ปกรณ์
ว่าที่ร.ต. ปกรณ์ ปกรรณกรณ์ คำกอง

สรุปวรรณกรรม ๕ เรื่อง


วรรณกรรม พงศาวดารโยนก นารายณ์ปราบนนทก สุภาษิตนฤทุมนาการ พระบรมราโชวาท ร.๕ หลักศิลาจารึกหลักที่ ๑

สรุปสาระสำคัญ วรรณกรรม ๕ เรื่อง

  1. 1.      เรื่อง พงศาวดารโยนก

ความเป็นมา

     พงศาวดารโยนกเป็นพงศาวดารไทยในฝ่ายเหนือเกี่ยวเนื่องกับเรื่องพระราชพงศาวดารสยาม  โดยรวบรวมจากตำนานที่จารึกเป็นอักษรลาวหรืออักษรไทยเหนือ ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณ โดยหอสมุดแห่งชาติ

ผู้แต่ง

     พระยาประชากิจกรจักร

ลักษณะคำประพันธ์

     แต่งเป็นพงศาวดารที่บันทึกเรื่องราวความเป็นมาของชาติไทยและพระมหากษัตริย์ เขียนเป็นบันทึกความทรงจำที่ถ่ายทอดต่อกันมา

เรื่องย่อ

     กล่าวถึงมหาศักราชล่วงได้ ๒๗๗ เมื่อสมัยพุทธกาล พระเจ้าพังคราชถูกพวกขอมที่มีกำลังมาก มาตีเมืองคืน และเนรเทศพระเจ้าพังคราชและพระมเหสีออกนอกนครไป ขณะนั้นได้ประสูติพระโอรส ๒ พระองค์ ชื่อ เจ้าทุกขิตตกุมารและเจ้าพรหมราชกุมาร เมื่อเจ้าพรหมราชกุมารเติบโตขึ้น เป็นผู้มีความสามารถในทางการรบ และไล่พวกขอมดำออกไปจากแผ่นดิน และเชิญพระเจ้าพังคราชกลับมาครองเมืองโยนกต่อ และขนานนามเมืองใหม่ว่า เมืองโยนกชัยบุรี แล้วสร้างเมืองอีกเมือหนึ่งคือเมืองไชยปราการคอยสกัดกั้นข้าศึก โดยเจ้าพรหมกุมารครองเมืองไชยปราการและรวมแคว้นน้อยใหญ่เข้าไว้ด้วยกัน เป็นอาจักรล้านนา และหลังจากนั้นก็มีการทำสงครามต่อมาเรื่อยๆ จนถึงสมัยพระเจ้าอู่ทอง จึงได้สร้างกรุงศรีอยุธยา ส่วนทางเมืองโยนกนครที่พระเจ้าทุกขิตต์ครองอยู่ก็ได้ประสบภัยพิบัติถล่มจมลงกลายเป็นหนองน้ำใหญ่

คำศัพท์ที่สำคัญ

๑.      สุบิน         หมายถึง          ความฝัน

๒.      ทศมาส      หมายถึง          ๑๐ เดือน

๓.      รามัญประเทศ   หมายถึง      ประเทศมอญ

๔.      ชัยภูมิ        หมายถึง           ทำเลที่เหมาะสม

๕.      มาณพ             หมายถึง                  ชายหนุ่ม

ความเชื่อและค่านิยมจากเรื่อง

๑.      เรื่องความฝัน มี ๔ ประเภท ได้แก่

-          บุพนิมิต           คือ      ฝันบอกเหตุการณ์ล่วงหน้า

-          จิตนิวรณ์         คือ      ฝันที่เกิดจากการกระทำหรือหมกมุ่นอยู่กับสิ่งนั้นขณะที่ตื่น

-          เทพสังหรณ์       คือ      ฝันที่เกิดจากเทวดาบันดาลให้เป็น

-          ธาตุโขภ          คือ      ฝันที่เกิดจากพระธาตุในกายกำเริบ

 

๒.      เรื่องโหราพยากรณ์ เป็นการทำนายเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามความฝัน

๓.      เรื่องเมืองถล่ม

๔.      เรื่องเกี่ยวกับการสร้างพระธาตุ พระบรมธาตุ

๕.      เรื่องประวัติความเป็นมาของเมือง

..................................................................................................................................

๒ เรื่องนาราย์ปราบนนทก

ความเป็นมา

        บทละครเรื่องรามเกียรติ์เป็นวรรณคดีที่ได้เค้าโครงมาจากเรื่อง รามายณะ และมีที่มาจากเรื่องนารายณ์ปราบนนทก

ผู้แต่ง

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ มีพระนามเดิมว่า ด้วงหรือทองด้วง

ลักษณะคำประพันธ์

          ๑.แต่งเป็นร่ายดั้น

          ๒.แต่งเป็นบทละคร คือ มีคำว่า เมื่อนั้น,บัดนั้น,มาจะกล่าวบทไป ขึ้นต้น โดย เมื่อนั้นใช้กับตัวละครที่เป็นกษัตริย์ , บัดนั้น ใช้กับตัวละครที่เป็นคนสามัญธรรมดา และ มาจะกล่าวบทไป ใช้กับการขึ้นตอนใหม่

          ๓.แต่งเป็นโคลงสี่สุภาพ

เรื่องย่อ

          นนทกเป็นเทวดาที่ทำหน้าที่ล้างเท้าให้แก่บรรดาเทวดาที่อยู่บันสรวงสวรรค์เมื่อมาเข้าเฝ้าพระอิศวร เทวดาที่มาเข้าเฝ้าต่างแกล้งนนทกจนนนทกทนไม่ได้ จึงไปขอพระราชทานอาวุธกับพระอิศวร คือ นิ้วเพชร และไล่ทำร้ายเทวดาจนได้รับอันตราย พระอินทร์เห็นดังนั้นจึงไปกราบทูลให้พระอิศวรทราบ พระอิศวรจึงบัญชาให้พระนารายณ์ไปปราบ โดยแปลงกายเป็นนางผู้หญิงที่มีความสวย หลอกล่อจนนนทกทำท่าชี้นิ้วตัวเอง ทำให้ขานนทกหักพับลง พระนารายณ์ทำให้นนทกไปอุบัติในชาติใหม่เป็นทศกันฐ์ และพระนารายณ์ก็อวตารลงมาเป็นพระราม

คำศัพท์ที่สำคัญ

๑.      โกฏิ           หมายถึง          จำนวนนับเท่ากับ ๑๐ ล้าน

๒.      คนธรรพ์     หมายถึง          เทวดาที่เล่นดนตรีอยู่บนสวรรค์

๓.      ธาตรี         หมายถึง          แผ่นดิน

๔.      ภักษ์         หมายถึง          อาหาร

๕.      มโนรถ       หมายถึง          ความหวัง ความประสงค์ ความใฝ่ฝัน

๖.      สุบรรณ      หมายถึง           ครุฑ

๗.      อสุนี         หมายถึง          สายฟ้า

๘.      สุราลัย       หมายถึง          สวรรค์

๙.      อัปสร        หมายถึง          นางฟ้า

๑๐.  สาหส              หมายถึง                  ร้ายแรง

รสในวรรณคดี มี ๔ รส ดังนี้

๑.      เสาวรจนี    เป็นการชมความงามของตัวละคร

๒.      นารีปราโมทย์ เป็นการเล้าโลมเกี้ยวพาราสีกันของตัวละคร

๓.      พิโรธวาทัง เป็นการแสดงอารมณ์โกรธของตัวละคร

๔.      สัลลาปังคพิสัย  เป็นการแสดงความโศกเศร้าของตัวละคร

...................................................................................................................................

๓ เรื่องโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

ความเป็นมา

          เป็นวรรณคดีประเภทคำสอนที่มีคุณค่าแก่คนไทยอยู่คู่กับโคลงสุภาษิตโสฬสไตรยางศ์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อ คำสอน คติธรรมต่างๆ       

ผู้แต่ง

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

ลักษณะคำประพันธ์

          เป็นร้อยแก้วและร้อยกรอง ใช้คำง่ายๆ ไม่ยุ่งยาก อ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่มีคำศัพท์สูง

เรื่องย่อ

          โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ แปลว่า “ผู้ประพฤติกิจตาม ๑๐ ประการนี้ จะไม่ได้รับความเสียใจเลย” ดังนี้

          บทที่ ๑  ควรทำความดีแก่บุคคลทั่วไป

          บทที่ ๒ ควรระงับความโกรธ ริษยา และคำพูดที่ไม่ดี

บทที่ ๓ ควรมีความหนักแน่น คิดใคร่ครวญก่อนตัดสินใจ

บทที่ ๔ ควรมีสติในการพูด ลำดับคำให้ดีก่อนพูด

บทที่ ๕ ควรมีความอดทน อดกลั้น ไม่พูดขณะที่ยังโกรธ

บทที่ ๖ ควรมีความกรุณาต่อผู้ที่ได้รับความทุกข์

บทที่ ๗ ควรขอโทษเมื่อตนทำผิด

บทที่ ๘ ควรอดกลั้นไม่ให้โต้เถียงกันรุนแรง

บทที่ ๙ ไม่พูดพร่ำเพ้อ นินทาผู้อื่น

บทที่ ๑๐ ไม่หลงเชื่อข่าวลือที่ไม่ดี ควรสอบถามให้แน่ชัดเสียก่อน

คำศัพท์ที่สำคัญ

๑.      บัณฑิต       หมายถึง          ผู้รู้ ผู้มีปัญญา

๒.      โทมนัส       หมายถึง          เสียใจ

๓.      ไป่            หมายถึง          ไม่

๔.      ไข            หมายถึง          อธิบาย

๕.      โสต           หมายถึง          หู

๖.      พร้อง        หมายถึง          พูด กล่าว ร้อง

๗.      พาที         หมายถึง          คำพูด ถ้อยคำ

๘.      จานเจือ      หมายถึง          เผื่อแผ่ อุดหนุน

๙.      มน           หมายถึง          ใจ

๑๐.  แม้น         หมายถึง          เหมือน  คล้าย

หลักธรรมที่สอดคล้องกับโคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ

๑.      ฆราวาสธรรม ๔ คือ สัจจะ(ซื่อตรง)    ทมะ(รู้จักห้ามใจตนเอง)  ขันติ(อดทน) จาคะ(รู้จักบริจาค

๒.      สังคหวัตถุ ๔ คือ ทาน(การให้ทาน)ปิยวาจา(พูดจาอ่อนหวาน ไพเราะ)  อัตถจริยา(ประพฤติดี)  สมานัตตา(วางตัวสม่ำเสมอ)

 

...................................................................................................................................

๔ เรื่องหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑

ความเป็นมา

          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงผนวช และออกธุดงค์ไปประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือจนถึงสุโขทัย ได้พบของ ๓ อย่างคือ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ หลักศิลาจารึกของพญาธรรมราชาลิไท และพระแท่นมนังคศิลาอาสน์ แล้วทรงชะลอมาไว้ที่กรุงเทพฯ ต่อมา

ผู้แต่ง

          พ่อขุนรามคำแหงมหาราช หรือ พระรามคำแหง

ลักษณะคำประพันธ์

          เป็นร้อยแก้วเชิงบรรยายโวหาร มีสัมผัสบ้างบางตอน ใช้คำไทยแท้และคำภาษาถิ่นเหนือเป็นส่วนมาก มีคำเขมร บาลีสันสกฤตปนบ้างเล็กน้อย แต่งเป็นประโยคสั้นๆ ได้ใจความ

เรื่องย่อ

          เนื้อความในศิลาจารึกมี ๓ ตอน คือ

๑.      ตอนที่ ๑ เป็นประวัติส่วนตัวของพ่อขุนรามคำแหง ว่าเป็นลูกของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์กับนางเสือง มีพี่ชายชื่อบานเมือง

๒.      ตอนที่ ๒ เป็นการเล่าถึงเหตุการณ์ต่างๆ ขนบธรรมเนียมประเพณีของกรุงสุโขทัย การสร้างพระแท่น       มนังคศิลาอาสน์

๓.      ตอนที่ ๓ เป็นการกล่าวสรรเสริญและยอพระเกียรติของพ่อขุนรามคำแหง และการขยายอาณาเขต

ลักษณะการเขียนศิลา

๑.      ตัวอักษรเขียนจากซ้ายไปหาขวา และอ่านจากซ้ายไปหาขวา

๒.      สระและพยัญชนะเขียนอยู่บนบรรทัดเดียวกัน สระอยู่หน้าบ้างหลังบ้าง ถ้ามีทั้งนฤคหิตและวรรณยุกต์ให้เขียนต่อกัน

๓.      การเขียนไม่ติดกัน ไม่มีเว้นวรรค ถ้าไม่หมดบรรทัดให้ยกมาต่อบรรทัดต่อไป

๔.      นฤคหิตให้แทนเสียงสระอำ และแทนเสียง ม

๕.      พยัญชนะที่เขียนซ้ำกัน ให้แทนไม้หันอากาศ เช่น ปว่ว คือ ปั่ว ขบบ คือ ขับ

คุณค่าที่ได้รับจากหลักศิลาจารึกหลักที่ ๑

๑.      ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี คือรู้ประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทยสมัยสุโขทัย

๒.      ด้านอักษรศาสตร์ คือ การประดิษฐ์อักษรไทย

๓.      ด้านการปกครองตามหลักนิติศาสตร์ คือ การปกครองแบบพ่อปกครองลูก

๔.      ด้านเศรษฐกิจ คือ การค้าอย่างเสรี การเกษตร

๕.      ด้านการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม คือ การประพฤติตามหลักศาสนา และประเพณีอันดีงามอย่างเคร่งครัด

คำศัพท์ที่ควรรู้

๑.      ตู             หมายถึง          เราทั้งหลาย

๒.      โสง          หมายถึง          สอง

๓.      ผู้อ้าย        หมายถึง          พี่ชายคนโต

๔.      เมื่อชั่ว       หมายถึง          ในสมัย

๕.      เวน          หมายถึง          มอบให้  ถวาย

๖.      จกอบ(จะ-กอบ)   หมายถึง    ภาษี

๗.      เบื้องหัวนอน  หมายถึง         ทิศเหนือ

๘.      พระขะพุงผี     หมายถึง       ผีบ้านผีเรือน

๙.      ลายสือ       หมายถึง         ตัวหนังสือ

๑๐.  เตียมแต่        หมายถึง              ตั้งแต่

...................................................................................................................................

๕ เรื่องพระบรมราโชวาท รัชกาลที่ ๕

ความเป็นมา

          ทรงพระราชทานขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘ เพื่อพระราชทานแก่พระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์ ที่เสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ต่างประเทศเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์  พระเจ้าลูกยาเธอ ๔ พระองค์ ได้แก่

๑.      พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาท (พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์)

๒.      พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์)

๓.      พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระหลวงปราจิณกิติบดี (พระองค์เจ้าประวิตรวัฒนโนดม)

๔.      จอมพล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนครไชยศรีสุรเดช (พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช)

ผู้แต่ง

          พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

ลักษณะคำประพันธ์

          แต่งเป็นร้อยแก้ว เป็นบทนำสั้นๆ เหมือนคำสั่งโดยใช้คำว่า จง

เรื่องย่อ

          พระบรมราโชวาทนี้มีเนื้อความสั่งสอนในด้านต่างๆ ได้แก่

๑.      การวางตัวในต่างแดน คือ การไม่ใช้ยศถาบรรดาศักดิ์ว่าเป็นกษัตริย์ แต่ให้ใช้คำว่ามิสเตอร์แทน เพราะว่าจะสะดวกต่อการใช้ชีวิตในต่างแดน

๒.      การรู้จักใช้สอยพระราชทรัพย์ คือ การใช้จ่ายเงินต่างๆนั้น ให้ใช้อย่างประหยัด เพราะเงินนั้นเป็นเงินส่วนตัวของพ่อเอง เพื่อเป็นการลดการถูกนินทาว่านำเงินหลวงมาใช้ส่งลูกเรียน ดังนั้น จงใช้จ่ายเงินด้วยความประหยัดและรู้จักคุณค่าของเงิน

๓.      การเป็นกษัตริย์นั้น ไม่ใช่ว่าจะได้ทำงานแบบหาง่ายๆ แต่ควรจะให้สมกับที่เป็นผู้ที่เกิดในตระกูลสูงส่ง จะต้องมีวิชาความรู้ที่เชี่ยวชาญ เพราะการอยู่ในตำแหน่งที่ใหญ่โตจะต้องอาศัยความรู้ ไม่ใช่อาศัยว่าเป็นลูกกษัตริย์

๔.      การรู้จักเล่าเรียนเพื่อกลับมาทำคุณประโยชน์ให้กับบ้านเมือง คือ ไปเรียนรู้ในวิชาของต่างประเทศเพื่อนำความรู้ที่ได้นั้นกลับมาพัฒนาประเทศต่อไป

๕.      การรู้จักรักษาชื่อเสียงของวงศ์ตระกูล คือ ในการใช้ชีวิตนั้น อย่าถือว่าเป็นลูกของกษัตริย์ ไม่มีใครกล้าทำอะไรได้ เพราะเขาเกรงใจ จงอย่าไปรังแกผู้อื่น

๖.      ความสำคัญของการเรียนรู้ภาษาอื่น แต่อย่าทิ้งภาษาไทยเป็นอันขาด

๗.      ในการเล่าเรียนของพวกเจ้าทุกคนนั้น มีกรมหมื่นเทววงศวโรประการ ซึ่งเป็นอาของพวกเจ้า คอยดูแลอยู่ ทั้งปัจจุบันและอนาคต จงตั้งใจเรียนให้เต็มที่ อย่าได้เกเรใดๆ สมกับที่พ่อให้ความรัก ความไว้วางใจ

คุณค่าในการนำไปใช้

๑.      ด้านการประพฤติตน การวางตน การรู้จักใช้จ่ายเงิน ผู้มีตำแหน่งไม่ได้มีเพราะความใกล้ชิดคนในองค์กร เกิดเป็นคนต้องรู้จักตอบแทนแผ่นดิน การระมัดระวังในการประพฤติตน ไม่เอาชื่อเสียงของพ่อไปรังแกผู้อื่น ให้รู้จักประหยัด เห็นความสำคัญของการเรียนรู้

๒.      ด้านสังคม ให้รู้จักระบบการบริหารแผ่นดิน รู้จักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

คำศัพท์ที่ควรรู้

๑.      ทิฐิมานะ     หมายถึง          ความพยายาม

๒.        เป็นธุระ     หมายถึง         เป็นเรื่องที่ตนควรทำให้

๓.      วิชาหนังสือ   หมายถึง         วิชาด้านภาษา

๔.      ปฏิญาณ     หมายถึง          ให้คำสัญญา

๕.      มิสเตอร์      หมายถึง          คำนำหน้าชื่อผู้ชาย

 

...................................................................................................................................

หมายเลขบันทึก: 479428เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2012 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท