สหภาพยุโรปยังคงเป็นแนวความคิดที่ดีอยู่อีกหรือไม่? L'Europe est-elle toujours une bonne idée?


เมื่อเกิดวิกฤตครั้งใหญ่ จึงเกิดคำถามขึ้นมากมายว่าเราควรจะออกจาก Eurozone หรือไม่ หรือแม้แต่ถามว่าสหภาพยุโรปยังเป็นความคิดที่ดีอยู่อีกหรือไม่

สืบเนื่องมาจากการแนะนำหนังสือน่าอ่านเอาไว้ใน FBเมื่อครั้งก่อน ชื่อเรื่องว่า L'Europe est-elle toujours une bonne idée? และมีผู้สนใจอยากทราบเพิ่มเติม ทำให้ผู้เขียนย้อนกลับมาเล่าเรื่องว่าด้วยหนังสือเล่มดังกล่าวนี้อีกครั้ง.....และเหมือนเช่นเคย...เป็นเพียงบันทึกที่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวจากหนังสือรวมกับประสบการณ์ของผู้เขียนค่ะ

 

เหตุผลที่มาหยุดอยู่ที่หนังสือเล่มนี้นอกจากเป็นเพราะเล่มเล็กแล้วนั้น ยังเป็นเพราะเห็นว่าในขณะที่เรากำลังกระตือรือร้นกับ ASEAN 2015 แต่กลับมีคำถามเช่นนี้เกิดขึ้นจากอีกซีกโลกหนึ่ง จึงน่าสนใจว่าเป็นเพราะเหตุใดกันแน่ และยังนำมาเตือนตนเองว่าหากในอนาคตเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทำนองเดียวกันนี้ นั่นย่อมเป็นเรื่องธรรมดา ความก้าวหน้าถึงขีดสุดย่อมมาคู่กับความเสื่อม... แต่คงเป็นเรื่องที่ดีกว่าหากเราได้ศึกษาจากปัญหาและเรียนรู้จากประสบการณ์ของยุโรปซึ่งก้าวหน้ากว่าเรามาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้กับอาเซียน หรืออย่างน้อยก็มีวิธีการแก้ไข จะได้ไม่ต้องมาตั้งคำถามในอีก ๕๐ ปีข้างหน้าว่า “เราจะออกจากอาเซียนดีหรือไม่?”

  

ก่อนจะเข้าเรื่อง ขอเกริ่นเสียเล็กน้อยว่าเมื่อได้เริ่มศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายสหภาพยุโรปนั้น ประโยคที่ผู้เขียนประทับใจมาจนกระทั่งทุกวันนี้คือ « Unie dans la diversité » ช่างทำให้เห็นภาพโดยไม่ต้องเสียเวลาอธิบายอะไรมากเลยจริงๆ บนพื้นฐานแห่งความแตกต่างทางภาษา เชื้อชาติ วัฒนธรรม แต่ก็สามารถรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้ โดยไม่จำต้องพยายาม “ลบ” หรือ “กำจัด” ความแตกต่างข้างต้นนี้ สำคัญเพียงแค่มีแนวคิดบางอย่างร่วมกัน มีผลประโยชน์ร่วมกันและมีความต้องการที่จะทำให้แนวคิดดังกล่าวเป็นจริงร่วมกัน ผลสำเร็จที่ได้เห็นเป็นรูปร่างคือ ประชาคมยุโรปในอดีตหรือสหภาพยุโรปในปัจจุบันนั่นเอง

.......................................................................................................

 

หากจะตั้งคำถามตรงๆว่าในปัจจุบันคนฝรั่งเศสคิดหรือมีความเชื่อเพียงใดต่อสหภาพยุโรป คำตอบที่ได้คงจะเป็นไปในทางลบมากกว่า เนื่องมาจากคนฝรั่งเศสเองเชื่อว่าสหภาพยุโรปอยู่ภายใต้การนำของเยอรมนี ส่วนรัฐบาลฝรั่งเศสเองนั้นมีบทบาทค่อนข้างน้อย (น้อยเกินไปในความคิดของคนฝรั่งเศสหรือน้อยกว่ารัฐบาลเบอร์ลิน-ผู้เขียน) ในเรื่องนี้ขอให้สังเกตว่าประชาชนฝรั่งเศสมีความเห็นว่า “สหภาพยุโรป” คือ รัฐบาลของรัฐสมาชิกรวมกัน มิได้มองในแง่ของ “สถาบันหลักทั้งสาม” ของสหภาพแต่อย่างใด ประกอบกับการเกิดวิกฤตทางการเงินครั้งใหญ่ ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2010 ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือในการจัดการปัญหาเศรษกิจของยุโรปลดลงไปอีก 

 

คำถามที่มักได้ยิน คือ สหภาพยุโรปใหญ่เกินไปหรือไม่?  หลายท่านคงตอบว่าใช่ แต่ M. Jean-Luc Sauron ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้กลับมีความเห็นว่าสหภาพยุโรปควรจะต้องขยายออกไปอีกด้วยการเปิดรับสมาชิกใหม่ เช่น ตุรกี ประเทศในแถบบอลข่าน รวมถึงยูเครน (สังเกตว่าหนังสือเล่มนี้เขียนช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2011) ซึ่งผู้เขียนเองก็มีความเห็นว่าถ้าใหญ่แล้วไม่อาจบริหารให้ก้าวเดินไปพร้อมๆกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมไม่มีประโยชน์ต่อทั้งประชาชนแต่ละรัฐหรือพลเมืองของสหภาพยุโรป หมายความว่าไม่อาจบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้แต่แรกได้นั่นเอง ปัญหาที่เห็นได้ชัดตอนนี้เป็นเรื่องเศรษฐกิจ เมื่อต้องมีความร่วมมือทางการเงิน การคลังยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ (แต่คาดว่าบรรดาผู้สมัครเป็นสมาชิกสหภาพทั้งหลายคงไม่ได้เข้าสู่ Eurozone ซึ่งกำลังมีปัญหาหนักหนาอยู่ในตอนนี้)  อย่างไรก็ตามผู้เขียนมองเห็นข้อดีในการเปิดรับสมาชิกใหม่อยู่บ้างแม้จะสวนกระแสเศรษฐกิจก็ตาม นั่นคือ กรณีของตุรกี เงื่อไขที่สหภาพตั้งไว้ให้รัฐบาลตุรกีต้องปฏิบัติก็คือแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ผลดีจากเรื่องนี้ย่อมตกอยู่กับประชาชนชาวตุรกีนั่นเอง (แม้ว่า...จะว่ากันว่า สหภาพยุโรปใช้เงื่อนไขข้อนี้ในการประวิงเวลาในการเข้าเป็นสมาชิกของตุรกีก็ตาม)  เรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงกรณีของพม่าที่ต้องหันมาพัฒนาตนเองและปรับเปลี่ยนท่าทีทางการเมือง สังคมอย่างใหญ่โต รวมถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและการยุติการไล่ล่าชนกลุ่มน้อยในพม่า ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นประธานหมุนเวียนของ ASEAN นั่นเอง

 

อาจมีคำถามว่า EU มีปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพบ้างหรือไม่ หรือให้ชัดเจนลงไปว่ามีรัฐสมาชิกใดต้องการลาออกจากสมาชิกภาพบ้างหรือไม่? คำตอบคือ มีค่ะ และประเทศดังกล่าวคือ อังกฤษ ซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่ประหลาดใจมากนัก เพราะเมื่อครั้งที่เริ่มศึกษาเกี่ยวกับสหภาพยุโรปนั้น ก็ได้รับฟังมาบ้างว่า อังกฤษไม่เคยคิดว่าตนเป็นยุโรปมาแต่ต้น หากเราใช้คำว่า les pays continentaux มาอธิบายเรื่องใดสักเรื่อง ถ้อยคำดังกล่าวย่อมไม่รวมอังกฤษ นอกจากนี้ความสนใจของอังกฤษในเรื่องของสหภาพนั้นก็มีน้อยมากและเริ่มตื่นตัวช้ามาก ต่างจากประเทศผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพทั้ง ๖ ประเทศ  ในหนังสือเล่มนี้ได้อ้างถึงข้อเสนอของสมาชิกรัฐสภาบางกลุ่มของอังกฤษในการทำประชามติ (Referendum) เพื่อหยั่งเสียงชาวอังกฤษว่าต้องการหรือไม่ต้องการที่จะอยู่ใน EU ต่อไป แต่ไม่ทราบว่าโชคดีหรือโชคร้ายที่ข้อเสนอดังกล่าวตกไปตั้งแต่อยู่ในสภา อย่างไรก็ดีบรรดาผู้อยากทราบคำตอบได้พยายามจัดทำโพลเพื่อสอบถามชาวอังกฤษในเรื่องนี้ และคำตอบที่ได้คือ 40% ต้องการให้อยู่ใน EU ต่อไป ในขณะที่ 49% ต้องการให้ออกจาก EU !

.......................................................................... 

 

มีบางท่านให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ในกรณีที่เกิดปัญหา ควรจะขับประเทศสมาชิกที่สร้างปัญหา(ทางการเงิน)ออกไปจากสหภาพ ในเรื่องนี้ผู้เขียนเห็นว่ายังไม่มีมาตราใดในตัวสนธิสัญญาก่อตั้งสหภาพ the Treaty on European Union ให้อำนาจในเรื่องนี้ไว้ มีเพียงแต่เปิดโอกาสกรณีที่รัฐสมาชิกประสงค์จะลาออกจากสหภาพนั้นย่อมทำได้  ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่าหากขับออกจากสหภาพได้ก็จะก่อปัญหาสังคมตามมาอย่างหลีกไม่พ้น แน่นอนว่าประชาชนในประเทศดังกล่าวย่อมเร่งอพยพออกมาอาศัยหรือหางานในรัฐสมาชิกอื่นๆก่อนที่รัฐของตนจะพ้นสมาชิกภาพ  จะเป็นไปได้หรือไม่ที่ให้ออกจาก Eurozone ซึ่งน่าจะเพียงพอ ในเรื่องนี้ผู้เขียนเองอยากทราบความเห็นจากท่านผู้อ่านว่าทำได้หรือไม่ แล้วจะเกิดผลกระทบอย่างไรต่อสหภาพ 

 

ที่สำคัญผู้เขียนเห็นว่าการรับรัฐใดเข้าเป็นสมาชิกนั้น หมายความว่าต้องพิจารณาแล้วเห็นว่าสมาชิกใหม่พร้อมที่จะปรับนโยบายหรือใช้นโยบายเดียวกันกับสหภาพไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมืองความมั่นคง วัตถุประสงค์หนึ่งของการรวมกลุ่มในภูมิภาคก็คือ เมื่อเกิดปัญหาต้องช่วยเหลือกัน ร่วมกันแก้ไข หากต่างคนต่างไปหรือลอยแพรัฐใดรัฐหนึ่งไปเมื่อมีปัญหา อย่างนี้คงไม่ถูกต้อง  สิ่งเดียวที่ผู้เขียนเห็นว่า  EU ทำผิดพลาดก็คือ รับสมาชิกที่ด้อยกว่ามาตรฐานที่วางไว้ โดยเฉพาะการให้เข้าร่วม Eurozone เห็นได้ว่าสมาชิกอย่างกรีซไม่พร้อมในทุกๆด้าน ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ EU วางไว้ เรียกว่าขาดคุณสมบัตินั่นเอง  และการเปิดให้ประเทศที่ขาดวินัยทางการคลังอย่างรุนแรงเข้าร่วมใช้เงินสกุลยูโรจึงเป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุด

 

ถึงตอนนี้อาจมีข้อสงสัยว่า ในการรวมกลุ่มอย่างเหนียวแน่นของสหภาพยุโรปนั้น มีบ้างหรือไม่ที่พลเมืองยุโรปเห็นว่าแต่ละรัฐควรจะกลับมาใช้นโยบาย Protectionist แทนที่จะปล่อยให้ดำเนินไปแบบเสรีอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าหรือการเคลื่อนย้ายคน  หากตอบว่า “มี” ก็เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากความคิดต่อต้านการเปิดเสรีนั้นมีมาเป็นเวลานานตั้งแต่ก่อนจะมีการรวมกลุ่มกันเสียอีก และอีกประการหนึ่งที่มิอาจปฏิเสธได้ก็คือ ในยุคเริ่มแรกนั้น ความตกลง การเจรจาต่างๆเพื่อรวมกลุ่มประชาคมนั้นล้วนเป็นเรื่องระหว่างรัฐบาลทั้งสิ้น ประชาชนธรรมดาในประเทศเหล่านี้แทบไม่ได้มีส่วนในการตัดสินใจเอาเสียเลย เมื่อมีเสียงต่อต้านในเรื่องต่างๆดังขึ้นเรื่อยๆจากภาคประชาชนในยุคหลัง จึงไม่น่าแปลกใจ  ซึ่ง M. Jean-Luc Sauron เห็นว่าที่คนฝรั่งเศสไม่ชอบนโยบายเปิดเสรีในหลายๆเรื่องนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเกรงว่าคนต่างชาติจะมาแย่งงานของตน จริงๆแล้วผู้เขียนเห็นว่ามองได้สองแง่มุม คือ การเปิดเสรีเป็นการกระตุ้นให้คนพัฒนาตนเอง และผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์คือมีทางเลือกมากขึ้น เพราะมีสินค้าประเภทเดียวกันจากหลายประเทศมาให้เลือกในราคาถูกลง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมว่าคนที่พัฒนายังไม่ถึงระดับที่จะแข่งขันกับคนอื่นๆได้ ก็อาจตกงาน หรือเสียธุรกิจของตนไปเพราะปรับตัวไม่ทัน หากอัตราการว่างงานสูงนั่นหมายถึงอำนาจซื้อก็จะลดลงไปด้วย การเปิดเสรีในทุกๆด้านจึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก สิ่งที่ทำได้คงเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคประชาชนและภาคธุรกิจให้สามารถแข่งขันกับชาติอื่นๆได้

 

..................................................................................

 

การเคลื่อนย้ายคนโดยเสรี (Libre circulation des personnes)

เป็นประเด็นต่อไปที่จะตามมากับการรวมกลุ่มประชาคม ซึ่งการเคลื่อนย้ายคนนี้รวมไปถึงแรงงานและเพื่อการศึกษาด้วย  เมื่อกลายเป็นประชาคมหรือสหภาพแล้ว ผู้เขียนเห็นว่านโยบายหลักๆจะแบ่งเป็น ๒ ส่วนอย่างชัดเจน นั่นคือ ๑. นโยบายที่มีต่อคนต่างด้าวที่เป็นพลเมืองของสหภาพ ๒. นโยบายที่ใช้กับคนต่างด้าวนอกสหภาพ

 

                ปัญหาผู้อพยพในสหภาพยุโรป   

ผู้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ทำงาน หรือศึกษาในยุโรปนั้นมีมานานก่อนที่จะเกิดประชาคมยุโรป เห็นได้ชัดจากสมัยสงครามโลกคั้งที่ ๑ และ ๒ ซึ่งนโยบายต่อผู้อพยพในตอนนั้นก็จะแตกต่างจากปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด

ข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ประเทศส่วนใหญ่ใน  EU ล้วนเป็นปลายทางของผู้อพยพทั้งสิ้น หากจำแนกให้ชัดเจนก็กล่าวได้ว่า ฝรั่งเศสและอังกฤษ เป็นประเทศหลักๆที่ผู้อพยพต้องการเข้ามาอยู่อาศัย

 

                สถานการณ์ใน EU ของชาวต่างชาติที่มิใช่พลเมืองของรัฐสมาชิก

 

มีสถิติที่น่าสนใจจาก Eurostat แสดงว่าในปี 2010 นั้น มีชาวต่างชาติถึง 32.5 ล้านคนอาศัยอยู่ใน EU

โดยแบ่งเป็น 12.3 ล้านคน ที่เป็นพลเมืองของรัฐสมาชิกใน EU

และ 20.2 ล้านคน มาจากประเทศนอก EU (นับเป็น 6.5% ของพลเมืองสหภาพ)

ที่สำคัญเมื่อดูในรายละเอียดจะพบว่าในบรรดาคนต่างด้าวที่มาจากประเทศนอกสหภาพนั้น มีอายุเฉลี่ยต่ำกว่าอายุเฉลี่ยของพลเมืองของ EU เสียอีก ในขณะที่ EU เองนั้นกำลังก้าวเข้าสู่ยุคผู้สูงวัยล้นสหภาพในปี 2060 แน่นอนว่าย่อมกระทบต่อการพัฒนาของสหภาพ

                เมื่อจำแนกเป็นรายประเทศ จะพบว่าประเทศดังต่อไปนี้มีจำนวนคนต่างด้าวที่มิใช่พลเมืองสหภาพยุโรปอาศัยอยู่มากที่สุด  

1. เยอรมนี 7.1 ล้านคน (9% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ)

2. เสปน  5.7  ล้านคน (12% ของประชากรทั้งหมด)

3. อังกฤษ 4.4 ล้านคน (7% ของประชากรทั้งหมด)

4. อิตาลี 4.2 ล้านคน (7% ของประชากรทั้งหมด)

5. ฝรั่งเศส 3.8 ล้านคน (6% ของประชากรทั้งหมด)

                                                                                                                (ข้อมูลจาก Eurostat 2010)  

 

และเมื่อคำนวณแล้วจะเห็นว่าคนต่างด้าวที่มิใช่พลเมืองสหภาพยุโรปนั้นพำนักอาศัยอยู่ใน 5 ประเทศข้างต้นถึง 75% ของจำนวนคนต่างด้าวทั้งหมดในสหภาพ

 

การรับสมาชิกเพิ่มมิใช่ทางออกของปัญหาผู้อพยพ      

                ในอดีตก่อนที่เสปนและโปรตุเกสจะเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพนั้น ปัญหาผู้อพยพจากสองประเทศนี้เป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับสมาชิก EU ต่อมาเมื่อทั้งสองประเทศเข้าเป็นสมาชิกก็เท่ากับว่าได้เปลี่ยนปัญหาผู้อพยพจากภายนอกสหภาพให้กลายเป็นการอพยพระหว่างรัฐสมาชิก (ตามนโยบายเคลื่อนย้ายคนโดยเสรี) ขอให้สังเกตว่าปัญหาการอพยพยังมีอยู่เช่นเดิม เพียงแต่กลายเป็นเรื่องภายในไปเท่านั้น ส่วนการอพยพของคนต่างด้าวจากนอกกลุ่มก็ยังมีอยู่เช่นเดิม

                อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาการอพยพภายในสหภาพก็คือ หากสหภาพสามารถทำให้เศรษฐกิจโดยรวมดีขึ้นได้จริงๆ โดยควบคู่ไปกับการพัฒนาในแต่ละรัฐสมาชิกไปพร้อมๆกัน ไม่เหลื่อมล้ำจนเกินไป อาจช่วยลดปัญหาการไหลบ่าของผู้อพยพไปกระจุกตัวอยู่ในรัฐใดรัฐหนึ่งได้ เพราะไม่ว่าจะอยู่ในรัฐใดก็ไม่ต่างกัน จึงเป็นเรื่องที่ผู้วางนโยบายจะต้องให้ความสำคัญอย่างสูงในการพัฒนาคุณภาพชีวิต สังคมและการศึกษา  แต่ถามว่าในความเป็นจริงแล้ว สามารถทำได้เช่นนี้หรือไม่? คำตอบที่เห็นประจักษ์อยู่ทุกวันนี้ก็คือ ยังทำไม่สำเร็จ (เข้าใจว่าพูดง่าย แต่ทำให้สำเร็จได้ยาก หากย้อนมามองประเทศไทยเอง เราพูดถึงการกระจายรายได้ กระจายความเจริญ กระจายการศึกษาสู่ภูมิภาคมาเป็นเวลานานมากแล้ว ถึงตอนนี้ยังไม่อาจกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จ เมื่อมองถึงภาพของสหภาพซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่โตกว่ามาก การจะกระจายสิ่งเหล่านี้ออกไปและที่สำคัญทำให้คนเห็นว่าสิ่งที่มีอยู่ในประเทศตนนั้นดี ไม่ต้องอพยพไปที่อื่นนั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่ามาก ถึงตอนนี้อย่าเพิ่งคิดว่าผู้เขียนออกมาจาก Utopia นะคะ ไม่ได้อยู่สำนัก Thomas More ค่ะ เพียงแค่ลองคิดอะไรเล่นๆดูเท่านั้น)

 

ประเทศต้นทางของคนต่างด้าวที่มิใช่พลเมืองของสหภาพ

 

ถามว่า คนต่างด้าวที่อพยพมาอยู่ในสหภาพนั้นจริงๆแล้วมาจากไหนบ้าง? M. Jean-Luc Sauron ตอบว่า “เป็นประเทศมีความเกี่ยวพันกับยุโรปด้วยเหตุผลในทางประวัติศาสตร์”[1] แต่ผู้เขียนขออนุญาตตอบแบบกวนๆว่า มาจากกรรมที่เคยได้สร้างไว้ในอดีต เคยไปล่าประเทศใดมาเป็นอาณานิคม ก็ต้องเลี้ยงดูปูเสื่อกันไปอีกหลายชั่วอายุคนค่ะ สภาพจึงเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ดังนั้นผู้อพยพอันดับต้นๆได้แก่ พลเมืองของประเทศอัลจีเรีย โมรอกโค ประเทศ Maghreb รวมถึงจาก candidate อย่างตุรกี  ที่น่าสังเกตคือผู้อพยพส่วนใหญ่มาจากประเทศมุสลิม[2] แต่เรื่องนี้ก็มิใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะแม้แต่การเข้าเป็นสมาชิกของ EU ก็ไม่มีใครนำเรื่องความแตกต่างทางศาสนาหรือเชื้อชาติมาเป็นเครื่องมือต่อต้าน จึงไม่มีเหตุผลใดๆที่จะนำมาใช้กีดกันผู้อพยพจากประเทศนอกสหภาพ (ประเทศที่ต้องการเป็นสมาชิกอย่าง Albania Kosovo Bosnia-Herzegovina หรือที่เป็นสมาชิกแล้วอย่าง Bulgaria ล้วนเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามทั้งสิ้น)

 

จะทำอย่างไรหากผู้อพยพเหล่านั้นนำประเพณีหรือวัฒนธรรมบางอย่างที่ไม่อาจยอมรับได้ หรือแปลกแยกไปจากประเพณีที่ยอมรับกันโดยทั่วไปมาใช้ในประเทศปลายทาง? 

                ในเรื่องนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการสมรสแบบ Polygamy ที่ยอมรับโดยทั่วไปในประเทศมุสลิมและการหย่าแบบ Répudiation musulmane ที่ใช้อยู่ในประเทศมุสลิมบางประเทศเพื่อประกอบความเข้าใจ (ในที่สุดก็เข้าเรื่องคดีบุคฯจนได้ ^_^)

                สำหรับประเทศอย่างฝรั่งเศสที่ต้องเผชิญกับปัญหาผู้อพยพจากประเทศต้นทางที่ยอมรับประเพณีเหล่านี้ว่าถูกต้องตามกฎหมายนั้น ศาลสูงฝรั่งเศสให้คำตอบไว้ชัดเจนว่าการตั้งครอบครัวแบบ Polygamy นั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อย (l’ordre public international) และศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากเป็นการกระทำที่น่าตกใจและไม่อาจยอมรับให้เกิดขึ้นบนดินแดนฝรั่งเศสได้ (หมายความว่า หากอยากจะทำก็จงกลับไปทำที่บ้านเกิดหรือในประเทศอื่นที่ยอมรับ) และในส่วนของ Répudiation  ซึ่งเทียบได้กับการหย่านั้น ตามปกติแล้วฝ่ายชายจะเป็นผู้ร้องขอต่อศาล และหากภริยาไม่ยินยอม ถึงแม้ว่าการ Répudiation นั้นจะได้กระทำในรัฐที่ยอมรับการหย่าโดยวิธีนี้ แต่เมื่อนำมาขอให้ศาลฝรั่งเศสยอมรับและบังคับตามคำพิพากษา ศาลฝรั่งเศสย่อมปฏิเสธไม่บังคับให้เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยนั่นเอง อาจมีผู้อ่านสงสัยว่าแล้วการหย่าโดยวิธีนี้นั้นขัดต่อความสงบฯอย่างไร จริงๆแล้วเป็นเพราะว่าในบางประเทศยอมรับให้แต่เฉพาะฝ่ายชายสามารถบอกเลิกการสมรสได้ฝ่ายเดียว โดยที่ภริยาไม่สามารถต่อสู้ใดๆได้ นอกจากยินยอมตามนั้น ที่หนักหนาสาหัสคือบางประเทศอนุญาตให้ฝ่ายชายบอกเลิกได้ ๓ ครั้ง และเมื่อไล่ภริยาไปแล้วครั้งแรก ต่อมาเปลี่ยนใจ สามารถตามกลับมาได้อีก (ทำแบบนี้ได้สามครั้ง)  คงไม่ต้องบอกว่าทำไมถึงขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี

 

(แต่อาจเป็นไปได้ว่าในปัจจุบันนี้ฝ่ายหญิงสามารถใช้วิธีการหย่าเช่นนี้ได้ โดยการเจรจากับฝ่ายชายให้เป็นผู้บอกเลิกการสมรสเนื่องจากกฎหมายบัญญัติไว้ให้เฉพาะฝ่ายชายมีสิทธิบอกเลิก และแบ่งสินสมรสรวมทั้งฝ่ายหญิงอาจให้ค่าจ้างกันตามสมควร)

 

                ที่ยกตัวอย่างเหล่านี้ก็เพื่อจะบอกว่า การอยู่ร่วมกันระหว่างพลเมืองของรัฐกับผู้อพยพไม่ว่าจะเป็นการอพยพระหว่างรัฐสมาชิกด้วยกันหรือมาจากนอกสหภาพนั้นไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่การเตรียมความพร้อม รู้ว่าจะต้องเผชิญหน้ากับอะไร และจะแก้ปัญหาอย่างไรต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญ     

 

 

Reference

Jean-Luc Sauron, L’Europe est-elle toujours une bonne idée ?, Souveraineté nationales, Union européenne, Mondialisation, Paris : Gualino, 2012.

 

Jean-Marc Siroën, « Un retour au protectionnisme est-il à craindre ? », 25 mars 2009, Table-ronde organisée par l’Institut de l’entreprise, www.dauphine.fr/siroen/protectionnisme.pdf.

 

 

[1] Jean-Luc Sauron, L’Europe est-elle toujours une bonne idée ?, Paris: Gualino, 2012, p. 39.  

 

[2] Id., p. 40

หมายเลขบันทึก: 475705เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2012 07:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท