เอ๊ะ ! แม่ไม่ได้สอนนะ


Going to be 18 months soon, many things you have done was surprise people around such as

เฏทำท่า บ๊าย บาย โดยการแบมือแกว่ง แทนการโบกมือลาแบบปกติ ยายกับแม่เห็นครั้งแรก ถึงกับอุทานว่าใครเป็นผู้สอน เพราะท่าทางกระเดียดไปทางมีนัยยะเช่นอื่น ว่ามีคนสอนให้แบมือลาแถมขอเงินเขาก่อนกลับ ยายว่าบ๊าย บายแบบนี้สงสัยจะเสียชื่อไปถึงคนเลี้ยง (ก็แซวกันไป)

ตอนนี้เฏสามารถแยกเก็บของเล่นเป็นหมวดหมู่ในแบบของเฏได้เอง โดยที่แม่ไม่เคยสอน น่าแปลกใจ เฏเคยเก็บเลโก้ (ตัวต่อ) แบบแยกตัวต่อไว้ด้านล่าง และฐานสำหรับต่อไว้ด้านบน พัฒนาการแบบนี้แสดงให้เห็นว่า สมองสามารถแยกแยะหมวดหมู่ได้พอสมควรแล้ว

นอกจากนี้ก็สามารถแปรงฟันเองได้ดีทีเดียว ที่สำคัญเฏสามารถเล่าเชิดหุ่นตุ๊กตาและเล่านิทานในภาษาของเฏ แบบน่าทึ่ง ทำเสียงเล็กเสียงน้อย พากเสียงเป็นหุ่นตัวโน้นตัวนี้ น่าขัน

สามารถเปิดอ่านหนังสือเองได้ แบบที่คนอื่นฟังไม่รู้เรื่อง เพราะอ่านในภาษาของเฏ แต่แม่รู้ว่าเฏจำที่แม่อ่านให้ฟังได้ และก็จินตนาการไปพร้อมกันขณะอ่าน เฏจำชื่อหนังสือได้ทุกเล่ม เมื่อแม่วานให้หยิบเล่มใดก็สามารถหยิบมาได้ถูก ยังมีเรื่องราวมากมายที่แม่ไม่อาจจะนึกออกได้หมด แต่เกือบปีครึ่งในวันที่ 24 เดือนหน้านี้ แม่เผลอคิดไปด้วยซ้ำว่า เพียงแค่เฏพูดชัด สื่อสารรู้เรื่องกับบอกเมื่อขับถ่ายได้ทุกครั้ง (ตอนนี้ยังบอกได้เป็นบางครั้ง) ก็สามารถไปโรงเรียนได้แล้ว เพราะเฏสามารถเข้าสังคมและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ดี

พูดถึงภาษาของเฏ เฏมีประโยคที่แม่เรียกว่าภาษาของเฏที่มักพูดเสมอ และทุกครั้งที่พูดของดูน่าเอ็นดู แม่จึงเรียกว่าภาษา “ติกอย” เพราะเฏมักจะพูดว่า “ติกอยติกอยติกอยติกอยติกอยติกอยติกอย” ติดต่อกัน แต่เป็นวิธีการพูดที่ต้องใช้ลิ้นออกมาปะสมคำนอกปาก ซึ่งไม่มีใครสามารถเลียนแบบได้เลย ทั้งที่พยายามกันอย่างยกใหญ่แล้ว (สงสัยถ้าจะได้รับอิทธิพลมาจากแถมประเทศแอฟริกา)

เหนืออื่นใด เฏพอจะแยกแยะได้แล้วว่า เมื่อพูดกับแม่พูดอีกแบบหนึ่ง พูดกับคนอื่น ๆ พูดอีกแบบหนึ่ง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี พ่อแม่หลายคนกังวลว่าสอนลูกพูดหลายภาษาลูกจะพูดช้า หลายคนล้มเลิก เพราะลูกไม่ยอมพูด และพูดช้า แต่การพูดช้าเร็ว ไม่ได้เกิดจากการพูดหลายภาษา แต่เกิดจากหลายปัจจัยแวดล้อม ทั้งพันธุกรรมและการเลี้ยงดู เฏนั้นเป็นเด็กพูดไว อ้อแอ้เร็วตั้งแต่ยังแบเบาะ พูดกับตัวเองในกระจก ตั้งแต่สองเดือน เจอแม่พูดอย่างหนึ่ง คนอื่นพูดอย่างหนึ่งก็สามารถเรียนรู้ได้ กระบวนการเรียนรู้ หรือที่บางคนเรียกว่าเด็กกำลังสับสนนั้น ส่วนสำคัญอยู่ที่ทัศนคติและความกล้าของพ่อแม่ การสอนลูกพูดหลายภาษา ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่เพียงแต่ต้องพูดภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาไทยได้เท่านั้น แต่พ่อแม่ต้องฝ่ากรอบความคิดแบบเดิมของสังคมมากมาย ฝ่าความอายทั้งจากคนใกล้ตัว เช่นพ่อแม่ตนเอง ญาติพี่น้อง และฝ่าคำถามต่าง ๆ นานารอบตัวหรือที่เรียกว่า “ฝ่าขี้ปากชาวบ้าน” ดังนั้น ความตั้งใจและความกล้าบ้าบิ่นของพ่อแม่จึงมีส่วนสำคัญมากทีเดียวต่อการเรียนรู้ของลูก

โชคร้ายของเฏกระมังที่แม่สุดโต่งซะเหลือเกิน J

สำนวนบันทึกออกจะโบราณ เพราะช่วงนี้แม่กำลังดูละครโบราณ และกำลังอินอยู่กับภาษาเหล่านี้เสียแล้ว อ้อ! อีกอย่างเฏไม่ได้เรียกแม่ว่า “แม่” แต่เรียกว่า “มี” มาจาก “mammy” นั่นเอง

 

หมายเลขบันทึก: 476964เขียนเมื่อ 31 มกราคม 2012 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2012 01:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท