ตอนที่ 6 กรรมเล็กๆ ที่มักถูกมองข้าม


ศีลธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการสั่งสอน แต่เกิดจากการเห็น แบบอย่างที่ดี และการใช้สมองส่วนหน้าหรือการใช้ปัญญาในการคิดและไตร่ตรอง

ปีนี้การสอบธรรมศึกษาของแม่กองธรรมสนามหลวงล่ากว่าทุกครั้งเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้ง ใหญ่เมื่อปลายปีก่อนและปีนี้นับเป็นปีแรกที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมจัดส่งนักศึกษาเข้าสอบอย่างเป็น กิจลักษณะรวมประมาณ 1,389 คน ในนามของสำนักเรียนวัดยานนาวา  ใจหวิวๆ อยู่บ้างด้วยเกรงว่า นักศึกษาของเราจะไปทำให้ผลสอบโดยภาพรวมของสำนักเรียนวัดยานนาวาต้องตกอันดับ จึงได้กำชับนักหนา ให้ผู้เข้าสอบทุกคนตั้งใจอ่านหนังสือและเอาจริงเอาจังให้มาก

ถึงปลายเดือนกุมภาพันธ์ แม่กองธรรมประกาศผล ปรากฏว่าดีเกินกว่าที่คาดคิด นักศึกษาของ มหาวิทยาลัยสอบได้เป็นจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 70.34    

ดังนั้นในชั่วโมงเช้าวันหนึ่งฉันจึงได้นำรายชื่อทั้งหมดมาให้นักศึกษาที่ฉันสอนได้ช่วยกันตรวจสอบและ ค้นหารายชื่อของตนเองและของเพื่อนในห้อง ไม่เลวเช่นกัน ส่งเข้าสอบ 40 คน ได้ถึง 36 คน  จึงแสดงความ ชื่นชมกับพวกเขาอย่างออกนอกหน้า  แม้จะเป็นเพียงแค่การสอบธรรมศึกษาชั้นตรี และอดที่จะภาคภูมิใจ กับตนเองไม่ได้กับความสำเร็จเล็กๆ อีกก้าวหนึ่งของความพยายามในการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม

แต่เพียงไม่ทันถึงครึ่งวัน ความปลาบปลื้มและภาคภูมิใจก็มลายสิ้น เมื่อพบว่ามี "การโกงการสอบ" เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่มันเป็นเพียงแค่การทดสอบก่อนและหลังการเรียนเท่านั้น เนื่องจากนักศึกษาคนหนึ่งไม่ได้ เข้าชั้นเรียน  เพื่อนผู้หวังดีคนหนึ่ง (เป็นหนึ่งในผู้สอบผ่านธรรมศึกษาเสียด้วย) ก็ทำข้อสอบส่งให้แทน ฉันเสาะหาทันทีว่านี่เป็นฝีมือของใคร ในที่สุดก็จับได้ เจ้าตัวยอมรับ ฉันคุยกับเขาหลายคำหลายประโยค เพื่อให้เขาได้คิดและได้สำนึกด้วยตนเอง ทั้งยังให้กลับไปคิดด้วยว่าควรจะถูกทำโทษสถานใด อย่างไร แต่เขากลับไปโกรธเพื่อนๆ ที่พูดความจริง

ฉันนิ่งคิด ความรู้ทางศาสนาและหลักธรรมไม่ได้สอดรับกับพฤติกรรมทางศีลธรรมเสมอไป  นึกถึงคำพูดของอาจารย์ประเวศ (วะสี) ศีลธรรมไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการสั่งสอน แต่เกิดจากการเห็น แบบอย่างที่ดี และการใช้สมองส่วนหน้าหรือการใช้ปัญญาในการคิดและไตร่ตรอง  เพราะการสั่งสอน หมายถึง การชี้ถูกชี้ผิด การบอกทางให้เดินในลักษณะของการ "สั่งการ" แบบ "บนลงล่าง" หรือแบบสังคม อำนาจ  คนที่ถูกสั่งสอนมาเช่นนี้ จึงใช้เป็นแต่สมองส่วนล่างสุดซึ่งเป็นสมองส่วนที่ตอบโต้กับสิ่งเร้าต่างๆ แบบ "เอาตัวรอด" เท่านั้น แต่ถ้าครูจัดการเรียนรู้โดยสร้างสถานการณ์ให้เขาได้คิดเอง หรือเรียนรู้ด้วยตนเอง ก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ใช้ความคิด ความรู้สึกและสติปัญญา

กรณีที่ฉันกำลังเผชิญอยู่นี้ ถ้าจะมองอย่างง่ายๆ ก็อาจมองได้ว่า นี่ไม่ใช่การสอบเก็บคะแนน ไม่ใช่การสอบครั้งสำคัญ ไม่เห็นเป็นสาระที่จะต้องเอาผิดกับนักศึกษาผู้หวังดีกับเพื่อนคนนั้น แต่ฉันไม่อยาก ให้ทุกคนเห็นว่า "ไม่เป็นไร"  เพราะการมองข้ามเรื่องเล็กๆ ว่า ไม่เป็นไร มักจะนำไปสู่การมองข้าม เรื่องที่มันใหญ่มากขึ้นเสมอ

นี่เป็นเพียงการโกงในเรื่องเล็กๆ ในสังคมเล็กๆ แคบๆ แต่ถ้าทำได้สำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า จิตที่มักไหลลง สู่ที่ต่ำ (อันเป็นธรรมดาของมนุษย์) ก็จะพัดพาเขาให้ไปสู่การโกงและการหลอกลวงครั้ง ที่ใหญ่มากขึ้นๆ  และในฐานะของครูผู้สอน ถ้าฉันเห็นว่าไม่เป็นไรเสียแล้ว ก็เห็นทีที่จะต้องตำหนิตัวเองด้วยว่า ตัวเรานั้นนับเป็น กลไกหนึ่งที่ร่วมสร้างการคอรัปชั่นให้กับสังคมไทย

ถึงตอนนี้ จึงอดไม่ได้ที่จะนึกถึงการสนทนาธรรมกับท่านพระครูปลัดอานนท์  ในบ่ายวันหนึ่ง ฉันได้เล่า ให้ท่านฟังถึงปฏิปทาของพระรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นอดีตนักการเมืองและรัฐมนตรีที่เคยถูกจำคุก และหลังจากพ้นโทษ แล้วก็ได้อุปสมบทเป็นพระและมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะวิทยากรที่ได้รับทั้งการยอมรับและการให้อภัย 

โชคดีที่คนไทย "ลืมง่าย"  และสังคมไทย ก็เป็น "สังคมไม่เป็นไร" 

ฉันเรียนถามท่านพระครูด้วยความสงสัยในเรื่อง "กฎแห่งกรรม" ว่า การเข้ารับโทษในคุกเป็นเวลา ประมาณห้าปีนั้น ถือว่าเป็นการใช้กรรมสิ้นแล้ว ใช่หรือไม่  ท่านยิ้มอยู่ในหน้า บอกว่า นั่นเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยว เล็กๆ ของวิบากเท่านั้น  เป็นแค่การถูกประจานหรือเป็นโทษทางบ้านเมืองที่ต้องชดใช้ แต่กรรมใหญ่ๆ อัน ทำให้คนยากจนต้องซื้อยาแพง ไม่มียาที่มีคุณภาพ และไม่มีโอกาสเข้าถึงสุขภาวะนั่นต่างหากที่ต้อง "รับ" แบบ "จัดหนัก" อย่างแน่นอน  ฉันถามต่อไป การทำความดี ด้วยการบวชเป็นพระในวันนี้ พอจะลบล้างได้ หรือไม่  ท่านบอกให้ฉันกลับให้ไปคิดต่อ ดีจริงหรือ ดีแค่เพียงฉากหน้าหรือเปล่า  หรือดีเพียงแค่หวังผลประโยชน์ บางประการ ถ้าดีจริงทำไมไม่แฉให้หมดทั้งขบวนการ กลไก ขั้นตอน วิธีการ อันจะนำไปสู่การสกัดกั้นทั้งระบบ    

คำพูดของพระป่าหนุ่ม มักจะรุนแรงเสมอในยามที่กล่าวถึงผู้นำหรือนักการเมืองที่ฉ้อฉล ... รุนแรง ในเนื้อหา ภายใต้ความปกติและความสงบในอารมณ์ ท่าที และน้ำเสียง ...

ทั้งนี้ก็ด้วยความรักอันยิ่งใหญ่ต่อผืนแผ่นดินไทยและพระมหากษัตริย์  เป็นความรักที่ฝังรากลึกอยู่ใน ทุกชาติภพ  แม้ว่าชาติสุดท้ายของการเป็นชายนักรบจะผ่านไปนานแล้ว แต่ความรักในชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์ก็ไม่เคยจะสั่นคลอน

การสนทนาธรรมกับผู้ประพฤติธรรมเช่นพระป่ารูปนี้ จึงทำให้ฉันเชื่อมั่นมากขึ้นในสิ่งที่คิด ฉันว่า คิดถูกแล้วที่ควรให้บทเรียนแก่นักศึกษาผู้หวังดีคนนั้นบ้างเพื่อป้องกันเขามิให้ตกสู่บาปที่ใหญ่มากขึ้น

หมายเลขบันทึก: 481920เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2012 08:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 08:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท