พระที่แท้จริง...


         พระพุทธเจ้าท่านทรงมีเมตตาต่อพระเรา เณรเรา ญาติโยมที่อยู่วัดและอยู่ทางบ้าน หลายท่านหลายคน ตั้งใจบวชไม่สึกนะ บวชจนตาย...

          เมื่อเราตั้งใจอย่างนี้ ตั้งปฏิญาณอย่างนี้ เราทำอย่างไรเราถึงเป็นพระที่แท้จริง จะได้เป็นพระหมดกิเลสสิ้นอาสวะ

         พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้พากันประพฤติปฏิบัติเพื่อมุ่งมรรคผลนิพพานอย่างเดียว อย่าได้พากันมาติดความสุขจากปัจจัย ๔ ลาภ ยศ สรรเสริญ เราต้องตัดจริง ๆ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าพาเราละ ละพ่อ ละแม่ ละลูก ละหลาน พาเราละทิ้งหมดทางด้านจิตด้านใจ

          ถ้าเรายังไม่ละ ไม่ปล่อย ไม่วาง เราก็ไปไม่ได้ เพราะการปฏิบัติของเรามันเดินไปด้วยจิตใจ

          ดูตัวอย่างพระพุทธเจ้าของเรา ท่านสมาทานนอนตามพื้นดิน สมาทานนอนตามโคนไม้ นุ่งห่มจีวรด้วยผ้าบังสุกุล เที่ยวภิกขาจารบิณฑบาต ชาวบ้านเค้าถวายอะไรก็ฉันอันนั้น ฉันวันหนึ่งก็เพียงครั้งเดียว การที่มีประเพณีฉันเพลนี้ เป็นประเพณีที่อนุโลมเฉพาะภิกษุไข้และภิกษุเดินทางไกล ท่านไม่ให้ห่วงเรื่องฉัน เรื่องอยู่ เรื่องนอน เรื่องอ้วน เรื่องผอม ฉันพออยู่ได้เพื่อได้ทำความเพียร บวชมาแล้วก็ไม่มีใครคิดว่าจะสิกขาลาเพศ

          เรื่องเพศตรงกันข้ามนี่ให้ตัดอย่างเด็ดขาด ไม่มีคำว่าผู้หญิง ผู้ชาย ตัดให้หมดนะ ถ้าเราคิดว่ามีหญิง มีชาย จิตใจของเรามันก็แย่มาก จิตใจของนักบวชต้องตัด ต้องละ ต้องวาง จิตใจถึงจะเป็นหนึ่ง ถึงจะเป็นเอกัคคตา

          ความสุขในการพักผ่อนนี่ตัดให้หมด ให้พิจารณาร่างกายของเรานี่ เอาผมออก ลอกเอาหนังออกหมด เอาเนื้อออก เพื่อจะได้ทำลายนิมิต ความคิดที่ว่าเป็นตัว เป็นตน เป็นชาย เป็นหญิงนี่ออก วิธีการของเราที่จะต้องปฏิบัติ ที่จะถอนรากถอนโคน ถอนสักกายะทิฏฐิ ที่มันเข้าใจว่าตัวว่าตน เค้าเป็นผู้ชาย เค้าเป็นผู้หญิง

          พระพุทธเจ้าให้เราพิจารณาสลับกันไปกับการทำสมาธิ เช่นชั่วโมงหนึ่ง เราอาจจะพิจารณาย้อนไปย้อนมาซัก ๑๐ นาที ๒๐ นาที ๓๐ นาที อย่างนี้ แล้วก็หยุด ให้ใจของเราสงบเย็น ไม่ต้องคิดอะไร ถ้าเราพิจารณามากเกิน สมองเรามันจะเครียด ถ้าเราไม่คิดเลย ไม่พิจารณาเลย ปัญญาจะไม่เกิด ธรรมะจะไม่เกิด มันจะได้แต่สมาธิอย่างเดียว เวลาออกจากสมาธิแล้ว มันก็เป็นเหมือนคนไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย

          การประพฤติปฏิบัติ พระพุทธเจ้าให้เราทำสลับกันไปอย่างนี้เรื่อย ๆ พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราคลุกคลี พูดมาก คุยมาก เราพากันตั้งอกตั้งใจ พากันทำความเพียรกัน พื้นฐานของจิตใจของเราต้องเป็นคนมีศีล การรักษาศีลของเรามุ่งไปที่พระนิพพาน คือการละความเห็นแก่ตัว เพราะคนเรามันเห็นแก่ตัวมาก อยู่ด้วยการเบียดเบียนคนอื่น บริโภคคนอื่น ทำอาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่เด็ก ๆ จนถึงลาละสังขาร อยู่ด้วยการเบียดเบียน อยู่ด้วยการเอาเปรียบคนอื่น ไม่ว่าเรื่องบริโภค เรื่องต่าง ๆ นั้นเต็มไปด้วยการเบียดเบียนทั้งนั้น ท่านให้ถือศีลของพระอริยเจ้า ของพระอรหันต์ ตั้งแต่นี้จนตลอดชีวิต เราจะมีชีวิตด้วยการไม่เบียดเบียน ไม่ว่าเรื่องกิน เรื่องใช้ เราต้องมีชีวิตด้วยการไม่เบียดเบียน คนเรามันมีความเห็นแก่ตัวมาก มันเบียดเบียนเค้าอยู่ก็บอกว่าไม่เบียดเบียน ท่านจึงตรัสว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทั้งปวง

          ถ้าเราเน้นที่ใจ เน้นที่เจตนา เราจะรู้เลยว่าศีลของเราบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ คนเรานะมันปกปิดคนอื่นได้ มันหลอกคนอื่นได้ แต่มันปกปิดตัวเองไม่ได้ หลอกตัวเองไม่ได้

          การรักษาศีลของเรา ก็เพื่อให้ตัวเองกราบตัวเองได้ ไหว้ตัวเองได้ เพราะว่าตัวพระพุทธเจ้าที่แท้จริงนั้นคือ “ศีล”

          ศีล นั้นคือความบริสุทธิ์ผุดผ่อง คือสภาพที่ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง อาการที่มันไม่เห็นความสำคัญในศีล คืออาการของตัวของตน นักปฏิบัติไม่ว่าพระไม่ว่าโยม บางทีมันประมาทไป เมื่อศีลมันไม่ดี สมาธิที่มันเป็นธรรมชาติที่ไม่เข้าไม่ออก ที่เป็นพื้นฐานของสมาธิมันไม่เกิด ถ้าเราศีลดี สมาธิมันก็เกิดก็มีโดยธรรมชาติ

          สมาธิก็แปลว่าไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นจิตใจที่ว่างจากนิวรณ์ ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง ศีล สมาธิ ปัญญา มันจะรวมกันเป็นหนึ่งไปตลอด...

 

          ถ้าเรามาบวช ถ้าเรามาปฏิบัติ ถ้าเราไม่เอาจริง ถ้าเราไม่เอาจัง เราไม่ตั้งใจ มันไม่ได้ผลนะ ทำให้เราเสียเวลา ทำให้เราแก่ไปเปล่า ๆ การมาบวชของเราก็ไม่มีประโยชน์ ไม่ตรงเป้าหมายของพระพุทธเจ้าที่ท่านสั่งสอน

          สำหรับผู้ประพฤติพรหมจรรย์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ทุกคนปฏิบัติได้หมด” ไม่เลือกชาติ เลือกตระกูล ถ้าตั้งใจประพฤติปฏิบัติ โลกนี้จะไม่ว่างจากพระอรหันต์ หรือไม่ว่างจากผู้หมดกิเลส พระนิพพานมันไม่ใช่เรื่องไกลสำหรับเราถ้าตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ

          ท่านไม่ให้เราลูบ ๆ คลำ ๆ มันเป็นสีลัพพตปรามาส  ท่านยังตรัสไว้ท้ายปาฏิโมกข์ว่า “บุรุษดึงหญ้าคาต้องจับให้แน่นแล้วตั้งใจถอนหญ้าคา หญ้าคาถึงจะขึ้นนะ ถ้าเราจับไม่แน่นหญ้าคามันจะบาดมือ...”

          สำหรับผู้ที่บวชระยะสั้น หรือญาติโยมที่พากันมาอยู่วัดถือศีล ครูบาอาจารย์ก็ให้ตั้งอกตั้งใจให้ทำเหมือนกัน ให้ปฏิบัติเหมือนกัน ให้มุ่งมรรคผลนิพพานเหมือนกัน อย่าไปคิดว่าอีกไม่นานเราจะสึกอยู่ หรืออีกไม่นานเราจะกลับบ้าน เมื่อเรามาอยู่วัดปฏิบัติธรรม เราต้องปฏิบัติให้เต็มที่

          ทุกท่านทุกคนมีความอยากมีความต้องการแต่ไม่อยากปฏิบัติ มันจะเกิดประโยชน์อะไร เพราะการปฏิบัติของเรามันไปขอเอาไม่ได้ มันไปอ้อนวอนเอาไม่ได้ ทุก ๆ คนแต่งตั้งเราไม่ได้ เราต้องปฏิบัติเอาเอง

          ส่วนใหญ่ทุกท่านทุกคนเป็นคนใจอ่อน ท่านจะใจอ่อนไม่ได้นะ สัมมาสมาธิ คือความตั้งใจมั่นชอบ การปฏิบัติของเราไม่มีการถอนเข้าถอนออก เหมือนเต่า เดี๋ยวก็โผล่หัวออกเดี๋ยวก็ผลุบไปในกระดอง

          พระพุทธเจ้าให้เราคิดอย่างนี้ ให้เราปฏิบัติอย่างนี้ มีความสุขมาก มีความพอใจมากในประพฤติปฏิบัติ ถือว่าเราเป็นคนที่โชคดีนะ

          สมัยครั้งพุทธกาล ลูกชายบวชได้เป็นพระอรหันต์ แม่ห่วงลูกชายก็บวชตาม ลูกชายท่านเป็นพระอรหันต์ ท่านรู้ว่าแม่ยังห่วง ก็เลยใช้กลอุบายเพื่อให้แม่เกลียด ให้แม่ไม่พอใจ เพื่อให้แม่ปล่อย แม่วาง เพื่อให้แม่ไม่หลงรักอีก ภิกษุณีที่เป็นแม่น้อยอกน้อยใจว่า ลูกค้าไม่รัก ก็เลยปล่อยเลยวาง ไปประพฤติปฏิบัติ ไปทำความเพียร สุดท้ายก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

          ที่พูดนี้ก็เพื่อจะให้ท่านทั้งหลายนี้ได้เป็นคติว่าเราต้องตัด “อย่าเป็นพระมีครอบครัวในหัวใจ” เรามาบวชแล้ว เราก็ยังมีครอบครัว ยังห่วงพ่อ ห่วงแม่ ห่วงพี่ ห่วงน้อย ให้ตัดจริง ๆ ให้ปล่อย ให้วางจริง ๆ เมื่อเรายังไม่หมดกิเลส เรายังไม่สิ้นอาสวะ เราจะช่วยเหลือคนอื่นได้อย่างไร แม้แต่ตนเองยังเอาตัวไม่รอด เราไปเมตตาคนอื่น เราไปสงสารคนอื่น ทำให้เราไปนิพพานไม่ได้นะ

          พระพุทธเจ้าท่านให้เราเมตตาตนเอง สงสารตนเอง ตั้งจิตตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เมื่อเรามีธรรมะ มีคุณธรรม เราเป็นพระทางใจแล้ว เป็นพระจริง ไม่ใช่พระปลอมแล้ว เดี๋ยวนี้เรายังเป็นพระปลอม เป็นพระแต่งตั้ง เค้าสมมุติให้เราเป็นพระเฉย ๆ แต่เรายังไม่เป็นพระจริง เมื่อเราเป็นพระจริง เราก็มีคำเทศน์ คำบอก คำสอน นี่ถึงว่าเมตตาตนเองจริง ๆ

          พระพุทธเจ้าท่านให้เราเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร การเวียนว่ายตายเกิดถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าเราไม่เกิดมาปัญหาก็ไม่มี ที่ปัญหามันมีเพราะว่าเราเกิดมา มันจะเกิดได้ต่อไปก็เพราะว่า เราไปทำตามความหลง หลงในตัว ในตน หลงในสิ่งภายนอก เดี๋ยวนี้ทุกคนน่ะถือว่ายังหันหลังให้พระพุทธเจ้าอยู่ ถ้ายังไม่ละสังโยชน์ ๓ ถือว่ายังหันหลังให้พระพุทธเจ้าอยู่

          เมื่อรู้ว่ามันดี รู้ว่ามันถูก เราก็ยังไปลังเลสงสัยอยู่ไม่ได้นะ ถ้าเรารู้แล้วเราไม่ประพฤติปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา มันไม่เกิดหรอก เพราะความรู้ที่ดูจากหนังสือ ฟังจากผู้อื่น มันเป็นเพียงความรู้ มันเป็นเพียงปริยัติ ยังไม่ใช่ขั้นปฏิบัติ ปฏิบัติกว่าจะเป็นปฏิเวธได้ก็ไม่ใช่เรื่องน้อย ๆ

          พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมันเกิดที่เหตุ เราต้องสร้างเหตุสร้างปัจจัยให้ถึงพร้อม” อนาคตที่จะสดใส จะก้าวหน้า สว่างไสว คือปัจจุบันที่เรากำลังคิดดี ทำดี พูดดี มีศีลที่เรากำลังประพฤติปฏิบัติเป็นที่ตั้ง อนาคตก็คือฐานของวันนี้ที่จะให้เราก้าวไป จิตใจไม่มีพลังไม่มีกำลัง เมื่อจิตใจมันตรึกนึกคิดในสิ่งไม่ดีน่ะ คือจิตใจที่จะนำเราไปสู่ความตกต่ำ ปฏิบัติไป ก้าวไปข้างหนึ่งแล้วก็ถอยไปข้างหลังก้าวหนึ่ง มันก็แปลว่า “ปฏิบัติไม่ไปไม่มา”

          ความไม่ละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาปของเรานี่มันยังใช้ไม่ได้ มันยังมากอยู่ มันยังกล้าคิด กล้าปรุง กล้าแต่ง มันจำเป็นต้องตัด ต้องละ ต้องวาง มันจะไปอ่อน ไปแอ เหมือนที่ผ่าน ๆ มาใช้ไม่ได้ ใจของเรานั่นน่ะที่มันคิดไม่ดี ตรึกอะไรไม่ดี คนอื่นเค้าไม่รู้ เค้าไม่เห็น ตัวเรามันรู้ มันเห็น มันเป็นความคิดที่ไปห้ามพระนิพพาน

          มรรค คือ ข้อปฏิบัติ ท่านต้องเดินไป ก้าวไปข้างหน้า รู้ว่ามันผิด รู้ว่ามันคิดก็อย่าไปทำ เจริญสติให้มันถี่เข้า จิตที่ส่งออกไปข้างนอก คือจิตที่จะนำเราไปเกิดในวัฏฏะสงสาร จิตที่เป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตา คือจิตที่รู้จักอารมณ์ รู้จักความคิด ตั้งมั่นไว้ให้ดี

          คนเราคิดมากก็ทุกข์มาก คิดน้อยก็ทุกข์น้อย ฝึกให้จิตใจของเรามันเป็นหนึ่ง ผู้ถือประพฤติปฏิบัติพรหมจรรย์ ต้องถือจิตใจที่เป็นหนึ่ง การประพฤติปฏิบัติธรรมเราจะเดิน จะเหิน จะนั่ง จะนอน เราต้องทำจิตให้เป็นหนึ่ง จิตที่เป็นหนึ่งเป็นจิตที่ไม่ปรุงแต่ง จิตที่เป็นมรรค เป็นข้อวัตร ข้อปฏิบัติ

          ตาเห็นรูป หูฟังเสียงที่มันมาสัมผัสก็เป็นสักแต่ว่า อย่าให้เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ฝึกไว้ ปฏิบัติไว้ ให้ใจของเราเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคคตา “เอโก มรรคโค” คือข้อปฏิบัติ คือทางสายเอก ต้องจิตใจเป็นหนึ่ง จิตใจตั้งมั่น พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า นี้คือหนทางสายเอกของเรา ให้ทุกท่านทุกคนให้กลับมาหาตนเอง กลับมาแก้ไขตนเอง ชีวิตของเราจะได้เปลี่ยนแปลงไปทางที่ดี ถึงจะยาก ถึงจะลำบากก็ช่างหัวมัน เมื่อมันลำบากมันได้ดีนะ ถ้ามันสบายมันไม่มีประโยชน์อะไร เราจะไปสบายมันทำไม พระพุทธเจ้าให้เราพากันปฏิบัติอย่างนี้นะ

          สำหรับผู้ที่บวชเป็นพระที่จะไปพระนิพพานกัน ถ้าเราไม่ประพฤติปฏิบัติ เราก็คิดว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้มันคงเป็นนิยายมั๊ง เขียนมาส่งเดชเฉย ๆ มั๊ง ถ้าเรามีการประพฤติปฏิบัติ มันก็เป็นเรื่องง่าย ๆ เรื่องใกล้ตัว มันเรื่องของเรา...

          ทุกท่านทุกคนมีศักยภาพ มีความสามารถ ที่มันยังขาดอยู่ก็คือการประพฤติ การปฏิบัติ นั่งสมาธิอย่างนี้ก็ให้ตั้งใจให้เข้าสมาธิให้ได้ ให้มันข้ามนิวรณ์ความง่วงหงาวหาวนอน จิตใจให้ตั้งมั่นสว่างไสว อย่าให้มันหลับในบ่อย มันทำให้จิตไม่มีกำลัง พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราเอาความสุขกับการง่วงหงาวหาวนอน ให้ทำใจเป็นหนึ่งเป็นเอกัคคตา

          การเดินบิณฑบาต การทำอะไรให้มันตั้งใจตั้งมั่นกันทุก ๆ ท่าน การทำกิจวัตรต่าง ๆ เราพากันมาเน้นข้อวัตรปฏิบัติ มาเน้นมรรคผลนิพพานกัน ให้มีความสุขกับการปฏิบัติกันจริง ๆ เราจะหลบทางซ้าย หลบทางขวา หลบหน้า
หลบหลังไม่ได้ มันเป็นงาน เป็นหน้าที่ของทุกท่านทุกคน ต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติเพื่อมรรคผลเพื่อนิพพาน

          ลาภ ยศ สรรเสริญนี่มันไม่ใช่ของเรา มันไม่ใช่ของสำหรับเรา เรานี่จะตีค่าด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ ด้วยข้าวของเงินทองมันไม่ได้ เราไม่ได้มามุ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ เป็นพระต้องมุ่งมรรคผลนิพพาน เราเป็นโยมจะคิดว่ามุ่งมรรคผลนิพพานมันไม่ได้ “มันได้” เราเป็นโยมเราต้องมุ่งมรรคผลนิพพาน เพราะมันไม่ใช่เรื่องของกาย จะบวชหรือไม่บวชถ้าปฏิบัติตามก็ได้มรรคผลนิพพานกันทั้งนั้น

           การปฏิบัติมันเหมาะสำหรับพระ เราก็ปฏิบัติเป็นพระได้ พระสมมติก็เป็นพระจริงได้ เราอยู่บ้าน อยู่ที่ทำงานก็ตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ เพราะเราหาอยู่ หากิน ตั้งแต่อนุบาลจนถึงตาย สุดท้ายเราก็ไม่ได้อะไร มาตัวเปล่าไปตัวเปล่า ทรัพย์สมบัติภายนอกก็ทิ้งไว้ สุดท้ายท่านก็ได้แขกผู้มีเกียรติมาทอดผ้าบังสุกุลให้ท่าน...

          ก็ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัตินะทั้งพระ ทั้งโยม ทั้งอยู่วัด อยู่บ้าน การประพฤติปฏิบัติอย่างนี้เค้าเรียกว่าปฏิบัติบูชา ไม่ใช่อามิสบูชา ตัวศีลนั่นแหละคือพระพุทธเจ้า ตัวไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลงนั่นแหละคือพระพุทธเจ้า การที่เราทำความเพียร สร้างสรรค์ สร้างปัญญา คือตัวที่จะทำให้เราเป็นพระ

          ทุกท่านทุกคนอย่าถือว่าตัวเองเก่ง อย่าถือว่าตัวเองฉลาดว่าไม่กลัวไฟ อยากเล่นกับไฟ ถ้าเราคิดอย่างนั้น เราทำอย่างนั้น ชื่อว่าเรายังประมาทอยู่ หรือว่ามันเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีสำหรับพระใหม่ หรือว่าเพื่อน ๆ ผู้ประพฤติปฏิบัติเหมือนกัน เช่นพระเรานี่ชอบมีโทรศัพท์มือถือ ชอบโทรศัพท์นะ ชอบพากันเล่นคอมพิวเตอร์ โน๊ดบุ๊ค นี่ก็เป็นสาเหตุที่นำความเสื่อมมาสู่กุลบุตรลูกหลานที่บวชมาเพื่อมุ่งมรรคผลนิพพาน ถ้ามันยังต้องการที่จะมีโทรศัพท์ มีคอมพิวเตอร์ แสดงว่าจิตใจของเรามันส่งออก มันยังยินดีทางโลก พอใจในทางโลก จิตใจมันยังมืดอยู่ มันยังบดมันยังบังอยู่ มันบด มันบัง มันมืดจนไม่เกรงกลัวต่อบาป ไม่ละอายต่อบาป ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงเมตตาสั่งสอน มันเป็นการเหยียบย่ำ มันเป็นการทำลายมรรคผล ทำลายพระนิพพาน แล้วยังไปอวดดี อวดเก่งว่า “ไม่เป็นไร ถ้าใช้เป็นก็เป็นประโยชน์ ถ้าเราใช้ไม่เป็นมันก็เป็นโทษ” มันพูดออกมาได้ คุยออกมาได้น่ะ สำหรับผู้ที่มุ่งหวังมรรคผลนิพพานอย่าได้กระทำตาม ให้กระทำตามพระพุทธเจ้า

          พระพุทธเจ้าของเราท่านไม่ได้คิดอย่างนี้ ท่านไม่ได้พูดอย่างนี้ คำพูดที่พูดอย่างนี้เป็นของผู้ที่ตั้งอยู่ในความประมาท ถ้าใครกำลังคล้อยตาม ใครกำลังปฏิบัติตาม พระที่ทำอย่างนี้ก็ให้รีบหยุด อย่าไปทำลายอนาคตตัวเอง อย่าไปทำลายอนาคตของกุลบุตรลูกหลาน ส่วนดี ๆ ของกุลบุตรที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า อย่าพากันไปเลี้ยงเสือ เลี้ยงจระเข้ เลี้ยงจงอางไว้ในใจ

          บางคนบางท่านที่เป็นพระอายเพื่อนพระด้วยกัน ไม่ให้พระรู้ ไม่ให้พระเห็น เวลาพกกันก็ใช้ระบบสั่นสะเทือนเอา ถ้ามันถึงอย่างนี้แสดงว่ามันมีอะไรไม่ถูก ไม่ต้อง ไม่ควร เราปกปิดคนอื่นมันปกปิดได้ แต่มันปกปิดตัวเองมันปกปิดไม่ได้ ผู้ที่จะปฏิบัติมุ่งมรรคผลนิพพาน พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ประพฤติปฏิบัติอย่างนี้เป็นเด็ดขาด

          เราอย่าไปคิดว่าเป็นโลกสมัยใหม่ มันเป็นโลกยุคพัฒนา เมื่อมันเป็นโลกยุคพัฒนา ธรรมะทำไมไม่พัฒนา ธรรมวินัยของเราต้องพัฒนาสิ ต้องมีความเข้มแข็ง คนไม่มีความเข้มแข็งปฏิบัติศีลก็ไม่ได้ ปฏิบัติสมาธิก็ไม่ได้ ผู้ปฏิบัติตามรอยของพระพุทธเจ้าต้องเข้มแข็ง ต้องกล้าหาญชาญชัย ต้องกล้าทิ้ง กล้าปล่อย กล้าวาง อย่าไปกดตัวเอง ข่มตัวเอง ว่าตัวเองมีบุญน้อย มีวาสนาน้อย ไม่มีบารมี คงจะบำเพ็ญบารมีมาแต่ปางก่อนน้อย ถ้าเราไปคิดอย่างนั้น มันทำให้ตัวเองท้อแท้ ถดถอย หมดกำลังใจ อดีตเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้ว มันจะดีมันจะชั่วเราก็แก้ไขไม่ได้ ปัจจุบันเป็นสิ่งที่ทำได้ ให้เน้นการประพฤติปฏิบัติในปัจจุบันให้เต็มที่

          กิเลสมันเก่ง อวิชชามันเก่ง มันเสี้ยม มันสอนเรา ถ้าเราไม่จับหลักให้ได้ดี ๆ นะ เดินตามพระธรรมพระวินัยอย่างแท้จริง มันสู้กิเลส สู้อวิชชาไม่ได้นะ ใจของเรามันเคยชินกับเรื่องเก่า ๆ มันชอบจะย้อนกลับไปที่เก่า บ้านเคยกิน ถิ่นที่อยู่ ภพที่อาศัย มันอาลัยอาวรณ์

          ให้เรารู้จัก รู้แจ้ง พยายามอย่าไปคิดถึงมัน อย่าไปตรึกถึงมัน ถ้ามันตรึกขึ้นโดยเราไม่ได้ตั้งใจ พระพุทธเจ้าให้เราเห็นโทษเห็นภัย อย่าไปตรึก ไปนึก ไปคิดกับมันอีก อย่าไปให้อาหารมัน ความตรึก ความนึก ความคิด มันผุดขึ้นมาเราก็อดไม่ได้ ปรุงแต่งไปเรื่อย ๆ อย่างนี้ มันก็สร้างปัญหาให้เราไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันจบวันสิ้น มันโผล่ขึ้นมาเหมือนกับเด็กคนหนึ่งที่มันอยากได้ของ มันขอของพ่อแม่ พ่อแม่ไม่ให้ มันก็ชักดิ้นชักงอ มันงอกลิ้ง แดดิ้นอยู่ตามพื้นน่ะ พ่อแม่ไม่ฉลาด พ่อแม่ไม่เก่ง พ่อแม่ใจอ่อนก็ให้สิ่งของกับมันตามความต้องการ จิตใจของเราก็เหมือนกัน มันตรึก มันนึก มันคิด มันโผล่ขึ้นเมื่อไหร่ เราก็อดไม่อด ไม่ทน เราก็ไปปรุง ไปแต่งเสริมเติมต่อไปไม่มีที่จบ ไม่มีที่สิ้น เมื่อเด็กมันได้ตามต้องการ วันหลังมันก็ทำอย่างนั้นอีก แต่เมื่อผู้ใหญ่เข้มแข็ง ผู้ใหญ่ไม่ให้ เด็กมันก็ไม่ร้อง เด็กมันก็ไม่นอนกลิ้ง เพราะทำแล้วมันไม่ได้ นักประพฤติปฏิบัติต้องมีจิตใจที่หนักแน่น เข้มแข็ง ไม่ตรึก ไม่นึก ไม่คิดในสิ่งที่เป็นบาป เป็นอกุศล

          พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ตอนที่ท่านจะตรัสรู้ว่า ความตรึก ความนึก ความคิดอย่างนี้น่ะ ข้ารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าจะมาทำบ้านทำเรือนให้เราไม่ได้อีกต่อไป หมายถึง วัฏฏะสงสารที่มันจะเกิดในจิตในใจของเรา ให้เรารู้มัน ให้เราตัดมัน ให้เราหยุดมัน ความเอร็ดอร่อย ความยินดีต่าง ๆ ให้เราหยุดมัน

          พระพุทธเจ้าพาเราประพฤติปฏิบัติ พาเราเดินอย่างนี้ พาเราปฏิบัติอย่างนี้ ทางอื่นไม่มี เน้นที่จิตที่ใจ เน้นที่ตัวเราโดยเฉพาะ ตัดเรื่องภายนอกออกหมด มาเอาเรื่องภายใน

          ถ้าเราจะปฏิบัติอย่างนี้ มันจะไม่เครียดไปเหรอ? เพราะเราไปจี้มันเกิน ไปบ้าจี้มันเกิน ปฏิบัติธรรมะมันไม่มีความเครียด ยิ่งปฏิบัติก็ยิ่งสงบ ยิ่งใจเย็น มันยิ่งไม่ฟุ้งซ่าน เพราะธรรมะมันเป็นความสงบ เป็นความเย็น ไม่มีทุกข์ ไม่เครียด เป็นการปล่อย เป็นการวาง เปรียบเสมือนเราวิ่งมาจากไหนแล้วเราหยุดวิ่ง เปรียบเสมือนเราแบกของหนัก เราไม่เคยปล่อย เราไม่เคยวาง นี่เราวางเราก็ไม่หนัก

          เรามาปล่อย เรามาวาง เรามาสงบ เราเอาใจมาเข้าถึงพระนิพพาน เรามาเข้าทางพระนิพพานน่ะ มันไม่เครียด มันไม่วุ่นวายเหมือนที่เราคิดเอา เรามาหยุดความเครียด ความวุ่นวาย เพราะการเกิดทางร่างกายมันตั้งหลายสิบปีมันถึงตาย แต่การเกิดทางจิตใจวันนึงตั้งหลายหน เกิดแล้วก็ตาย เกิดแล้วก็ตาย มันเผาเราตลอด

          นักประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราเดินตามรอยของพระพุทธเจ้าแล้ว เราไม่ต้องกลัวเราทุกข์ ไม่ต้องกลัวเรายาก ไม่ต้องกลัวเราลำบาก ไม่ต้องกลัวเราเครียด เพราะเราทำเพื่อหยุด เราทำเพื่อเย็น เราทำเพื่อปล่อย เราทำเพื่อวาง เราทำเพื่อไม่มีตัว เราทำเพื่อไม่มีตน เราทำเพื่อไม่เอา เพื่อไม่มี เพื่อไม่เป็น สิ่งที่มันมีปัญหาเพราะเราเอา เพราะเรามี เพราะเราเป็น เพราะมันได้ เพราะมันเสีย อวิชชาคือกิเลสมันเลยเผาเรา

          ขอให้ทุกท่านทุกคนเข้าใจว่า การปฏิบัติที่ถูกต้องมันจะไม่มีความเครียดนะ การทำความเพียรทางด้านจิตใจของเรา พระพุทธเจ้าให้เราประพฤติให้เราปฏิบัติอย่างนี้ เน้นปฏิปทาให้สม่ำเสมอ สม่ำเสมอคือไม่ได้เดิน นั่ง นอน อย่างละเท่ากัน ไม่ใช่อย่างนั้น คือเน้นที่จิตใจนะ ไม่ว่าเราจะอยู่ในอิริยาบถไหน

          พระพุทธเจ้าท่านให้เรามีพระนิพพานในหัวใจ อย่าได้มีเรา อย่าได้มีตัว อย่าได้มีตน อย่าได้มีผู้หญิง อย่าได้มีผู้ชาย ให้มีสักแต่ว่ามันเกิดขึ้น มันตั้งอยู่ มันดับไป บางอันก็ดับเร็ว บางอันก็ดับช้า มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป เพราะทุกอย่างมันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ให้ใจของเราเป็นหนึ่ง ให้ใจของเราเป็นเอกัคคตารมณ์ ให้ใจของเราเป็นวิมุติ ให้ใจของเรามันหลุดมันพ้น ให้การปฏิบัติของเรา ให้ความเพียรของเราไปเรื่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอ...

          ปฏิปทาอย่างนี้ให้ทำไปทุก ๆ วัน จนกว่า “เราจะไม่มีเรา” การประพฤติปฏิบัติ ถ้าเราไปทำทุก ๆ วันมันก็ยิ่งสบายไป มันยิ่งหมดปัญหาไป ธรรมมันเป็นเรื่องธรรมดา

          ที่คนเกียจคร้าน คนไม่ขยัน ที่ให้ทำงานหรือมาให้ทำงาน เราอย่าไปสนใจสำหรับนักปฏิบัติ เพราะธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน มันไม่ใช่คำสั่งของพระพุทธเจ้า ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่มีเหตุผลที่จะมาห้าม มันเหนือเหตุเหนือผลที่จะมาอ้าง ถ้าเรามีมาอ้างมันเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ มันไม่ใช่เรื่องมรรคผลนิพพาน

          การประพฤติปฏิบัติมันต้องเหนือผลที่จะเอาออกมาโต้แย้ง ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่ออยากใหญ่อยากดัง การกระทำของเราอย่างนี้ก็ไม่ถูกต้อง ถ้าเรามาอยากใหญ่อยากดัง อยากมีชื่อเสียงเพื่อให้เค้าสรรเสริญเยินยอ เพื่ออารมณ์สวรรค์นี่ หรือเพื่อการกระทำในสิ่งที่หยาบ ๆ ในสิ่งที่ต่ำทรามก็ไม่ใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันเป็นความเจริญ มันเป็นความเสื่อม มันเป็นความเครียด เพราะว่าการคอยรับรางวัลจากคนอื่น มันคอยให้คนอื่นแต่งตั้ง เมื่อเค้าว่าดีมันก็พอง เมื่อเค้าว่าไม่ดีมันก็ยุบ

          พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้อง สำหรับพระผู้มุ่งนิพพาน เราพากันไปเอาความคิด ไปเอาความเข้าใจในการปฏิบัติเพื่อมุ่งมนุษย์สมบัติ มุ่งสวรรค์สมบัติ ที่มันมีความเครียด มีได้ มีเสีย มีเจริญ มีเสื่อมน่ะ

          ถ้าเรามุ่งพระนิพพาน เพื่อปล่อย เพื่อวาง มันจะมีความเครียดไปได้อย่างไร มันไม่มีเหตุ ไม่มีผลจะทำให้มันเครียด ยิ่งทำไป ยิ่งสงบ ยิ่งเย็น ยังไม่ตายมันก็ได้รับความสุข เหมือนพระอรหันต์รูปหนึ่งตั้งแต่ครั้งพุทธกาล ท่านได้บรรลุธรรมท่านมีความสุข ท่านเดินไปท่านก็พูดออกมาว่า สุขหนอ สุขหนอ

          นักประพฤติปฏิบัติมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ จะเอาเงิน เอาทอง เอาลาภ ยศ สรรเสริญมาตีค่า ตีราคากับพระนิพพานมันเทียบกันไม่ได้นะ เหมือนครูบาอาจารย์ที่ท่านมีหัวใจเป็นพระนิพพาน มันจะไม่ยินดีในเรื่องโลก ๆ มีโบสถ์ใหญ่ ๆ ศาลาใหญ่ ๆ มีอะไรมันใหญ่ ๆ สวย ๆ งาม ๆ เพราะว่ามันไม่ใช่เรื่องพระศาสนา มันไม่ใช่เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเมตตาสร้างบารมีมาตั้งหลายอสงไขย มาโปรดเรา มาสอนเรา

          พระพุทธเจ้าท่านไม่ยินดีกับการกระทำของเรา ที่เราพากันมามี มาเป็น แล้วก็พากันมาหลงกัน ถ้าท่านพูด ท่านคงพูดว่า “น่าสลดสังเวชจังเลย ที่พวกนี้พากันมาหลงอยู่นี่ เราอุตส่าห์พร่ำสอน เสียสละ แต่พากันมาหันหลังให้พระพุทธเจ้า” มันเป็นเรื่องสลดสังเวช น่าหดหู่ ดูว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมจะหมดไป

          ถ้าเราไม่ทำตามพระพุทธเจ้านี่มันต้องหมดไป ต้องเสื่อมไปจริง ๆ นะ เพราะพระผู้บวชแก่มีความเห็นผิด มีการกระทำผิด พากุลบุตรลูกหลานปฏิบัติไม่ถูกต้อง มาแข่งกันไปในทางที่ไม่ถูก ไม่ได้แข่งกันในการรักษาศีล ในการทำสมาธิ ไม่ได้แข่งกันในการทำความเพียร

          ที่มันเสื่อมก็เน้นไปที่ประธานสงฆ์ เจ้าอาวาส อุปัชฌาย์อาจารย์นี้สำคัญ ถ้าครูบาอาจารย์พากันประพฤติปฏิบัติเข้มข้น เคร่งครัด พระเณรมันอยู่ไม่ได้หรอก ต้องปฏิบัติ ประธานสงฆ์ก็ดี เจ้าอาวาสก็ดี หรือผู้บวชมาก่อนก็ดี มันต้องเสียสละให้มากกว่านี้ เพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่อเป็นแบบอย่าง เพราะการพูดให้ฟัง การเทศน์ให้ฟังหลายร้อยหลายพันครั้ง ก็ไม่สู้การประพฤติปฏิบัติให้ดู คนดูมันอยู่ด้วยกันหลายวัน มันก็รู้ว่าใครเป็นอย่างนู้น ใครเป็นอย่างนี้ ไม่ต้องอวด ไม่ต้องคุยมันก็รู้

          เราอย่าอยากเป็นคนมีบารมี มีลูกศิษย์ลูกหาเดินตามข้างหลังเป็นขบวน ถ้ามีลูกศิษย์ลูกหาเต็มขบวนน่ะ ในจิตใจของท่านนั้นเป็นอย่างไร มันปราศจากความโลภ ความโกรธ ความหลงรึยัง ท่านทำไปเพื่อต้องการอะไร ยังไม่กี่วัน ไม่กี่เดือน ไม่กี่ปี ลูกศิษย์ลูกหาของท่านก็รู้เองว่าท่านไม่มีอะไร ท่านเป็นคนเก่ง คนฉลาด พูดได้ดี พูดได้เพราะ ท่านเป็นคนเรียนมาก เป็นพหูสูตร ท่านน่าจะเอาความรู้ เอาความสามารถมาประพฤติปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าจริง ๆ เดินตามรอยพระพุทธเจ้าจริง ๆ มันถึงจะมีประโยชน์ มันถึงจะเกิดประโยชน์ยั่งยืนและถาวร ท่านยังไม่มี ท่านยังไม่เป็น ท่านปฏิบัติงานไปท่านก็เครียด เพราะใจของท่านมันไม่มีนิพพาน มีแต่โลกธรรม หัวใจมันแต่ความเจ็บความช้ำ มันมีแต่รอยบาดแผล พระพุทธเจ้าให้ท่านสลัดโลกธรรมออกจากใจ

          ก่อนที่พระพุทธเจ้าท่านจะได้ตรัสรู้ นายโสตถิยพราหมณ์เอาหญ้าแฝก ๘ กำมาถวายพระพุทธเจ้าเพื่อให้นั่งบัลลังก์ขัดสมาธิ ความหมายก็คือ พระพุทธเจ้านั่งทับโลกธรรม ไม่ให้โลกธรรมมาเหยียบย่ำหัวใจ สิ่งที่แล้วก็แล้วมา สิ่งที่แล้วก็แล้วไป พระพุทธเจ้าให้เราเอาใหม่ ตั้งใจใหม่ อย่าไปทำอย่างเก่านะ ความเครียด ความเศร้าหมองมันจะได้หายออกไป จากไป ไม่กี่เดือน ไม่กี่ปีมันก็หายจากไปได้

          พระพุทธเจ้าให้เรากลับใจ กลับตัว สิ่งทีผ่าน ๆ มามันถือเป็นบทเรียน มันเป็นประสบการณ์ทำให้ราเห็นทุกข์ เห็นภัย เห็นโทษ ว่าการประพฤติปฏิบัติของเราผิด มันเครียด มันเศร้าหมอง ทำให้คนมีปัญญากลายเป็นคนไม่มีปัญญา ถ้าเราไม่เห็นทุกข์ ถ้าเราไม่เจ็บ ไม่ช้ำ มันก็ไม่จำ คนเราน่ะ กว่าจะรู้ตัวเองมันก็เป็นประสาทไปตั้งหลายครั้ง บางทีขนาดเป็นประสาทไปตั้งหลายครั้ง มันก็ยังไม่จำมันยังไม่เห็น

          พระพุทธเจ้าให้เราทุกท่านทุกคนให้พากันเห็นทุกข์เห็นภัยในวัฏฏะสงสาร ให้เห็นเหตุแห่งทุกข์ ให้เห็นความดับทุกข์ ให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติ ไม่มีใครช่วยเหลือเราได้ ปฏิบัติให้เราได้นอกจากเราปฏิบัติเอาเอง

          เป็นอันว่าเราเป็นผู้มีบุญ มีวาสนา มีบารมี เป็นคนโชคดีที่ได้ปฏิบัติตามรอยบาทขององค์พระศาสนาสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ให้แสงสว่าง ให้ความดับทุกข์ ดับโศรกของมหาชนทั้งหลาย ท่านเป็นผู้มีเมตตาอย่างไม่มีที่สุดไม่มีประมาณอย่างมากมาย

           เนื่องในโอกาสพิเศษครั้งนี้ พระภิกษุสามเณรแล้วก็ญาติโยมพุทธบริษัททั้งหลายจึงได้คติ ได้ข้อคิดที่ดี ๆ นำไปประพฤติปฏิบัติ เพราะการแก้ไขตัวเรามันต้องแก้ที่ความคิด ความเห็นที่ดี ที่ถูก ที่ตอง นำมาประพฤติปฏิบัติให้มันเป็นความดี ให้มันเป็นปฏิปทา จิตใจของเราก็จะเข้าถึงความบริสุทธิ์ เป็นมรรค เป็นผล เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นวิมุติ เป็นความหลุดพ้นยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ...

 


พระ

หมายเลขบันทึก: 479572เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2012 06:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 14:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท