"มหาอุทกภัย 2554" ถอดบทเรียนการจัดการด้านสาธารณสุข จ.ขอนแก่น(ตอนที่ 2) : การบริหารจัดการระดับจังหวัดและศูนย์วิชาการ


จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ทิศทางการบริหารจัดการอุทกภัย จ.ขอนแก่น ปี 2555 ณ โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น โดยกลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข เจ้าภาพดำเนินงาน จัดให้มีการถอดบทเรียนการจัดการด้านสาธารณสุขในภาวะประสบอุทกภัยเมื่อปี 2554 ใน 4 ประเด็นต่อไปนี้
1.การบริหารจัดการระดับจังหวัดและศูนย์วิชาการ
2.การบริหารจัดการและดูแลในศูนย์อพยพ
3.การบริหารจัดการระดับอำเภอและ รพ.สต.ที่ได้รับผลกระทบ
4.การออกหน่วยปฏิบัติการช่วยเหลือจังหวัดอื่น

ในการถอดบทเรียนประเด็น "การบริหารจัดการระดับจังหวัดและศูนย์วิชาการ" โดยผู้แทนจากศูนย์วิชาการ และผู้รับผิดชอบจากกลุ่มงานที่เกี่ยวข้องในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น สรุปได้ดังนี้

การบริหารจัดการระดับจังหวัดและศูนย์วิชาการ มีการดำเนินการแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ได้แก่
1.ระยะเตรียมความพร้อม
2.ระยะเผชิญภาวะอุทกภัย
3.ระยะฟื้นฟู

ระยะเตรียมความพร้อม

1.การกำหนดนโยบายในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย

การดำเนินการ : นโยบายการบริหารจัดการในภาวะอุทกภัยด้านสาธารณสุข เมื่อปี 2554 ยึดตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ

ข้อเสนอแนะ : ควรนำนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและจังหวัดมาปรับใช้เป็นนโยบายของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยพิจารณาข้อมูลย้อนหลังเรื่องโรคที่เกิดขึ้นในภาวะอุทกภัยและพื้นที่เสี่ยงที่ประสบอุทกภัยเป็นแนวคิดในการกำหนดนโยบาย

2.การจัดทำแผนตอบโต้ในภาวะฉุกเฉิน

การดำเนินการ : จังหวัดขอนแก่นและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นได้จัดทำแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินไว้พร้อมสำหรับการดำเนินงาน

3.การซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินจากการเกิดอุทกภัย

การดำเนินการ : ในพื้นที่อำเภอที่ประสบอุทกภัยไม่มีการซ้อมแผนตอบโต้ในภาวะฉุกเฉิน แต่มีการซ้อมแผนร่วมกันระหว่างอำเภอกับจังหวัด

ข้อเสนอแนะ : ควรมีการซ้อมแผนตอบโต้ภาวะฉุกเฉินเป็นประจำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบอุทกภัยซ้ำซาก

4.การแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดการในภาวะฉุกเฉิน

การดำเนินการ : ในจังหวัดขอนแก่นมีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดการอุทกภัยในภาวะฉุกเฉิน แต่ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ แต่มอบหมายให้กลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุขเป็นเจ้าภาพดำเนินงานซึ่งมีผู้รับผิดชอบงานเพียง 1 คน ทำหน้าที่ประสานงานกับจังหวัด หน่วยงานราชการ และกลุ่มงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

ข้อเสนอแนะ : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดควรแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดการในภาวะฉุกเฉิน เพื่อประสาน เชื่อมโยง สั่งการ บูรณาการงานร่วมกัน โดยจัดให้มี war room เป็นประจำทุกวัน

5.การประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

การดำเนินการ : ในการจัดการมีการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ครอบคลุมระดับพื้นที่(อำเภอ/ตำบล) ระดับจังหวัด(วิเคราะห์ภาพรวม) และสามารถนำไปใช้ได้ โดยแหล่งที่มาของข้อมูลได้จากจังหวัด พื้นที่ สถานการณ์ที่เกิดขึ้น Website ที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลของกระทรวงมหาดไทย โดยมีการสรุปและรายงานแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำไปใช้ประโยชน์ได้

6.การเตรียมความพร้อมด้านการติดต่อสื่อสาร

การดำเนินการ : ทางจังหวัดได้จัดเตรียมเครื่องมือสื่อสารครบถ้วน หลากหลายช่องทางไว้อย่างเพียงพอ แต่พบปัญหาความพร้อมของเครือข่ายในการรับสาร

ข้อเสนอแนะ : ในพื้นที่ประสบภัยควรจัดเวรให้มีผู้รับผิดชอบในวันหยุดราชการ โดยจะต้องพัฒนาศักยภาพของผู้รับผิดชอบเรื่องการสื่อสารข้อมูลให้สื่อสารข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

7.การเตรียมศูนย์ประสานงานสั่งการ

การดำเนินการ : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานสั่งการและจุดประสานหลักรับความช่วยเหลือไว้ที่ กลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข จุดประสานหลักรับความช่วยเหลือ โดยได้จัดทำคู่มือการดำเนินงานสำหรับเป็นแนวทางในการปฏิบัติแก่ผู้เกี่ยวข้อง

8.การเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณ

การดำเนินการ : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่นได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน

ข้อเสนอแนะ : หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานควรร่างแผนงบประมาณโดยวิเคราะห์จากข้อมูลเดิม รวมถึงหาแหล่งเงินทุนฉุกเฉิน โดยประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาคเอกชน

9.การเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรและการขนส่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดได้จัดหาและจัดเตรียมทรัพยากรสำหรับดำเนินงาน แต่พบปัญหามีไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน ได้แก่
9.1 วัสดุป้องกัน รองเท้าบู้ท เสื้อชูชีพ เรือ รถยกสูง หน้ากาก
9.2 อาหาร
9.3 ยาและเวชภัณฑ์
9.3.1 ยาและเวชภัณฑ์สำหรับบริจาคให้ผู้ประสบภัยมีเพียงพอ แต่พบปัญหาการกระจายยาไม่เหมาะสม ไม่ทั่วถึง มีความซ้ำซ้อนในพื้นที่ที่ได้รับแจก
9.3.2 สถานบริการด้านสาธารณสุขเกิดภาวะขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ โดยสถานบริการไม่มีแผนสำรองรองเตรียมรับสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินอุทกภัย

ข้อเสนอแนะ : ดังนั้นหน่วยงานระดับจังหวัดควรต้องทำการสำรวจและประมาณการของทรัพยากรที่ต้องใช้ในภาวะฉุกเฉินในภาพรวม ได้แก่ วัสดุ ยา อาหาร และสถานบริการแต่ละแห่งจะต้องมีแผนสำรองทรัพยากรที่ต้องใช้(วัสดุ ยา เวชภัณฑ์) ให้พร้อมใช้เพื่อจำเป็น

ระยะเผชิญภาวะอุทกภัย

10.การบริหารจัดการข้อมูล

การดำเนินการ : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมีระบบการบริหารจัดการข้อมูล โดยได้จัดทำโปรแกรม “สถานการณ์น้ำท่วม Khon Kaen Flood 2011” สำหรับเป็นสารสนเทศในการดำเนินงาน

ข้อเสนอแนะ : ควรพัฒนาโปรแกรมให้นำไปใช้วิเคราะห์ข้อมูลได้ มีการเผยแพร่สาธารณะเพื่อให้หน่วยงานต่างๆนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผน จัดการพื้นที่น้ำท่วม และควรเพิ่มข้อมูลด้าน GIS

11.การบริหารด้านกำลังคน

12.การบริหารจัดการเครือข่าย

การดำเนินการ : หน่วยงานที่เข้าร่วมดำเนินการมีเฉพาะสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและหน่วยงานในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยังขาดการดำเนินการร่วมกันจากเครือข่ายทีเ่กี่ยวข้องในระบบสาธารณสุข

ข้อเสนอแนะ : ควรจัดทำบัญชีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง(ทำเนียบเครือข่าย) และจัดตั้ง war room เครือข่ายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รพ.ศรีนครินทร์ ศูนย์หัวใจสิริกิตติ์ รพ.จิตเวชราชนครินทร์ รพ.ขอนแก่น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ สคร.6 รพ.ค่ายศรีพัชรินทร์

ระยะฟื้นฟู

13.การประเมินผลกระทบด้านสังคม ชุมชน และการดำเนินการฟื้นฟู เยียวยา

การดำเนินการ : มีการประเมินผลกระทบในภาพรวมของจังหวัด โดยในส่วนของสาธารณสุขมีการประเมินเฉพาะเรื่องสุขภาพจิตในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ 9 อำเภอ ซึ่งพบปัญหาความไม่ทั่วถึงในการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

ข้อเสนอแนะ : ควรจัดระบบและแบ่งพื้นที่ดูแลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน โดยมอบหมายแบ่งเบาตามพื้นที่รับผิดชอบ

14.การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการดำเนินการฟื้นฟู

การดำเนินการ : ในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและดำเนินการฟื้นฟูโดยกลุ่มงานควบคุมโรค(งานอนามัยสิ่งแวดล้อม)ดำเนินงานร่วมกับ รพ.สต.ในเขตพื้นที่

15.การถอดบทเรียน

การดำเนินการ : ในการจัดการภาวะประสบอุทกภัยนี้ ได้มีการถอดบทเรียนด้านงานระบาด ซึ่งไม่ครอบคลุมทุกเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ข้อเสนอแนะ : ควรมีการถอดบทเรียนทุกงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ EMS งบประมาณ การบริหารทรัพยากร(ยา เวชภัณฑ์)โดยผู้เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ วางแผน และสรุปการถอดบทเรียนให้พื้นที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้

16.อื่นๆ

16.1 การบริหารจัดการทรัพยากร โดยใช้ข้อมูลที่เชื่อมโยงกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เช่น อาหาร ยา และสิ่งของบริจาค ควรมีหน่วยงานกลาง ศูนย์อำนวยการระดับจังหวัด ท้องถิ่น และจัดระบบการกระจายอย่างเหมาะสม เป็นแนวทางเดียวกันทั้งจังหวัด

16.2 กรณีมีมาตรการการจัดการในระบบต่างๆที่เกี่ยวข้อง ต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น มาตรการการจัดการยาและเวชภัณฑ์โดยผู้บริหารทุกภาคส่วนรับทราบโดยใช้เวทีการประชุมผู้บริหารของหน่วยงานแทนการสั่งการทางหนังสือราชการเพื่อความชัดเจนในการดำเนินงาน

หมายเหตุ : ข้อมูลจากประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง ทิศทางการบริหารจัดการอุทกภัย จ.ขอนแก่น ปี 2555 ณ โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2555 จัดโดยกลุ่มงานพัฒนายุทธศาสตร์สาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น

หมายเลขบันทึก: 479345เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2012 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2017 06:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท