ปัญหาการทอดทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่น


บทความ

ปัญหาการทอดทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่น

กรณีศึกษา : ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

                ภูมิปัญญา  ถือได้ว่าเป็นปรัชญาชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งเป็นที่มาของวิถีชีวิต วิธีคิด วิธีปฏิบัติ อันอยู่ภายใต้การมองโลกมองชีวิตแบบหนึ่ง  โดยภูมิปัญญาเป็นความรู้ที่มีการถ่ายทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้นำมาปรับใช้ ฟื้นฟู ประยุกต์ รวมถึงสร้างสรรค์ให้เกิดความรู้ใหม่ในสังคม  ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นจะแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ภูมิปัญญาจึงเป็นองค์ความรู้ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง (จำนงค์ แรกพินิจ, 2552:3)

                ภูมิปัญญา หมายถึง ปัญญาที่ผูกติดกับแผ่นดิน หรือ ท้องถิ่น การที่ชนเหล่าใดที่ดำรงเป็นกลุ่ม หรือ ชนชาติ หรือ ประเทศมาเป็นเวลานาน ต้องมีภูมิปัญญาของกลุ่ม หรือ ของชนชาติ หรือ ของประเทศ อันเรียกว่าภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งสะสมขึ้นมาจากประสบการณ์ของชีวิต สังคม และในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน และมีการถ่ายทอดสืบต่อการมาเป็นวัฒนธรรม  (เอกวิทย์ ณ ถลาง , 2541:5)   ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีลักษณะที่สำคัญ 2 ลักษณะ คือ ในฐานะองค์ความรู้และในฐานะกระบวนการ (สุรเชษฐ  เวชชพิทักษ์ , 2533:7)   ในปัจจุบันสังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการทอดทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่น เนื่องจากสังคมไทยมีการเคลื่อนไหวต่อเนื่องอย่างไม่หยุดนิ่ง ทำให้ทัศนะของคนในสังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้น โดยหลงลืมภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่มีการถ่ายทอดมาอย่างยาวนาน เช่นเดียวกับในพื้นที่ชุมชนบ้านคลองจิก หมู่ที่ 2 ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  ซึ่งพื้นที่ของชุมชนบ้านคลองจิกมีลักษณะการดำรงชีวิตเป็นแบบสังคมชนบททั่วไป แต่มีวัฒนธรรมของสังคมเมืองอยู่บ้าง ทำให้ชาวบ้านต่างหลงลืมภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ในชุมชน โดยชุมชนบ้านคลองจิกมีภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ภูมิปัญญาด้านการนวดแผนไทย และภูมิปัญญาด้านการรักษาโรคเริม  โรคงูสวัด และผู้ที่ถูกสัตว์มีพิษกัด  จากการศึกษาพบว่า ชุมชนบ้านคลอกจิกมีครูภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยและครูภูมิปัญญาด้านการนวดแผนไทย โดยทั้ง 2 ท่านได้รับการยอมรับจากชาวบ้านในชุมชนและได้รับการยกย่องให้เป็นครูภูมิปัญญาในตำบลท่าข้าม

                นางแจ่ม  ผลกล้า  เป็นครูภูมิปัญญาด้านการรักษาโรคเริม  โรคงูสวัด และผู้ที่ถูกสัตว์มีพิษกัด  ซึ่งสามารถรักษาผู้ที่เป็นโรคเริม โรคงูสงัด และผู้ที่ถูกสัตว์มีพิษกัด ไม่ว่าจะเป็น งู  ตะขาบ แมงป่อง เป็นต้น ซึ่งวิธีการรักษาจะใช้วิธีการนำรากไม้ชนิดหนึ่งมาใช้ในการรักษา โดยผู้ที่มารักษาจะต้องนำพานดอกไม้ ธูปเทียน และต้องมารักษาติดต่อกันเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้ต่างถูกหลงลืมเนื่องจาก ชาวบ้านในชุมชนได้หันมารักษากับแพทย์แผนปัจจุบัน  เพราะชาวบ้านไม่มีความเชื่อมั่นในวิธีการรักษาแบบดั้งเดิม ทำให้ชุมชนบ้านคลองจิกต้องเผชิญกับปัญหาการทอดทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

                นายวิน ไชยกูล  เป็นครูภูมิปัญญาด้านการนวดแผนไทย ซึ่งสามารถรักษาอาการปวดเมื่อย  อัมพฤกษ์ อัมพาต  และยังสามารถต่อกระดูกได้อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ เช่น วัว ไก่  โดยวิธีการรักษาจะใช้วิธีการนวด กดจุด  นอกจากการนวดแล้ว นายวิน ไชยกูล ยังคงนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาอีกด้วย เช่น

 1. กระทือ

                ส่วนที่นำมาเป็นยา  : หัวหรือเหง้า

                วิธีปรุงยาและการใช้ยา  :ใช้เหงาสดขนาด 1 กำมือ ย่างไฟพอสุก นำมาโขลกกับน้ำปูนใส ประมาณครึ่งแก้วน้ำดื่ม คั้นเอาน้ำมาดื่มเมื่อมีอาการ

                สรรพคุณการรักษา : แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อและปวดท้อง แก้บิด

2. กระท้อน

                ส่วนที่นำมาเป็นยา : เปลือกต้นสด

                วิธีปรุงยาและการใช้ยา : นำเปลือกต้นสด 1 กำมือ ต้มกับน้ำครึ่งขันน้ำแล้วดื่ม

                สรรพคุณการรักษา : แก้ท้องเสีย

3. กระเม็ง

                ส่วนที่นำมาเป็นยา :ใบ ดอก

                วิธีปรุงยาและการใช้ยา : นำใบมาตำ พอกห้ามเลือด ฟกช้ำ กลากเกลื้อน ผสม น้ำผึ้งใช้เป็นยาแก้หวัดสำหรับทารก

                สรรพคุณการรักษา : เป็นยารักษาหวัด ห้ามเลือด

4. ขมิ้นชัน

                ส่วนที่นำมาเป็นยา : เหง้าสด

                วิธีปรุงยาและการใช้ยา : ใช้เหง้ายาวประมาณ2 นิ้วฝนกับน้ำต้มสุกทาบริเวณที่เป็นแผล วันละ 3 ครั้ง หรือใช้ผงขมิ้นทาบริเวณที่มีอาการผื่นคัน แมลงกัดต่อย หรือใช้เหง้าขมิ้นสด ไม่ต้องปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นบางๆตากแดดจัดๆ ประมาณ 1-2 วัน แล้วบดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งปั้นเป็นเม็ดขนาดปลายนิ้วก้อย รับประทานครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

                สรรพคุณการรักษา : แก้จุกเสียด อาหารไม่ย่อย แผลพุพอง

5.จามจุรี ก้ามปู หรือ ฉำฉา

                ส่วนที่นำมาเป็นยา : เปลือกต้น เมล็ด

                วิธีปรุงยาและการใช้ยา : เปลือกต้น 1 กำมือ ป่นให้ละเอียดใช้เป็นยาสมานแผลสด

                สรรพคุณการรักษา : ยาสมานแผลสด

 6. เตยหอม

                ส่วนที่นำมาเป็นยา : ใบและราก

                วิธีปรุงยาและการใช้ยา :โรคหัด ใช้ใบสด 1 กำมือ ตำพอกบริเวณที่เป็น สำหรับยาบำรุงหัวใจ ใช้ใบสดตำ 2 กำมือ คั้นเอาน้ำ สีเขียวผสมอาหารแต่งกลิ่น แต่งสีขนมหรือใช้ในรูปของใบชาชงกับน้ำร้อน หรือใช้ใบสด 2-3 ใบ ต้มกับน้ำ 3 แก้วน้ำดื่มเล็ก จนเดือดเติมน้ำตาลเล็กน้อยดื่มเป็นประจำ ส่วนโรคเบาหวาน: นำส่วนต้นและราก ประมาณหนึ่งหยิบมือ ต้มกับเนื้อหรือใบไม้สักหยิบมือเล็ก จะช่วยรักษาโรคเบาหวาน

                สรรพคุณการรักษา :โรคหัด ยาบำรุงหัวใจ และโรคเบาหวาน

7. ใบเงิน

                 ส่วนที่นำมาเป็นยา : ใบ

                วิธีปรุงยาและการใช้ยา : ใช้ใบประมาณ 5-10 ใบ ตำให้ละเอียดพอกรักษาแผลที่เกิดจากมีดบาด สัตว์กัด หรือแผลที่มีหนอง

                สรรพคุณการรักษา : รักษาแผลสด

8.มะเขือพวง

                ส่วนที่นำมาเป็นยา : ผลอ่อน ใบ ราก

                วิธีปรุงยาและการใช้ยา : แก้ไอในเด็ก นำผลอ่อน น้ำ 1 แก้ว ตั้งไฟต้มให้เดือด 10-15 นาที นำน้ำที่ได้มาดื่ม

                แก้ผิวไหม้จากแสงแดดเผา แผลเป็นหนอง ใช้ใบสด 5-10 ใบ เลือกใบที่สมบูรณ์ล้างน้ำให้สะอาด นำมาตำให้ละเอียด ใช้พอกผิวบริเวณที่โดนแดดเผา หรือแผลเป็นหนอง

                แก้ส้นเท้าแตก ใช้รากสด 1 กำมือ ล้างน้ำให้สะอาด ตำให้ละเอียด พอกบริเวณรอยแตก ควรทำเป็นประจำจะทุเลาลง

                สรรพคุณการรักษา : แก้ไอในเด็ก แก้ผิวไหม้จากแสงแดดเผา แผลเป็นหนองแก้ส้นเท้าแตก

9. ย่านาง หญ้านาง หรือ ปู่เจ้าเขาเขียว

                ส่วนที่นำมาเป็นยา : ราก ใบ หัว

                วิธีปรุงยาและการใช้ยา : ลดไข้ ใช้ราก 1 กำมือ ต้มน้ำพอท่วมดื่มก่อนอาหารวันละ 3 มื้อ

                ถอนพิษสุรา ใบย่านางสด 3-10 ใบคั้นน้ำดื่ม

                ดับพิษร้อน ถอนพิษไข้ ใช้หัว 2-3 หัว เคี้ยวกับน้ำ 3 ส่วน ให้เหลือ 1 เกลือ ดื่มครั้งละครึ่งแก้ว

                สรรพคุณการรักษา : ลดไข้ ถอนพิษสุรา ดับพิษร้อน

                 ถือได้ว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” เป็นความรู้และกระบวนการที่ทำให้ชุมชนมีการเคลื่อนไหวอย่างไม่หยุดนิ่ง ภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต หากการพัฒนาชุมชนนำความรู้ทางด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับประยุกต์ ให้สอดคล้องกับพื้นฐานของแต่ละพื้นที่ จะทำให้การพัฒนาชุมชนประสบความสำเร็จ โดยในอดีตชาวบ้านได้ยึดหลักภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการดำรงชีวิต ซึ่งต่างกับปัจจุบันที่ชาวบ้านยึดเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหลักของการดำรงชีวิต ทำให้ชาวบ้านหลงลืมภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ

 

อ้างอิง

สุรเชษฐ  เวชชพิทักษ์. รากฐานแห่งชีวิต : วัฒนธรรมชนบทกับการพัฒนา. กรุงเทพฯ :

                เจริญวิทย์การพิมพ์ , 2533.

เอกวิทย์ ณ ถลาง. ภูมิปัญญาชาวบ้าน : วิถีชีวิตและกระบวนการเรียนรู้ – การแก้ปัญหา

                ของชาวบ้านไทย. กรุงเทพฯ : มูลนิธิภูมิปัญญา , 2541.

เอกสารประกอบการสอน. ภูมิปัญญาท้องถิ่น อาจารย์จำนงค์ แรกพินิจ. 2552

 

นามนุกรม

แจ่ม  ผลกล้า  เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ ,  นางสาวอรุณเนตร จันทศรีเป็นผู้สัมภาษณ์ ,

                เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2555

วิน  ไชยกูล  เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ ,  นางสาวอรุณเนตร จันทศรีเป็นผู้สัมภาษณ์ ,

                เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2555

คำสำคัญ (Tags): #บทความ
หมายเลขบันทึก: 479845เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2012 12:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2019 00:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

เป็นบทความที่อ่านแล้วเข้าใจในเรื่องปัญหาการทอดทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่นของ ตำบลท่าข้าม อำเภอหาดใหญ่ รู้สึกอยากอนุรักษ์ภูมิปัญญาไว้

ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชุมชนมาช้านาน เป็นรากฐานของชุมชน จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบสานต่อไป

เห็นด้วยอย่างยิ่งที่เสนอบทความนี้ขึ้นมา จะได้สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คนรุ่นหลังต่อไป อาเมน

เป็นบทความที่น่าสนใจมาก เพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นหลังใส่ใจในภูมิปัญญามากขึ้น

เห็นด้วยกับผู้เขียนเป็นอย่างยิ่ง...*... ทุกวันนี้ สังคมไทย ต่างละเลยภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่างละทิ้งรากฐานของตนเอง หากเรานำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต เราคงไม่ต้องตกเป็น ทาส ของเทคโนโลยีอย่างทุกวันนี้

ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้

ภูมิปัญาญาท้องถิ่นเป็นสิ่งที่คู่กับชุมชนควรอนุรักษ์ไว้เพื่อคนรุ่นหลัง และบทความนี้ก็ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพร ทำให้ได่รับความรู้และเกิดประโยชน์เป็นอย่างมาก

เป็นความที่เขียนได้ดีครับ...เป็นอีกบทความที่เป็นเสียงสะท้อนของสังคมที่กำลังเกิดขึ้น ปัญหานี้เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขครับ ภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนๆสร้างขึ้นเพื่อความอยู่รอด แต่ถึงทำมั้ยคนรุ่นปัจจุบันถึงมาทอดทิ้งครับ เป็นสิ่งที่น่าคิดมากๆครับ

ขอบคุณทุกความคิดเห็นของทุกท่านที่มอบให้

ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้คงเป็นประโยชน์แก่ทุกท่าน

ถ้าหากบทความนี้ผิดพลาดประการใดต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย

อรุณเนตร จันทศรี

การนำความรู้ด้านภูมิปัญญามาใช้ช่วยให้ชุมชนสามารถดำรงชีพได้ดีขึ้น เป็นบทความที่น่าสนใจมากเพราะได้รู้ถึงภูมิปัญญาของคนในชุมชน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท