ความสุขที่ยั่งยืน…หาได้จากความเรียบง่าย


ระบบสุขภาพพอเพียง

 

ความสุขที่ยั่งยืน…หาได้จากความเรียบง่าย

                อาจทิ้งช่วงมานาน ในการแบ่งปันสิ่งดีๆเพื่อเล่าสู่กัลยานมิตรฟัง แต่ความประทับใจเหล่านั้นยังไม่จางหายจากความทรงจำ อาจเป็นเรื่องราวที่ทำให้มีความสุขมากที่สุดในการเรียน ป.เอก เนื่องจากช่วยตอบคำถามในใจหลายเรื่อง ตรงใจหลายอย่าง ทำให้ชีวิตก้าวย่างอย่างมั่นคงขึ้น

     วันสุดท้ายที่ ท่าน ผศ.ดร.นพ. ปัตพงษ์  เกษสมบูรณ์ ได้เปิดประเด็น เรื่อง Buddhist Management โดยสรุปการเรียนรู้ที่ผ่านมาทั้งหมดว่า ในการจัดระบบสุขภาพให้มีความเหมาะสมแต่ละประเทศนั้น ไม้พ้นการนำบทเรียนที่ผ่านมาวิเคราะห์ โดยใช้กระบวนการทางพุทธโดยการอธิบายได้ง่ายๆคือ อริยสัจ 4 คือ การวิเคราะห์ว่าอะไรคือทุกข์ สมุทัยคือ การหาสาเหตุแห่งทุกข์ เพื่อเรียนรู้ว่า อะไรคือสาเหตุ และอะไรคือทุนที่จะช่วยในการแก้ที่สาเหตุนั้น นิโรธ คือ แนวทางหลักๆหรือวิถีทางในการดับทุกข์และมรรคคือวิธีการแห่งการดับทุกข์ในแต่ละวิถี  ซึ่งบทเรียนที่ท่านอาจารย์นำมาถ่ายทอดมีความหลากหลาย อาจผ่านช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดสูญเสียสู่การคิดเพื่อคนส่วนใหญ่ ภายใต้ความเรียบง่าย การถอยกลับมาพิจารณาอย่างมีสติ และการไม่เอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ พึ่งพาตนเองและอยู่อาศัยอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ เช่น กรณีของหมู่บ้านพลัม (plum village) ของท่านติช นัท ฮันห์ ในประเทศฝรั่งเศส ผ่านรายการสำรวจความคิด  โดยวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ที่พาเข้าไปสู่โลกแห่งความเรียบง่าย ใช้สติกำหนดรู้ในปัจจุบัน ไม่บังคับให้จิตขืน ไม่กำกับด้วยทฤษฎี แต่ปล่อยวางภายใต้หลักการของการปล่อยวางอย่างมีสติ อาจด้วยวิธีการของผู้จัดที่เสนอมุมมองที่ให้ผู้ชมได้ฟังและตัดสินด้วยตนเอง และมีการแสดงออกที่ไม่แสดงถึงความงมงายหรือบังคับให้เชื่อ อีกทั้งเป็นเหมือนเรื่องราวที่ต่อเนื่องจากที่เคยติดตามทุกครั้งที่มีโอกาส

ยังมีเรื่องราวดีๆที่ท่านอาจารย์ได้ให้เราช่วยกันแลกเปลี่ยน เช่น มูลนิธิข้าวขวัญ  โดยคุณเดชา ศิริภัทร์ ศิษย์เก่า มข.ได้มองเห็นปัญหาที่เกิดกับชาวนาจากความเปลี่ยนแปลงของวิถีคิด ที่มีการพึ่งพาระบบเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสมัยใหม่ เกิดภาวะหนี้สินและส่งผลต่อสุขภาวะ โดยมุ่งที่ข้าวเป็นประเด็นในการขับเคลื่อน โดยใช้การลงมือทำเป็นตัวอย่าง สร้างการเรียนรู้และแบ่งปัน ขยายผลโดยมีหลักสูตร  ระดับประถม มัธยม และ อุดมศึกษาใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน เพื่อสร้างการเรียนรู้จากภายในเพื่อให้เกิดการยอมรับและกระทำอย่างยั่งยืน  หรือบทเรียนของพ่อประยงค์ รณรงค์แห่งบ้านไม้เรียง นครศรีธรรมราช ที่แก้วิกฤติทางเศรษฐกิจของชุมชนโดยชุมชน เพื่อชุมชน เน้นความหลากหลายของการผลิต เพื่อการบริโภคภายในชุมชนก่อนส่งขาย ไม่โลภ ใช้ธรรมะในการอยู่ร่วมกัน  "การพึ่งพาตนเองคือวิถีทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ตัวเราและชุมชนอยู่ได้อย่างยั่งยืนตลอดไป และความยั่งยืนของชุมชนคือเสรีภาพของแผ่นดิน"และ “วีรชนเอกชน เก่งคนเดียวไม่รอด ต้องสร้างคนรุ่นใหม่”

มูลนิธิพุทธฉุยจี้ไต้หวัน (Tzu chi) ที่ก่อตั้งโดยท่านธรรมาจารย์เจี้ยงเหยิน ตั้งแต่ปี 2509 ที่ได้แรงบันดาลใจจากการเห็นความทุกข์ทรมานในความเจ็บป่วยและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจากความยากจนจึงระดมทุนจากความศรัทธาเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เริ่มต้นด้วยสมาชิก 30 คน จนในปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 12 ล้านคนทั่วโลก ด้วยแนวคิด “บริการด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanize Health care) และใช้ปรัชญาของพระโพธิสัตว์” สั่งสอนผู้คนให้กตัญญู เห็นคุณค่าของคน

อาจมีอีกหลายเรื่องราวงดงามของคนดีๆในโลกนี้ ที่เป็นเสมือนน้ำเย็นชโลมใจให้หลายชีวิตได้ก้าวเดินต่อไปโดยไม่เหว่ว้า ให้โลกได้มีสีสันและความแตกต่างที่น่าชื่นชม ทำให้รู้ว่า สิ่งที่เคยคิดและกระทำอยู่ อาจเป็นเพียงเศษเสี้ยวของความดีงามเหล่านี้ แต่ก็ยังได้รู้ว่า สิ่งที่ศรัทธาไม่ได้แปลกแยกจากสังคมรอบข้างแต่อย่างใด

ขอบพระคุณ   ผศ.ดร.นพ. ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ ผู้เติมพลังฝัน  

หมายเลขบันทึก: 478924เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2012 17:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท