คิดบวก


คิดบวก

คิดบวก

 

อิสลามเป็นศาสนาที่สอนให้คิดบวกและคิดดีกับพี่น้องมุสลิมเสมอ ดังที่อัลลอฮฺ สุบหานะฮุวะตะอาลา ได้ตรัสว่า:


يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اجْتَنِبُوا كَثِيرًا مِنَ الظَّنِّ

ความว่า: โอ้ศรัทธาชนทั้งหลาย เจ้าจงออกห่างจากส่วนใหญ่ของการสงสัย [อัล-หุญุรอต:12] 

ท่านอิบนุอับบาส เราะฎิยัลลอฮฺอันฮุมา ได้อรรถาธิบายความหมายของ "การสงสัย" ว่า: คือ "การสงสัยที่ไม่ดีกับผู้ศรัทธา" [ญามิอฺ อัล-บะยาน โดยอัฏ-เฏาะบะรีย์ 22/304]
เมื่ออัลลอฮฺทรงห้ามการคิดสงสัยในเรื่องที่ไม่ดีกับพี่น้องผู้ศรัทธาก็หมายความว่าพระองค์ทรงสั่งใช้ให้คิดในแง่ดีหรือคิดบวกกับพี่น้องผู้ศรัทธานั่นเองเมื่อคิดบวก ชีวิตก็บวก ดังที่อิมามอัช-ชาฟิอีย์ได้กล่าวว่า: "ใครประสงค์ที่อยากให้อัลลอฮฺกำหนดสิ่งดีงามแก่เขาเขาก็จงคิดสงสัยแต่เรื่องดี ๆ กับมนุษย์"

 

และจากปวงประการที่มีส่วนช่วยให้คิดบวกกับบุคคลอื่นคือ:

1.   การขอดุอาอฺ

ดุอาอฺคืออาวุธที่สำคัญของมุสลิมที่ควรพกติดตัวตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ใน "สภาวการณ์" หรือ "ภาวการณ์" ใดก็ตาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งยวดการขอดุอาอฺให้กับผู้ทรงอิทธิพลในร่างกายของเรา นั่นคือ "หัวใจ" เพราะเมื่อหัวใจดี

ผู้ที่อยู่ใต้อาณัติก็พลอยดีไปด้วย และดุอาอฺที่มิควรเลินเล่อ คือดุอาอฺให้หัวใจมีความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไร้โรคาอิจฉาริษยา

หนึ่งในบทดุอาอฺที่มีรายงานว่าท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺอะลัยฮิวะสัลลัม ได้ขอ คือ:

 اللَّهُمَّ إِنِّى أَسْأَلُكَ الثَّبَاتَ فِى الأَمْرِ، وَالْعَزِيمَةِ عَلَى الرُّشْدِ،

وَأَسْأَلُكَ شُكْرَ نِعْمَتِكَ، وَحُسْنَ عِبَادَتِكَ، وَأَسْأَلُكَ قَلْبًا سَلِيمًا، وَلِسَانًا صَادِقًا،

وَأَسْأَلُكَ مِنْ خَيْرِ مَا تَعْلَمُ، وَأَعُوذُ بِكَ مِنْ شَرِّ مَا تَعْلَمُ، وَأَسْتَغْفِرُكَ لِمَا تَعْلَمُ

ความว่า: "โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงข้าฯขอจากพระองค์ซึ่งการยืนหยัดในการงาน (ศาสนา) และความตั้งใจมั่นในความสำเร็จและข้าฯขอจากพระองค์ซึ่งการขอบคุณในนิอฺมัตของพระองค์และการอิบาดัตต่อพระองค์ที่ดีงามและข้าฯขอจากพระองค์ซึ่งหัวใจที่บริสุทธิ์และลิ้นที่สัจจริง และข้าฯขอจากพระองค์ซึ่งสิ่งดีงามที่พระองค์ทรงรอบรู้ และข้าฯขอความคุ้มครองจากพระองค์ซึ่งความชั่วที่พระองค์ทรงรอบรู้และข้าฯขออภัยโทษจากพระองค์ซึ่งสิ่งที่พระองค์ทรงรอบรู้"
 และดุอาอ์จากอัลกุรอานคือ:

رَبَّنَا اغْفِرْ لَنَا وَلِإِخْوَانِنَا الَّذِينَ سَبَقُونَا بِالْإِيمَانِ وَلَا تَجْعَلْ فِي قُلُوبِنَا غِلًّا لِلَّذِينَ آمَنُوا رَبَّنَا إِنَّكَ رَءُوفٌ رَحِيمٌ

ความว่า: ข้าแต่พระผู้อภิบาลของเรา โปรดอภัยให้แก่เราและพี่น้องของเราซึ่งได้ศรัทธาก่อนหน้าเราและขอพระองค์อย่าได้ให้มีการเคียดแค้นเกิดขึ้นในหัวใจของเราต่อบรรดาผู้ศรัทธาข้าแต่พระผู้อภิบาลของเราแท้จริงพระองค์ทรงเป็นผู้เอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอ [อัล-หัชรฺ : 10]


 

2.   ตีความคำพูดคนอื่นในแง่ที่ดี

เมื่อมีคำพูดหนึ่งที่คลุมเคลือได้เล็ดลอดออกจากปากของพี่น้องผู้ศรัทธา ให้เราพยายามเข้าใจและตีความในทางที่ดีเพราะนี้คือแบบฉบับของบรรดากัลยาณชนรุ่นก่อน ๆ

ท่านอมีรุ้ลมุมินีนอุมัรฺ อิบนุ อัล-ค็อฏฏอบ ได้กล่าวว่า:

 لا تظنن بكلمة خرجت من في  امرئ مسلم سوءا وانت تجد لها في الخير محملا

ความว่า: "ท่านจงอย่าคิดสงสัยคำพูดหนึ่งคำพูดใดที่ออกจากปากมุสลิมคนหนึ่งในทางที่ไม่ดีเป็นอันขาด ในขณะที่ท่านเห็นว่ามันมีช่องทางที่จะคิดในทางที่ดีได้" [รายงานโดยอัล-มุหามิลีย์ ในหนังสือ"อัล-อะมาลีย์" หน้า: 394]

 



และท่านอิมามอัช-ชาฟิอีย์ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวแก่สหายของท่านว่า:

    أعلم أنك لو سببتني ما أردت إلا الخير

ความว่า: "ฉันรู้ว่าถึงแม้หากท่านด่าทอฉัน ท่านก็คงไม่ประสงค์อะไรนอกจากความดีงาม"

ขออัลลอฮฺทรงประทานเราะฮฺมัตแก่ทานอิมามอัช-ชาฟิอีย์ด้วยเถิด ถึงแม้ว่าคำพูดที่เอ่ยออกมาจะไม่มีแง่ให้คิดบวก แต่ท่านก็ยังคงคิดบวก

3.   พยายามหาเหตุผลแก้ต่างให้แก่คนอื่น

เมื่อมีการกระทำหรือคำพูดที่ทำให้คลางแคลงใจหรือฟังแล้วไม่ค่อยลื่นหู ให้พยายามหาเหตุผลแก้ต่างและพยายามคิดในแง่ดีเสมอ ท่านอิบนุสีรีน เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า:

 إذا بلغك عن أخيك شيء فالتمس له عذرا، فإن لم تجد له عذرا فقل لعل له عذرا       

ความว่า: "เมื่อมีบางอย่างที่ไม่ดี- ของพี่น้องของท่านถึงท่าน ดังนั้นท่านก็จงหาเหตุผลแก้ต่างให้แก่เขาเถิด และหากท่านไม่พบเหตุผล ท่านก็จงเอ่ยขึ้นเถิดว่า เขาอาจจะมีเหตุผล" [บันทึกโดยอิบนุอะสากิรฺ ใน"ตะรีค ดิมัชกฺ" 22/149]
และท่านญะอฺฟัรฺ อิบนุ มุหัมมัด ได้กล่าวเช่นกันว่า:

 إذا بلغك عن أخيك الشيء تنكره فالتمس له عذر واحدا إلى سبعين عذرا فإن أصبته و إلا قل لعل له عذرا لا أعرفه                                                 

ความว่า : "เมื่อมีบางอย่างที่ท่านไม่ชอบจากพี่น้องของท่านถึงท่าน ดังนั้นท่านก็จงหาเหตุผลแก้ต่างแก่เขาหนึ่งเหตุผลจนถึงเจ็ดสิบเหตุผลหากท่านพบว่ามี และหากท่านไม่พบเหตุผลใด ท่านก็จงพูดเถิดว่าเขาอาจมีเหตุผลซึ่งฉันไม่รู้" [บันทึกโดยอัลบัยหะกีย์ ใน"ชุอะบุล อีมาน" 22/149]

4.   หลีกเลี่ยงการตรัสรู้สิ่งที่อยู่ในใจหรือเจตนาของบุคคลอื่น

การหลีกเลี่ยงการตีความหรือตรัสรู้สิ่งที่อยู่ในใจหรือเจตนาของบุคคลอื่นถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ช่วย

ให้เราคิดบวกกับบุคคลอื่น อีกทั้งการรับรู้สิ่งที่อยู่ในใจของบุคคลอื่นก็มิได้เป็นกงการหน้าที่รับผิดชอบอะไร

ของมนุษย์อีกด้วย แต่มันเป็นเดชานุภาพของผู้ทรงอภิบาลแห่งหัวใจเท่านั้นที่ทรงรอบรู้ดียิ่งซึ่งสิ่งที่อยู่

ในใจของมนุษย์ และสำหรับมนุษย์นั้นซึ่งสิ่งที่เปิดเผยเท่านั้น ดังที่มีคำกล่าวที่ว่า:

                                        

                                        لنا الظاهر والله يتولى السرائر

ความว่า: "สำหรับพวกเรานั้นซึ่งสิ่งที่เปิดเผย และอัลลอฮฺนั้นทรงรับผิดชอบสิ่งที่ซ่อนเร้น"
          ฉะนั้นจงอย่าคิดแทนบุคคลอื่นหรือยัดเยียดความคิดที่เขายังไม่เคยแม้จะคิดหรือเพียงแค่สงสัยว่าเขาน่าจะคิดเช่นนั้นเช่นนี้ก็มิควรแล้ว


 

5.   นึกถึงผลเสียของการคิดสงสัยในทางไม่ดี

         คนที่มัวแต่คิดลบกับบุคคลอื่นหัวใจย่อมไม่เป็นสุขอยู่ตลอดเวลา เพราะโดยวิสัยของมนุษย์ย่อมมีความผิดทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา หากมัวแต่จับผิดคิดลบ หัวใจย่อมไม่มีทางสงบ และการคิดสงสัยไม่ดีกับบุคคลอื่นอาจนำสู่การกล่าวหาและปรักปรำคนนั้น ๆ  พร้อม ๆ กับการคิดว่าตัวเองนั้นดีกว่าและเหนือกว่าคนอื่นซึ่งการคิดหรือรับรองตัวเองว่าดี (ตัซกิยะฮฺ) ถือเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงห้าม                        ดังที่พระองค์ได้ตรัสว่า:

فَلَا تُزَكُّوا أَنْفُسَكُمْ هُوَ أَعْلَمُ بِمَنِ اتَّقَى                             

ความว่า: ดังนั้นพวกเจ้าจงอย่ารับรองความบริสุทธิ์แก่ตัวของพวกเจ้าเองเพราะอัลลอฮฺทรงรู้ดียิ่งถึงผู้ที่มีความยำเกรง[อัน-นัจญ์มฺ:]
และการตัซกิยะฮฺตนเองยังถือเป็นสันดานของพวกนัศรอนีย์และยิว ดังที่พระองค์ได้ตรัสอีกเช่นกันว่า:

أَلَمْ تَرَ إِلَى الَّذِينَ يُزَكُّونَ أَنْفُسَهُمْ بَلِ اللَّهُ يُزَكِّي مَنْ يَشَاءُ                        

ความว่า: "เจ้ามิได้มองดูบรรดาผู้ที่ให้ตัวเองเป็นผู้บริสุทธิ์ดอกหรือมิได้ อัลลอฮฺต่างหากที่จะให้บริสุทธิ์ซึ่งผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ [อัน-นิสาอ์ : 49]

โอ้อัลลอฮฺ โปรดประทานแก่เราซึ่งหัวใจที่บริสุทธิ์ และโปรดทรงช่วยให้เราคิดดีกับพี่น้องผู้ศรัทธา                                                             โอ้พระผู้ทรงได้ยินและรอบรู้ยิ่ง

 

คำสำคัญ (Tags): #คิดบวก
หมายเลขบันทึก: 476283เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2012 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 07:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท