การจำแนกประเภทของกฎหมายอาญาในระบบกฎหมายฝรั่งเศส


ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่ากฎหมายอาญานั้น จัดอยู่ในกฎหมายประเภทใด?

ธรรมชาติของกฎหมายอาญา La nature du droit pénal

              

มีเหตุให้ต้องเขียนบันทึกสั้นๆเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานกฎหมายอาญาซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้เขียนสักเท่าใด (เรียกว่าไม่อยู่ใน compétence ก็ว่าได้) แต่ผู้เขียนถือว่าเป็นความรู้ทั่วๆไปที่นักกฎหมายควรทราบหรือควรสงสัย (ทำนองเดียวกับ Objectivisme/ Subjectivisme) หรือหลายท่านอาจทราบแล้วก็ได้ เอาไว้อ่านเล่นๆก็ไม่ว่ากันค่ะ

นอกจากนี้หากท่านผู้อ่านท่านใดจะกรุณาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือจุดประกายความคิดใดๆให้แก่ผู้เขียนและผู้อ่านท่านอื่นด้วยแล้ว จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งค่ะ

ก่อนจะเข้าสู่รายละเอียด คงต้องเกริ่นเล็กน้อยว่า คำถามดังกล่าวนี้เกิดขึ้นโดยบังเอิญจากการเข้าห้องสมุดกฎหมายในประเทศฝรั่งเศสเมื่อนานมาแล้ว สิ่งแรกที่ทำคือเดินสำรวจว่าอะไรอยู่ที่ไหน สิ่งต่อมาที่สังเกตได้คือ เค้านิยมจัดหมวดหนังสือไว้แค่สองกลุ่มใหญ่ นั่นคือ หนังสือกฎหมายเอกชน (Droit privé) และหนังสือกฎหมายมหาชน (Droit public) จากการสำรวจมาหลายแห่งก็พบว่าโดยมากจะแยกเป็นสองพวกใหญ่ๆข้างต้น แต่เป็นไปได้ว่าห้องสมุดบางแห่งจัดหนังสือกฎหมายระหว่างประเทศไว้ต่างหากจากสองพวกแรกค่ะ  

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเกิดคำถามต่อมาว่า แล้วหนังสือกฎหมายอาญาอยู่ที่ไหน??? ตามความคิดในขณะนั้นเห็นว่าควรอยู่ในหมวดกฎหมายเอกชน เมื่อค้นก็เจอตามนั้น

แต่คำถามยังมีต่อไปอีกว่าเพราะเหตุใดฝรั่งเศสจึงจัดกฎหมายอาญาเอาไว้ในกลุ่มกฎหมายเอกชน???

                ..............................................................................................................................

 

โดยทั่วไปเราสามารถแบ่งกฎหมายออกเป็น ๒ หมวดใหญ่ๆ นั่นคือ กฎหมายมหาชน และกฎหมายเอกชน

กฎหมายมหาชน คืออะไร?

คือ กฎหมายที่ใช้บังคับกับความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ตัวอย่างง่ายๆ เช่นกฎหมายปกครอง

กฎหมายเอกชน คืออะไร?

คือ กฎหมายที่ใช้บังคับกับความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกัน เช่น กฎหมายแพ่ง

ซึ่งความหมายเหล่านี้เป็นการตอบอย่างง่ายๆ โดยทั่วไป เพื่อต้องการแยกประเภทของกฎหมายให้ชัดเจน

 

            กฎหมายอาญาจัดไว้ในกลุ่มใด???

         สำหรับการจัดประเภทกฎหมายอาญานั้นมีแนวความคิดที่แตกต่างกันไปหลายแนวทาง

๑. จัดไว้ในประเภทกฎหมายมหาชน (Droit public)

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะจัดกฎหมายอาญาไว้ในกลุ่มนี้? คำตอบคือ เป็นไปได้...แต่...ถ้าเราจะจัดกฎหมายอาญาไว้ในกลุ่มนี้ก็คงเป็นเพียงเพราะว่าการกำหนดโทษและวิธีการลงโทษนั้นเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งรัฐจะใช้อำนาจดังกล่าวนี้ในนามของสังคมโดยรวม เนื่องจากถือว่าคดีอาญานั้นกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมโดยรวม (l’ordre social)  ถึงตอนนี้อย่าเพิ่งตัดสินใจ ขอให้อ่านทฤษฎีต่อไปเสียก่อน

๒. จัดไว้ในประเภทกฎหมายเอกชน (Droit privé)

สามารถจำแนกเหตุผลทางทฤษฎีที่จัดกฎหมายอาญาไว้ในกลุ่มนี้ออกได้เป็น ๓ ประการย่อย กล่าวคือ

๒.๑ ในแง่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง

เห็นได้ว่าผู้ที่สามารถตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญานั้นได้แก่บุคคลธรรมดา นิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน และความผิดที่เกิดก็กระทำต่อปัจเจกชน เช่น นาย ข ถูกลักร่ม ร่มเป็นทรัพย์ของนาย ข ผู้เดือดร้อนจริงๆแล้วคือนาย ข เพียงแต่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดอาญาเพราะการลักทรัพย์นั้นย่อมกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและสังคมโดยรวม 

๒.๒ ในแง่ธรรมชาติของคดี

แม้ว่าเราจะถือว่าความผิดอาญาที่เกิดนั้นกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนโดยรวมก็ตาม  แต่สังเกตได้ว่าคดีส่วนมากจะเป็นความผิดที่กระทำต่อปัจเจกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการค้าหรือเรื่องอื่นๆที่กระทบต่อประโยชน์ของเอกชนโดยตรง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ คดีอาญาที่เกี่ยวกับการค้าบางมาตรา เช่น โกงตาชั่ง

๒.๓ ในแง่ของศาลที่มีอำนาจเหนือคดี

ก่อนอื่นต้องทบทวนเสียก่อนว่า เราแยกศาลออกเป็นกี่ระบบ? คำตอบคือ ๒ ระบบ ได้แก่ ระบบศาลยุติธรรมและระบบศาลปกครอง ด้วยเหตุนี้เราจึงมักกล่าวอยู่เสมอว่า เรา (ในที่นี้คือไทยและฝรั่งเศส) ใช้ระบบศาลคู่[1] ถามว่าคดีอาญานั้น อยู่ในอำนาจของศาลใด? คำตอบคือ ศาลอาญาซึ่งเป็นหนึ่งในศาลยุติธรรม มิใช่ศาลปกครอง

                สังเกตต่อไปว่าทั้งผู้พิพากษาศาลอาญา พนักงานอัยการต่างก็ได้รับการอบรมวิชากฎหมายมาในลักษณะของบุคคลากรในศาลยุติธรรม (ถ้าเป็นฝรั่งเศสคงเรียกว่าเป็น l’ordre judiciaire หรือเรียกให้เห็นภาพว่า Privatiste)

                และถ้าจำได้จะพบว่าตามกฎหมายไทยนั้น คดีโกงตาชั่งและความผิดเกี่ยวกับการค้าบางมาตราอยู่ในอำนาจของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นศาลยุติธรรมเช่นกัน

                ฟังแล้วทฤษฎีนี้ดูน่าเชื่อถือ อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ที่เราพบเห็นกันอยู่ทุกวัน แต่จะใช่หรือไม่ ต้องฟังทฤษฎีที่สามเสียก่อนค่ะ

๓. จัดไว้ในประเภทกฎหมายลูกผสม (Droit mixte)

                แนวคิดนี้เห็นว่ากฎหมายอาญานั้นไม่อาจจัดไว้ในกลุ่มกฎหมายมหาชน หรือกฎหมายเอกชนได้  ในทางตรงข้ามการพยายามจำแนกกฎหมายอาญาไว้ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนั้นเป็นการละเลยต่อความจริงที่ว่ากฎหมายอาญามีลักษณะพิเศษ

               พิเศษอย่างไร? ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดนี้ต่างก็เห็นว่าบรรดาหลักกฎหมายอาญาล้วนแสดงถึงลักษณะเฉพาะที่ไม่ปรากฏในกฎหมายลักษณะอื่น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายมหาชนหรือกฎหมายเอกชน เช่น หลักเรื่องการป้องกันโดยชอบ, กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลัง, หลักความพอสมควรแก่เหตุระหว่างความผิดที่กระทำและโทษที่ได้รับ สำหรับเรื่องสุดท้ายผู้เขียนไม่เห็นด้วยนัก เพราะหลักดังกล่าวก็ใช้ในเรื่องละเมิดด้วย กล่าวคือ ผู้กระทำละเมิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพียงเท่าที่เกิดความเสียหายขึ้นจริง อีกนัยหนึ่งผู้เสียหายไม่ควรได้รับการเยียวยาเกินกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงนั่นเอง ยกเว้นบางระบบกฎหมายที่ให้ Punitive Damages แต่อย่างไรก็ตามนักนิติศาสตร์ที่สนับสนุนแนวคิดนี้ก็โต้แย้งไว้ว่า หลักกฎหมายเหล่านี้มีต้นตอมาจากกฎหมายอาญา และกฎหมายสาขาอื่นต่างหากที่รับเอาหลักกฎหมายดังกล่าวไปใช้

                แนวคิดนี้จึงเสนอให้จัดกฎหมายอาญาไว้เป็น “กฎหมายประเภทที่สาม” (un troisième domaine du droit) ไม่ขึ้นอยู่กับใครทั้งสิ้น

                ทฤษฎีสุดท้ายนี้ก็น่าสนใจและฟังขึ้นเสียด้วย อันที่จริงคงไม่แปลกอะไรที่เราจะยอมรับให้กฎหมายอาญาเป็นกฎหมายกลุ่มที่สาม โดยไม่ต้องพยายามจัดเข้าไว้ในกลุ่มอื่นๆ เพราะหากเราพยายามจำแนกประเภทอย่างแคบเสียจนเกินไป (มหาชนหรือเอกชน)โดยใช้ศาลผู้มีอำนาจเหนือคดี หรือตัวบุคคลผู้เกี่ยวข้องเป็นเกณฑ์ตัดสินเพียงอย่างเดียว และละเลยการพิจารณาธรรมชาติของตัวกฎหมายอาญาจริงๆไปเสีย ย่อมเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ที่สำคัญเท่ากับว่าไม่ได้ตอบคำถามว่ากฎหมายอาญานั้นแท้จริงแล้วมีธรรมชาติอย่างไร?

                เห็นได้ว่าการที่ฝรั่งเศสจัดกฎหมายอาญาเอาไว้ในกลุ่มกฎหมายเอกชนนั้น เป็นเพียงการจำแนกแบบคลาสสิคเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่านักกฎหมายฝรั่งเศสจะยึดถือว่ากฎหมายอาญาเป็นกฎหมายเอกชนอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง เพราะในปัจจุบันแนวคิดที่สามก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางด้วยเช่นกันค่ะ


                อย่างไรก็ตาม หากเราขมวดปมมาเข้าเรื่องของเราคือ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล กรณีจะเปลี่ยนไปหรือไม่ อย่างไร

  ท่านผู้อ่านเห็นว่าอย่างไรคะ?

            สำหรับกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลนั้น การจัดประเภทกฎหมายอาญาเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเกี่ยวพันถึงการใช้กฎเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย

             นักกฎหมายได้จำแนกกฎหมายอาญาไว้ในประเภท “กฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณี”  ด้วยเหตุนี้เมื่อต้องนำกฎหมายอาญามาปรับใช้แก่คดี ศาลสามารถนำมาใช้ได้ทันที (และต้องนำมาใช้) โดยไม่ต้องพิจารณากฎหมายขัดกัน เนื่องจากกฎหมายอาญาเป็นกฎหมาย “มหาชนภายใน” เช่นเดียวกับกรณีของกฎหมายวิธีพิจารณาความนั่นเอง

             จะเห็นได้ว่าการจำแนกกฎหมายอาญานั้นมิใช่เรื่องง่าย เพราะกฎหมายหนึ่งๆอาจเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายประเภท และอาจถูกจำแนกไว้ได้ในหลายหมวดในเวลาเดียวกัน

 

อ้างอิง

Bernard Bouloc, Droit pénal général, Paris : Dalloz, 22e éd., 2011.

Frédéric Desportes et Francis Le Gunehec, Droit pénal général, Paris : Economica, 2009.

Sylvain Jacopin, Droit pénal général, Paris : Bréal, 2011.

 

แนะนำ

Marie-Hélène Renaut, Histoire du droit pénal : Du Xe siècle au XIIe siècle, Paris : Ellipses, 2005.  

 



[1] ฝรั่งเศสเริ่มแยกอำนาจในคดีปกครองออกจากอำนาจศาลยุติธรรมมาตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๗๙๐ 

หมายเลขบันทึก: 475214เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2012 04:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2012 14:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ความรู้มากเลยครับ จะคอยติดตามนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท