สิ่งที่ได้เรียนรู้


 

การจัดการระบบสุขภาพ

สิ่งที่ได้เรียนรู้

            สุขภาพ หมายความว่า  ภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และทางสังคม เชื่อมโยงกันเป็นองค์รวมอย่างสมดุล (พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550  มาตรา 3)

                ระบบสุขภาพ  หมายถึง ระบบความสัมพันธ์ทั้งมวลที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ  โดยมีขอบเขตและความหมายที่กว้างขวางเกี่ยวข้องกับเหตุและปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลเกี่ยวข้องกระทบกับสุขภาพมากมายหลายด้าน  ทั้งปัจจัยด้านบุคคล   สังคม   ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม  และปัจจัยด้านระบบบริการสุขภาพ  และปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ

                ระบบสุขภาพที่พึงประสงค์ควรมีพื้นฐานความคิดของการเคารพในสิทธิพลเมือง  โดยมีแนวคิดสำคัญในการจัดบริการสุขภาพให้แก่ประชาชนที่ต้องมิใช่แค่การสงเคราะห์  แต่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐมีหน้าที่จัดให้มีการบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างครบถ้วน  ทั่วถึง  เป็นธรรม  ได้มาตรฐาน  มีคุณภาพเป็นที่พึงพอใจ

                การพัฒนาระบบสุขภาพ  จะต้องเกิดขึ้นจากการจัดโครงสร้างและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ระบบย่อยต่าง ๆ  รวมทั้งการจัดการปัจจัยที่มีผลต่อสุขภาพให้มีความถูกต้องเหมาะสม  มีความสมบูรณ์  ครอบคลุม  ครบถ้วน  โดยมีนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพและนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ  ซึ่งมีกระบวนการกำหนดและผลักดันนโยบายแบบมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพอย่างกว้างขวาง  มีการส่งเสริมให้ประชาชน  ชุมชน  และภาคีเครือข่ายสุขภาพเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง   นโยบาย  ยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพของประเทศ  เป็นแนวทางดำเนินงานเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายวัตถุประสงค์ที่ต้องการ (หลักการสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ของ ศ.นพ.ประเวศ  วสี : 2543 )

                ในราว  1  ทศวรรษที่ผ่านมา  ทิศทางการพัฒนาประเทศที่ขาดดุลยภาพและธรรมาภิบาล  ได้ทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตทางสังคมครั้งสำคัญ  การบริหารจัดการประเทศที่เน้นการพัฒนาทางวัตถุ  และเน้นระบบทุนนิยม  ได้ทำให้สังคมเกิดความเลื่อมล้ำและการแก่งแย่งแข่งขัน  เอารัดเอาเปรียบกัน  เกิดสภาวะสถาบันทางสังคมอ่อนแอ  ขาดความเอื้ออาทรใส่ใจซึ่งกันและกัน  ครอบครัวอ่อนแอ  เด็ก  ผู้สูงอายุ  ผู้ด้อยโอกาส  ผู้พิการและคนยากคนจนถูกทอดทิ้ง  เกิดความขัดแย้งในรูปแบบต่าง ๆ   ในด้านสิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย เกิดมลภาวะต่าง ๆ และเกิดภัยธรรมชาติต่าง ๆ   ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาวะของประชาชนมากมายอย่างชัดเจน  ดังนั้นการพัฒนาสุขภาพจะต้องมีการปรับกระบวนทัศน์ในการพัฒนาใหม่ โดยคำนึงถึงการพัฒนาอย่างบูรณาการเป็นองค์รวม  และมีความสมดุลพอดี  โดยน้อมนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางการพัฒนาสุขภาพ”  และยึดหลักการที่ว่า  “สุขภาพดีเป็นผลจากสังคมดี”  โดยมีแนวคิดหลัก 2 ประการคือ

                1.  แนวคิดประการแรก : จากเศรษฐกิจพอเพียงสู่ระบบสุขภาพพอเพียง   เพื่อสร้างให้สุขภาพดี  บริการดี  สังคมดี ชีวิตมีความสุขอย่างพอเพียง  ที่เชื่อมโยงกับการสร้าง “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน”

                2. แนวคิดหลักประการที่สอง  :  สุขภาพดีเป็นผลจากสังคมดี  หรือสังคมแห่งสุขภาวะ  เป็นสังคมที่เป็นธรรม  เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน  เคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์เสมอกัน  ไม่เบียดเบียนตนเอง  และไม่เบียดเบียนธรรมชาติ

หมายเลขบันทึก: 475275เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2012 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 10:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท