จิตใจของนักปฏิบัติ...


ส่วนใหญ่นักปฏิบัติมักจะมองข้ามพื้นฐาน จะไปเอาแต่ยอดของมัน มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราจะว่าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เราอย่าไปถือว่าการรักษาศีล การทำสมาธิ มันเป็นพื้นฐานของศาสนาอื่น ๆ ยังไม่ใช่ศาสนาพุทธ อย่างนี้ไม่ได้ เราจะไปคิดอย่างนั้นไม่ได้ นี่แหละมันเป็นพื้นฐานทางจิตทางใจของเราทุก ๆ คน

           การประพฤติ การปฏิบัติที่เข้มข้น นอนดึกตื่นเช้า กลางวันก็ไม่นอน การเดิน การนั่ง การนอนมีสติอยู่กับเนื้อกับตัว การทำงานใจอยู่กับเนื้อกับตัว การนั่งสมาธิ ภาวนาเดินจงกรมใจอยู่กับเนื้อกับตัว

          พระพุทธเจ้าท่านให้เราปฏิบัติอย่างนี้ แม้เราจะมีความสุข ความสบาย ในการประพฤติปฏิบัติ แต่ร่างกายของเราก็มีการเหนื่อยล้า มันเลยทำให้จิตใจของเราท้อแท้ท้อถอย  เกิดความเบื่อหน่าย คลายความเพียร เปรียบเสมือนคนออกกำลังกาย เมื่อมาออกกำลังกายใหม่ ๆ ภายใน ๒-๓ อาทิตย์ ร่างกายมันก็จะเหนื่อยล้า จิตใจมันก็จะขี้เกียจ ขี้คร้านไม่ออกกำลังกาย

          การประพฤติปฏิบัติของเราก็เหมือนกัน นักประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านให้ใจของเราหนักแน่น เข้มแข็ง ถ้าเราข้ามได้ตอนนี้ถือว่าแข็งแรง แข็งแกร่งมาก จิตใจของเราทุก ๆ คนจะรู้ว่าตนเองเป็นคนมีสมาธิหรือไม่มีสมาธิก็รู้กันตอนนี้แหละ

          นักปฏิบัติจะตัดวัฏฏะสงสารได้ ต้องเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว ไม่อ่อนแอ ไม่สะทกสะท้าน ส่วนความเบื่อ ความชอบ ความไม่ชอบนั้น บ่งบอกถึงอารมณ์ที่เป็นอัตตาตัวตน เป็นอารมณ์ของคนที่ยังหลงติดในภพ ในชาติ อารมณ์ของพระนิพพานมันจะไม่มีคำว่าเบื่อ คำว่าไม่เบื่อ ชอบหรือไม่ชอบนะ

          คนเรามันก็มีแค่นี้แหละ เบื่อไม่เบื่อ ชอบไม่ชอบ ให้ทุกท่านปล่อย ให้ทุกท่านวางอารมณ์เหล่านี้ พระพุทธเจ้าท่านให้เราพากันรักษาศีล ทำข้อวัตรปฏิบัติให้มั่นคง คงเส้นคงวา ให้เป็นปฏิปทา ให้เรากลับมาที่ปัจจุบัน อันไหนไม่ดีก็อย่าไปคิด อันไหนไม่ดีก็อย่าไปพูด อันไหนไม่ดีก็อย่าไปทำ ถ้าเราไปคิด ไปพูด ไปทำในสิ่งที่ไม่ดี นั่นถือว่าเป็นความเสียหายมากสำหรับการประพฤติปฏิบัติของเรา และถ้าเราไปคิดผิด พูดผิด ทำผิด มันทำให้เราเสียกำลังใจ

          เรื่องพระนิพพานมันเป็นเรื่องจิต เรื่องใจ ถ้าเราไปคิดไม่ดี ใจของเรามันก็แย่ ถ้าเราไปพูดไม่ดี ใจของเรายิ่งแย่ใหญ่ ถ้าเราไปทำไม่ดี ใจของเรามันยิ่งแย่มาก ท่านให้เราพยายามประพฤติปฏิบัติให้ดี

          หลายคนหลายท่าน ย่อมมีความคิด ความสงสัยว่า เมื่อเราทำสมาธิจนสงบแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อ? ทุกท่านทุกคนก็อยากรู้

          อันที่จริงแล้ว พวกเราตอนนี้ ขณะนี้ เวลานี้ จิตใจของเรายังไม่มีกำลังพอ สมาธิของเรายังไม่มีกำลังพอ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เราอย่าพึ่งใจร้อน ให้เราสร้างฐานจิตใจของเราให้ดีก่อน ฝึกรักษาศีลให้ดี รักษาศีล รักษาเจตนาที่จิตที่ใจให้ดีก่อน เพื่อให้เรามีสมาธิเป็นธรรมชาติตลอด ๒๔ ชั่วโมง ให้ศีล สมาธิ ปัญญา ให้มันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก่อน ให้มันสงบเย็นก่อน ให้เรารักษาศีลจนเราเคารพตนเองได้ กราบไหว้ตนเองได้

          เมื่อเราฝึกรักษาศีลก็ยังไม่ได้ แล้วเราจะไปเอาสมาธิ มันก็เลยเป็นมิจฉาสมาธิไป เป็นสมาธิชั่วครู่ชั่วยาม ปัญญาก็เป็นปัญญาที่คิดเอา คำนวณเอา เกิดความวิตก วิจาร เพราะใจของเรามันยังเห็นผิดอยู่ ทุกอย่างมันก็เลยผิดหมด นักปฏิบัติที่ต้องการผล ต้องการประโยชน์ แต่ยังขาดมรรค ขาดข้อวัตรปฏิบัติ ขาดความสม่ำเสมอ อย่างนี้ถือว่า เรายังห่าง ยังอีกไกลมาก

          ส่วนใหญ่นักปฏิบัติมักจะมองข้ามพื้นฐาน จะไปเอาแต่ยอดของมัน มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เราจะว่าเราไม่ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เราอย่าไปถือว่าการรักษาศีล การทำสมาธิ มันเป็นพื้นฐานของศาสนาอื่น ๆ ยังไม่ใช่ศาสนาพุทธ อย่างนี้ไม่ได้ เราจะไปคิดอย่างนั้นไม่ได้ นี่แหละมันเป็นพื้นฐานทางจิตทางใจของเราทุก ๆ คน

          พระพุทธเจ้าท่านให้เราเริ่มจากการรักษาศีล มันจะได้เกิดสมาธิเป็นธรรมชาติ เราถึงจะมีปัญญาเป็นธรรมชาติ เมื่อเรามีจิตใจที่มีความสงบ มีความวิเวก มีความไม่วุ่นวาย เมื่อเราตัดสิ่งภายนอก ตัดโลกภายนอกออกจากจิตใจของเราได้ มันถึงเหมาะกับการพิจารณา

          การพิจารณามันเป็นการใช้สมอง ใช้ความสงบพอสมควร เช่น เราท่องหนังสือ เราเรียนหนังสือ หรือท่องบทสวดมนต์ มันก็ต้องอาศัยความสงบ อาศัยเวลาส่วนตัว  เวลาส่วนตัวก็คือ เวลาที่ใจเราสงบอยู่กับเนื้อกับตัว เราจะอยู่กับคนเยอะ เราก็เหมือนอยู่คนเดียว เราจะได้เป็นตัวของตัวเอง ที่จริงแล้ว การที่เราอยู่วัด อยู่กับเพื่อนฝูงนี่ มันก็เกิดความสงบได้ เกิดความวิเวกได้ ถ้าทุกคนทุกท่านตั้งใจให้มันสงบ ตั้งใจให้มันวิเวก

          พระพุทธเจ้าท่านเลยให้พวกเรานั่งสมาธิให้มาก ๆ เดินจงกรมให้มาก ๆ หน้าที่การงาน กิจวัตรต่าง ๆ ก็อย่าได้ให้มันบกพร่อง บางคนก็คิดไกลเกิน การประพฤติปฏิบัติของเรา มันต้องไปอยู่ในที่เงียบ ที่มันไม่มีคน ต้องไม่ได้ยินเสียง มันถึงจะวิเวก มันถึงจะสงบ ที่จริงนะ วัดวาอารามต่าง ๆ ถือว่ามีความวิเวกใช้ได้ ที่มันใช้ไม่ได้คือเรา เพราะเราไม่พากันประพฤติปฏิบัติ ไม่ตั้งใจ ไม่เอาใจใส่ ไม่กระตือรือร้น

           นักปฏิบัติ เมื่อมีเวลาอยู่เงียบ ๆ เราก็เดินจงกรมให้ใจมันสงบ เมื่อใจมันสงบ พระพุทธเจ้าท่านให้เราพิจารณากาย พิจารณาร่างกายของเรา ให้แยกออกเป็นชิ้น ๆ เหมือนกับอะไหล่รถยนต์

          พระพุทธเจ้าท่านให้เราพิจารณาว่า ส่วนที่มันเป็นของเรา ส่วนไหนมันสวย  ส่วนไหนมันงาม ส่วนไหนมันจีรังยั่งยืน เมื่อเราแยกออกเป็นชิ้น ๆ ที่นี้มันก็ไม่มีตัวตน มันจะไม่มีผู้หญิงผู้ชาย ท่านให้เราแยกออกเป็นชิ้น ๆ เป็นส่วน ๆ ไปเรื่อย ๆ แยกแขน แยกขา แยกเล็บ แยกขน แยกฟัน แยกหนัง แยกตับ แยกไต แยกไส้ แยกพุง

          พระพุทธเจ้าท่านให้เราพิจารณาอย่างนี้ทุกวัน พิจารณาแล้วก็หยุด ถ้าเราพิจารณามากไป มันจะทำให้เราปวดหัว ให้เราหยุด ทำใจให้สงบ แล้วก็พิจารณาสลับกันไป ไม่ใช่พิจารณาวันหนึ่งก็หยุดไปตั้งหลายวัน ไม่ใช่อย่างนั้น

          ถ้าเราไม่พิจารณาบ่อย ๆ นิมิตทางจิตทางใจของเราจะไม่เกิด เหมือนกับเราท่องหนังสือ เราก็ท่องไปเรื่อย ท่องไปบ่อย ๆ มันจะปวดหัวเราก็พักผ่อน การพักผ่อนก็คือ การทำใจของเราให้เป็นสมาธิ เราทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งให้สลับกัน ให้มันค่อยเป็นค่อยไป

          นิมิตที่มันเห็นตามความเป็นจริง เห็นร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา มันเป็นเพียงดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ ตอนนี้เรายังมาพูดตามหนังสือ ตามครูบาอาจารย์บอกสอน มันยังไม่เห็นจริง พระพุทธเจ้าท่านให้เราพิจารณาอย่างนี้มันถึงจะเห็นตามความเป็นจริง

          ถ้าเราเป็นพระนักปฏิบัติ ให้เราทำอย่างนี้แหละ ให้มันชำนิชำนาญ ให้มันเห็น ให้มันเป็น เรามองไปไหนก็จะเห็นตามความเป็นจริง

          สำหรับพระเรา เณรเรา โยมเราที่อยู่วัด ก็ต้องพากันตั้งอกตั้งใจ ประพฤติ ปฏิบัติให้มันจริง ๆ อย่าไปเบื่อหน่าย ท้อแท้ ท้อถอย เราทำของเราไปอย่างนี้ ปฏิบัติของเราอย่างนี้ ให้เราสนใจเรื่องการภาวนา เรื่องกรรมฐานอย่างนี้แหละ มันดีมาก

          การทำใจให้สงบ การพิจารณากาย พิจารณาต่าง ๆ ถ้าท่านไม่ตั้งใจ ไม่มีทางเลยที่มันจะรู้ จะเห็น จะเป็น และก็อย่าไปสนใจว่ามันจะบรรลุอย่างไร ให้เราพยายามอยู่กับศีล กับข้อวัตรปฏิบัติ

          ช่วงเวลาปฏิบัติธรรม ให้เราหยุดพาละทั้งหมดไว้ก่อน พวกหนังสือธรรมะ เก็บไว้ก่อน ยังไม่ต้องไปอ่าน เทปธรรมะ CD ธรรมะ ก็ยังไม่ต้องไปฟัง เพื่อนฝูง หมู่คณะ ก็ไม่ต้องไปพูดไปคุย ไม่คลุกคลีกับใคร ให้เรากลับมาอยู่กับตัวเองให้มาก ๆ เพราะว่าใจของเรามันชอบอยู่กับเรื่องภายนอก ยุ่งแต่เรื่องภายนอก

          พระพุทธเจ้าท่านให้เราตัดเรื่องภายนอกออกให้หมด ให้เราอยู่กับตัวเอง อยู่กับลมหายใจเข้า อยู่กับลมหายใจออก อยู่กับการนั่ง การเดิน การยืน การนอน อยู่กับการพิจารณากาย

          พระที่บวชใหม่ บวชระยะสั้น ๆ หรือว่าโยมมาถือศีล ก็ให้พวกเราปฏิบัติเหมือนกัน อย่าไปคิดว่าเราไม่ได้เอาถึงขนาดนั้น เราแค่มาอยู่วัดชั่วคราว มาบวชชั่วคราว อย่าไปคิดอย่างนั้น เมื่อเรามาแล้ว เราต้องปฏิบัติให้เต็มที่ ถ้าเราปล่อยวางให้ใจมันสงบได้ มันก็ไม่มีเก่า ไม่มีใหม่ ไม่มีหญิง ไม่มีชาย ไม่มีตัว ไม่มีตน เรื่องจะสึก เรื่องจะกลับบ้าน มันเป็นเรื่องอนาคต ปัจจุบันขณะนี้ ท่านมาบวช บวชแล้ว ท่านมาวัด มาแล้วก็ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ถ้ามันจะได้บรรลุก็ให้มันบรรลุไปเลย อย่าไปห่วงมันมากนะทางบ้าน บางคนก็คิดแปลก ไม่ตั้งปฏิบัติเต็มที่ กลัวตัวเองบรรลุธรรม มันยังห่วงทางบ้าน ยังห่วงทางโลกอยู่

          การบวชในพระพุทธศาสนานี้ ท่านให้เราบวชเพื่อมุ่งมรรคผลนิพพาน พระพุทธเจ้าท่านให้เรามุ่งมรรคผลนิพพานอย่างเดียว ไม่มีคำว่ามาบวชแล้วสึก

          แต่ระยะหลัง ๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว คณะสงฆ์ ครูบาอาจารย์ อนุโลมให้บวชแล้วสึกได้  เพื่อจะให้กุลบุตรลูกหลานได้ถือศีล เนกขัมมะบารมี เมื่อเรามาบวชแล้วเราต้องตั้งใจ ถึงมันจะไม่นานก็ต้องตั้งใจนะ มุ่งพระนิพพานอย่างที่ผู้ที่ไม่สึกเหมือนกัน ถ้าท่านคิดว่าบวชแล้วจะสึก การปฏิบัติ การถือพระวินัยมันก็ย่อหย่อน ทำให้วัดเสื่อม ทำให้ศาสนาเสื่อม เมื่อท่านได้โอกาสแล้วก็ให้พากันตั้งอก ตั้งใจ...

          โยมทุกคนที่มาถือศีลที่วัดก็เหมือนกัน ให้พากันตั้งใจประพฤติปฏิบัติ อย่าไปคิดว่าการมาถือศีลของเราแค่ไม่กี่วัน เราก็จะกลับบ้านแล้ว ถ้าเราคิดอย่างนั้น การปฏิบัติของเรามันก็ย่อหย่อน มาทำให้วัดเสื่อมเสีย มาอยู่วัดยังไม่ปฏิบัติจริง ยังไม่เอาจริง มาปฏิบัติก็ขาด ๆ แหว่ง ๆ กระด้างกระด่าง

          นักปฏิบัติมันต้องจิตใจหนักแน่น เข้มแง ไม่กลัวตาย ไม่กลัวผอม ไม่กลัวเหนื่อย ท่านจะไปนิพพาน ท่านจะมากลัวเหนื่อย กลัวผอม กลัวความอยากลำบาก มันไปนิพพานไม่ได้ ถือศีล ๘ ก็กลัว มันหมกมุ่นอยู่แต่เรื่องอยู่เรื่องกิน ดีไม่ดี มันแอบลักกินมาม่า กินของผิดศีลผิดธรรมในเวลาวิกาลอีก  ถ้าคนมันไม่เอาจริง...

          ให้ญาติโยมทุกท่านทุกคนที่มาอยู่วัด ให้พากันตั้งอกตั้งใจ ประพฤติ ปฏิบัติ เพื่อเป็นการจรรโลง ส่งเสริมพระศาสนาให้ยั่งยืนดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

 

          ในวัดเรานี้ ไม่ควรมีคนไม่เอาจริง คนอ่อนแอ คนไม่ละอายต่อบาป ไม่เกรงกลัวต่อบาป ไม่น่ามี พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าถ้ามีคนแบบนี้มันทำให้วัดเสื่อม  มันดึง มันฉุด ผู้ที่ศรัทธา ผู้ที่ตั้งใจลงต่ำ

          ถ้าใครรู้ว่าตนเองอินทรีย์อ่อน บารมีอ่อน ให้เราแก้ไขปรับปรุงตัวเอง อาศัยศีล ข้อวัตรปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ตั้งไว้

          ไม่ใช่เขาพากันประพฤติปฏิบัติ ตัวเองก็ยังเฉย ไม่ยอมทำอยู่แต่เฉย ๆ ทำอย่างนี้ไม่ได้ ถ้าเราคิดอย่างนี้ ทำอย่างนี้ เราก็เป็นบุคคลพิเศษ เป็นบุคคลที่ไม่สมควรอยู่วัด นอนวัด อยู่ไปก็ไม่เจริญ ทำให้หนักอกหนักใจครูบาอาจารย์อีก เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ไม่งาม ไม่เหมาะสม ให้เราพิจารณาดูตัวเองให้มาก ๆ อย่าไปเข้าข้างตัวเอง อย่าเป็นคนมีเหตุผลมากมาย ให้เราประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

          ถ้าใจของเรามันหยาบมาก มันสกปรกมาก มันเห็นแก่ตัวมาก มันมองไม่เห็นสิ่งที่ไม่ดีของตัวเองนะ ตั้งแต่นี้ต่อไป วัดเราอย่าได้มีพระอย่างนี้ โยมอย่างนี้ ที่แล้ว ๆ มาก็ให้แล้วไป เรื่องผิดข้อวัตร ผิดศีล ผิดพระวินัย อย่าได้ทำความผิดโดยเด็ดขาด ทีนี้ยอมรับไม่ได้แล้ว เมตตาไม่ได้แล้ว ไม่อนุโลมแล้ว ที่นี้รับเฉพาะบุคคลที่ตั้งอกตั้งใจ กาฝาก เป็นกาฝากมันไม่ดี พระเป็นกาฝากมันก็ไม่ดี เณรเป็นกาฝากมันก็ไม่ดี แม่ชีเป็นกาฝากมันก็ไม่ดี โยมเป็นกาฝากมันก็ไม่ดี อย่าให้มีกาฝากในวัดเราอีกเลย

          พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้กดดันเรา ครูบาอาจารย์ก็ไม่ได้กดดันเรา ท่านเมตตาเรา เมตตาเราทุกคน เมตตาของท่านแบบนี้ เป็นเมตตาอย่างไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ

          ท่านให้เราเปลี่ยนแปลงตนเอง จากที่มันไม่ดีก็ให้มันดี จากที่มันอ่อนแอก็ให้มันเข้มแข็ง ท่านไม่ต้องพูดเรื่องมรรคผลนิพพานหรอก ถ้าท่านยังอ่อนแออย่างนี้ คนอ่อนแอมันจะทำอะไรได้ พระอ่อนแอก็ทำอะไรไม่ได้ เราประพฤติปฏิบัติ มันเหน็ด มันเหนื่อย มันยากลำบาก ก็อย่าได้พากันอ่อนแอ เราทำไปเรื่อย ๆ ปฏิบัติไปเรื่อยเดี๋ยวจิตใจของเราก็แข็งแรงเอง แข็งแกร่งเอง ถ้าเราจะขึ้นภูเขาสักลูกหนึ่ง เรายังไปไม่ถึงตีนภูเขาเลย ถ้ามันเหนื่อยมันท้อแท้ มันจะไปถึงยอดของภูเขาได้อย่างไร

          ให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้าตอนที่ท่านจะตรัสรู้ ท่านก็ได้หญ้าคาที่มีโยมศรัทธาถวายมา ท่านได้มาแปดกำมือ ท่านก็เอามาปูเพื่อนั่งสมาธิ และท่านก็อธิฐานจิตว่า แม้หนังเอ็นกระดูกจะเหลืออยู่ เนื้อและเลือดในสรีระนี้จะเหือดแห้งไปก็ตามที หากยังไม่สำเร็จโพธิญาณ ก็จะไม่ลุกออกไปจากอาสนะนี้ ดูซิ ดูความเด็ดเดี่ยว ดูความเข้มแข็งของพระพุทธเจ้า ท่านก็ทำได้สำเร็จนะ

          พระพุทธเจ้าท่านนั่งสมาธิได้มากกว่า ๗ วัน พระอรหันต์นั่งได้มากกว่า ๗ วัน ที่พระพุทธเจ้าท่านนั่งได้หลาย ๆ วัน เป็นเพราะท่านมีความสุข ท่านมีปีติ มีเอกัคคตา ท่านมีจิตใจที่เป็นหนึ่ง ท่านไม่ปรุงแต่งอะไร คนเราถ้าจิตใจเป็นหนึ่ง ไม่ปรุงแต่งอะไร มันก็ไม่ทุกข์อะไรนะ

          ที่เราทุกข์มาก ทุกข์หลาย ก็เพราะเราคิดมาก เพราะว่าเราไม่รู้จักใจเรา ไม่รู้จักอารมณ์ของเรา เราก็ไม่ต้องไปคิดมาก ไม่ต้องไปคิดให้มันวุ่นวาย ให้เราเดินจงกรมทั้งวัน นั่งสมาธิทั้งวัน ทำข้อวัตรปฏิบัติทั้งวัน ทำอะไรที่มันดี ๆ มีจิตใจดี มีจิตใจเป็นหนึ่ง ความทุกข์มันก็จะไม่มีเอง แต่เรามันไม่ใช่อย่างนั้น กายมันก็ทุกข์อยู่แล้ว เราก็ยังเอาใจไปทุกข์ ไปวุ่นวายกับเรื่องภายนอกอีก มันเลยเอาความทุกมาซ้อนทุกข์ ทุกข์ทั้งกาย ทุกข์ทั้งใจ...

          พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความเพียร ทุก ๆ คนต้องพากเพียร ต้องขวนขายทำเอง ไม่มีใครมาเพียรให้เรา มาปฏิบัติให้เรา อัตตาหิ อัตตโนนาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน พระพุทธเจ้าที่แท้จริงก็คือ สิ่งที่เราประพฤติ ปฏิบัติอยู่นี้ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นก็เห็นเรา

          พระภิกษุสามเณรหรือญาติโยมส่วนใหญ่ การประพฤติปฏิบัติมันตั้งอยู่ได้ไม่นาน ไม่กี่เดือนก็ตั้งอยู่ไม่ได้แล้ว ท่านให้เรามีความเสมอต้น เสมอปลาย จะด้วยเหตุประการใด ก็ต้องตั้งใจประพฤติ ปฏิบัติ ให้เราถือว่ามันเป็นงานของเราโดยตรง

          เราอย่าไปคิดว่า ปฏิบัติมามากมันเครียด ที่มันเครียดเป็นเพราะเราไม่ชอบ ไม่พอใจ เป็นเพราะเราเอาใจไปต่อต้านพระพุทธเจ้า ไม่ยอมลด ไม่ยอมละทิฐิมานะของตน ให้เริ่มเพิ่มศรัทธาให้กับตนเอง เพิ่มความพอใจให้เกิดขึ้นในจิตในใจเรา ให้เรามีความสุข มีความพอใจในการประพฤติปฏิบัติ ให้คิดว่าดีมาก มีความสุขมาก หาโอกาสอย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติตอนนี้ เราจะไปปฏิบัติตอนไหน เรามีโอกาสดี โอกาสประเสริฐ ไม่เสียชาติเกิด ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เป็นผู้พบพระพุทธศาสนา ได้ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ให้เราภาคภูมิใจ เรามีเพื่อน มีหมู่คณะ ได้พากันตั้งใจ ได้พากันตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ทำเหมือนครั้งพระพุทธกาลเลย ทำความเพียรแข่งขันกัน พร้อมเพรียงกัน

          การที่เราประพฤติปฏิบัตินี้ เป็นสิ่งที่ดีมาก เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าเราไปสร้างวัดหลายวัด สร้างโบสถ์หลายหลัง สร้างกุฏิ วิหาร ลานเจดีย์ มันก็สู้การที่เรามาประพฤติปฏิบัติกันแบบนี้ไม่ได้ ดีมาก มีประโยชน์มาก พอใจยินดีที่ทุกคนประพฤติปฏิบัติ

          ให้เราคิดว่าชีวิตของเราที่มีวันหนึ่งคืนหนึ่ง ข้าพเจ้าจะตั้งใจประพฤติปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานอย่างเดียว สวรรค์ก็ไม่เอา ลาภ ยศ สรรเสริญก็ไม่เอา ข้าวของเงินทองก็ไม่เอา จะมุ่งแต่มรรคผลนิพพานอย่างเดียว จะตั้งอกตั้งใจ จะไม่ประมาทในการประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าท่านไม่ประมาทท่านถึงได้เป็นพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ท่านก็ไม่ประมาท ท่านถึงได้เป็นพระอรหันต์ ข้าพเจ้าก็จะตั้งใจจะไม่ประมาท

คำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ตรัสเป็นครั้งสุดท้าย แน่นอน ศักดิ์สิทธิ์ เป็นอมตะ ก็คือความไม่ประมาทนี้แหละ มันจะได้ปิดฉากละครชีวิตที่มันยืดเยื้อ ยืดยาว ฉายซ้ำแล้วซ้ำอีก ทุกข์แล้วทุกข์อีก มันจะได้จบลงซะที จบอย่างบริบูรณ์ “ขอให้ทุกคนตั้งคติไว้ในใจว่าเราจะไม่ประมาท...”

การบรรยายพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านได้ให้มาก็เห็นสมควรแก่การนำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อความงอกงาม ความเจริญในธรรมด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ...


พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตามอบให้นำมาบรรยาย

วันเสาร์ที่ ๑๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔

หมายเลขบันทึก: 479814เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2012 05:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 21:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท