หมออนามัย โรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า


 โรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า

หมออนามัย นายอานนท์ ภาคมาลี

 

     โรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า Rabies หรือโรคหมาว้อ คือ โรคติดต่อร้ายแรงชนิดหนึ่ง   เกิดจากเชื้อเรบีส์ไวรัส (Rabies) ซึ่งอาจเกิดจากการถูกกัด หรือข่วน ทำให้เกิดโรคในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น คน สุนัข แมว ม้า วัว ควาย ลิง ชะนี กระรอก ค้างคาว สุนัขจิ้งจอก สกั้งค์ แรคคูน พังพอนฯลฯ พาหะนำโรคที่สำคัญในประเทศไทยคือสุนัข รองลงมาคือแมว ส่วนในต่างประเทศมักเกิดจากสัตว์ป่ากินเนื้อต่างๆ โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะทำให้เกิดมีอาการทางประสาท โดยเฉพาะระบบประสาทส่วนกลาง ถ้าเป็นแล้วจะเสียชีวิตทุกราย หากฉีดวัคซีนป้องกันไม่ทัน เพราะผู้ที่เป็นจะมีอาการกลัวน้ำ ซึ่งเป็นอาการแปลกที่พบในโรคกลัวน้ำหรือโรคพิษสุนัขบ้าเท่านั้น และเวลากินน้ำจะสำลักและเจ็บปวดมาก เพราะกล้ามเนื้อคอเป็นอัมพาตและเกร็ง คนสามารถเป็นโรคกลัวน้ำหรือโรคพิษสุนัขบ้า ได้หากรับเชื้อจากสัตว์ที่เป็นโรคกลัวน้ำหรือโรคพิษสุนัขบ้านี้ โดยสามารถรับเชื้อ ได้สองทาง

1.ถูกสัตว์ที่เป็นโรคกลัวน้ำหรือโรคพิษสุนัขบ้า กัด ข่วน โดยเชื้อไวรัส จากน้ำลาย จะเข้าสู่บาดแผล

2.ถูกสัตว์ที่เป็นโรคเลีย ปกติจะไม่ติดเชื้อ นอกจากว่าบริเวณที่ถูกเลียจะมีบาดแผลหรือรอยถลอก ขีดข่วน รวมทั้งการถูกเลียที่ริมฝีปาก หรือนัยน์ตา

     ส่วนกรณีการติดต่อจากคนสู่คนนั้น ในตามทฤษฎีเป็นไปได้         แต่ยังไม่มีรายงานยืนยันแน่ชัด

ระยะฟักตัวของเชื้อในคน จากการสำรวจผู้ป่วย โรคกลัวน้ำหรือโรคพิษสุนัขบ้า      ทุกรายจะมีระยะฟักตัวไม่เกิน 1 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้ด้วย

1. อวัยวะที่ถูกกัด

2. ความรุนแรงของแผลที่ถูกกัด

3. ชนิดของสัตว์ที่กัด

4. ประมาณของเชื้อไวรัสที่เข้าไปในบาดแผล

5. วิธีปฏิบัติกับการรักษาหลังสัตว์กัด

อาการของโรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า

1. เชื้อไวรัสอยู่ในน้ำลาย ของสัตว์ป่วย เข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลโดยการ กัด ข่วน หรือเลียผิวหนังที่มีบาดแผล เพิ่มจำนวนระยะแรกในบริเวณที่ได้รับเชื้อ

2. เชื้อเข้าใส่แขนงประสาท และระบบประสาทส่วนกลาง ในเส้นประสาทเชื้อจะไม่เพิ่มจำนวน

3. เชื้อเข้าสู่สมองและเริ่มเพิ่มจำนวนเชื้อ จะมีอาการ คลุ้มคลั่ง ดุร้าย กระวนกระวาย

4. เชื้อเข้าสู่ไขสันหลังเชื้อจะเพิ่มจำนวนมาก ทำให้สมองและไขสันหลังทำงานผิดปกติ จะมีอาการอัมพาตและตายในที่สุด ถ้าเชื้อเดินทางมาถึงสมองแล้วภูมิต้านทานที่ร่างกายสร้างขึ้นหลังจากฉีดวัคซีนก็จะป้องกันไม่ได้

อาการของคนเป็นโรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า

  1. ระยะอาการเริ่มแรก ผู้ป่วยมีอาการอักเสบที่สมองและเยื่อสมอง ในระยะ 2 - 3 วันแรก โดยอาจป่วยเมื่อยตัว มีไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คันหรือแสบบริเวณถูกกัด ทั้งๆที่แผลอาจหายเป็นปกติแล้ว
  2. ระยะอาการทางระบบประสาท จะเริ่มหงุดหงิด กระสับกระส่าย อาละวาด ไม่อยู่สุข โดยจะมีอาการเช่นนี้ประมาณ 2 - 3 วัน จากนั้นจะเริ่มซึมเศร้า และมีอาการกลัว ทั้งไม่ชอบแสงสว่าง ลม เสียงดัง กลัวน้ำ ซึ่งอาจพบอย่างใด อย่างหนึ่งก็ได้ มีน้ำลายไหล กลืนอาหาลำบากและเจ็บ เพราะเกิดอาการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืนแต่ยังพูดจารู้เรื่อง
  3. ระยะสุดท้าย มีอาการเอะอะมากขึ้น สงบสลับกับชัก บางรายอาจมีอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด เพราะส่วนสำคัญของสมองถูกทำลายไปหมด โดยเฉลี่ยเสียชีวิตภายใน 2 – 6 วัน เนื่องจากอัมพาตของกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินหายใจ เพราะโรคลุกลามไปอย่างรวดเร็ว

 

วิธีการสังเกตสัตว์ที่เป็นโรคกลัวน้ำ หรือ โรคพิษสุนัขบ้า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็น จะมีอาการ 2 แบบคือ

1. แบบดุร้าย จะมีอาการหงุดหงิด ไล่กัดคนและสัตว์อื่นๆบ้าง สุนัขจะกัดจนฟันหัก ลิ้นเป็นแผล เมื่อแสดงอาการดุร้ายได้ 2 - 3 วัน ก็จะอ่อนเพลียลง ขาหลังไม่มีแรง เดินโซเซ และตายในที่สุด รวมระยะเวลาประมาณ 10 วัน

 2. แบบเซื่องซึม สัตว์จะมีอาการปากอ้า หุบไม่ได้ ลิ้นมีสีแดงคล้ำ มีสิ่งสกปรกติดอยู่ และลิ้นจะห้อยออกมานอกปาก มีอาการคล้ายกระดุก ติดคอ สุนัขจะเอาขาหน้าตะกุยบริเวณแก้มปากและคอบวม จะลุกนั่ง ยืน และเดินไปมาบ่อยๆกินของแปลก เช่น ใบไม้ ก้อนหิน หรือบางตัวกินปัสสาวะของตัวเอง แต่สุนัขไม่กัด ถ้าไม่ถูกรบกวน สุนัขแบบหลังนี้จะสังเกตอาการยากมากกว่า ว่าเป็น โรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า หรือไม่ ดังนั้นหากสุนัขตายโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรตัดหัวไปพิสูจน์ก่อน

การรักษาโรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า ดีที่สุดคือระวังอย่าให้ถูกสุนัขหรือแมวกัด เพราะคนมักติดเชื้อจากน้ำลายของสัตว์ที่เป็นโรค นอกจากนี้ควรพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำหรือโรคพิษสุนัขบ้า ด้วย ที่สำคัญอย่าปล่อยให้มีลูกมากผู้เลี้ยงควรทำหมันทั้งตัวผู้และตัวเมีย

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า สมัยก่อนเราอาจจะคุ้นว่าต้องแดวัคซีนรอบสะดือ 14 เข็มหรือ 21 เข็ม ถ้าหยุดต้องเริ่มต้นใหม่ แต่ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกัน ที่ทำจากเซลล์เพาะเลี้ยง โดยฉีดทั้งหมดเพียง 5 ครั้งเท่านั้น และไม่ต้องหยุดฉีด  โดยมี 2 แบบคือ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ และฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ซึ่งวัคซีนนี้จะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ต่อระบบประสาท อย่างไรก็ตามหากจะป้องกันให้ได้ผลดี ควรฉีดเซรุ่มควบคู่กับการฉีดวัคซีนด้วยโดยเฉพาะหากบาดแผลมีเลือดออก แผลลึก ถูกสุนัขเลียที่ตา ริมฝีปาก น้ำลายกระเด็นเข้าตา โดยเซรุ่มจะเข้าไปทำลายเชื้อไวรัสในร่างกายของผู้ถูกสุนัขบ้ากัด การฉีดจะฉีดรอบๆแผลก่อนที่จะก่อโรคและก่อนที่ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้น ทั้งนี้เซรุ่มป้องกัน โรคกลัวน้ำหรือโรคพิษสุนัขบ้ามีราคาแพงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำจากเลือดคน ดังนั้นสถานสาวภาจึงได้ดำเนินการผลิตเซรุ่มป้องกันโรคจากเลือดม้า และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้ผลิตเซรุ่มป้องกันจากคนเพื่อใช้เองภายในประเทศ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำหรือโรคพิษสุนัขบ้า แบบป้องกันล่วงหน้า โดยฉีด 3 เข็มในระยะเวลา 1 เดือน สามารถฉีดได้ในทุกวัย โดยเฉพาะเด็กที่คลุกคลีเล่นกับสัตว์ และมีโอกาสถูกสัตว์กัด รวมทั้งผู้ที่เลี้ยงลูกด้วยนม และคนตั้งครรภ์ก็สามารถฉีดวัคซีนนี้ได้เช่นกัน ประโยชน์ของการฉีดวัคซีนล่วงหน้า ประโยชน์คือ หากถูกสัตว์กัด การฉีดวัคซีนกระตุ้นเพียง 1-2 เข็ม ร่างกายก็จะได้ภูมิต้านทานที่สูงพอจะป้องกันโรคอย่างได้ผล รวมทั้งไม่เสี่ยงต่อการแพ้เซรุ่ม หรือเจ็บปวดรอบๆแผลจากการฉีดเซรุ่ม

การปฏิบัติตัวหลังถูกสุนัข กัด ข่วน ควรดำเนินการต่อไปนี้

1. ล้างแผลทันที่ด้วยน้ำสะอาด ฟอกสบู่ 2 - 3 ครั้ง ถ้ามีเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดไหลออกอย่าบีบหรือคั้นแผล เพราะจะทำให้เชื้อแพร่กระจายไปส่วนอื่น

2. ใส่ยา เช่น เบตาดีน ทิงเจอร์ไอโอดีน แอลกอฮอล์ 70% จะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้ อย่าใส่สิ่งอื่น เช่นเกลือ ยาฉุน ลงในแผล ไม่ควรเย็บแผล และไม่ควรใช้รองเท้าตบแผล เพราะอาจทำให้เชื้อกระจายไปรอบบริเวณ เกิดแผลได้ง่าย และอาจมีเชื้อโรคอื่นเข้าไปด้วย ทำให้แผลอักเสบ

3. กักสัตว์ที่กัดไว้ดูอาการอย่าน้อย 15 วัน โดยให้น้ำและอาหารตามปกติ อย่าฆ่าสัตว์ให้ตายทันที เว้นแต่สัตว์นั้นดุร้าย กัดคนหรือสัตว์อื่น หรือไม่สามารถกักสัตว์ไว้ได้ ถ้าสัตว์หนีหายไปให้ถือว่าสัตว์นั้นเป็นโรคกลัวน้ำหรือโรคพิษสุนัขบ้า

4. รีบพบแพทย์ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนและเซรุ่ม ไม่ควรรอดูอาการสัตว์เลี้ยง เพราะอาจสายเกินไป

5. หากสัตว์เลี้ยงตายให้นำซากมาตรวจหาเชื้อ หากสัตว์เลี้ยงไม่ตายให้ขังรอดูอาการ หากติดตามสัตว์ที่ กัดไม่ได้ ต้องรีบมาฉีดวัคซีนทันที

การส่งซากสัตว์ เพื่อวินิจฉัยโรคกลัวน้ำหรือโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสงสัยว่าสัตว์เป็นโรค ควรกักขังสัตว์ไว้ในที่ปลอดภัย และ เฝ้ารอดูอาการ 15 วัน ไม่ควรทำลายสัตว์โดยไม่จำเป็น ควรปล่อยให้สัตว์ตายเอง ซึ่งจะตรวจพบเชื้อได้ง่ายและแน่นอนกว่า ในการส่งซากสัตว์ควรส่งให้เร็วที่สุด ภายใน 24 ชั่วโมง โดยปฏิบัติอย่างระมัดระวัง เรื่องความสะอาด ควรสวมถุงมือขณะเก็บซากและล้างมือให้สะอาดหลังจากเก็บซาก ควรส่งเฉพาะส่วนหัวหรือหากเป็นสัตว์เล็กสามารถส่งได้ทั้งตัว โดยแช่แข็งไว้ในกระติกหรือกล่องโฟมใส่น้ำแข็งให้เย็นตลอดเวลาพร้อมระบุประวัติของสัตว์ ชนิด เพศ อายุ สี อาการป่วย ชื่อที่อยู่หมายเลขโทรศัพท์ เจ้าของสัตว์และผู้ถูกกัด

สิ่งที่น่าสนในใจเกี่ยวกับโรคกลัวน้ำหรือโรคพิษสุนัขบ้า

1.สัตว์ที่พบมากที่สุดคือสุนัข รองลงมาคือแมว ลิง และปศุสัตว์ (ม้า วัว ควาย) สัตว์กัดแทะจำพวกหนู กระรอก กระแต กระต่ายและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่นๆทุกชนิดที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า อย่างน้อยปีละ หนึ่งครั้ง หรือสองครั้ง นอกจากนั้นคนที่ถูกสัตว์ กัด ข่วน ต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันรคบาดทะยัก 1 ถึง 3 เข็ม ตามประวัติที่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก เพราะในปากและฟันของสัตว์มีเชื้อโรคต่างๆมากมาย

2. ถ้าถูกสัตว์กัด สัตว์ที่กัดเคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำโรคพิษสุนัขบ้า มาก็ก่อนตั้งแต่ อายุ 3 เดือนขึ้นไป      ตามประวัติการได้รับวัคซีน (สมุดประจำตัวสัตว์เลี้ยง) จะไม่มีโอกาสเป็นโรคหรือไม่ ต้องคิดว่าสัตว์เป็นโรคไว้ก่อน คนที่ถูกสัตว์กัด ไม่ป่วยเป็นโรคทุกราย โอกาสเฉลี่ย 35%ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ถูกกัด และประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันของสัตว์นั้นๆ เช่นถ้าถูกกัดที่บริเวณต่ำกว่าเอวลงมา โอกาสเป็นโรคประมาณ 21% ถ้าถูกกัดเหนือเอวขึ้นไป ใกล้สมองมากที่สุด โอกาสเป็นโรคประมาณ 88% ถ้าแผลตื้นแผลถลอก โอกาสเป็นโรคจะน้อยกว่า แผลลึกหลายๆแผล

3. ถ้าถูกสัตว์กัด ระยะเวลาตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งปรากฏอาการของโรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า หรือที่เรียกว่าระยะฟักตัว จะแตกต่างกันได้มาก พบได้ตั้งแต่ 4 วัน ถึง 4 ปี ผู้ป่วยประมาณ 70%จะเป็นโรคภายใน 3 เดือน หลังถูกกัด ประมาณ 96% จะเป็นโรคภายใน 1 ปีหลังถูกกัด แต่ส่วนมากมักมีอาการในช่วงระหว่าง สัปดาห์ที่ 3 จนถึงเดือนที่ 4

4. อาการของโรค ระยะอาการนำ สัตว์เลี้ยงจะมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่นจากเคยเชื่อง ชอบเล่นกลายเป็นซึม กินอาหารหรือน้ำน้อยลง ระยะนี้กินเวลา 2 - 3 วัน จึงเข้าสู่ระยะเป็นอาการทางระบบประสาท สัตว์จะกระวนกระวาย ไม่อยู่นิ่ง กัดทุกอย่างที่ขวางหน้า ตัวแข็ง น้ำลายไหล ลิ้นห้อย ต่อมามีกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ได้ ล้มแล้วลุกไม่ขึ้นใน 1 - 7 วัน ระยะอัมพาต จะเกิดอาการอัมพาตทั้งตัว สัตว์เลี้ยงจะตายภายใน 24 ชั่วโมง รวมระยะเวลาที่มีอาการ จนถึงตายประมาณ 10 วัน หรือไม่เกิน 15 วัน ส่วนใหญ่ตายภายใน 4 – 6 วัน คนไหนที่ถูกสัตว์กัดต้องดูอาการของสัตว์หรือขังสัตว์ไว้ประมาณ ไม่เกิน 15 วัน หากไม่แน่ใจต้องรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า ประมาณ 5 เข็ม ตามนัดให้ครบ และฉีดวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักตามประวัติเคยได้รับวัคซีน การฉีดเซรุ่มเข้าในเส้นเลือดกรณีติดเชื้อในกระแสเลือด และถ้ามีบาดแผลต้องได้รับการทำความสะอาดทุกวันจนกว่าแผลจะหายเป็นปกติ

5. อาการโรคกลัวน้ำ หรือโรคพิษสุนัขบ้า ในคนจะเริ่มมีอาการไข้ อ่อนเพลียคล้ายไข้หวัด อาจมีปวดท้องคลื่นไส้อาเจียน อาการที่แปลกออกไป คือ อารมณ์เปลี่ยนแปลง กังวล กระสับกระส่ายนอนไม่หลับ อากานำที่พบบ่อยได้แก่ อาการคันบริเวณที่ถูกกัดหรือคันแขนขาที่ถูกกัด อาจมีอาการชา เจ็บเสี่ยวรอบๆบริเวณที่ถูกกัด อาการทางประสาท อาการกลัวน้ำ จะมีอาการตึงแน่นในคอ กลืนอาหารแข็งได้แต่กลืนอาหารเหลวลำบาก เวลากินน้ำจะสำลักและเจ็บปวดเนื่องจากกล้ามเนื้อในลำคอกระเกร็ง อาการกลัวลม ผู้ป่วยจะสะดุ้งผวาเมื่อถูกกลมพัด อาการประสาทไว ผู้ป่วยจะกลัวสะดุ้งเกร็งต่อสัมผัสต่างๆไม่ชอบแสงสว่างไม่อยากให้ใครมาถูกต้องตัว  อาการคลุ่มคลั่ง ประสาทหลอน ผู้ป่วยอาจอาละวาด ดุร้ายน่ากลัว อาการอื่นๆมาด้วยอัมพาต ระยะสุดท้ายผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว เข้าสู้ระยะโคม่า ในผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษา ส่วนใหญ่จะมีชีวิตไม่เกิน 7 วัน หลังเริ่มอาการนำและอยู่ไม่เกิน 3 วันหลังมีอาการทางระบบประสาท

6. เมื่อถูกสัตว์ กัด ข่วน ควรปฏิบัติตัว รีบล้างแผลด้วยน้ำและฟอกสบู่หลายๆครั้ง พยายามล้างในเข้าถึงรอยลึกของแผล ถ้าไม่มีสบู่ใช้ผงชักฟอกแทนก็ได้ และทำความสะอาดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่นแอลกอฮอล์ 70% เบต้าดีน ยาทิงเจอร์ ถ้าแผลฉกรรจ์มีเลือดออก ควรปล่อยให้เลือดออกระยะหนึ่งเพื่อขับน้ำลายซึ่งอาจมีเชื้อไวรัสออก ควรกักขังสัตว์เพื่อดูอาการอย่างน้อย 10 วัน กรณีที่สัตว์ตายควรนำตรวจเพื่อหาเชื้อ (ท่านต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง และเสียเวลา แต่สุดท้ายท่านก็ต้องมารับการฉีดวัคซีนอยู่ดี) ที่ปศุสัตว์ รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำหรือโรคพิษสุนัขบ้า และวัคซีนป้องกันโรคบาดทะยัก เซรุ่มจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ทันที ไม่ว่าจะสามารถเฝ้าดูอาการได้หรือไม่ โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของหรือกัดแล้วควรไปโรงพยาบาลทันที ไม่ควรและจำเป็นต้องรอให้สัตว์มีอาการก่อน เพราะระยะฟักตัวทั้งในคนและสัตว์ไม่แน่นอน (เป็นช่วงที่กว้าง) คนอาจมีอาการก่อนสัตว์ได้

7. ประวัติการได้รับวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำหรือโรคพิษสุนัขบ้า สัตว์ที่มีเจ้าของไม่เคยออกนอกบ้านไม่เคยไปกัดกับใครอาจช่วยลดโอกาสการเป็นโรคของสัตว์ดังกล่าวลง แต่ไม่ได้บอกว่าจะไม่เป็นโรค เพราะฉะนั้นควรปฏิบัติตามข้อ 1 - 6  เหมือนเดิม

8. กรณีที่เป็นแผลฉีกขาด อาจทำแผลไปก่อน โดยยังไม่ต้องเย็บแผลเนื่องจากแผลสกปรก โอกาสติดเชื้อจะสูง โดยเฉพาะถ้าเย็บแผล

9. สัตว์เลี้ยงควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำหรือโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งอายุ 3 เดือนขึ้นไปเป็นประจำอย่างปีละ 1 ครั้งหรือ 2 ครั้ง ก็ได้เพื่อความปลอดในตัวท่านและครอบครัวของท่าน และทรัพย์สิน จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลัง……สวัสดี….ครับ

หมายเลขบันทึก: 481113เขียนเมื่อ 6 มีนาคม 2012 06:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 06:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท