สิ่งที่ได้เรียนรู้


สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้

สิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ การจัดการระบบสุขภาพ

             ก่อนอื่นต้องขอสารภาพความโง่เขลาของตนเองก่อน เป็นครั้งแรกที่ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้ ด้วยความที่ไม่สันทัดเทคโนโลยีทางการสื่อสาร(แต่พอไปวัดไปวาได้) สมัครแล้วแต่โพสต์ข้อความไม่เป็นซักที อาจารย์ก็อุตส่าห์เคี่ยวเข็นอยากให้เรารู้แต่สมองอันน้อยนิดจำไม่ได้ซักที จนเวลาล่วงเลยไปนานพอสมควร จนถึงวันนี้กลับมาเรียนอีกครั้งเพื่อนๆในห้องก็ช่วยเคี่ยวเข็นอีกทีจนพอรู้วิธีที่จะเสนอความคิดเห็นและขอสรุปความคิดเห็นย้อนหลังจนถึงวันนี้(21ม.ค.55) เท่าที่จะประมวลได้ ดังนี้

            การพัฒนาประเทศในอดีตที่ผ่านมามุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม จนยกระดับจากประเทศกลุ่มด้อยพัฒนามาเป็นประเทศกำลังพัฒนา จากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรม รัฐลงทุนมากมายกับโครงสร้างพื้นฐานและโครงการขนาดใหญ่อาทิเช่น โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลตะวันออก การลงทุนด้านปิโตรเคมี การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งการพัฒนามุ่งไปที่การนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากกว่าการคำนึงถึงผลกระทบที่ตาม เป็นที่ทราบกันดีแม้การพัฒนาจะเจริญก้าวหน้า เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น แต่การพัฒนาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมกับเสื่อมถอยก่อให้เกิดปัญหาต่างมากมาย เช่น ปัญหามลพิษ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสุขภาพ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ฯลฯ

          การพัฒนาในอดีตที่ผ่านมา ภาครัฐและภาคธุรกิจมีส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดนโยบายต่างๆในการพัฒนาประเทศ แต่ภาคประชาชนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกลับมีส่วนร่วมน้อยที่สุด สังคมไทยจำเป็นต้องมีแนวทางที่จะทำให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยาย กรอบแนวทางในการพัฒนาประเทศในรูปของ นโยบายสาธารณะ

         "นโยบายสาธารณะ" หมายถึง แนวทางหรือกิจกรรมต่างๆที่รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ ภายใต้อำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบ โดยกำหนดเป็นหลักการ แผนงานหรือโครงการเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและส่วนรวม(ปิยะนุช เงินคล้าย)

          กระบวนการนโยบายสาธารณะไม่ใช่กิจกรรมที่จำกัดเฉพาะรัฐบาล ผู้มีอำนาจหรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทั้งหมดในสังคม เพราะองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ประการได้แก่ 1)"ความเข้าใจของสังคม"(Social understanding) ที่เกิดจากปัญญาในการเข้าถึงและใช้ความรู้ความจริงเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาและผลกระทบจากการพัฒนาอย่างรอบด้าน 2)"คุณค่าของสังคม"(Social value)ที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างกว้าขวางของคนในสังคมและการร่วมแสวงหาคุณลักษณะในอุดมคติของสังคมที่ทุกคนปรารถนาในปัจจุบันและอนาคต 3)"การปฏิบัติโดยสังคม"(Social action)ที่เกิดจากองค์ประกอบใน 2 ข้อข้างต้นและจากการสานสายใยเชื่อมโยงเครือข่ายในสังคมเข้าด้วยกันเป็นพลังทางสังคม(social energy)(ประเวศ วะสี,2547)

          "การประเมินผลกระทบทางสุขภาพ"(Health Impact Assessment:HIA) หมายถึง กระบวนการตัดสินคุณค่าของนโยบาย แผนงานหรือโครงการ โดยพิจารณาที่ผลกระทบและการกระจายของผลกระทบนั้นที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชน โดยใช้วิธีการ กระบวนการและเครื่องมือในการประเมินหลายชนิดร่วมกัน(WHO,1999)

           "ขั้นตอนการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ"(ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์,2554)

           1. การคัดกรองประเด็นนโยบาย วิเคราะหฺกระบวนการทางการเมือง เลือกจังหวะในการประเมินผลกระทบและรวบรวมข้อมูลพื้นบานของชุมชน

           2. กำหนดขอบเขตสิ่งที่จะประเมิน โดยการสอบถามสาธารณชนหรือการสอบถามความห่วงกังวลของสาธารณะ

           3. การประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ ระบุความสำคัญ ขนาดของผลกระทบ กลุ่มเสี่ยง โอกาสที่จะเกิดขึ้น ผ่านการเห็นชอบจากสาธารณชน

           4. การพิจาณาทางเลือกต่างๆเพื่อเปลี่ยนหรือปรับปรุงนโยบาย เพื่อเพิ่มพูนผลทางบวกและลดผลทางลบ การจัดลำดับความสำคัญ การให้ข้อเสนอแนะและการตัดสินใจ

           5. การนำผลการประเมินผลกระทบ ไปสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายให้เป็นนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ

           6. การกำกับติดตามและการประเมินผลโดยประชาชนมีส่วนร่วม

           หัวใจสำคัญของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ คือ การที่ประชาชนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนที่กล่าวมา เพื่อลดความขัดแย้ง และร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต เพื่อทำให้นโยบาย แผนงาน โครงการต่างๆที่รัฐหรือเอกชนจะทำก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อรัฐ เอกชนและประชาชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน

หมายเลขบันทึก: 475597เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2012 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท