ปรากฏการณ์ ร.ร.บ้านวัดโบสถ์ จ.สุโขทัย


รางวัลชนะเลิศประดิษฐ์ดอกไม้ใบตองระดับชาติ

       ในอดีต ที่ผ่านมา มนุษย์เราพยายามที่จะเรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ โดยเน้นความกลมกลืนในรูปแบบของการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน รู้จักการหาวัสดุธรรมชาติมาปรุงแต่งชีวิต สิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งสิ่งที่มนุษย์ได้ดัดแปลงมาจากธรรมชาติล้วนแล้วแต่จะนำไปใช้ให้เหมาะสมและมีความสมดุลกับธรรมชาติ  ต่อมามนุษย์ได้คิดนำใบตองมาใช้ห่อขนมและอาหารต่างๆ เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนการคิดประดิษฐ์ชิ้นงานให้มีรูปร่าง รูปทรงสวยงามและประณีตยิ่งขึ้น ศิลปะงานใบตองเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัด

           งานประดิษฐ์   หมายถึง งานที่เกิดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์สร้างหรือประดิษฐ์ขึ้นตามวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เพื่อความสวยงาม หรือประดับตกแต่งหรือเพื่อประโยชน์ใช้สอย   มีการพัฒนา ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงแบบด้วยความคิดสร้างสรรค์ งานประดิษฐ์มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งในด้านขนบธรรมเนียม ประเพณีทางศาสนาสร้างเป็นเครื่องประดับตกแต่ง ของเล่น ของที่ระลึก

          งานประดิษฐ์มีด้วยกันสองประเภท  คือ   . งานประดิษฐ์ที่เป็นเอกลักษณ์ไทย  ได้แก่  งานประดิษฐ์ด้วยดอกไม้สด, งานประดิษฐ์ด้วยใบตอง, งานแกะสลักพืชผักและผลไม้, งานจักสาน  . งานประดิษฐ์ทั่วไป  งานประดิษฐ์ที่เกิดจากแนวความคิดหรือความคิดสร้างสรรค์ที่มุ่งสร้างผลงานโดยมีจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง  ประดิษฐ์เพื่อเป็นของเล่น   ประดิษฐ์เพื่อเป็นของใช้   ประดิษฐ์ของตกแต่งบ้าน  ได้แก่  งานปั้น, งานประดิษฐ์ดอกไม้ ต้นไม้ด้วยกระดาษหรือผ้า, งานประดิษฐ์จากเศษวัสดุหรือวัสดุเหลือใช้, งานประดิษฐ์จากวัสดุธรรมชาติ

          งานประดิษฐ์นั้นมีประโยชน์หลายประการ เช่น  มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของไทย, มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับขนบธรรมเนียมและประเพณีทางศาสนา, ช่วยให้เกิดความรัก ความสามัคคีในหมู่คณะ, ช่วยให้การทำงานของสมองและประสาทสัมผัสประสานสัมพันธ์กัน, ใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่ง ของเล่น ของขวัญที่ระลึก, รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์, เป็นการฝึกลักษณะนิสัยในการทำงานให้มีความอดทน

คุณค่าของใบตอง  (http://elearningcvc.freetzi.com/page2.php)

       ใบตองคือใบของต้นกล้วย  ต้นกล้วยเป็นต้นไม้ที่มีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของคนไทยมาแต่โบราณเนื่องจากเป็นต้นไม้มงคล คุณค่าของงานใบตองนั้นมีมากมาย ได้แก่

       ๑. ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ใช้ใส่อาหาร ห่ออาหาร ห่อขนม ห่อของ ห่อผัก ห่อดอกไม้ ช่วยให้สดทนนาน ช่วยให้ขนมและอาหารสีสวยและมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน 
       ๒. ประโยชน์ในโอกาสพิเศษ งานวันสำคัญ ประดิษฐ์ภาชนะใส่ดอกไม้ ขนม ผลไม้ และใส่อาหารนำไปให้บุคคลซึ่งเคารพนับถือ ในวันคล้ายวันเกิด วันปีใหม่ วันขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ,  งานประเพณีนิยม ชาวไทยนิยมประดิษฐ์ผลงานดอกไม้ใบตองแบบประณีตศิลป์ใช้ในงานพิธีเช่น พานขันหมาก ขันหมั้น ขันสินสอด บายศรี กระทงลอย ใช้ในงานต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นประเพณีที่งดงามของชาวไทยที่ควรจะฟื้นฟูและรักษาไว้, งานพิธีทางศาสนา เช่น พานดอกไม้ธูปเทียน กระทงดอกไม้ แต่งเทียนพรรษา เป็นต้น     

       ๓. สร้างสรรค์ศิลปะมรดกของชาติ ผลงานประณีตศิลป์เป็นศิลปะมรดกแขนงหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยเพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความละเอียด ประณีต อ่อนโยน มีระเบียบ มีความสง่างาม มีความงามแบบวิจิตรพิสดาร ที่ไม่มีชาติใดในโลกมีเหมือน

       ๔. ช่วยให้จิตใจสงบร่มเย็น การนำใบตองมาประดิษฐ์เป็นสิ่งสวยงามย่อมนำมาซึ่งความเพลิดเพลิน ความสงบร่มเย็นแห่งจิตใจ เพราะจิตใจมีสมาธิ ความคิดก็เกิดจิตนาการ ผู้ที่ทำงานใบตองจะเป็นผู้ที่มีอารมณ์ดี คิดแต่สิ่งที่ดีงาม อันนำมาซึ่งความประพฤติชอบ 

       ๕. เป็นอาชีพหลักและอาชีพรองถ้ามีใจรักงานด้านนี้และมีงานอื่นเป็นหลักอยู่ก็ใช้เป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพรองช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัว หรือถ้ามีใจรักมาก ๆ ก็ใช้เป็นอาชีพหลักได้

        พานสินสอด  เป็นงานประดิษฐ์ที่ใช้ใบตองเป็นส่วนประกอบ  เป็นพานที่จัดไว้สำหรับใส่เงินสินสอดที่ฝ่ายชายนำมามอบให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองฝ่ายหญิง ดอกไม้ใบไม้ที่ใช้จัดพานสินสอด จะมีชื่อและความหมายที่เป็นสิริมงคล  พานสินสอดหรือที่โบราณเรียกอีกอย่างว่า "ค่าน้ำนม" ซึ่งเป็นเงินหรือสิ่งของที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นผู้กำหนด นิยมเรียกให้สมฐานะของฝ่ายหญิง ของหมั้นที่ขาดไม่ได้ อีกอย่างก็คือ "ทองคำ" ซึ่งเป็นที่นิยมใช้ในการหมั้นหมายมาตั้งแต่โบราณ จนเรียกกันติดปากมาถึงทุกวันนี้ว่า ทองหมั้น แต่ในปัจจุบันอาจมีเรื่องประดับเพชรเพิ่มขึ้นมาพาน สินสอดทองหมั้น จะมีกี่พานก็ได้แล้วแต่ฐานะของฝ่ายชาย (http://www.kanombaankwan.com/service2.html)

งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ ๖๑

        งานศิลปะหัตกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ ๖๑ ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๔  “สุดยอดเด็กไทย ก้าวล้ำ สู่ผู้นำอาเซียน”  วันที่ ๒๕-๒๗ มกราคม ๒๕๕๕  ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมเมืองทองธานี  จังหวัดนนทบุรี  จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  กระทรวงศึกษาธิการ

        ได้จัดให้มีการแข่งขันกิจกรรมของนักเรียนหลายกลุ่มสาระ  ในส่วนของกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี (การงานอาชีพ) จัดให้มีการแข่งขันประดิษฐ์ดอกไม้ใบตอง ๓ ประเภท  ได้แก่  พานพุ่มสักการะ ป.๕-๖ พานสินสอด  ม.๑-๓ บายศรีสู่ขวัญ ม.๔-๖

         เกณฑ์การให้คะแนนพานสินสอด  ๑๐๐ คะแนน  แยกเป็น  การเตรียมอุปกรณ์ ๑๐ คะแนน, ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ๑๕ คะแนน, ความสำเร็จของผลงาน ๒๐ คะแนน, ความประหยัด ๑๐ คะแนน, ความประณีตสวยงาน ๒๕ คะแนน, ความสะอาดเรียบร้อยในการปฏิบัติงาน ๑๐ คะแนน, การคิดรายการวัสดุอุปกรณ์ราคาทุนและการจำหน่าย  ๑๐ คะแนน 

        ร.ร.บ้านวัดโบสถ์ ต.เมืองบางขลังกับรางวัลชนะเลิศระดับชาติ 

        ผลการตัดสินประเภทพานสินสอด (ม.๑-๓) ปรากฏว่า   รางวัลชนะเลิศ  ได้แก่  ร.ร.บ้านวัดโบสถ์  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา สุโขทัย เขต ๒ ได้  ๙๓ คะแนน  รองชนะเลิศอันดับ ๑ ร.ร.บ้านซองแมว  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคาม เขต ๑ ได้ ๘๙.๓๓ คะแนน รองชนะเลิศอันดับที่ ๒ ร.ร.ป่าไม้อุทิศ ๖(ค่ายลูกเสือแก่งซอง) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิษณุโลก เขต ๓

         อ.เจริญ  ทองแท้  ครูชำนาญการ ผู้ฝึกสอนกล่าวว่า “ต้องขอขอบพระคุณผอ.พิภพ  ไขแจ้ง ผู้อำนวยการ ร.ร.บ้านวัดโบสถ์ผู้ให้การสนับสนุนส่งเสริมด้วยดีตลอดมา  รางวัลนี้สร้างความปราบปลื้มใจให้กับทางครูผู้สอน  ตัวนักเรียน คณะครูเป็นอย่างมาก  หลังจากที่ได้เคยท้อแท้  แต่ก็ได้รับกำลังใจจาก ผอ.พิภพ และตัวของนักเรียนที่มีจิตใจเข้มแข็ง  พร้อมที่จะฝึกทำด้วยความอดทนและเสียสละ ได้เริ่มสอนและถ่ายทอดให้เด็กนักเรียนมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐  โดยเริ่มสอนงานประดิษฐ์ดอกไม้ใบตอง  ต่อมา ปี ๒๕๕๑ ร่วมแข่งระดับภาคที่จังหวัดลำปาง (กระทงกรวย)ได้รับรางวัลเหรียญทอง  ปี ๒๕๕๒ ร่วมแข่งระดับภาคที่จังหวัดนครสวรรค์ (บายศรีสู่ขวัญ) ได้รับรางวัลเหรียญทอง ปี ๒๕๕๓ ร่วมแข่งขันระดับภาคที่จังหวัดเชียงราย (บายศรีสู่ขวัญ) ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ เหรียญทอง และร่วมแข่งขันที่เมืองทองธานี (บายศรีสู่ขวัญ) ได้รับรางวัลเหรียญทอง

          ส่วนเส้นทางแห่งการชนะเลิศระดับชาติ ในปี ๒๕๕๔  เริ่มแข่งในระดับเครือข่าย  คือเครือข่ายเมืองพระร่วง ๑๑ โรงเรียน  ได้อันดับที่ ๑  เป็นตัวแทนกลุ่มเครือข่ายเข้าร่วมแข่งในระดับเขตพื้นที่การศึกษา สุโขทัย เขต ๒  ซึ่งนำผู้ชนะของแต่เครือข่ายของแต่ละอำเภอมาแข่งกัน  ชนะที่ ๑ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา  เข้าร่วมแข่งขันในระดับภาคเหนือ  ที่ ร.ร.สากเหล็กวิทยา จ.พิจิตร วันที่ ๑๔ ธ.ค.๒๕๕๔  ซึ่งมีตัวแทน ๔๓ โรงเรียนจาก ๑๗ จังหวัดเข้าร่วม  ผลปรากฏว่าได้ที่ ๑ วันที่ ๒๕ ธ.ค.๒๕๕๔  ร่วมแข่งขันในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ ๖๑ ที่เมืองทองธานี จ.นนทบุรี  ซึ่งเป็นงานใหญ่มีกิจกรรมทุกสาระการเรียนรู้ ๒๑๔ กิจกรรม”

          อ.เจริญ  ทองแท้  ได้เล่าเพิ่มเติมว่า  “..ต้องเตรียมอุปกรณ์ไป  ใช้เวลาทำ ๓ ชั่วโมง  โจทย์คือการทำพานสินสอด ๑ ทีมมี ๖ คน  เด็กต้องฝึกสมาธิ  ฝึกการทำงานเป็นทีม  การแบ่งงานกันทำ  จะเริ่มฝึกจากแบบธรรมดาก่อนเมื่อชำนาญแล้วมีเวลาเหลือจะเพิ่มรายละเอียดต่างๆ เพื่อให้สวยงาม  เกิดความแตกต่าง  ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับตัวเด็กเป็นหลัก  ที่ต้องมีความสนใจ มีความอดทน เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลา  ดังนั้นการฝึกให้เคยชินหรือฝึกให้ชำนาญจึงเป็นความจำเป็นในเบื้องต้น...”

          คณะทีมงานที่รังสรรค์จนได้รางวัลชนะเลิศ  จำนวน ๖ คน  ได้แก่  ชญานุช  พลธีระ, ทองสุข  พุ่มเทศ, ปวันรัตน์  อยู่รวม, ปิยรัตน์  บานแย้ม, จิราพัชร  เพชรรัตน์, ศุภรัตน์ ดุมคงLarge_p-04

 

หมายเลขบันทึก: 478985เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2012 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท