รู้จักสร้าง "อริยทรัพย์..."


ทุกท่านก็ขอให้มาแก้ที่จิตใจของเรา ให้กลับมาเน้นที่จิตใจของเรา มาสร้างอริยทรัพย์ให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา แล้วค่อยมาสร้างโภคทรัพย์ เพื่อจะได้ดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง ทั้งความสุขในที่เรามีโภคทรัพย์ และความสุขที่เรามีคุณธรรม ที่เรามีอริยทรัพย์...

        พยายามหายใจเข้าออกให้สบาย ๆ เพื่อใจของเราจะได้เข้าถึงความบริสุทธิ์ เพื่อที่จะได้ละทิ้งสิ่งที่เป็นอดีต เพื่อจะได้ไม่กังวลถึงอนาคต จะได้กลับมาอยู่กับปัจจุบัน

 

        ให้เราทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เราไม่ต้องกลัวว่าความสงบจะเกิดขึ้นหรือเปล่า ถ้าเราทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ความสงบมันก็จะมีเอง

 

        ถ้าเรามีความอยากมันก็จะทำให้จิตใจของเราไม่สงบ เพราะว่ามันเป็นนิวรณ์ที่ยังครอบงำจิตใจเราอยู่ เพียงแต่เราสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้ถึงพร้อม ความสงบมันก็มีเอง ทำอย่างนี้เขาเรียกว่าการปฏิบัติธรรม

        เพียงแต่เราสร้างเหตุสร้างปัจจัยผลของการปฏิบัติมันก็จะมีของเขาเอง เราหายใจเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ให้เขาทำการทำงานตามหน้าที่ของเขา เราก็มาดูที่ลมหายใจ ร่างกายเขาก็ทำงานตามหน้าที่ของเขา แต่ว่าจิตใจของเรานี้มีความโลภความโกรธความหลง มันก็เลยดึงเราไป

 

        เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า “ธรรมชาติของจิตคือความผ่องใส แต่อาศัยกิเลสจรมาทำให้เรานี้เกิดความเศร้าหมองไป” จนทำให้ออกซิเจนในสมองของเรานี้ไม่สมบูรณ์ ลมของเราก็ไม่สมบูรณ์

 

        ก็ให้เรากลับมาหาความสงบ ให้กายกับใจของเรามาอยู่ด้วยกัน จะได้มีความสุข มีความดับทุกข์ในขณะปัจจุบันตรงนี้ เราจะได้ทำที่สุดของความดับทุกข์ในขณะนี้ ถ้าเราของเราอบรมแล้วความดับทุกข์มันก็มีของมันเอง

 

        พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราทุกท่านทุกคนประพฤติ ปฏิบัติธรรม เข้าถึงความสงบ ถึงความดับทุกข์ จะได้รู้ว่าความดับทุกข์มันอยู่ไม่ไกล มันอยู่ในหัวใจของเรานี้เอง

 Large_td5434

        การปฏิบัติ เราก็ปฏิบัติหน้าที่การงานนี้แหละ ท่านบอกว่าการปฏิบัติธรรมกับหน้าที่การงานนี้มันแยกกันไม่ได้ การทำงานก็คือการเสียสละ การละความเห็นแก่ตัว

        ปกติแล้วคนเรามันเป็นคนที่ชอบติดสุขติดสบาย เป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน เป็นคนไม่ยอมที่จะเสียสละทำอะไรเพื่อคนอื่น เป็นคนชอบฟรีสไตล์ เป็นคนไม่มีศีล ไม่มีธรรม

        ทุกท่านทุกคนต้องเสียสละ ต้องตั้งใจทำการทำงาน มันอยากทำเราก็ทำ มันไม่อยากทำเราก็ต้องทำ มันเหน็ดเหนื่อย มันร้อน มันหนาว อุปสรรคต่าง ๆ มาขวางเราเราก็ต้องทำ

        เราต้องทำให้ใจของเรานี้มีความสุขในการทำงาน ให้พอใจในการทำงาน เวลาทำงานก็ให้ใจกับกายนี้มันอยู่ด้วยกัน ให้ใจเราอยู่กับการทำงาน

        เราอย่าไปอยากให้มันเสร็จเร็วหรือว่าให้มันเสร็จช้า เราฝึกสติของเราอยู่กับการทำงานให้พอดี เหมือนกับที่มีญาติโยมถามท่านพุทธาสเมื่อครั้งที่ท่านได้ก่อสร้าง ก็ได้มีญาติโยมมาถามท่านว่า ท่านทำเสร็จหรือยัง ท่านก็ตอบว่า “ทำเสร็จทุกวันนั่นแหละ” แต่ทั้งที่จริงแล้วงานต่าง ๆ มันก็ยังไม่สมบูรณ์ ท่านบอกว่า “ก็เสร็จเฉพาะวันนี้”  ให้เราทำอย่างนี้แหละ ไม่ต้องไปสนใจว่ามันจะสมบูรณ์ตอนไหน จะเสร็จตอนไหน ก็ให้เราทำงานของเราไป

        พยายามรวบรวมศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ให้มีทั้งศีล สมาธิ ปัญญา ควบคุมเพื่อไม่ให้เราหลงทาง เพื่อให้เรากลับมาหาตัวเราเอง

Large_job002

        เราอยู่กับงานก็อยู่ให้มีความสุข คนเราทำอะไรก็มีความสุขหมด ถ้าใจกับกายมันอยู่ด้วยกัน คนเราถ้าว่างจากการทำงานใจมันก็ไม่มีเครื่องอยู่เหมือนกัน ก็อาจจะเป็นคนโรคประสาทไปได้ถ้าเกิดเราไม่มีอะไรทำ เป็นคนโรคจิต จิตใจไม่มีเครื่องอยู่ จิตใจมันก็ป่วย จิตใจมันก็ไม่สงบ

        บางคนก็คิดว่ามัวแต่ทำงานไม่ได้ปฏิบัติธรรม การทำงานดี ๆ ก็คือการปฏิบัติธรรม คือการเสียสละ คือการรักษาศีล คือการทำสมาธิ คือการเจริญปัญญา

 

        คนเราเกิดมาต้องเป็นคนเสียสละ เป็นผู้ที่ไม่ทำตามใจตนเอง ที่เขาให้เราเรียนหนังสือตั้งแต่อนุบาลจนจบปริญญาเอกก็เพื่อให้เรานี้เป็นคนดี เป็นคนเสียสละ เพื่อที่จะได้ตั้งหน้าตั้งตาทำงาน

        ถ้าเราตั้งใจทำการทำงาน เราเสียสละแล้ว ผลที่เราจะได้รับก็คือ เราเป็นคนมีฐานะดี เป็นคนมีคุณธรรม ร่ำรวย และผลสุดท้ายก็จะได้เป็นพระอริยเจ้า

        ทุกท่านทุกคนต้องเคารพนับถือตนเอง ต้องให้ตนเองมีศีลกับการทำงาน แล้วทุกสิ่งทุกอย่างก็จะดีเอง

 Large_tonkla064

        ให้เราเป็นตัวอย่างที่ดีของครอบครัว ของสถาบัน ของสังคม ของประเทศชาติ เราอย่าไปคิดว่าการปฏิบัติธรรมนี้มันต้องแยกตัวมาอยู่ที่วัด ต้องมาบวช การปฏิบัติธรรมมันอยู่กับเราทุกหนทุกแห่ง ให้เราเข้าใจอย่างถูกต้อง มีความเห็นอย่างถูกต้อง เราจะได้รู้จักว่า เอ๊... เป็นอย่างนี้นี่เอง อยู่ใกล้ ๆ เรานี้เอง อยู่ในชีวิตประจำวันของเรานี้เอง มันไม่ใช่เรื่องที่อยู่ห่างตัวเราเลย

 

        การปฏิบัติธรรม... มันเป็นเรื่องของเราที่จะต้องมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อมาแก้ไขปัญหาที่มันไม่ถูกต้อง แก้ไขให้มันถูกต้องและให้มันยั่งยืน มีประโยชน์และให้มีความสำคัญ ชีวิตของเราก็จะมีความสุข คนอื่นก็จะมีความสุข ไม่มีอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเรานอกจากตัวเราเอง

        ให้เรามาประพฤติปฏิบัติ เราอย่าไปจมปรักอยู่กับอดีต อดีตก็คือกระจกเงาที่ทำให้เราได้มองเห็นตัวเราเอง  “จากคนที่เคยจนก็มาเป็นคนรวย จากสามัญชนก็มาเป็นพระอริยเจ้า”

       

Large_tonkla036    

      พระพุทธเจ้าให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เมื่อใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วก็ยังห่วงเราทุกท่านทุกคน ท่านก็ยังบอกว่า “ท่านทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด”

 

        ส่วนใหญ่คนเก่งคนฉลาดมันชอบมองข้ามความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ ความผิดที่ใกล้ ๆ ตัว มันมองไม่เห็นความสำคัญ มันมองไม่เห็นว่าความผิดนี้มันมีอยู่ที่ตัวเรา มันมองไปไกลโน้นนะ มันมองไปเห็นแต่ความผิดของคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นคำพูดของเรามันก็มองไม่เห็น ทำอะไรก็เอะอะโวยวายในหมู่เพื่อนในหมู่คณะ มันมองไปไกลเกิน ถ้าเรายังประมาทอยู่มันก็มีรูรั่ว มีทางรั่วเยอะ ให้เรากลับมา เพราะว่าความประมาทนี้เป็นสิ่งที่ไม่ดี

        ขอให้ทุกท่านทุกคนมีความสุขในการปฏิบัติธรรม มีความสุขในการทำงาน มีความสุขในการเสียสละ ปฏิบัติดำเนินตามรอยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างมีความสุข อย่างมีความดับทุกข์ในชีวิตประจำวันของเรา

 

        หน้าที่การงานของเราก็ขอให้ทำอย่างผาสุก เราจะไปอยู่ที่ไหน แห่งหนตำบลใด พระธรรมคำสั่งสอนก็จะนำเราไปสู่สุขคติ สู่พระนิพพาน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อตนเอง และเป็นประโยชน์ต่อพ่อแม่ บ้านเมือง สังคม ถือว่าเราเกิดมาเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น สวรรค์ก็จะปรากฏแก่กายของเรา แก่วาจาของเรา แก่คำพูด แก่การกระทำของเรา ให้เราเป็นผู้ดำเนินตามทางอย่างนี้ ดำเนินตามรอยบาทของพระศาสดาอย่างนี้ และรู้จักการประพฤติปฏิบัติอย่างชัดเจน ว่าเราต้องทำอย่างนี้ และก็เป็นตัวอย่างแก่คนอื่น เป็นที่รักของพ่อแม่วงศ์ตระกูลเพื่อนร่วมงาน

 Large_tt8035

 

         อย่าตั้งอยู่ด้วยความประมาท...

 

        ส่วนใหญ่แล้วพระเราก็ประมาท เณรก็ประมาท ไม่เห็นความสำคัญในการรักษาศีล ในการทำข้อวัตรปฏิบัติ บวชมาก็สักแต่ว่าบวช บวชแต่กายแต่จิตใจไม่ได้บวช แถมวาจาก็ยังไม่ได้บวช เคยพูดอย่างไรก็พูดอย่างนั้น ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงทางคำพูด เขาเรียกว่าวาจาไม่ได้บวช ไม่ได้เน้นให้ศีลบริสุทธิ์ ให้ใจบริสุทธิ์ เพื่อจะได้เข้าถึงมรรค ถึงข้อวัตร ข้อปฏิบัติ ทำความเพียรก็ทำแบบเหยาะ ๆ แหยะ ๆ ไม่เอาจริงเอาจริง เป็นคนลูบ ๆ คลำ ๆ จด ๆ จ้อง ๆ

        พระพุทธเจ้าให้เราตั้งอกตั้งใจให้เราเสียสละ ให้เราเอาจริงเอาจังมันถึงจะมีสาระ มันถึงจะมีประโยชน์

 Large_tonkla062

        ญาติโยมส่วนใหญ่ก็พากันประมาทเหมือนกัน พากันทำมาหากินกันอย่างเดียว แล้วก็ทิ้งศีลทิ้งธรรม ทิ้งเรื่องจิตเรื่องใจ เรื่องคุณธรรม

        พระพุทธเจ้าให้เรารักษาศีล ๕ ก็กลัว กลัว ขาดความมั่นใจ หรือมีความเห็นว่าการรักษาศีลมันไม่จำเป็น ไม่สำคัญ มันสำคัญก็เฉพาะเรื่องปากเรื่องท้อง เรื่องลูกเรื่องหลาน เรื่องการประกอบอาชีพ เลยเป็นคนทิ้งศีลทิ้งธรรมไป

 

        การรักษาศีลปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าตรัสให้เราทำร่วมกับงานที่เราทำ ทำร่วมกับสังคมได้ โดยเราจะได้มีความสุข คนอื่นจะได้มีความสุขนะ

        สังคมที่มันไม่มีศีลไม่มีธรรม มันเป็นสังคมที่อันตราย ตัวเราเองก็ไม่ปลอดภัย คนอื่นก็ไม่ปลอดภัย

        ถ้าสมมติว่าคุณพ่อคุณแม่ใครเป็นคนที่มีศีลมีธรรม ลูกหลานเขาก็มีความสุข มีความภาคภูมิใจ มันดีทั้งตัวเรา ทั้งวงศ์ตระกูลของเรา

        นี่พ่อแม่ของเราก็แก่เฒ่าแก่ชราแล้ว พ่อแม่ก็ยังไม่รู้จักธรรมไม่รู้จักศีลเลย มัวแต่ห่วงลูกห่วงหลาน มาบ่นมาแช่งลูกหลาน “ยังมาติดวิทยุดูโทรทัศน์เหมือนกับเด็ก ๆ อยู่แทนที่จะมีศีลมีธรรม แทนที่จะปรับตัวเองสู่วัยเฒ่าวัยชรา”

 Large_tt8091

        สำหรับเด็ก ๆ หนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็เหมือนกับ ได้ยินได้ฟังธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็ให้เรารับไปประพฤติปฏิบัติตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาวนี้แหละ เพราะต่อไปในอนาคตเราก็จะเป็นคนแก่คนเฒ่าเป็นคนชราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

        พระพุทธเจ้าให้เราฝึกตนเอง ปฏิบัติตนเอง จากหนุ่มสาวจนวาระสุดท้ายของชีวิตนะ เพื่อจะได้เป็นปูชนียบุคคล ว่าเรานี้ไม่เสียชาติที่ได้เกิดมา จิตใจของเราก็จะไม่จน คนจนในที่นี้ก็คือจนอริยทรัพย์ เราไม่จนอริยทรัพย์ คือ ทรัพย์ภายในที่จะติดตามเราไป

 

        ถ้าเราคิดว่าเราเป็นโยมไม่ต้องปฏิบัติเคร่งคิดอย่างนี้ท่านบอกว่ามันไม่ได้ คิดอย่างนี้มันไม่ถูก เป็นโยมมันก็แก่นะ มันก็เจ็บ มันก็ต้องตายเหมือนกัน

        คนเราเกิดมามันก็ไม่ได้เอาอะไรมาสักอย่าง เวลาตายก็ไม่ได้เอาอะไรไปสักอย่าง

        ทำมาหากินตั้งแต่น้อย ๆ จนร่างกายมันเสื่อมสภาพ หมดสภาพ สุดท้ายก็ไม่ได้อะไรไป ไม่ได้อริยทรัพย์ติดตัวไปถ้าเกิดเราไม่ได้ทำความดี กายของเราก็เลยเป็นคนจน เกิดมาก็เสียเปล่า แถมยังขาดทุนอีก

 

        เห็นชาวบ้านเขาร่ำรวย มียศถาบรรดาศักดิ์ก็ให้ทุกท่านทุกคนมีสติไว้ อย่าไปหลงเหมือนกับเขา ความสุขที่แท้จริงมันอยู่ที่จิตใจของเรานี้แหละ ที่เรารู้จักพอ รู้จักความสงบ จิตใจที่มันได้ชำระความโลภ ความโกรธ ความหลงออกไป เป็นใจที่มีความสุข เป็นใจที่สงบ

 

        เราเป็นญาติโยมที่อยู่ทางบ้านก็ให้พากันทำความดี ให้พากันเสียสละ อย่าได้ทำอะไรตามใจ “อย่าได้เป็นพ่อเป็นแม่ขี้เหล้าขี้เมา เมายาเล่นการพนัน ทุ่มเถียงกันไม่เว้นแต่ละวัน”

 

        ลูก ๆ ที่อยู่ด้วยกับเราก็เหมือนถูกเผาจากการกระทำของคุณพ่อคุณแม่ ลูกหลานเขาจะเอากำลังใจที่ไหนไปเรียนหนังสือ จะเอากำลังใจที่ไหนไปทำงาน เพราะคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างนี้

 

        พวกลูกหลานก็ต้องฝึกตั้งแต่น้อยนี้แหละ เพราะวันหนึ่งเราก็ต้องเป็นพ่อเป็นแม่คน อันไหนมันไม่ดีก็อย่าไปทำ อย่าไปทำตามเขา ถ้าไปทำตามเขามันก็ทุกข์ยากลำบาก ยากจนไม่มีความดี ไม่มีคุณธรรม ชีวิตของเรามันก็จะตกต่ำ เป็นคนยากจนทางวัตถุ เป็นคนยากจนทางจิตใจ

Large_2201201111

        ที่พึ่งของเราคือความดี ด้วยการประพฤติปฏิบัติตนเอง ไม่ใช่ที่พึ่งของเราคือเหล้าขาว มันไม่ใช่เหล้าขาวไม่ใช่เบียร์นะ ถ้าเราไปทำตามกันหมดสิ่งที่ดี ๆ สิ่งที่ถูกต้องมันก็เลยเลือนรางหายไป

        เราก็เลยตกเป็นทาสของสังคมโดยที่เราไม่รู้ตัว ทางกายทั้งวาจาและใจ เราก็กลายเป็นหนุ่มโรงงานสาวโรงงาน บางคนก็ไปเป็นยาม เป็นคนทำความสะอาดบ้าน

        ถ้าเรารู้จักพินิจพิจารณา มีความอดมีความทน มีความเพียรเข้มแข็งในการประพฤติปฏิบัติเมื่อเรายังเป็นเด็กอยู่ เพราะว่าความเจริญงอกงามของเราก็อยู่ที่ปัจจุบันตรงนี้แหละ อยู่ที่เรายังเด็ก ๆ อยู่นะ

        เริ่มต้นจากเด็ก ๆ ถ้าเราประมาทเอาเวลาที่มีค่าปล่อยให้เสียไปเป็นวัน ๆ หนึ่ง ไม่ตั้งใจศึกษาไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ ไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตัวเอง ชื่อว่าทุกข์มันก็จะเกิดขึ้นแก่เราในอีกหลายปีข้างหน้าอย่างแน่นอน

        พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราปล่อยไปตามกรรม ตามเวร โดยที่เราไม่ยอมประพฤติปฏิบัติ เหมือนคนไม่มีเจ้าของ เหมือนคนไม่มีสติปัญญา คนเราถ้าไม่มีการเรียนการศึกษามันก็ไม่ฉลาดใช่ไหม เมื่อมันไม่ฉลาดมันก็ไม่มีศีล ไม่มีธรรม ไม่มีปัญญา ปัญญามันก็ไม่เกิดขึ้น เกิดขึ้นก็แต่ความโลภความโกรธ ความหลง เกิดก็แต่การเอาเปรียบคนอื่น ทำอาชีพบนหลังคนอื่น

        อย่างนี้ท่านบอกว่ามันไม่ถูกต้อง เรื่องศีล เรื่องธรรม เรื่องคุณธรรมพระพุทธเจ้าให้ทุกท่านทุกคนให้ประพฤติปฏิบัติ ไม่ว่าคนฉลาดหรือคนโง่ก็ให้ประพฤติปฏิบัติ เพราะว่าคนฉลาดเมื่อมีเงินมันก็หน้าดำหน้ามืด ถ้ามียศมีตำแหน่งมันก็หน้าดำ หัวใจมันก็ดำมันก็มืด ดังภาษิตโบราณที่ท่านว่าไว้ “เห็นเงินทำให้หน้าดำ เห็นคำทำให้หน้าเศร้า” งงไปหมด...

        การรักษาศีล การทำวัตรสวดมนต์ก็ไม่ยอมทำ ท่านบอกให้เรากลับมา กลับมารักษาศีล กลับมาทำวัตรสวดมนต์ กลับมานั่งภาวนา อยู่ที่บ้านก็ให้เหมือนอยู่กับวัด อยู่ที่วัดก็ให้ปฏิบัติเหมือนกับอยู่บ้าน

Large_tt8089

        สำหรับโยมนะ... เป็นโยมถ้าไม่เห็นความสำคัญในการรักษาศีล นั่งไปก็ตบยุงไป ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต โดยที่เรานี้ไม่ได้สะดุ้งกลัวต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาปกรรม เพราะเราไม่ตั้งใจที่จะรักษา

 

        “อย่าเป็นคนมีศีลมีธรรม แต่ไม่อยากรักษา...”

 

        การพูดจาก็ไม่สำรวมระวัง จะด้วยการที่เราไม่ได้พิจารณา หรือว่าการที่เรามีการศึกษาน้อย หรือว่าการที่เราสดับรับฟังจากคนที่อยู่ใกล้เคียงมา เราก็เลยติดนิสัย เราเองอย่างนี้ไม่ได้ มันไม่สมบูรณ์แบบในการพูด

        ในการพูดมันต้องฝึกนะ “เพราะก่อนพูดเราเป็นนาย แต่ถ้าเราพูดไปแล้วเราก็กลายเป็นบ่าว” พูดไปแล้วก็ทำให้เกิดความทุกข์กับคนอื่น

        เราอย่าไปคิดว่า... “เราเป็นคนอย่างนี้ก็ต้องพูดอย่างนี้ เราพูดออกจากจิตจากใจเรานะ” อย่างนั้นมันไม่ถูกต้อง มันมักง่ายเกินไป ให้เรามีสมบัติความเป็นผู้ดีหน่อยในการพูด

 

        ทุกคนต้องพัฒนาคำพูด ต้องฝึกคำพูด ด้วยการมีสติ มันต้องรู้จักเบรกตนเอง มันต้องรู้จักพิจารณาเสียก่อนแล้วค่อยพูด คนเราถ้าพูดไม่ดีถือว่าเป็นคนปากไม่ดี ปากเน่า ปากเหม็น ปากเสียนะ

 

        มันไม่ใช่ปากเสียหรอก...! ที่จริงแล้วมันอยู่ที่ใจของเรา ใจของเรายังไม่ได้พัฒนา ใจของเรายังไม่ได้ปรับปรุง เราอยู่ที่บ้าน อยู่ในครอบครัว อยู่ในสังคม ก็ดำรงอาชีพลำบากอยู่แล้ว เรายังมาเผากันทางคำพูด อย่างนี้มันไม่ได้ มันไม่ดี

        ทุกท่านทุกคน พระพุทธเจ้าให้เราปรับปรุงใหม่ พูดเพื่อไม่ให้เห็นแก่ตัว พูดเพื่อให้กำลังใจผู้อื่น พูดเพื่อให้เกิดความรัก ความเมตตา ความสมานสามัคคีกัน ถ้าเราพูดไปแล้วมันไม่เกิดประโยชน์เราก็อย่าไปพูด เพราะเขายังไม่เคารพนับถือเรา เราต้องปฏิบัติเพื่อให้กราบไหว้ตนเองได้เสียก่อน เขาถึงจะเชื่อเราในสิ่งที่เราพูด มันมีเหตุของแต่ละคนทั้งนั้น มันถูกทุกคน ถ้าเราไม่ยอมฝึก ไม่ยอมปฏิบัติ

        พระพุทธเจ้าท่านให้เราอยู่เหนือเหตุ อยู่เหนือผล อยู่เหนือจิตใจ คนเราเกิดมามันมีปัญหาก็เพราะว่าความยึดมั่นถือมั่นของเรา มันเลยทำให้มีปัญหา ทุกสิ่งทุกอย่างมันก็เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไป

        ทุกท่านก็ขอให้มาแก้ที่จิตใจของเรา ให้กลับมาเน้นที่จิตใจของเรา มาสร้างอริยทรัพย์ให้เกิดขึ้นในจิตใจของเรา แล้วค่อยมาสร้างโภคทรัพย์ เพื่อจะได้ดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง ทั้งความสุขในที่เรามีโภคทรัพย์ และความสุขที่เรามีคุณธรรม ที่เรามีอริยทรัพย์...

 Large_td5409

        การบรรยายพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันนี้ ก็เห็นสมควรแก่การนำไปประพฤติปฏิบัติเพื่อให้เกิดความผาสุกสงบร่มเย็น

        ขอให้ทุกท่านทุกคนมีความผาสุก สวัสดี ด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ...

 


 

พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตามอบให้นำมาบรรยาย

วันพฤหัสบดีที่ ๒๒ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔

หมายเลขบันทึก: 480104เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2012 05:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 12:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท