การนิเทศนวัตกรรมทางการศึกษาภายในโรงเรียน


การจัดการความรู้สู่นวัตกรรม
การนิเทศนวัตกรรมทางการศึกษาภายในโรงเรียน

การจัดการความรู้สู่นวัตกรรม
      การนิเทศการศึกษาภายในโรงเรียนเป็นกระบวนการที่บุคลากรภายในโรงเรียนพยายามร่วมมือกันที่จะปรับปรุงส่งเสริมประสิทธิภาพการเรียนการสอนให้ดีขึ้น โดยมุ่งให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน จุดมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษาภายในโรงเรียนมุ่งเน้นไปที่ตัวครูผู้สอนในอันที่จะปรับปรุงกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ สร้างเสริมขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานของครูให้มีพลังทั้งทางด้านความคิดสร้างสรรค์และพลังในการปฏิบัติงานให้สำเร็จลุล่วงไปตามเป้าหมายที่ต้องการ
      สรุปได้ว่า การนิเทศการศึกษาภายในโรงเรียนเป็นกระบวนการที่ผู้บริหารโรงเรียน หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้นำในการพัฒนาคุณภาพการทำงานของครูและบุคลากรภายในโรงเรียนให้เกิดสัมฤทธิผลสูงสุดในการเรียนรู้ของผู้เรียนเพื่อให้เกิดผลดังกล่าว การสร้างระบบนิเทศภายในโรงเรียนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
จุดมุ่งหมายของระบบนิเทศภายในโรงเรียน
       1.ส่งเสริมครูให้สร้างนวัตกรรม เริ่มจาก กระบวนการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ครู เพื่อให้มีความรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการศึกษา สามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมของตนขึ้นมาจากสภาพการจัดการเรียนรู้ของตนเอง อาจพิจารณาจากหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ทำการสอน สภาพสังคมของชุมชน จากการต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือจากการสร้างสรรค์ของครูผู้สอนและผู้เรียนที่สรุปพัฒนาจากองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการเรียนการสอน
      2. ส่งเสริมการประเมินนวัตกรรมระดับโรงเรียน จากนวัตกรรมของครูที่สร้างสรรค์ขึ้น ครูยังไม่มั่นใจว่า จะเป็นนวัตกรรมตามระดับของการประเมินนวัตกรรมหรือไม่ จึงต้องมีคณะกรรมการประเมินคุณภาพนวัตกรรมของโรงเรียน เพื่อให้ครูร่วมกันศึกษาหลักเกณฑ์การประเมินคุณภาพนวัตกรรมให้ชัดเจน จนสามารถประเมินและตัดสินความเป็นนวัตกรรมของผลงานของครูได้ หากยังมีข้อบกพร่องจะได้รับการเติมเต็มและเสนอแนะแนวทางต่อยอดพัฒนาต่อไป
     3. ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กร นวัตกรรมเกิดจากประสบการณ์ของครูแต่ละคน จึงเป็นวัตกรรมที่ได้ผ่านการเรียนรู้ด้วยตนเองมีการพัฒนาตามความคิดส่วนตน เมื่อนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคณะครูในโรงเรียนจะทำให้การมองภาพนวัตกรรมกว้างขึ้น ซึ่งเกิดจากมุมมองที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล การแลกเปลี่ยนเรียนรู้จะเป็นการขจัดจุดที่บกพร่อง เสริมต่อ เติมเต็ม หรือพัฒนาให้ได้นวัตกรรมที่ดีขึ้น ในกระบวนการนี้ควรจะนำกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) เข้ามามีส่วนในการจัดการ
      4. ส่งเสริมนวัตกรรมสู่ความเป็นเลิศ (Innovation to Best practices) เมื่อได้รับการกลั่นกรองของคณะกรรมการช่วยยืนยันว่านวัตกรรมนั้นเป็นนวัตกรรมอย่างแท้จริงและเมื่อได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในองค์กรจะเป็นการพัฒนาต่อยอดให้เป็นนวัตกรรมที่ดีขึ้น หากมีการทดลองใช้ ปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดนวัตกรรมที่ดีเยี่ยมเมื่อผ่านการคัดเลือก กลั่นกรองอีกครั้งจะทำให้ได้นวัตกรรมที่ดีเยี่ยมที่สุดในโรงเรียน ทำให้สามารถนำไปเผยแพร่สู่องค์กรภายนอกได้ ซึ่งจะนำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียนให้องค์กรภายนอกมองเห็นภาพที่ดีเด่นของโรงเรียนในด้านการจัดการนวัตกรรม
หมายเลขบันทึก: 475193เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2012 20:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท