พระพุทธสิหิงค์ และเจดีย์คู่ขุนศึกพระนารายณ์


ขบถบผู้ภัดดีต่อแผ่นดิน

พระพุทธสิหิงค์ วัดโคกขาม จังหวัดสมุทรสาคร

เป็นพระพุทธรูปประทับนั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยา พุทธศตวรรษที่ ๒๑ ขนาดหน้าตัก ๖๒ เซนติเมตร สูง ๘๓ เซนติเมตร หนา ๗ มิลลิเมตร วัดรอบฐานได้ ๑๕๓ เซนติเมตร หล่อด้วยโลหะสัมฤทธิ์ สีทองดอกบวบ หนัก ๓๗ ชั่ง ๑ ตำลึง ( ๒๙๖๔ บาท)

ลักษณะพระพักตร์กลม พระโขนงโก่งโค้งเส้นขอบพระเนตรกับพระขนงป้ายเป็นแผ่นโค้ง พระนาสิกโด่งเป็นสันโค้ง พระโอษฐ์แคบหยักเป็นคลื่น มีเส้นขอบไรพระศก เส้นพระศกขมวดเป็นต่อมนูน พระรัศมีเหนือพระเกตุมาลาเป็นเปลวสั้นครองผ้าแบบห่มดอง ชายสังฆาฏิเป็นเขี้ยวตะขาบโค้งตามขอบผ้า เหนือพระถัน ชายผ้าหน้าพระเพลาเป็นริ้วผ้าซ้อนชั้น ๆ ฐานรองเป็นฐานเขียง พระพุทธสิหิงค์องค์นี้ มีลักษณะที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะได้แก่ พระพักตร์เป็นแบบพระพุทธรูปทางภาคใต้ของประเทศไทยประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็คือพระบาททั้งสองข้างขัดสมาธิเพชรที่ยกลอยขึ้นเสมอกัน โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะอย่างชัดเจน

บริเวณฐานเขียงขององค์พระพุทธรูป มีคำจารึกเป็นภาษาไทยสมัยอยุธยา ความว่า

“พุทะสักราช ๒๒๓๒ วรสากับเดือนหนึ่ง กับ ๒๕ วัน พฤหัสบดี ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะเมีย โทศก พรญาเดโช กได ถาปนา พุทสิหิงคะ องนี้เป็นทอง ๓๗ ชั่ง จงเป็นประไจยแก่นิพาน”

กล่าวกันว่าพระพุทธสิหิงค์ องค์นี้ พระยารามเดโช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้นำมาเมื่อครั้งต้องทิ้งเมือง ในศึกที่พระเพทราชา ส่งกองทัพบกและทัพเรือลงมาปรามปราม ฐานเป็นขบถแข็งเมือง จึงได้หลบหนีราชอาญา มาบวชเป็นพระภิกษุที่วัดโคกขามแห่งนี้

ในประวัติศาสตร์กล่าวว่า พระยารามเดโช (ชู) ผู้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ท่านนี้ เป็นสหายคู่ศึกมากับพระยายมราช (สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา ซึ่งทั้งสองท่านนั้นเป็นขุนศึกของพระนารายณ์มหาราช เมื่อคราวเสด็จขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่คืนจากพม่า จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นเจ้าเมือง หัวเมืองชั้นเอก ทั้งสองดังกล่าว

เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จสวรรคตลง พระเพทราชาร่วมกับหลวงสรศักดิ์ ได้ทำการยึดอำนาจ ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๒๓๒ พระยายมราช(สังข์) เจ้าเมืองนครราชสีมา และพระยารามเดโช (ชู) เจ้าเมืองนครราชสีมา ไม่ยอมเข้ามาถือน้ำพิพัฒน์สัตยา แข็งเมืองอยู่ ด้วยเห็นว่า “มิใช่เป็นการสืบสันตติวงศ์ ตามกฎมณเฑียรบาล อีกทั้งยังเป็นการละน้ำพิพัฒน์สัตยา ที่เคยให้ไว้กับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นอกจากนั้นพระเพทราชา ก็เป็นเพียงเพื่อนขุนศึกซึ่งเคยร่วมรบกันมาเพียงเท่านั้น” จึงเป็นเหตุให้ต้องแข็งเมืองไม่ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา

พระเพทราชา จึงโปรดให้พระยาสีหราชเดโช เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองนครราชสีมาก่อน กองทัพกรุงเข้าล้อมตีเมือง อยู่ ๒ ปี ชาวเมืองไม่ได้ทำไร่ ไถนา ขาดแคลนเสบียงอาหาร อดอยากลำบากยิ่งขึ้น พระยายมราช (สังข์) จึงตัดสินใจทิ้งเมือง ตีหักทัพกรุง มุ่งหน้าสู่ปักษ์ใต้ หมายเข้าไปสมทบ กับพระยารามเดโช สหายคู่ศึก ที่เมืองนครศรีธรรมราช

พระเพทราชา จึงโปรดให้พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพหลวง พระยาสุรเสนา เป็นยกกระบัตร พระยาเพชรบุรี เป็นเกียกกาย พระยาราชบุรีเป็นทัพหลัง ยกมาทางบก แล้วให้พระยาราชบังสัน (ฮะซัน) เป็นแม่ทัพเรือ ยกลงมาบรรจบที่เมืองไชยา กองทัพบกของกรุงศรีอยุธยาเข้าตีเอาเมืองนครศรีธรรมราช พระยายมราช(สังข์) ตายในที่รบ ส่วนพระยารามเดโช ต่อสู้ป้องกันเมืองอยู่ได้ถึง ๓ ปี เมื่อเห็นว่าไม่อาจต้านทานศึกครั้งนี้ได้แล้ว จึงได้เขียนข้อความไปถึงพระยาราชวังสัน ปรากฏอยู่ในพงศาวดารตอนหนึ่ง ดังนี้

“....เมื่อพระองค์ทรงพระประชวรนั้น มีทาสปฏิปักษ์ กล่าวคือ พระเพทราชา และหลวงสรศักดิ์ ๒ คน พ่อลูก ละน้ำพิพัฒน์สัตยาเสีย คิดอ่านทำการกบฏ ช่วงชิงเอาราชสมบัติ แลเสนาบดีทั้งปวงในกรุงมิได้มีผู้ใดช่วยคิดอ่านทำการกำจัดศัตรูราชสมบัติเสียได้ แลพระองค์ทรงโทมนัสจนเสด็จสวรรคต แลราชสมบัติก็ได้สิทธิแก่พระเพทราชา แล้วให้หาท้าวพระยา พระหัวเมืองทั้งหลายเข้าไปถวายบังคม ฝ่ายเราขัดแข็งอยู่ มิได้เข้าไปนั้น ใช่ว่าตัวเราจะเป็นขบถต่อแผ่นดินหามิได้ ....เหตุว่าเราคิดกตัญญูในพระผู้เป็นเจ้าของเรา ซึ่งเสด็จสวรรคตนั้น จึงมิได้เข้าไปอ่อนน้อมยอมตัวเป็นข้า ผู้ประทุษราชต่อแผ่นดิน ประการหนึ่งก็เกิดมาเป็นชายชาติทหารคนหนึ่ง ก็มีทิฐิ มานะอยู่บ้าง ที่ไม่เคยกลัวเกรงนบนอบไซร้ ก็ไม่นบนอบ ถือตัวอยู่ตามประเพณีคติโลกวิสัย....”

พระยาราชวังสัน (ฮะซัน) ซึ่งต่างก็เคยเป็นขุนศึกร่วมสมรภูมิรบมาด้วยกันในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ จึงได้จัดเตรียมเรือให้พระยารามเดโช หลบหนีไปก่อนที่กองทัพกรุงศรีอยุธยาจะตีหักเข้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ ซึ่งหลังจากนั้น พระยาราชวังสัน ก็ได้ถูกลงโทษ ให้ประหารชีวิต แลริบราชบาตร หลังจากกลับการศึกครั้งนั้น

พระยารามเดโช ได้ลงเรือหลบหนีมาขึ้นบกที่วัดโคกขาม เมืองสาครบุรี แห่งนี้ ซึ่งยังเป็นป่ารกทึบเหมาะแก่การหลบซ่อนตัว และได้นำพระพุทธสิหิงค์ องค์นี้มาด้วย ซึ่งต่อมาพระยารามเดโชก็ได้เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา และเชื่อว่า ท่านได้สร้างพระเจดีย์คู่ หน้าพระอุโบสถ (หลังเก่า ) ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ถึงสหายคู่ศึก และอุทิศส่วนกุศลให้แก่แม่ทัพนายกองทั้งปวงที่ได้สุญเสียชีวิตไป ในการสงคราม ที่แสดงถึงความซื่อสัตย์จงรักภักดี ต่อเจ้านายเหนือหัว ยอมสละชีพเพื่อรักษาสัจจะที่ถวายต่อน้ำพิพัฒนสัตยา แด่พระนารายณ์มหาราชแต่ผู้เดียว

คำสำคัญ (Tags): #พระพุทธสิหิงค์
หมายเลขบันทึก: 480660เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2012 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2015 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะเจ้านายน้อย Ico24

พระพุทธสิหิงค์ งดงามมากๆ เลยค่ะ 

อ่านบันทึกนี้แล้วอยากไปกราบไหว้ แต่คงไม่มีโอกาส....

ภาพพระพุทธสิหิงด้านบน กับ รูปด้านล่าง เป็นคนละองค์กันใช่ไหมคะ

วันนี้ครูใจดีมาอยู่เวรค่ะ  เลยมีเวลาเข้ามาอ่านบันทึก  ว่าจะเขียนบันทึกใหม่เหมือนกัน

..อย่าลืมแวะไปให้กำลังใจกันนะคะ

  


สวัสดีครับ ครูใจดีIco48

ภาพล่างเป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาตอนปลาย ชัดเจนครับ

วัดโคกขามมีประวัติความเป็นมาน่าสนใจมากแห่งหนึ่งครับ

มีโอกาสอย่าลืมแวะเข้าไปทำบุญนะครับ

สวัสดีค่ะคุณเลิศฤทธิ์

  • คุณยายมาเยี่ยมด้วยความคิดถึงค่ะ

องค์ล่างเป็นคนละองค์กับของจริงครับ องค์จริงนั่งขัดสมาธิเพชรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท