เมตตาตนเองด้วยความไม่ประมาท...


 

          พระพุทธเจ้าท่านเมตตาเรา เป็นห่วงเรา กลัวเราจะตั้งอยู่ในความประมาท...


          ความประมาทในเรื่องเล็ก ๆ ทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ จากที่ไม่มีเรื่องก็กลายเป็นเรื่อง เป็นตัวเราเองที่ขุดหลุมฟังตัวเอง เราตัวเองขุดหลุมดักไว้ข้างหน้า

Large_tt821


          ครูบาอาจารย์ได้ชมเราว่าเดี๋ยวนี้ทุก ๆ คนกำลังเริ่มตื่นตัว ตื่นใจ ทำข้อวัตรปฏิบัติกัน เริ่มกระตือรือร้น อย่างนี้ดี อย่างนี้ถูกต้อง


          การประพฤติปฏิบัติ การทำความดี พระพุทธเจ้าท่านรับรองว่ามันไม่ตายหรอก ถ้าจะตายก็ให้มันตายไปเพราะเราทำความดี


          วันหนึ่งกับคืนหนึ่งให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติของพวกเรา

          พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นธรรมะภาคประพฤติปฏิบัติที่กลับมาหาตัวเอง แก้ไขพัฒนา ปรับปรุงตัวเอง เพื่อมากราบมาไหว้ตัวเอง เพื่อมาสร้างจิตของตัวเองให้มันเป็นพระ ท่านถึงเมตตาตนให้เจริญเมตตามาก ๆ

          เรื่องแรกต้องแผ่เมตตาให้กับตนเอง...
          การแผ่เมตตาไม่ใช่ว่าทำความสงบแล้วเพ่งกระแสจิตให้ตัวเองได้รับความสุข


          การเมตตาตัวเองก็ได้แก่ นำตัวเองรักษาศีลให้ดี ๆ ทำข้อวัตรปฏิบัติให้ดี ๆ อย่าเป็นคนอ่อนแอ อ่อนไหวต่ออารมณ์ ลำบากนิดหน่อย เหน็ดเหนื่อยนิดหน่อยก็หยุด ก็ท้อถอย เป็นนักรบเพิ่งจะเข้าสนามรบก็ไม่เอาแล้ว อย่างนี้เขาเรียกว่าคนอ่อนแอ คนง่อนแง่นคลอนแคลน

Large_tt7432


          การปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน มันเหน็ดมันเหนื่อยนิดหน่อย ก็สู้ไม่ไหวแล้ว มันทุกข์มากเกิน ยังไม่ได้ผ่านด่านเลย ลังเลสงสัยอยู่นั่นแหละ ว่าปฏิบัติไปนี้จะดับทุกข์ได้จริงหรือเปล่า สวรรค์มันมีหรือเปล่า นิพพานมันมีหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าเขาหลอกให้เราประพฤติปฏิบัติให้สังคมสงบร่มเย็นเฉย ๆ นิวรณ์ทั้ง ๕ มันเรียงหน้ากระดานมาเป็นชุด


          พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราลังเลสงสัย ไม่ให้เราลูบ ๆ คลำ ๆ อย่าได้หลงในอัตตาตัวตน หลงว่านี่ตัวเรา อันนี้ลูกเรา หลานเรา ทรัพย์สมบัติของเรา อย่าไปวิ่งตะครุบเงาไปเรื่อย

 

          อวิชชาคือความหลง มันอยู่ในจิตในใจของเรา...


          พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุก ๆ คนรู้จักรู้แจ้ง รักษาศีลประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่ออบรมบ่มอินทรีย์บารมี เพื่อให้จิตใจของเรามันแข็งแรง ทุกท่านทุกคนมันแก่ไปทุกวัน พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็พากันแก่กันเจ็บกันตาย

 Large_tt996

          พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ ท่านลาละสังขารเข้าปรินิพพานกันไปเรื่อยแล้วนะ...


          เดี๋ยวเราก็ได้ยินข่าวว่า ครูบาอาจารย์องค์นั้นเสียไปแล้ว ตายไปแล้ว หรือว่านิพพานไปแล้ว อีกไม่นานมันก็จะถึงเราทุก ๆ คน


          เราเป็นคนสืบทอดต่อยอดพระพุทธศาสนา ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติให้มันรู้ ให้มันเห็น ให้มันเป็น


          พระพุทธเจ้าท่านบอกท่านสอนว่าเราจะเอาอะไรไปสอนกุลบุตรลูกหลานที่เกิดมาภายหลัง เพราะตัวเองไม่ได้ ไม่เห็น ไม่เป็น


          พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีความรู้ มีความเข้าใจ มีการประพฤติปฏิบัติ อย่างทุกท่านที่พากันทำอยู่เดี๋ยวนี้


          ทุกท่านทุกคนอยากจะช่วยเหลือคนอื่น มันจะช่วยคนอื่นได้อย่างไร เพราะตัวเองก็ยังไม่ได้ช่วยตัวเอง “ต้องช่วยตัวเองด้วยและช่วยผู้อื่นไปด้วย...”

 Large_tt884

 

           การช่วยเหลือตัวเราก็คือการช่วยเหลือคนอื่น ถ้าปฏิบัติถูกต้อง ถูกทาง มันจะเป็นอย่างนั้น เราบวชหลายปี บวช ๑๐ ปี ๒๐ ปี ก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ


          เรามาอยู่วัดแล้วไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม หลายวัน หลายเดือน หลายปี ก็ไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากมาเป็นกาฝากในพระพุทธศาสนา ท่านอยู่ไป ท่านไม่ได้อยู่ในสภาพอย่างนี้ ท่านแก่ไปทุกวัน


          ท่านไม่ได้เป็นใหญ่เป็นโตแต่พรรษา แต่คุณธรรมของท่านไม่ใหญ่ ไม่แก่กล้า มีแต่เศร้าหมอง ริบหรี่ หลับแหล่ไม่หลับแหล่...

 

          ทุก ๆ ท่านทุกคน ให้คำนวณชีวิตของเราให้ดี ๆ วันหนึ่งคืนหนึ่ง ๖๐ วินาทีเป็น ๑ นาที ๖๐ นาทีเป็น ๑ ชั่วโมง ๒๔ ชั่วโมงก็เป็นหนึ่งวัน ๑ คืน กาลเวลามันนำเอาอายุขัยของเราไป


          วันหนึ่งน่ะ ๒๔ ชั่วโมงนะ การประพฤติปฏิบัติของเรามันเป็นอย่างไร ต้องคำนวณตัวเองว่า ตัวเองเป็นอย่างไร ศีลของตัวเองบกพร่องหรือไม่ สมาธิภาวนาบกพร่องหรือเปล่า เรามีความหลงในตัวเอง ในลูกหลาน ในทรัพย์สมบัติ เรามีความรู้จักรู้แจ้งในกายเราหรือยัง...?


          ถ้ายัง... พระพุทธเจ้าท่านให้เราพิจารณากายแยกออกเป็นชิ้นส่วนเหมือนอะไหล่รถยนต์ ให้พิจารณากายของเราดูว่า ส่วนไหนมันสวย ชิ้นไหนเป็นของเรา เป็นตัวเรา

Large_tt889


          มันไม่รู้แจ้งในเวทนาก็ให้พิจารณาเวทนา เวทนาทางร่างกาย ถ้าเรานั่งมากมันก็เหนื่อย ยืนมากมันก็เมื่อย มันต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงอิริยาบถ มันถึงพออยู่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

 


          พระพุทธเจ้าท่านสอนเราบอกตัวเราว่าเวทนาไม่ใช่ตัวตน เวทนามันมีเวทนาทั้งทางทั้งใจ บางทีมันทุกข์กายไม่พอ มันทุกข์ใจอีก...


          “พระพุทธเจ้าท่านสอนเราไม่ให้เอาทุกข์ไปซ้อนทุกข์” เช่น เรานี่ก็ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย มันเลยทุกข์ทั้งกาย ทุกข์ทั้งใจ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย


          เรานั่งสมาธิ เราก็ตั้งเป้าไว้เลยว่า ไม่อยากให้มันเจ็บ ไม่อยากให้มันปวด อยากเข้าสมาธิดี ๆ อย่างนี้เขาเรียกว่าเราไปสร้างทุกข์ขึ้นในจิตในใจของเราอีก

 

          เรื่องจิตเรื่องใจเป็นเรื่องสำคัญ...


          พระพุทธเจ้าท่านสอนเรา กายก็ให้มันเป็นกาย ใจก็ให้มันเป็นใจ ให้มันเป็นขันธ์แต่ละขันธ์ ขันธ์ที่บริสุทธิ์ เราฝึกไป เราปฏิบัติไป เพื่อให้เรารู้แจ้งในรูปเวทนา


         เดินจงกรมก็ให้มันเป็นเดินจงกรม เดินไปเดินมาไม่ต้องไปคิดอะไร ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว

 Large_tt913


          คนเรามันคิดมากอยู่แล้ว ไม่ต้องคิด เราเดินกลับไปกลับมาอย่างนั้นแหละ หลายนาที หลายชั่วโมง เพื่อให้สมาธิของเราตั้งไว้นาน ๆ บางทีเราก็เดินไปมันสงบ ก็วิตกวิจารณ์ คิดใหญ่เลย สมาธิไม่มีเลย สมาธิหายเลย ที่เราสงบเมื่อกี๊ ดีใจเมื่อกี๊ กลายเป็นคนไม่มีอะไรเลย...

 

 

          มันจะสงบหรือไม่สงบก็ช่างหัวมัน เรามีหน้าที่เดินไปเดินมาแล้วก็หยุดอยู่ กลับไปกลับมาอย่างนี้แหละ เราทำอย่างนี้ดี เป็นการอบรมบ่มอินทรีย์


          เราอย่าไปว่าปัญญามันไม่เกิด เราใจเย็น ๆ ไว้ก่อน เวลาเราจะไปสร้างก็ต้องปรับที่เคลียร์ที่ก่อน ดินไม่แข็งแรงก็ต้องตอกเสาเข็ม


          คนเรามันโลภมาก มันอยากมาก เดินนิด ๆ หน่อย ๆ ก็พากันอยากจะบรรลุธรรม อยากจะสำเร็จ มันไม่ใช่ของง่ายดายขนาดนั้น

 


          ถ้าเราประพฤติปฏิบัติอย่างนี้เดี๋ยวทุกสิ่งทุกอย่างมันจะดีเอง เราจะบวชใหม่หรือบวชเก่าไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่การปฏิบัติ เราจะเป็นโยมหรือเป็นพระไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่การปฏิบัติ

 


          เพราะความเป็นพระมันอยู่ที่ใจไม่ใช่อยู่ที่กาย ให้เราเน้นมาที่จิต ที่ใจ ที่กาย ที่วาจา ที่การกระทำของตัวเอง มีศีลเป็นที่ตั้งถึงจะเกิดสมาธิตามธรรมชาติ


          มีข้อวัตร ข้อปฏิบัติมาเสริมให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก มีศรัทธา มีความเพียรเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูลยิ่ง ๆ ขึ้นไป ธรรมวินัยจะได้เจริญงอกงามยิ่ง ๆ ในจิตใจของทุกคน...

Large_tt898

 


 

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย
วันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔

 

หมายเลขบันทึก: 482260เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2012 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 07:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท