การสร้างความน่าเชื่อถือแบบง่ายๆ


ในการเป็นหัวหน้า หรือผู้นำของทีมงานนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ การได้รับความเชื่อถือ (Trust) จากสมาชิกในทีมงานทุกคน มีหลายคนที่พยายามสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสมาชิกในทีมในทุกวิถีทาง แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จสักที แต่หัวหน้างานบางคนดูเหมือนแทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย แต่ทุกคนในทีมงานกับให้ความเชื่อถือเป็นอย่างดี ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

วิธีการง่ายๆ ในการสร้างความน่าเชื่อถือของตนเองให้กับทีมงานนั้นมีวิธีการง่ายๆ ตามนี้ครับ

  • ฟังให้มากกว่าพูด หัวหน้างานที่ได้รับความเชื่อถือจากลูกน้องนั้นจะทำสิ่งเดียวกันก็คือ รับฟังลูกน้องอย่างเปิดใจ และฟังด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่ฟังแล้วคิดไปเอง หรือฟังแล้วพยายามยัดเยียดความคิดของตนเองให้กับลูกน้องของตนเอง หัวหน้างานที่ไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นในใจของลูกน้องได้ก็ เพราะพูดมากกว่าฟัง เวลาลูกน้องเข้ามาปรึกษางาน ก็ฟังลูกน้องไม่จบ แล้วก็แทรกขึ้นมากลางคัน จากนั้นก็เล่าเรื่องของตัวเอง เรื่องที่ตัวเองเคยทำสำเร็จมาแล้วให้ลูกน้องฟังอย่างเดียว โดยที่ไม่ฟังลูกน้องตนเองอีกเลย แบบนี้จะมีลูกน้องคนไหนที่จะเชื่อถือหัวหน้าแบบนี้ล่ะครับ เข้าไปคุยด้วยทีไร ก็จะได้ฟังนิทานเรื่องเดิมๆ ทุกที
  • ให้มั่นใจว่าเราเข้าใจลูกน้องเราจริงๆ เวลา ที่ได้รับฟังเรื่องราวต่างๆ จากลูกน้องหรือใครก็ตามที่มาคุยกับเรา เราต้องมั่นใจว่า เราเข้าใจเรื่องราวเหล่านั้นจริงๆ ไม่ได้คิดไปเอง เพราะคนเรามักจะชอบคิดไปเองตลอด อะไรที่เขาพูดมาแล้วเราชอบ เราก็จะมองว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเรื่องที่เขาพูดมาเป็นเรื่องที่เราไม่ชอบ เราก็จะไม่เห็นด้วย และจะไม่ค่อยรับฟังใดๆ อีกต่อไป การที่เราจะสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกน้องเราได้นั้น เราจะต้องเข้าใจในสิ่งที่เขาพูดอย่างถ่องแท้ วิธีการที่จะทำความเข้าใจได้ดีที่สุดก็คือ การใช้คำถาม สอบถามเพิ่มเติมไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งด่วนสรุปไปเอง และพยายามคิดในสิ่งที่เขาเล่าให้ฟัง คล้ายๆ กับการเอาใจเขามาใส่ใจเรานั่นเองครับ
  • อย่านินทา หัว หน้าหรือผู้นำที่ดี ที่ได้รับความเชื่อถือจากทุกคนนั้น จะเป็นคนที่ไม่ชอบนินทาว่าร้ายคนอื่นลับหลังครับ แต่จะพูดถึงสิ่งดีๆ ของคนอื่นลับหลังมากกว่า เวลาที่คนอื่นมาพูดถึงอีกคนในทางที่ไม่ดี คนที่เป็นผู้นำหรือหัวหน้าที่ดี จะไม่ใส่ใจ และไม่สนใจที่จะรับฟัง แต่จะพยายามเปลี่ยนเรื่องให้คนอื่นมองในทางที่ดีมากกว่า และจะไม่ร่วมนินทาไปกับเขา หัวหน้างานที่ไม่ได้รับความน่าเชื่อถือจากลูกน้องก็ด้วยเหตุที่ว่าชอบนินทา คนอื่นนี่แหละครับ เรียกได้ว่าใครไม่อยู่ในทีมวันนั้น ก็จะถูกนินทาทันที ดังนั้นไม่มีพนักงานคนไหนเชื่อถือหัวหน้างานแบบนี้อย่างแน่นอนครับ
  • ไม่ปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน กล่าว คือ ลูกน้องที่ตนเองชอบใจก็จะปฏิบัติลักษณะหนึ่ง ส่วนลูกน้องที่ตนเองไม่ค่อยชอบใจนัก ก็ปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง เวลาพูดอะไร หรือทำอะไร ก็มักจะเอื้อกลุ่มพนักงานที่มาประจบประแจงตนเองมากกว่า ส่วนพนักงานที่ไม่ค่อยเข้ามาประจบ หรือพูดคุย ก็จะไม่สนใจใส่ใจใดๆ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีพฤติกรรมลำเอียง ไม่ว่าจะเป็น การพูดคุย การประเมินผลงาน หรือแม้แต่การเอาใจใส่พนักงาน ก็จะแตกต่างกันออกไป

วิธีการ 4 วิธีนี้เป็นวิธีการง่ายๆ ในการทำให้พนักงานเชื่อถือ และเชื่อมั่นในตัวหัวหน้า จะสังเกตว่าเป็นวิธีการที่ไม่ได้ทำยากเลย และไม่ใช่หลักทฤษฎีอะไรด้วยซ้ำไป แต่ทำไมหัวหน้างานบางคนถึงทำไม่ได้สักที หรือจริงๆ เขาไม่อยากเป็นหัวหน้างานที่ดีกันแน่

หมายเลขบันทึก: 476987เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2012 07:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 พฤษภาคม 2012 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท