การบริหารจัดการระบบสุขภาพ


การบริหารเงินและบุคคล

           การบริหาร เป็นศาสตร์และศิลป์ทางสังคมที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบกล่าวคือมีหลักเกณฑ์และทฤษฎีที่พึงเชื่อถือได้ การบริหารนั้นต้องอาศัยความรู้ ความสามารถและทักษะของผู้บริหารแต่ละคนที่จะทำงานให้บรรลุเป้าหมาย ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ หลักการและทฤษฎีไปปรับใช้ให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยทั่วไปปัจจัยพื้นฐานการบริหารมีอยู่ 4 อย่างเรียกว่า 4M ดังนี้ Man(คน) Money(เงิน) Materials(วัสดุ) และ Management(การจัดการ)ในที่นี้ขออนุญาติกล่าวถึงใน 2 ส่วนคือ Man และ Money

          การบริหารงานบุคคล(Human Resourse management : HRM) 

          การบริหารคนหรือทรัพยากรบุคคลนั้น มีความสำคัญมากเพราะ คน มีบทบาทสำคัญในทุกขั้นตอนของการบริหารตั้งแต่การวางแผน การดำเนิน การควบคุมและการประเมินผลงาน อาจกล่าวได้ว่า การบริหารบุคคลนั้นเป็นหัวใจสำคัญของการบริหาร

         การบริหารงานบุคคล หมายถึง กระบวนการดำเนินงานเกี่ยวกับบุคคลในหน่วยงาน เพื่อให้ได้มาซึ่งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมกับความต้องการของหน่วยงาน การบำรุงรักษา การพัฒนาตลอดจนการให้พ้นจากงาน เพื่อให้หน่วยงานบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพโดยความพึงพอใจของบุคคลในหน่วยงาน

          การบริหารงานบุคคลโดยทั่วไปมีอยู่ 2 ระบบ คือ

          1. ระบบอุปถัมภ์ คือ การบริหารงานบุคคลที่ใช้ความสัมพันธ์ของบุคคล ไม่คำนึงถึงความสามารถของบุคคลเป็นเกณฑ์

          2. ระบบคุณธรรม คือ การบริหารงานบุคคลที่ใช้ความรู้ความสามารถของบุคคลเป็นเกณฑ์ มีลักษณะสำคัญดังนี้

          2.1 หลักความสามารถ(Competency) ถือเอาความสามารถของบุคคลเป็นสำคัญ เพื่อให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่

          2.2 หลักความเสมอภาค(Equality Opportunity) การให้โอกาสเท่าเทียมกัน ทุกคนได้รับการปฏิบัติในมาตรฐานเดียวกัน

          2.3 หลักความมั่นคงในหน้าที่(Security of Tenure) การให้การยอมรับและคุ้มครองตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลส่วนตัว

          2.4 หลักความเป็นกลางทางการเมือง(Political neutrality) ความเป็นกลางทางการเมือง ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายเต็มความสามารถไม่ขึ้นกับอิทธิพลทางการเมือง

           การบริหารเงิน (Financial Management)

           เงิน เป็นปัจจัยนำเข้าของระบบต่างๆ ระบบการเงิน(Financial System) เปรียบเสมือนระบบไหลเวียนโลหิตที่สูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้อวัยวะต่างๆทำงานได้อย่างปกติ ถ้าระบบไหลเวียนดีการทำงานก็จะเป็นปกติ แต่ถ้าระบบไหลเวียนมีปัญหาอาจส่งผลต่อการทำงานได้ การบริหารเงินจึงเป็นเรื่องที่กว้างและมียุ่งยากแตกต่างกันขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละองค์กร เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ การได้มาซึ่งรายได้และการใช้จ่าย เป็นต้น

หลักในการบริหารเงิน สรุปคร่าวๆได้ดังนี้

         1. รู้สถานการณ์ขององค์กร สามารถวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกกับปัจจัยภายในขององค์กรได้

         2. รู้องค์ประกอบที่สำคัญ เทคนิคที่ใช้ในการบริหารการเงินการคลัง กฎระเบียบต่างๆ

         3. ยึดวิสัยทัศน์ พันธะกิจ กลยุทธ์ นโบาย ค่านิยมขององค์กร

         4. คิดให้ครบเชื่อมโยงการวางแผน รายรับ-รายจ่าย

         5. รู้วิธีการวัดสถานะทางการเงิน

         6. รู้วิธีบริหารจัดการความเสี่ยง

การบริหารจัดการเงิน ในระบบสุขภาพของประเทศไทยในขณะนี้มีอยู่ 3 ระบบ ได้แก่

         ระบบสวัสดิการการรักษาพยาบาลข้าราชการ  หน่วยงานที่ทำหน้าที่บริหารจัดการ คือ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง มีแนวทางการจัดสรร คือ จ่ายตามปริมาณงาน(บริการ)ที่สถานบริการเรียกเก็บ ซึ่งระบบนี้ดูแลประชาชนประมาณ 10 ล้านคน ใช้งบประมาณในแต่ละมากกว่า 60,000 ล้านบาทซึ่งมีแนวโน้มที่สูงขึ้น

          ระบบประกันสังคม บริหารจัดการในลักษณะกองทุน โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ(รัฐบาล) ภาคธุรกิจ(เจ้าของกิจการ)และผู้ประกันตน สมทบเงินในสัดส่วนที่กำหนด บริหารจัดการโดยกองทุนประกันสังคม มีแนวทางการจัดสรรเงินจ่ายตามจำนวนผู้ประกันตนที่ขึ้นทะเบียน(รายหัว)+ปริมาณงาน(บริการมีเพดาน)

          ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดจากนโยบายรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนมีสิทธิในการได้รับบริการด้านการแพทย์และการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงทุกคน ดูแลประชากรมากกว่า 47 ล้านคน  บริหารจัดการโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มีแนวทางการจัดสรรงบประมาณคือจ่ายต่อหัวต่อปี+จ่ายตามปริมาณงาน(บริการมีเพดาน)+งบลงทุน ค่าใช้จ่ายในแต่ละปีก็มีแนวโน้มสูง

          ทิศทางการบริหารจัดการเงิน ในการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน มีแนวทางที่จะรวมกองทุนหรือระบบการบริหารจัดการสุขภาพให้เป็นกองทุนเดียวหรือระบบเดียว เพื่อลดปัญหาค่าใช้จ่าย และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของการให้บริการ ตามเจตนารมณ์ของ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

หมายเลขบันทึก: 476345เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2012 12:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 02:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท