อริยมรรคมีองค์ ๘ : สู่การพัฒนาผู้นำ


อริยมรรค ทางสายกลางสู่สังคมแห่งสันติสุข

           สังคมปัจจุบันทั่วโลกกำลังขาดแคลนผู้นำที่มีคุณลักษณะพร้อมทั้งด้านพฤติกรรม อารมณ์ และความคิด หรือความรู้ จึงทำให้เกิดปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น ปัญหาผู้นำเก่งแต่ไรคุณธรรม ผู้นำมีคุณธรรมจริยธรรมแต่ขาดความสามารถในการบริหารงาน เป็นต้น สาเหตุของปัญหาวิกฤติผู้นำที่สำคัญคือ (๑) เพราะผู้นำขาดวิสัยทัศน์ที่ดีในการบริหารงาน (๒) เพราะผู้นำขาดความคิดริเริ่มในการพัฒนาสิ่งใหม่ๆให้เกิดขึ้น (๓) เพราะผู้นำขาดทักษะทางการสื่อสาร (๔) เพราะผู้นำขาดความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ต่อครอบครัวและผู้อื่นต่อหน้าที่หน้าที่ (๕) เพราะผู้นำทุจริตคิดอยากได้โดยไม่คำถึงถึงความถูกต้องดีงาม (๖) เพราะผู้นำขาดความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง (๗) เพราะผู้นำมักใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างไร้สามัญสำนึก เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของตนเองและพวกพ้อง (๘) เพราะผู้นำขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ ซึ่งปัญหาทั้ง ๘ ประการนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตัวผู้นำ คือ ไม่ได้รับการยอมรับนับถือ หรือความไว้วางใจจากผู้อื่น ผลกระทบต่อองค์กร คือ ทำให้องค์กรของตนไม่สามารถพัฒนาการขีดความสามารถในการแข่งขันกับองค์กรอื่นได้จนต้องล่มสลายในที่สุด ผลกระทบต่อสังคมประเทศชาติ คือ ระบบการสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ

           กระบวนการในการประยุกต์หลักอริยมรรคมีองค์ ๘ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้นำ  จะทำในลักษณ์ของการแบ่งหรือจัดหมวดหมู่ของปัญหาเข้าด้วยกันได้ ๘ ประเด็นใหญ่ๆ ตามที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นนั้น  จากนั้นได้นำหลักอริยมรรคมาประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาผู้นำในด้านต่างๆ ทั้ง ๘ ด้าน ดังนี้

 

                    (๑) การประยุกต์ใช้หลักสัมมาทิฎฐิในการพัฒนาวิสัยทัศน์ผู้นำ  เป็นการพัฒนาผู้นำด้านวิสัยทัศน์  เนื่องจากในกระบวนการคิดหรือการกระทำนั้นมีความสำคัญเป้นอย่างมาก  หากการคิดหรือการกระทำนั้นปราศจากวิสัยทัศน์ก็อาจนำไปสู้ความพินาศได้ วิธีการพัฒนาตามหลักการของสัมมาทิฐิ คือ การพัฒนาความคิด การมองภาพของอนาคตตามสภาพความเป็นจริงในสถานการณ์นั้นๆ ด้วยการรับถ่ายทอดหรือเล่าเรียน ศิลปะวิทยาการและข่าวสารและข้อมูลต่าง ๆ และรับรู้ประสบการณ์ จากการเรียนรู้ต่าง ๆ อย่างถูกต้องโดยปราศจากอคติ และการพิจารณาโดยแยบคาย รอบคอบ ด้วยปัญญาที่ปราศจากกิเลสครอบงำ

                    (๒) การประยุกต์ใช้หลักสัมมาสังกัปปะในการพัฒนาความคิดริเริ่มของผู้นำ เป็นการพัฒนาผู้นำด้านความคิดริเริ่ม โดยใช้ปัญญาแยกแยะว่าสิ่งใดมีประโยชน์ เป็นความจริงแก่ตนและสังคมแล้วปฏิบัติ ส่วนใดมีโทษและก่อความเดือดร้อนให้งดหรือละเสีย  และใช้ปัญญาพิจารณาสิ่งต่าง ๆ ให้รู้แจ้งความจริงของโลกและชีวิต สามารถแก้ปัญหาชีวิตขจัดความทุกข์ในจิตใจ จิตใจไม่ถูกบีบคั้น หลุดพ้นจากการถูกกิเลสครอบงำ มีจิตที่เป็นอิสระ อยู่เหนือกระแสโลก

                    (๓) การประยุกต์ใช้หลักสัมมาวาจาในการพัฒนาการสื่อสารของผู้นำ  ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ กล่าวได้ว่าเป็นยุคแห่งการสื่อสารที่ไร้พรมแดน การสื่อสารในองค์กร หรือการสื่อสารกับผู้อื่นนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของผู้นำและมนุษย์โดยทั่วไปไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม  หลักการพัฒนาการสือสารที่สำคัญคือ ผู้นำต้องยึดหลักสำคัญ ๔ ประการ คือ (๑) งดเว้นจากการสือสารด้วยคำพูดคำที่เป็นเท็จ พูดแต่ความจริง พูดแต่เรื่องที่เป็นจริงมีเหตุผลและสามารถพิสูจน์ได้  (๒) งดเว้นจากการสื่อสาร  ที่เป็นการพูดถ้อยคำที่ส่อเสียดอันจะนำมาซึ่งความแตกแยก โดยการพูดแต่ถ้อยคำที่จะสร้างสรรค์ความสามัคคี และถ้อยคำที่เป็นประโยชน์ (๓) งดเว้นจากการสื่อสารด้วยการพูดถ้อยคำที่หยาบคาย ไม่ชวนฟัง ไม่ก่อให้เกิดความรื่นเริง ไม่เชิญชวนให้ปฏิบัติตาม แต่ผู้นำจะต้องพูดแต่ถ้อยคำที่อ่อนหวาน ชวนให้ผู้อื่นอยากเข้ามาสนทนาด้วย  (๔) งดเว้นจากการสื่อสารด้วยการพูดถ้อยคำที่เพ้อเจ้อหาสาระประโยชน์อะไรมิได้  แต่ผู้นำจะต้องพูดถ้อยคำที่มีสาระ เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น

                   (๔) การประยุกต์ใช้หลักสัมมากัมมันตะในการพัฒนา ซึ่งเป็นการพัฒนาผู้นำด้านความซื่อสัตย์ โดยพัฒนาให้ผู้นำมีความรู้ความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพหรือโลกแห่งวัตถุ (กายภาวนา) เช่น ตา หู จมูก ลิ้น กาย ในการรับรู้ ตาต้องไม่ก่อความเสียหาย เช่น ความโลภ  อยากมีสิ่งของต่างๆ นำไปสู่การแสวงหาด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งถูกต้องและไม่ถูกต้อง  การพัฒนาตามหลักของสัมมากัมมันตะจะทำให้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพ คือการรู้เท่าทันการทำหน้าที่อินทรีย์แต่ละอย่าง หรือเรียกว่า “อินทรีย์สังวร” คือ ไม่เสพติด      ไม่บริโภคปัจจัย ๔ ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากวัตถุอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้งเทคโนโลยีอย่างฟุ่มเฟือย และไม่ยึดติด ไม่ฟุ้งเฟ้อ

                    (๕) การประยุกต์ใช้หลักสัมมาอาชีวะในการพัฒนาแก้ปัญหาการทุจริตของผู้นำ ซึ่งเป็นการพัฒนาผู้นำด้านความเป็นอยู่การหาเลี้ยงชีพโดยให้ผู้นำรักษากติกาของสังคม กฎเกณฑ์ หรือกฎหมายระเบียบแบบแผนของสังคมของตน รวมทั้งสิ่งที่เรียกว่า จรรยาบรรณ รู้จักการให้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้ความสุขและช่วยสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม การประพฤติเกื้อกูลแก่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ทั้งสัตว์ มนุษย์ และพืช เว้นจาการประกอบอาชีพที่ผิดหลักศีลธรรมอันดีงามที่ควรปฏิบัติ และผิดหลักกฏหมายการบริการจัดการบ้านเมืองเพื่อให้เกิดความสงบสุขและร่มเย็นของปวงประชา

                   (๖) การประยุกต์ใช้หลักสัมมาวายามะในการพัฒนาความรับผิดชอบของผู้นำ  ซึ่งเป็นการพัฒนาผู้นำให้เป็นผู้มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานที่กำลังปฏิบัติในฐานความเป็นผู้นำองค์กร หรือสังคม ด้วยการพัฒนาผู้นำให้มีคุณธรรม ความดีงามต่าง ๆ ซึ่งเป็นรากฐานพฤติกรรมที่ดีงาม สมรรถภาพจิต คือ ความเข้มแข็ง อดทน มีประสิทธิภาพของจิต มีหลักการในการปฏิบัติ คือ (๑) ฉันทะ พัฒนาผู้นำให้มีความรักในงานที่ทำ ในหน้าที่ที่รับผิดชอบ  (๒) วิริยะ พัฒนาผู้นำความเพียร ความขยัน ด้วยการหมั่นรักษามาตรฐานการทำงานของตนที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไป และปรับปรุงการปฏิบัติในส่วนที่ด้อยให้เจริญและมากยิ่งขึ้น  (๓) จิตตะ คือการหมั่นตรึกตรอง จดจ่อ เฝ้าดูและลงมือปฏิบัติหน้าที่นั้นด้วยความตั้งใจ ไม่ละความเพียร ไม่ให้เกิดความเบื่อหน่ายในหน้าที่การงาน และ (๔) วิมังสา คือ การติดตามประเมินผลการปฏิบัตินหน้าที่ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ

                   (๗) การประยุกต์ใช้หลักสัมมาสติในการพัฒนาด้านการใช้อำนาจของผู้นำ อำนาจนั่นมักจะมาพร้อมกับตำแหน่งหน้าที่  ในการพัฒนาผู้นำด้านการใช้อำนาจ คือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญของอำนาจ นั่นคือ การกำหนดรู้กายในกาย กำหนดรู้เวทนาในเวทนา กำหนดรู้จิตในจิต และกำหนดรู้ธรรมในธรรม นั่นหมายความว่า (๑) ผู้นำจะต้องระลึกถึงที่มาเสมอว่า อำนาจนั้นได้มาจากหน้าที่ ซึ่งหน้าที่นั่นได้รับมอบหมายจากบุคคลหลายๆหลายที่ไว้วางใจให้เป็นผู้นำเป็นผู้ใช้อำนาจของพวกเขา (๒) ผู้นำจะต้องระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาว่าอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน มีการเปลี่ยนแปลงได้เมื่อก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำ (๓) ผู้นำจะต้องระลึกรู้ถึงขอบเขตของอำนาจว่าใช้ได้มากน้อยเพียงใดในสถานการณ์ใด และ (๔) ผู้นำจะต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ในตำแหน่งหน้าที่นั้นอย่างเป็นธรรมแก่ทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตนและพวกพ้องหรือที่เรียกว่า “เลือกที่รัก มักที่ชัง”

                   (๘) การประยุกต์ใช้หลักสัมมาสมาธิในการพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้นำ ซึ่งเป็นการพัฒนาผู้นำให้เป็นผู้ที่มีความหนักแน่น เป็นผู้ที่สามารถควบคุมตนเองได้ในสถานการที่เกิดแรงกระทบ ยั่วยุให้เกิดความไม่สมประสงค์ในสิ่งที่ตนปรารถนา ซึ่งวิธีการในการพัฒนาตามกระบวนการของสัมมาทิฐิ มี ๒ ประการ คือ (๑) การเฝ้าระวังมลทินไม่ให้เกิดขึ้นในจิตใจของตนเอง เช่น การไม่หมั่นเพียรในการศึกษาหาความรู้  ความไม่หมั่นเพียรในการชำระร่างกายและจิตใจตน ความเกียจคร้านในการปฏิบัติหน้าที่ ความประมาท ประพฤติตนในทางเสียหาย และอวิชาคือความเขลาที่เข้ามาครอบคลุมความคิดของตน เป็นต้น (๒) การหมั่นเพียรในการประกอบกิจ ฝึกฝนและพัฒนาจิตใจของตนเองอยู่ตลอดเวลา

              อย่างไรก็ตาม  ปัญหาวิกฤติของผู้นำที่เกิดขึ้นซึ่งผู้วิจัยได้จำแนกออกเป็น ๘ ด้าน  ที่กล่าวแล้วข้างต้น  หากวิเคราะห์ สังเคราะห์  สามารถแบ่งได้ ๓ ด้าน คือ (๑) ด้านพฤติกรรม ประกอบด้วย ความซื่อสัตย์  การสือสาร  และการทุจริต (๒) ด้านจิตใจ ประกอบด้วย ความรับผิดชอบ การใช้อำนาจ  และวุฒิภาวะทางอารมณ์  (๓) ด้านความคิดหรือปัญญาความสามารถ ประกอบด้วย วิสัยทัศน์ และความคิดริเริ่ม  เมื่อพิจารณาจากหลักการปฏิบัติที่แท้จริงของการพัฒนาผู้นำตามหลักอริยมรรคมีองค์ ๘  จะพบว่า  หลักการที่แท้จริง คือ

              (๑) ต้องการให้เกิดการพัฒนาที่ดีทางพฤติกรรม การการแสดงออกทางกาย วาจา นั่นคือหลักของสัมมากัมมันตะ สัมมาวาจา และสัมมาอาชีวะ ในหลัการนี้ซึ่งตรงกับหลักไตรสิขาข้อที่ ๑ คือ อธิศิลสิกขา คือการพัฒนาด้านพฤติการรม  

              (๒) ต้องการให้เกิดการพัฒนาที่ดีทางด้านจิตใจ นั่นคือหลักของสัมมาวายามะ  สัมมาสติ  และสัมมาสมาธิ ในหลักการนี้ซึ่งตรงกับหลักไตรสิขาข้อที่ ๒ คือ อธิจิตสิกขา คือ การพัฒนาด้านจิตใจ

              (๓) ต้องการให้เกิดการพัฒนาที่ดีทางด้านความคิดหรือปัญญา นั่นคือหลักการของสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ ในหลักการนี้ซึ่งตรงกับหลักไตรสิขาข้อที่ ๓ คือ อธิปัญญาสิกขา คือ การพัฒนาด้านปัญญา

              การนำหลักอริยมรรคมีองค์ ๘ มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผู้นำที่พึงประสงค์ในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นหลักธรรมที่นำมาประยุกต์ใช้และทำได้อย่างตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะสภาพสังคมในปัจจุบันเต็มไปด้วยการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงเพื่อเอาตัวรอดทั้งระดับบุคคล คือการแข่งขันในการทำอาชีพ ธุรกิจ เป็นต้น เพื่อการอยู่รอดของตนเองและครอบครัว ในระดับขององค์กรก็ต้องแข่งขัน เช่น องค์กรภาคธุระกิจต้องแข่งขันกันเพื่อสร้างตัวเลือกทางสินค้าและบริการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไรจากการประกอบการ หรือแม้แต่องค์กรภาครัฐก็ต้องแข่งขันเพื่อสร้างความพอใจแก่ประชาชนให้มากที่สุด

หมายเลขบันทึก: 481220เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2012 07:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"..(๘) การประยุกต์ใช้หลักสัมมาสมาธิในการพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้นำ ซึ่งเป็นการพัฒนาผู้นำให้เป็นผู้ที่มีความหนักแน่น เป็นผู้ที่สามารถควบคุมตนเองได้ในสถานการที่เกิดแรงกระทบ ยั่วยุให้เกิดความไม่สมประสงค์ในสิ่งที่ตนปรารถนา ซึ่งวิธีการในการพัฒนาตามกระบวนการของสัมมาทิฐิ มี ๒ ประการ คือ..."

กราบเรียนพระอาจารย์ครับ ข้อมูลดีมากครับ ...ไม่แน่ใจว่าข้อความที่ผมใส่เส้นใต้ไว้นั้นตรงกันหรือเปล่าครับ อาจมีการพิมพ์ผิดหรือเข้าใจผิดไปก็ต้องกราบขออภัยด้วยนะครับ 

เจริญพรขอบคุณ ท่านอาจารย์ "พี่หนาน" เป็นความเข้าใจผิดในการใช้ภาษาเขียนของอาตมา ควรจะเป็น "วิธีการประยุกต์" ขอบคุณท่านอาจารย์ที่ชี้แนะนักเขียนมือสมัครเล่น (ใหม่)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท