงต่อไป

        5. การเสื่อมสภาพของสารเคมี ปัญหาสำคัญของเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควันแบบใช้ความร้อน  ได้แก่ การสลายตัวของสารเคมีเนื่องจากความร้อน  ซึ่งอาจเกิดจากคุณสมบัติของสารเคมีเอง หรือเกิดจากเครื่องพ่นสารเคมีที่ให้ความร้อนสูงเกินไป   โดยปกติเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควันที่มีคุณภาพดี  ควรสามารถควบคุมอุณหภูมิ ณ จุดหรือบริเวณที่นำยาสัมผัสความร้อน และแตกตัวให้บริเวณนี้มีอุณหภูมิระดับที่ไม่ทำลายคุณภาพของสารเคมี  ควรมีอุณหภูมิต่ำกว่า 100 องศาเซลเซียส  ซึ่งผู้ใช้เครื่องพ่นสามารถทำการทดสอบได้โดยการใช้น้ำแทนสารเคมี  หากเครื่องพ่นใดพ่นน้ำออกมาเป็นละอองโดยสมบูรณ์ หรือเป็นไอ  แสดงว่า  อุณหภูมิจุดนั้นสูงเกินจุดเดือนน้ำ หรือมากกว่า 100 องศาเซลเซียส  ดังนั้น  โอกาสที่ความร้อนนี้จะทำให้คุณภาพสารเคมีถูกทำลายคุณภาพย่อมมีมาก  แต่จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและคุณสมบัติของสารเคมีนั้น  นอกจากนั้นสารเคมีที่แนะนำให้ใช้ในเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควันมักจะมีความเข้มข้นต่ำมาก ๆ จึงย่อมมีโอกาสลดคุณภาพการพ่นสารเคมี หรือสารเคมี ลงได้มาก

 อุปกรณ์มาตรฐานประจำเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน

ในการซื้อเครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน  จะได้รับอุปกรณ์มาตรฐานประจำเครื่อง  อาทิเช่น สายสะพาย  1 เส้น   หัวฉีดพ่นสารเคมี เบอร์ 0.8 , เบอร์ 1.0 และเบอร์ 1.2 กรวยเชื้อเพลิง 1 อันกรวยน้ำยาเคมี  1 อัน เครื่องมือประจำเครื่อง  1 ชุด ชุดทำความสะอาด  1  ชุด ปะเก็นชุดซ่อมบำรุง  1 ชุด หนังสือคู่มือ  1 เล่ม กล่องเก็บเสียง  1 ชุด        

การแก้ไขกรณีเครื่องติด แต่พ่นสารเคมี หรือหมอกควันไม่ออก

1. ตรวจสอบหัวควบคุมอัตราการไหลของน้ำยาเคมีว่าอุดตันหรือไม่  ถ้าพบว่าอุดตันให้ใช้เข็มเย็บผ้าขนาดเล็กที่สุดทะลวงสิ่งอุดตันออก  หรือจะใช้วิธีการล้างหัวพ่นในน้ำมันเบนซินใช้แปรงทองเหลืองขัดทำความสะอาด  แล้วใช้ลมแรงเป่าก็ได้

2. ตรวจสอบก๊อกเปิด-ปิด น้ำยาเคมีว่าชำรุดหรือไม่  หากพบว่าชำรุดให้เปลี่ยนใหม่

3. ตรวจสอบท่อส่งแรงลมในถังน้ำยาเคมีว่าอุดตันหรือหลุดหรือไม่    ท่อส่งแรงลมจะอยู่ในถังน้ำยาเคมี มีลักษณะเหมือนสายน้ำทั่วไป  ซึ่งจะต่อขึ้นมาจากก้นถังน้ำยาเคมีมายังที่กรองน้ำยาเคมี 

4. หากตรวจสอบแล้ว  ยังพ่นน้ำยาไม่ออก ควรให้ผู้ชำนาญตรวจสอบต่อไป

 

ข้อเสนอแนะ

       ท่านเคยมีปัญหาหรือประสบปัญหา ในการใช้เครื่องพ่นหมอกควันหลายชนิด เช่น สูบลมกระบอกสูบแล้วเครื่องไม่ติด สูบเป็นเวลานานๆ กะบอกลูกสูบหลุด ทำให้เหนื่อยเมื่อยล้าและเสียเวลาในการปฏิบัติงานบางครั้งเป็นงานเร่งด่วน แข่งกับเวลา ต้องรื้อออกมาซ่อมหลายครั้ง เช่นน้ำมันท่วม หัวเทียนสกปรก แผ่นไดอะแฟรม ชำรุดเร็วเพราะถอดเข้าถอดออกมาเช็ดน้ำมันที่ท่วม และการใส่ๆแบบไม่ประณีต ทำให้เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน ไม่ติด และเสียพลังงานในการสูบลมกระบอกสูบ มีการอุดตันเศษผงต่างๆ หรือใส่น้ำยาผสมมากเกิน ในน้ำมันดีเซลไปทำให้น้ำยาตกตระกอน  น้ำยาตกตระกอนออกเป็นสีเหลือง หรือขาวๆใส เป็นเส้นเป็นวุ้น การใช้เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน แต่ละพื้นที่แตกต่างกันไปบางพื้นที่อาจใช้เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน จากอเมริกา เยอรมันนี เกาหลี และอีกหลายประเทศ ทั้งหมดนี้ที่ผมกล่าวมาเป็นประสบการณ์กับตัวข้าพเจ้า งานไม่ดำเนินการไปตามแผนที่วางไว้ต้องเสียเวลามาซ่อม เครื่องพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน เพราะเครื่องที่ใช้แต่ละเครื่องผ่านการใช้งานมาอย่างน้อย 4-5 ปี และอะไหล่หายากและมีราคาแพง จึงคิดหานวัตกรรมใหม่ว่าจะทำให้เครื่องติดง่ายไม่เสียเวลามาซ่อมและมีอายุการใช้งานคงทนทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ จึงทดลองเอาเครื่องปั๊มลมมาใช้กับงานพ่นสารเคมี หรือหมอกควัน โดยทำความสะอาดเครื่อง โดยใช้ลมเป่าในเครื่องถังน้ำยา ถังน้ำมัน เพื่อให้เศษผงต่างๆออกจากถังและให้สะอาด และตามสายน้ำยาต่างๆเพื่อดำเนินการออกควบคุมป้องกันไข้เลือดออก และเติมน้ำมันน้ำยาตามที่กำหนด และนำเครื่องปั๊มมาช่วยในการสตาร์ทเครื่อง โดยใช้ลมเป่าลงไปในสายยางที่ต่อจากกระบอกสูบลม ที่เราใช้สูบลมทำให้เครื่องติดงาน น้ำมันไม่ท่วม เขม่าในแกนความร้อนไม่มี เครื่องเดินดีตลอดทั้ง 5 วันที่วางแผนไว้ ไม่มีโอกาสได้ซ่อมเพราะเครื่องติดดีตลอด ขอให้ทุกท่านที่ใช้อุปกรณ์พ่นสารเคมี หรือหมอกควัน ทดลองดู เพียงเรามีเครื่องปั๊มลมเพิ่มอีกหนึ่งตัว และเกือบลืมบอกไป น้ำมันที่ใช้ต้องเป็นน้ำมันเบนซิน 91 เครื่องจะเดินสะดวก และน้ำมันที่ผสมน้ำยาต้องเป็นน้ำมันดีเซล ห้ามใช้ B 5 หรือน้ำมันอื่นๆที่มีรอบต่ำ เพราะจะให้เครื่องติดยากน้ำมันไหลออกมาการเผาผลาญไม่ดีและไม่หมด ถ้าใช้ดีช่วยกันบอกต่อๆกันไป ขอบคุณล่วงหน้า

  

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สารเคมี
หมายเลขบันทึก: 482271เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2012 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2012 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เครื่องพ่นหมอกควัน S.S. FOG รุ่น SS150AF ใช้งานมาประมาณ 4-5 ปี ปัญหา: เครื่องสตาร์ทติดยาก ต้องตรวจสอบที่อะไรบ้าง หรืออาจมีสาเหตุมาจากอะไร?

ศตม.11.2 นครศรีธรรมราช

เครื่องพ่นหมอกควัน S.S. Fog รุ่นดังกล่าวให้คุณดูที่แผ่นไดอะแพรมของเครื่อง(ดอกจันทร์)หากชำรุดเพียง 1 กลีบ ไม่สามารถสตาร์ทเครื่องให้ติดได้  บริษัทมันขายให้ อปท. อย่างเดียว ไม่มีการบริการหลังการขายดอกน้อง

ตอนนี้ใช้งานได้รึยังคะ เรามีทีมงานที่เป็นศูนย์ซ่อม ให้บริการคะ

เครื่องพ่นหมอกควัน

เครื่องพ่นหมอกควัน ตอนนี้มีหลายยี่ห้อ แต่ที่เห็นกันเยอะก็มี เครื่องพ่นหมอกควัน best fogger  ของเกาหลี และก็มี

เครื่องพ่นหมอกควัน swingfog ของ เยอรมันคับ 

ลองหาข้อมูลในเนทดูคับ

อยากทราบว่าคอบล์ร้อนในท่อเผาเครื่องพ่นหมอกควัน S.S. Fogขาดจะใช้อะไรแทนได้ครับตัวท่อยังดีอยู่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท