มอบหมายงานหรือโยนงาน


การมอบหมายงานให้กับลูกน้องนั้น เป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเป็นหัวหน้า หัวหน้างานที่ดีจะต้องมอบหมายงานให้กับลูกน้องของตนตามหน้าที่และความรับผิดชอบ รวมทั้งตามทักษะความรู้ และความสามารถของพนักงานแต่ละคน

ลักษณะการมอบหมายงานของหัวหน้างานตามที่แต่ละคนเข้าใจนั้นมีหลายแบบ ลองมาดูลักษณะการมอบหมายงานของหัวหน้าในแต่ละรูปแบบกันนะครับ

  • มอบหมายงานที่ง่ายๆ และไม่สำคัญให้ลูกน้อง หัวหน้าบางคนมักจะมอบหมายงานที่ไม่ค่อยมีความสำคัญให้กับลูกน้อง สาเหตุก็คือ ไม่ไว้วางใจในฝีมือของลูกน้องของตนเอง กลัวว่าจะทำไม่ได้ กลัวว่าจะทำงานไม่สำเร็จ และไม่ได้คุณภาพเหมือนกับที่ตนทำ ก็เลยเก็บงานที่สำคัญๆ ไว้กับตัวเอง และมอบหมายงานที่ไม่สำคัญ งานเล็กๆ น้อยๆ ให้ลูกน้องทำ ถ้าเป็นลักษณะนี้ ลูกน้องคนไหนที่มีความรู้ความสามารถมากพอจะรู้สึกว่าหัวหน้าไม่เชื่อมั่นใจฝีมือที่ตนเองมี และจะทำให้พนักงานขาดแรงจูงใจในการทำงาน และจากนั้นก็จะลาออกไปอยู่กับหัวหน้าคนใหม่ที่ไว้วางใจตนเองมากกว่า
  • มอบหมายงานทั้งหมดให้ในคราวเดียว หัวหน้างานบางคนมอบหมายงานให้ลูกน้องทั้งหมดที่ตนรับผิดชอบ หรือบางครั้งก็มอบหมายงานที่ตัวหัวหน้าไม่ค่อยชอบให้กับลูกน้อง หลังจากที่สั่งงานแล้วก็หายไปเลย ไม่เคยที่จะมาพูดคุย ติดตาม เอาใจใส่ใดๆ ทำให้ลูกน้องรู้สึกว่าเคว้งคว้าง ไม่มีที่พึ่ง เวลางานมีปัญหาก็ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร พอเข้าไปจะปรึกษาหัวหน้า ก็อ้างว่าไม่มีเวลา หรือไม่ก็ บอกว่า “ปัญหาแค่นี้คิดไม่ออกก็ไม่ต้องทำอะไรกินแล้ว” แทนที่จะให้กำลังใจ หรือช่วยแก้ไขปัญหาก็ไม่เคย แบบนี้เขาเรียกกว่าโยนงานมากกว่ามอบหมายงาน
  • มอบหมายงานที่แท้จริง หัวหน้างานที่มอบหมายงานให้ลูกน้องอย่างถูกต้องนั้น จะบอกถึงเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของงานที่มอบหมาย รวมทั้งรายละเอียดทั้งหมด เพื่อให้ลูกน้องมองเห็นเป้าหมายและความสำเร็จที่คาดหวังในภาพเดียวกัน จากนั้นก็จะปล่อยให้พนักงานทำงานโดยมอบอำนาจในการทำงานไว้ให้สำหรับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อไหร่ที่งานมีปัญหาก็จะคอยให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าของงานเป็นระยะๆ โดยไม่ใช่การจับผิดพนักงาน ถ้าพนักงานทำงานได้สำเร็จก็จะชื่นชม และไม่คิดจะแอบอ้างความสำเร็จว่าเป็นของตนเองเลย

หัวหน้างานที่ดีนั้นจะต้องรู้วิธีที่จะมอบหมายงานอย่างถูกวิธี เพื่อให้พนักงานมองเห็นภาพเป้าหมายที่ชัดเจน และพร้อมที่จะช่วยพนักงานเวลาที่งานมีปัญหาเกิดขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้พนักงานทำงานให้ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ การพัฒนาทักษะความรู้ การให้กำลังใจ ฯลฯ

พนักงานส่วนหนึ่งที่มองหัวหน้าตนเองว่า โยนงาน มากกว่ามอบหมายงาน ก็เพราะว่า พอให้งานแล้วก็หายตัวไปเลย ไม่เคยที่จะติดตาม หรือให้คำปรึกษาใดๆ แก่พนักงาน พนักงานเองก็คงรู้สึกว่าหัวหน้าเองพึ่งไม่เคยได้ งานง่ายๆ ก็เก็บไว้ทำคนเดียว โยนงานยากๆ มาให้ลูกน้องทำตลอด พอทำไม่ได้ ก็ด่า

แบบนี้เขาเรียกว่าโยนงานครับ ไม่ใช่มอบหมายงาน

คำสำคัญ (Tags): #มอบหมายงาน
หมายเลขบันทึก: 476779เขียนเมื่อ 30 มกราคม 2012 06:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โดนใจมากครับ .... นอกจากนี้ยังมีงานแบบด่วนกับด่วนที่สุดด้วยครับ

โดนโยนงานให้บ่อยเหมือนกันค่ะ เข้าใจความรู้สึกนี้เป็นอย่างดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท