ค่าจ้างกับอายุงาน


ไม่ทราบว่าแนวทางในการจ่ายค่าจ้างของบริษัทท่านนั้นเป็นไปตามระบบอาวุโสเป็นหลัก หรือเป็นไปตามผลงาน และค่างานของตำแหน่งงานเป็นหลัก มีหลายองค์กรที่ประกาศอย่างชัดเจนว่า เราจ่ายค่าจ้างตามผลงานและความสามารถของพนักงาน แต่พอถึงเวลาขึ้นเงินเดือน และให้โบนัสตามผลงาน คนที่ได้ไปเยอะๆ มักจะเป็นคนที่ทำงานมานานๆ สาเหตุที่ทำให้นโยบายกับปฏิบัติออกมาคนละทางก็เพราะ ระบบการประเมินผลงานขององค์กรมีปัญหา ไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าพนักงานคนไหนผลงานดีกว่าใคร จริงๆ ระบบประเมินผลงานไม่ได้มีปัญหาหรอกครับ คนประเมินนี่แหละครับที่เป็นปัญหา พอหัวหน้างานไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าพนักงานคนไหนที่ผลงานดีกว่าคนไหน สุดท้ายก็เลยให้พนักงานทุกคนผลงานดีเท่ากันทั้งหมด พอทุกคนผลงานเท่ากันหมด ก็ไม่รู้ว่าจะให้ใครมากกว่าใคร นายจ้างก็ยังเชื่อว่าผลงานของพนักงานไม่น่าจะเท่ากันทั้งหมดจริงๆ ในเมื่อผู้จัดการไม่สามารถที่จะประเมินความต่างในเรื่องผลงานได้ ก็เลยเอาเรื่องของอายุงานมาเป็นตัวตัดสิน เพราะมันชัดเจนมาก ใครอยู่มานานก็แปลว่าซื่อสัตย์ต่อองค์กร ดังนั้นก็ควรจะได้รับการขึ้นเงินเดือน และโบนัสที่สูงกว่าคนที่เพิ่งเข้ามาทำงานในบริษัท นี่คือเหตุผลที่ผมได้ยินมากับหูตัวเองจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กรแห่งหนึ่ง ผู้บริหารเองอยากจะให้ตามผลงาน แต่หัวหน้างานและผู้จัดการไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าใครผลงานดีกว่าใคร ก็เลยเอาเรื่องของอายุงานมาเป็นตัวตัดสิน ผลก็คือ พนักงานที่สร้างผลงานที่ดีให้กับบริษัท เป็นคนหนุ่มสาว ไฟแรง ต่างก็ทยอยออกจากบริษัทไปเพราะบริษัทไปให้ความสำคัญกับคนที่มีอายุงานมากๆ ในปัจจุบันแนวทางในการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนมักจะมุ่งไปที่เรื่องของผลงาน และความสามารถของพนักงาน เรื่องของอายุงานเริ่มลดความสำคัญลงไปมาก แต่พอเราเริ่มเอาระบบประเมินผลงานมาใช้ เพื่อที่จะได้ให้รางวัลได้ตรงตามผลงานจริงๆ ปัญหาถัดมาก็เกิดขึ้นทันที ก็คือเหล่าบรรดาหัวหน้าและผู้จัดการไม่สามารถที่จะประเมินผลงานพนักงานของตนเองได้ หรือไม่ก็มีแต่เข้าข้างลูกน้องตนเองให้ผลงานดีกันทุกคน แนวทางในการแก้ไขที่ดีก็คือ ให้ความรู้แก่ผู้จัดการในการมองและประเมินผลงานของคนให้ได้ แม้ว่าจะเป็นลักษณะผลงานที่ไม่สามารถวัดเป็นตัวเลขได้ ก็ต้องมองให้ออกว่าใครดีกว่าใคร โดยปกติผมคิดว่าผู้จัดการทุกคนมองออกนะครับ ว่าลูกน้องของเราคนไหนผลงานดีกว่าใคร แต่เขาไม่อยากจะตัดสินเพราะมันมีคนได้คนเสีย และทำให้เขาต้องไปอธิบายพนักงาน หัวหน้างานก็ไม่อยากทำให้พนักงานรู้สึกไม่ดี ก็เลยไม่อยากจะตัดสินใจเรื่องผลงาน สุดท้ายก็เลยให้ทุกคนเท่าๆ กัน มีบางองค์กรผู้บริหารระดับสูงแจ้งกับผู้จัดการเลยว่า ถ้าผู้จัดการคนไหนไม่สามารถที่จะบอกได้ว่าลูกน้องคนไหนผลงานใครดีกว่าใคร ตัวผู้จัดการเองนั่นแหละที่จะถูกประเมินว่าผลงานไม่ดีซะเอง ก็เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้จัดต้องใช้ดุลยพินิจให้ออกให้ได้ เมื่อเราสามารถที่จะแยกแยะผลงานของพนักงานได้อย่างชัดเจนและมีเหตุมีผลประกอบ เรื่องของอายุงานก็จะค่อยๆ หมดไป และระบบในการให้รางวัลขององค์กรก็จะค่อยๆ เปลี่ยนทิศทางไปในเรื่องของผลงานได้อย่างแท้จริง
คำสำคัญ (Tags): #ค่าจ้าง
หมายเลขบันทึก: 476289เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2012 06:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มิถุนายน 2012 00:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท