"ข้าวหลาม" กับประเพณีความเชื่อดั่งเดิม


ความผูกพันของคนในชุมชนท้องถิ่น กับประเพณีความเชื่อดั่งเดิม ที่คนรุ่นใหม่เกือบหลงลืม

  

      คงไม่สายเกินไปที่จะบอกว่า  สวัสดีปีใหม่ ปี ๒๕๕๕ นะค่ะ กับบันทึกแรกของปีแห่งความสุข 555 ค่ะ

     กับบางสิ่งบางอย่าง ที่มันเกิดขึ้นเป็นประจำ บางครั้งเราอาจถือเป็นเรื่องปกติแต่ถ้าเราลองสัมผัสมันลึกๆ บางทีมันอาจมีเรื่องบางอย่างแอบแฝงอยู่ก็ได้นะ  เหมือนกับเรื่องที่จะเขียนในวันนี้  "ข้าวหลาม"   ที่ตั้งใจเขียนบันทึกนี้ เพราะนึกไม่ถึงว่า ประเพณีกินข้าวจี่ ข้าวหลาม ของคนในหมู่บ้านสุขสวัสดิ์  อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง  จะแฝงด้วยทั้งความเชื่อ และความศรัทธาในพระพุทธศาสนา อย่างที่ข้าพเจ้าคาดไม่ถึง  ตามมาดูวิถีชีวิตส่วนหนึ่งของคนในชุมชนกันค่ะ

     ข้าวหลาม เป็นอาหารชนิดหนึ่ง ซึ่งในสมัยก่อนคนไทยจะใช้กระบอกไม้ไผ่ในการหุงข้าวด้วยข้าวที่ได้จะมีลักษณะเป็นทรงกระบอก เชื่อมกันด้วยเยื่อไผ่ทำให้เป็นรูปทรงสวยงาม แต่ในปัจจุบันนี้ คนไทยนิยมนำมารับประทานเป็นขนมหวาน โดยมีส่วนผสมคือ ข้าวเหนียว กะทิ และบางตำราจะมีการใส่ถั่วดำด้วย

       ข้าพเจ้าได้กลับบ้านเมื่อวันเสาร์ที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา  แม่บอกว่า วันพรุ่งนี้วันพระ คือ วันที่ ๘ มกราคม  จะมีประเพณีกินข้าวจี่ ข้าวหลาม  แม่ต้องเตรียมของหลายๆ เพื่อจะมาทำข้าวหลาม ไปวัด มาดูกันดีกว่าค่ะ ว่าแม่ต้องเตรียมอะไรบ้าง

 

     "ข้าวหลาม" ที่ตัดมาจากต้น ลักษณะเหมือนไม้ไผ่ค่ะ เป็นลำๆ , "น้ำกะทิ" ที่คั้นสดๆ จากมะพร้าวสวนหลังบ้าน  และที่ขาดไม่ได้นางเอกของงานนี้ คือ "ข้าว" ที่แม่เตรียมไว้ มีทั้งข้าวก่ำ (เป็นคำที่ชาวล้านนาเรียก ข้าวเหนียวดำ ค่ะ)  และข้าวขาว   แม่บอกว่า ข้าวที่ใช้  เป็นข้าวใหม่  ค่ะ การนำข้าวใหม่มาใส่  เหมือนกับเราได้นำข้าวใหม่ไปถวายพระด้วยค่ะ

 

 

 

     เมื่อเตรียมของได้ครบ ก็ได้เวลา ใส่ข้าวหลาม ค่ะ  วันนี้แม่มีผู้ช่วยตัวน้อย น้องเอิง (เด็กน้อยหัวใจ...โต๊ โต ของเราค่ะ)  แม่ค่อยๆ ตักข้าวใส่ข้าวหลามทีละกระบอก  ใส่ข้าวเสร็จแล้ว แม่ก็ใส่กะทิ ตาม ค่ะ

 

     เป็นอันเสร็จงาน กับการใส่ข้าวหลาม  จากนั้นพอถึงเวลาพลบค่ำ  กับอากาศอันเหน็บหนาว  และแสงพระจันทร์เหลืองอร่าม  พ่อก็ลงมือเตรียมสถานที่ก่อกองไฟ เผาข้าวหลาม เราว่า เหมือนเป็นวิธีการคลายหนาว อีกแบบหนึ่งของคนรุ่นเก่า ที่สืบทอดกันมา  ก็เลยคิดกิจกรรมเผาข้าวหลามควบคู่กับการก่อกองไฟผิงกันหนาว เป็นกิจกรรมที่ได้มีส่วนร่วมกันของทุกคนในบ้าน  เป็นการสร้างความผูกพันของคนในครอบครัวอีกแบบหนึ่งด้วย

 

 

 พวกเราเผา ข้าวหลาม ท่ามกลางแสงจันทร์  เสร็จเกือบ ๓ ทุ่มค่ะ 

 

 

     วันรุ่งขึ้น  แม่ตื่นแต่เช้า  ปลุกให้พวกเราไปวัดกันค่ะ  นอกจากข้าวหลาม ที่ต้องเตรียมไปวัดแล้ว  ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทุกครัวเรือนเตรียมไปวัด ก็คือ "ไม้จี้" มัดติดด้วยฟางข้าว  เราถามจากผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ได้ความว่า  "ไม้จี้ เหมือนเป็นไม้ของพระเจ้า  จะมีความเหนียวและคงทน  จะเตรียมมา จุดไฟ ให้พระพุทธรูป ในวัดผิงไฟ กันหนาว"  มันเป็นความเชื่อของคนในหมู่บ้านเราค่ะ ไม่รู้ว่าหมู่บ้านชุมชนอื่นจะมีความเชื่อเหมือนกันหรือไม่ 

 

ลักษณะตามภาพค่ะ  ชาวบ้านจะแบ่งกองไม้จี้ เป็น ๒ กอง ไว้ข้างหน้า กับข้างหลัง ศาลาวัดค่ะ 

 

      เมื่อมาครบทุกครัวเรือน  ก็ถึงเวลาทำพิธีทางพระพุทธศาสนา  ข้าวหลามที่เตรียมมาก็นำถวายไว้ต่อหน้าพระประธาน

 

 

      พอใกล้เสร็จพิธี  จะมีตัวแทนหมู่บ้าน  จุดไฟเผาไม้จี้ที่กองไว้ ทั้งข้างหน้าและข้างหลังศาลาวัด จากนั้นเป็นอันเสร็จพิธีค่ะ  ข้าวหลามที่ชาวบ้านนำมา  พระสงฆ์ในวัดก็นำแจกให้ญาติโยม กลับไปกินกันต่อเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต

 

 

ข้อมูลที่ได้ส่วนหนึ่งมาจากการสอบถามคนในชุมชนค่ะ บางอย่างอาจไม่ชัดเจน ผู้อ่านท่านใดจะเพิ่มเติมในส่วนไหนก็ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้นะค่ะ 

ขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย ด้วยค่ะ

ท้ายนี้ขอบคุณคนในชุมชน ที่ยังรักษาประเพณีอันดีงามไว้ให้คนรุ่นใหม่ ได้สืบทอดต่อไป

 

 

แล้วพบกันใหม่ค่ะ

กอหญ้า...

 

หมายเลขบันทึก: 475244เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2012 11:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีปีใหม่...คุณกอหญ้า นะครับ

มีหลายสิ่งที่เรียนรู้จากบันทึกที่นึกว่าแสนธรรมดา

แต่ช่างลึกซึ้ง....โดยเฉพาะวิถีคนอีสานอย่างผม

# เราได้ข้าวใหม่เรานึกถึงพระ

# หน้าหนาวทำข้าวหลามเหมาะสุด...ผิงไฟ...จับกลุ่มคุย

# ข้าวหลามอีสานจะแปลกตรงที่เราเอาข้าวที่ยังไม่สุกทำ...แล้วเมื่อสุก...กิน...จะมีเยื่อไม้ไผ่ติดมาด้วย...ชอบครับ

# พิธีไม้จี่..เกิดมาผมไม่เคยรู้และเห็น...โชคดีที่คุณกอหญ้าบันทึกไว้ครับ

# การกินของที่เหลือจากพระ...แม่บอกว่า..จะเปป็นสิริมงคล

ชอบมากจังครับบันทึกนี้

คุณกอหญ้ารวบรวม เรียบเรียง เรียงร้อย ภาพถ่าย ได้งดงาม

ร่วมสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงาม

มีความสุขทุกเวลานะครับ

ขอบคุณค่ะ

อ่านบันทึกนี้แล้วภาพตัวเองตอนปิ้งข้าวหลามตอนเป็นเด็กผ่านเข้ามาในความทรงจำ ขอบคุณมากค่ะ

ได้เรียนรู้ประเพณีของบ้านเราเพิ่ม ไม่เคยเห็นมาก่อนค่ะ พิธีไม้จี่....

สวัสดีวันสุขใจค่ะ

ขอบคุณสำหรับดอกไม้ที่ให้กำลังใจ ความเห็นจาก คุณหมอ และคุณปริม ขอบคุณค่ะ

มีความสุขทุกเวลาเหมือนกันทุกคนนะค่ะ

ชอบมากเลยครับ แม่ทำให้กินตอนหน้าหนาว

หนาวปีนี้ไม่ได้กินข้าวหลามเลยค่ะ

เดี๋ยวนี้คนทำทานเองน้อยลงมาก ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท