บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

     โดยหลักการพื้นฐานนั้น องค์กรสาธารณะซึ่งอาจเป็นรัฐบาลระดับชาติ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรชุมชน จะเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์สิ่งที่เป็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในสังคม ทั้งนี้ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด องค์กรสาธารณะผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันเป็นทรัพยากรธรรมชาติใดๆ ย่อมมีหน้าที่คุ้มครองรักษาดูแลทรัพย์สินอันเป็นทรัพยากรธรรมชาตินั้นๆ มิให้เสียหายหรือถูกบุกรุกทำลาย และมีหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนได้อย่างยั่งยืนอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้พบว่ามีการบุกรุกพื้นที่สาธารณะ แหล่งน้ำสาธารณะ ป่าไม้ ภูเขา แหล่งท่องเที่ยว แหล่งประมง ปล่อยให้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม ตื้นเขิน ปนเปื้อน อีกทั้งก่อให้เกิดความขัดแย้ง การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติระหว่างปัจเจกชน ชุมชน และเป็นภัยคุกคามสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน อาทิ ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ไฟป่า โรคระบาด และอื่นๆ อันมีสาเหตุมาจากความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และเนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในชุมชนผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนในชุมชน การจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนนับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ทำให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาได้  การให้อำนาจกับชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้การพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะชุมชนท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดกับทรัพยากร โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่ทำงานอยู่ในท้องถิ่น และมีความใกล้ชิดกับท้องถิ่นมากที่สุด การให้อำนาจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการชุมชน โดยพบว่าองค์กรปกครองบริหารส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย  มีกฎหมายจัดตั้งองค์กรแต่ละประเภทให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกข้อบัญญัติเพื่อเป็นเครื่องมือในการจัดทำบริการสาธารณะ โดยการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเกิดจาก “ปัญหา” ที่เกิดขึ้นในชุมชน เป็นปัญหาที่คนในชุมชนไม่สามารถแก้ไขได้เองหรือต้องการการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาจเป็นปัญหาเดียวหรือหลายปัญหา ซึ่งหลายๆ ปัญหาที่ชุมชนไม่สามารถแก้ไขได้นั้น เรียกว่า “ประเด็นปัญหา” เมื่อปัญหานั้นถูกกล่าวถึงในวงกว้างและไม่ได้เป็นเพียงปัญหาของใครคนใดคนหนึ่งจนเป็น “ประเด็นสาธารณะ” จากนั้น หน่วยงานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ ให้ความสนใจและต้องการแก้ไขปัญหา เกิดการยกระดับแนวทางการแก้ไขปัญหาไปเป็น “วาระสาธารณะ” และร่วมกันพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเข้มข้น  มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ และการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานั้นๆ อย่างชัดเจน จนเกิดเป็น “นโยบายสาธารณะ” ในขั้นตอนนี้เองที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการร่วมแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เนื่องจากถือว่าเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับชุมชนมากที่สุด ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องมีการพัฒนาและ “ออกข้อบัญญัติท้องถิ่น” โดยมีเป้าหมายสำคัญ ๒ ประการ คือ เพื่อควบคุมพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของมนุษย์ และเพื่อวางแผนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน                                                                                           

 อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ รับรองอำนาจขององค์กรปกครองท้องถิ่น ดังนี้

มาตรา ๖ “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้” ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถออกข้อบัญญัติท้องถิ่นที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญได้ตามแนวนโยบายบริหารราชการแผ่นดิน ที่เน้นการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

มาตรา ๖๖  “ บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติและมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมรวมทั้งความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน ”

มาตรา ๗๘ (๓) “กระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพึ่งตนเองและตัดสินใจในกิจการของท้องถิ่นได้เอง ส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นและระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ตลอดทั้งโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศในท้องถิ่น ให้ทั่วถึงและเท่าเทียมกันทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาจังหวัดที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในจังหวัดนั้น” โดยการออกข้อบัญญัติเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สามารถอ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตรา

มาตรา ๒๙๐ เพื่อส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้                                     

 (๑) การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   ที่อยู่ในเขตพื้นที่                                                                                                                                                   

 (๒)การเข้าไปมีส่วนในการบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อยู่นอกเขตพื้นที่ เฉพาะในกรณีที่อาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของตน                                                                

 (๓)การมีส่วนร่วมในการพิจารณาเพื่อริเริ่มโครงการหรือกิจกรรมใดนอกเขตพื้นที่ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ (อ้างอิงจาก www.codi.or.th)                                                                          

       จากกฎหมายดังกล่าวเป็นการให้อำนาจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เป็นการที่แสดงให้เห็นถึงการสร้างกฎหมายรองรับการทำงานในการบริหารจัดการทรัพยากร  โดยให้อำนาจกับหน่วยงานท้องถิ่นในการดูแล  เพื่อให้การดำเนินงานเป็นที่เกี่ยวข้องกับชุมชนมีประสิทธิภาพประสบความสำเร็จและสามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มที่ตามอำนาจกฎหมายที่ได้กำหนดไว้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนนั้น ทำให้การแก้ไขปัญหาในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีความยั่งยืนและเกิดความสุมดุล เพราะเกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชน เกิดความรัก ความห่วงแหนในทรัพยากร  ซึ่งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน ทั้ง ชุมชนเอง  องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้อย่างจริงจัง การให้อำนาจกับชุมชน ในการดูแลทรัพยากรร่วมกัน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างข้อบัญญัติท้องถิ่นขึ้นมารองรับการดำเนินงานของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานของชุมชนมีประสิทธิภาพ ได้รับการยอมรับและเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงมีบทบาทสำคัญในการตราข้อบัญญัติตำบลขึ้นมาเพื่อรองรับการดำเนินงานของชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน

 

หมายเลขบันทึก: 479897เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2012 00:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ผมเชื่อในองกรค์ส่วนท้องถิ่นนะครับในการพัฒนา แต่ผมไม่เชื่อองกรค์ราชการ ที่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยคิดที่จะพัฒนาสักเท่าไหร่ มักจะคิดที่จะเอาเงิน ส่วนต่างๆเข้ากระเป๋าตัวเอง แต่บทความนี้ เป็นบทความที่ดีนะครับ ที่สามารถมองกระบวนการในการทำงานขององกรค์ส่วนท้องถิ่น ได้

เป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมากเพราะการแก้ปัญหาการพัฒนาชุมชนกับจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวคล้อม ซึ่งองค์การบริหารส่วนตำบลควรเข้ามามีบทบาทในการจัดการ

คิดว่า ในอนาคต ท้องถิ่นน่าจะมี บทบาท กับการจัดการทรัพยากรมากขึ้น โดยใช้อำนาจที่เพิ่มขึ้นของท้องถิ่น จึงคิดว่า บทความดีดีแบบ นี้จะสามารถต่อยอดความคิด ในงานพัฒนาชุมชนต่อไปได้ในอนาคต

อภิสิทธิ์ พงศ์สุชาติ john

มีเนื้อหาสาระดี เหมาะสมกับอง๕การบริหารส่วนท้องถิ่นต่างๆในการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม

บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นบทความที่กระตุ้นเเละเเสดงให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่ที่จะต้องตระหนักและเห็นคุณค่าของทรัพยากรในชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

เป็นบทความที่ดีเข้าใจง่ายสามารถนำไปปรับใช้ในงานพัฒนาชุมชนได้ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อ่าน

บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนช่วยในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นก่อให้เกิดการจัดสรรการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมและมีความยั่งยืน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท