การกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทย


การกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทย
การกัดเซาะชายฝั่งของทะเลไทย
          ในปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งทะเลถูกใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น จากกิจกรรมการท่องเที่ยว การประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นแหล่งอยู่อาศัยของชุมชนริมทะเล อุตสาหกรรม ท่าเรือ เป็นต้น  ชายฝั่งทะเลจึงมีความสำคัญในทุกๆด้านทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และปัญหาจากน้ำกัดเซาะบริเวณชายฝั่งของประเทศไทย ทำให้ชุมชนที่อาศัยตามแนวชายฝั่งของประเทศรวม 12 ล้านคน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ซึ่งประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 3,148.23 กิโลเมตร  ครอบคลุม 23 จังหวัดทั่วประเทศไทยโดยปกติชายฝั่งทะเลไทยมีการถูกกัดเซาะทุกปี ในระดับปานกลางจะถูกกัดเซาะ 1-5 เมตรต่อปี ในระดับรุนแรงจะมากกว่า 5 เมตรต่อปี และจากการสำรวจการกัดเซาะชายฝั่งทั่วประเทศไทยของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาพบว่า ชายฝั่งทะเลไทยถูกกัดเซาะมากถึง 830.07 กิโลเมตร สาเหตุมาจาก กระบวนการตามธรรมชาติ เกิดจากการกัดเซาะของคลื่นและลม วาตภัย อุทกภัย และกิจกรรมของมนุษย์กิจกรรมของมนุษย์ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของแนวชายฝั่ง จากการมุ่งเน้นพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยใช้ทรัพยากรเป็นฐานการผลิต แต่กลับให้ความสำคัญในการรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรน้อยเกินไป
แนวทางการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ใช้ในปัจจุบันนั้นมี 3 รูปแบบ ได้แก่
1. วิธีการป้องกันและแก้ไขทางธรรมชาติ ได้แก่การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลน ป่าชายหาด แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการัง เพื่อลดความรุนแรงของคลื่นที่กระทบฝั่ง แต่เป็นวิธีการที่ใช้เวาลานาน
2. วิธีการทางวิศวกรรม คือการก่อสร้างแนวกันคลื่น หรือสร้างหาดทรายเพิ่มเติม เพื่อป้องกันและรักษาสภาพชายฝั่ง เช่น เขื่อนกันคลื่น (Breakwater) เป็นโครงสร้างแบบแข็ง สร้างขนานกับแนวชายฝั่งเพื่อขวางการเคลื่อนตัวของคลื่น มีรูปร่างโครงสร้างและลักษณะต่างกันตามสภาพพื้นที่ กำแพงกันตลิ่ง (Revetment) เป็นการเรียงหินหรือวัสดุคอนกรีตเพื่อเสริมความแข็งแรงแนวชายฝั่ง โดยสร้างเป็นกำแพงแนวดิ่งหรือขั้นบันได รอดักทราย (Groin) เป็นโครงสร้างที่สร้างยื่นตั้งฉากหรือทำมุมกับแนวชายฝั่งทะเล เพื่อกั้นการเคลื่อนย้ายตะกอนตามแนวชายฝั่ง เป็นต้น
3. การใช้วิธีผสมผสาน โดยใช้ทั้งวิธีทางธรรมชาติและทางวิศวกรรมร่วมกัน เช่นการปักไม้ไผ่รวกเป็นกำแพงลดความรุนแรงของคลื่น เมื่อมีการตกตะกอนและทับถมมากขึ้นจึงปลูกไม้ชายเลนไว้หลังแนวปักไม้ไผ่ เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าชายเลนตามธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งเป็นปัญหาที่กำลังเพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาเหล่านี้ควรเป็นที่รับรู้ของสาธารณชนเพื่อให้เป็นความรู้พื้นฐานสำหรับ การลดความขัดแย้งเรื่องการใช้พื้นที่และการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งในแต่ละที่ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม โครงการใหญ่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามแนวชายฝั่งทะเล ควรเปิดเผยให้สังคมรู้และมีแผนแสดงการอนุรักษ์ป้องกัน หรือแก้ไขผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงชายฝั่ง และไม่ว่าจะป้องกันและแก้ไขด้วยวิธีใดก็ตาม จะไม่สามารถรักษาทรัพยากรชายฝั่งของไทยให้คงอยู่ได้ถ้าคนไทยทุกคนไม่ร่วมมือกันในการรักษาพื้นที่ที่มีค่าที่สุดของเราเก็บไว้
 
 ***********************************
แหล่งที่มา
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง.ฐานข้อมูลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง. การกัดเซาะชายฝั่ง.
สืบค้นจาก http://www.dmcr.go.th/marinecenter/erosion.php
สถาบันวิจัยทรัพยากรทางน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. สืบค้นจาก
http://www.mkh.in.th/index.php/home
สิน สินสกุล. สืบค้นจาก http://www.vcharkarn.com/varticle/38141
หมายเลขบันทึก: 475308เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2012 17:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท