Task Based Learning (TBL) : การจัดการเรียนรู้โดยการสร้างสรรค์ผลงาน


Task Based Learning (TBL) : การจัดการเรียนรู้โดยการสร้างสรรค์ผลงาน

Task Based Learning (TBL)
การจัดการเรียนรู้โดยการสร้างสรรค์ผลงาน

ภูมิหลัง
     การเปลี่ยนแปลงทางด้านสาระความรู้ต่างๆ ได้เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างรวดเร็ว ความรู้ที่เกิดขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาเทียบเท่ากับความรู้เมื่อ 5,000 ปีที่มนุษย์เราสร้างความรู้ขึ้นมา โมเดล (model) หรือรูปแบบของการเรียนรู้ในปัจจุบันเชื่อว่าไม่เหมาะสม ถ้าหากความรู้ใหม่วางอยู่ทั่วโลก หรือที่เรียกว่าโลกของความรู้ (world knowledge) จากนี้ต่อไปคงไม่มีครูคนใดจะสอนนักเรียนได้หมด เพราะมีความรู้เกิดใหม่อย่างรวดเร็ว (ยืน ภู่วรวรรณ. 2544 : 65) จากความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลข่าวสารและสังคมโลกดังกล่าว จึงจำเป็นต้องหารูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่จะพัฒนาให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการเรียนรู้ด้วยตนเอง อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนาผู้เรียนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้ได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก ซึ่งรูปแบบการจัดการเรียนรู้ Task Based  Learning (TBL) : การจัดการเรียนรู้โดยการสร้างสรรค์ผลงาน นับเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่มีขั้นตอนให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ได้เรียนรู้ทั้งความรู้ ทักษะ คุณธรรมการอยู่ร่วมกันในสังคม ซึ่งสอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของสังคมปัจจุบัน

วิธีการหรือขั้นตอนการปฏิบัติ

ลักษณะสำคัญ
ชิ้นงานมาเป็นอันดับหนึ่ง  เนื้อหาต้องมีการบูรณาการกับชีวิต  เรียนรู้จากการปฏิบัติ  เน้นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

ปัจจัยที่กำหนดคุณภาพ
     1. คุณภาพของชิ้นงานต้นแบบ ต้องชัดเจน ครอบคลุมหลักสูตร ควรมีการปฏิบัติหรือมีกิจกรรมที่ผู้เรียนต้องปฏิบัติซ้ำ โดยไม่ให้ผู้เรียนเบื่อหน่าย
     2. ผู้เรียนต้องรู้หน้าที่และเป้าหมายของการเรียนรู้
     3. ครูต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ที่เปลี่ยนไป
     4. สื่อ เอกสาร หรือแหล่งเรียนรู้ต้องมีหลากหลาย เพราะแต่ละคนจะมีวิธีเรียนที่แตกต่างกัน
     5. สื่อ เอกสาร หรือแหล่งเรียนรู้ต้องมีความชัดเจน สอดคล้องกับหลักสูตร ผู้เรียนสามารถใช้ได้ง่าย

ข้อดี
     1. เอื้อที่จะให้ผู้เรียนมีความชำนาญ เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง
     2. สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นความจำเป็นของสังคมที่จะต้องพัฒนาเยาวชนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ เรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learner)
     3. ชิ้นงานที่กำหนดมีความสอดคล้องสามารถนำไปใช้จริงในชีวิต ส่งผลให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของสิ่งที่เรียน ทำให้เกิดแรงจูงใจในการเรียน
     4. ผู้เรียนสนุกกับการเรียน เพราะได้มีบทบาทในการเรียนรู้ด้วยตนเอง แล้วนำความรู้ที่ได้มาสร้างสรรค์ผลงาน
     5. ส่งเสริมสนับสนุนการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมีเวลาที่จะเรียนรู้จากกันและกัน คนเก่งช่วยเหลือคนที่เรียนอ่อนกว่า
     6. ผู้เรียนเห็นความก้าวหน้าหรือปัญหาด้วยตนเอง ควบคุมการทำงานของตนเองได้
     7. ฝึกความรับผิดชอบ

ข้อพึงตระหนัก
     1. ผู้เรียนอาจไม่มั่นใจในความรู้ที่ตนเองได้รับ เพราะกระบวนการไม่ใช่การเรียนการสอนเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการหาวิธีการในการสร้างผลงาน
     2. อาจใช้เวลามากกว่าการเรียนการสอนตามปกติ ทั้งนี้เพราะผู้เรียนจะต้องศึกษาด้วยตนเองจากสื่อ เพื่อนหรือเอกสาร จากนั้นค่อยนำความรู้มาสร้างสรรค์ผลงาน
     3. หากชิ้นงานต้นแบบไม่ดี หรือไม่ครอบคลุมหลักสูตร อาจทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ไม่เพียงพอในสาระนั้นๆ
     4. ผู้เรียนสนใจชิ้นงานมากกว่าการเรียนรู้ จนลืมการจดบันทึกสาระสำคัญไป
 
แนวทางการพัฒนา
     ในส่วนที่เป็นข้อด้อย ครูผู้สอนจะต้องคอยติดตามกระตุ้น ตลอดจนช่วยเหลือ ให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับเปลี่ยนแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ยังต้องจัดเตรียมให้ผู้เรียนรับรู้และตระหนักถึงหน้าที่รับผิดชอบในการเรียนรู้ และการสร้างสรรค์ชิ้นงานด้วยตนเอง ครูจะต้องให้การช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดในระยะแรกที่ผู้เรียนยังปรับตัวไม่ได้ ตลอดจนครูต้องตระหนักในบทบาทหน้าที่ที่เปลี่ยนไป ทั้งบทบาทการสอน การวัดผลประเมินผล ทั้งนี้หากดำเนินการได้ครบถ้วนก็จะสามารถลดทอนข้อด้อยของการจัดการเรียนรู้แบบนี้ลงได้บ้าง และอาจพบช่องทางในการที่จะพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนในลักษณะนี้ให้ดียิ่งๆ ขึ้นต่อไป

 

-----------------------------------------------------------------
ยืน ภู่วรวรรณ. “การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้.” หลากหลายวิธีการใช้ ICT เพื่อการเรียนการสอน. หน้า 65-69. กรุงเทพฯ : สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาแห่งชาติ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ, 2544.

หมายเลขบันทึก: 480564เขียนเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ 2012 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2013 16:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ท่านอาจารย์ครับ ผมสนใจตรงรูปแบบครับเพราะมีหลักการคล้ายกับ project based learning ที่ผมกำลังศึกษาอยู่แต่ภาพไม่ชัดเจนผมจะติดตามได้ที่ไหนครับ ผมเป็นลูกศิษย์หนังสือไฟฟ้าของอาจารย์เมื่อ 20 กว่าปีครับ

ตอบคุณ Mr. kachen

ส่วนตัวผมชอบการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ project based learning แต่หลายสิ่งหลายอย่างผมไม่มั่นใจนักว่าใช่หรือไม่ และรู้สึกว่าจะกว้างเกินไป ตลอดจนผมเกิดความข้องใจในวิทยากรที่ได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมแนวทางการจัดการเรียนการสอน ที่ครูต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน

ผมผ่านการอบรมหลายครั้งแต่ก็ไม่กระจ่าง เพราะวิทยากรนำเสนอเพียงหลักการกว้างๆ (ใบงาน ใบความรู้จึงเกลื่อนเมือง ชึ่งก็เป็นส่วนหนึงของการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนการแสวงหาความรู้ได้จริง) แต่ผมต้องการกระบวนการที่ชัดเจน เป็นอีกแนวทางหนึ่งหรือกรณีศึกษาหนึ่ง

จึงพัฒนารูปแบบ TBL ขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่าง สอดคล้องตามความต้องการ ดังข้อดีของรูปแบบนี้ และอีกข้อดีที่ผมไม่ได้กล่าวถึงคือ ครูอยู่ในบทบาทผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ได้จริง โดยสื่อเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสอนแทนตัวครู

จะศึกษาเพิ่มเติมได้จากที่ไหน

หาค้นในเว็บไซต์เกี่ยวกับ TBL จะพบว่ามีผู้พัฒนาในชื่อนี้เหมือนกัน จะถูกนำไปใช้ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งมีหลักการกว้างๆ คล้าย TBL ที่ผมพัฒนาขึ้น

TBL ที่ผมพัฒนาขึ้น ไม่ได้พัฒนาต่อจาก TBL ที่ใช้ในภาษาอังกฤษ ผมจึงไม่สะดวกในการโยงความสัมพันธ์ ว่าคล้ายหรือแตกต่างอย่างไร ทั้งนี้เพราะผมพัฒนาขึ้นมาแล้ว มีชื่อเป็นภาษาไทยแล้ว จึงอยากตั้งเป็นชื่อภาษาอังกฤษ หลักการคล้ายกัน ชื่อเลยตรงกัน

อื่นๆ ติดต่อกันทางเมล์ หรือโทรก็ได้ครับ "การอภิปรายสร้างปัญญา" และผมอยากได้ข้อคิดเห็นเกี่วกับ TBL ในหลากหลายมุมมองด้วย จะร่วมพัฒนาก็ยินดี

ผมมีกรณีตัวอย่างในการนำไปใช้จริงครบ ทั้งแผนการจัดการเรียนรู้ เอกสารประกอบสำหรับผู้เรียน สื่อ โดยใช้เวลาเรียน 20 ชั่วโมง เป็นเรื่องเกี่ยวกับการตัดต่อวีดิทัศน์ ซึ่งยังไม่ได้เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ครับ เพราะจะพัฒนาในสาระอื่นที่ครู สามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวาง โดยครูไม่ต้องมีทักษะในสาระนั้นๆ มากนัก

แลกเปลี่ยนคุณสรวง

ผมคิดว่า จากที่ศึกษาทั้ง TBL,PBL ต่างก็ยึดภาระงานหรือชิ้นงงานเป็นหลักซึ่งสอดคล้องกับ ท.การเรียนรู้โดยการสร้างสรรค์ชิ้นงงาน (Constructionism) By Seymour Papert เจ้าของทฤษฎีที่พัฒนามาจาก จีน เพียเจท์ (Jean Piaget)  ประเด็นสำคัญอยู่ที่ชิ้นงงานที่เกิดจาก ICT โดยตรง เช่น  โรงเรียนดรุณสิขาลัย  fangwittayayon.net  

ทั้ง TBL,PBL ต่างก็ยึดภาระงานหรือชิ้นงงานเป็นหลักซึ่งสอดคล้องกับ ท.การเรียนรู้โดยการสร้างสรรค์ชิ้นงงาน (Constructionism) By Seymour Papert เจ้าของทฤษฎีที่พัฒนามาจาก จีน เพียเจท์ (Jean Piaget)

คุณ Mr. kachen kongpila กล่าวถูกต้องแล้วครับ ผมเป็นครูอยู่หลายปี สอนไป ทดลองหารูปแบบที่เหมาะสมกับเนื้อหาสาระที่ตนเองสอน และได้ศึกษาหลายทฤษฏี ซึ่ง Constructionism ตรงกับสิ่งที่ผมกำลังหา จากนั้นได้พัฒนาเรื่อยมาจนได้ผังดังปรากฏ

และอีกสาเหตุของการพัฒนาคือ จะต้องมีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่ครูสามารถเปลี่ยนบทบาท จากผู้สอน มาเป็นผู้จัดการการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ซึ่ง TBL ที่ผมพัฒนาขึ้นสามารถตอบสนองประเด็นนี้ได้เป็นอย่างดี สื่อเข้ามามีบทบาทสำคัญแทนการสอนของครู ผู้เรียนได้ฝึกการเรียนรู้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ครู และเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย เรียนเพื่อแก้ปัญหา (ภาระงาน)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท