เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา


คยา

พระราชรัตนรังษี สมภารวัดไทยพุทธคยา คอลัมน์ มงคลข่าวสด เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 13 กรกฎาคม 2554 ณ ตำหนักสมเด็จ วัดสระเกศ เขตป้อม ปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพฯ พระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ วีรยุทโธ) ได้เข้ารับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย และหัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล



 มีสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานมอบพระบัญชา 


นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 


ได้อ่านพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย และหัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล มีใจความว่า ... "ในการประชุมมหาเถรสมาคม 15/ 2554 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2554 ที่ประชุมมหาเถรฯ ได้พิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งพระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ วีรยุทโธ) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย และหัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล สืบแทนพระเทพโพธิวิเทศ ที่ได้มรณภาพลง"


 การแต่งตั้งดังกล่าวอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535 ปัจจุบันพระราชรัตนรังษี (วีรยุทธ วีร ยุทโธ) สิริอายุ 56 พรรษา 36 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ, ประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย และปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล อัตโนประวัติ มีนามเดิมว่า วีรยุทธ ประชุมสอน เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2497 ณ บ้านหินกอง ต.น้ำพอง อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายชุน และนางส้อน ประชุมสอน ต่อมาครอบครัวได้ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2512 กระทั่งอายุครบบวช ได้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 ณ วัดอัปสรสวรรค์ แขวงปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ มีพระธีรสารมุนี (สุไชย ธีรสาโร) เจ้าอาวาสวัดอัปสร สวรรค์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูกิตติวรวัตร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระสมุห์สุวัจน์ สุวโจ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ต่อมาท่านได้ย้ายมาอยู่จำพรรษาที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร ได้มุ่งมั่นศึกษาจนสามารถสอบได้ประกาศนียบัตรพิเศษวิชาการศึกษา (พ.กศ.) ปริญญาบัณฑิต (B.A.) สาขารัฐศาสตร์ ปริญญามหาบัณฑิต (M.A.) สาขาพระพุทธศาสนา และปริญญาดุษฎีบัณฑิต (Ph.D.) สาขาพระพุทธศาสนา จากมหาวิทยาลัยมคธ ประเทศอินเดีย ท่านได้สนองงานคณะสงฆ์วัดมหาธาตุฯ อาทิ กองงานเลขานุการ เจ้าคณะกรุงเทพ มหานคร, กรรมการศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย, กรรมการมูลนิธิวัดไทยพุทธคยา, วิทยากรอบรมพระธรรมทูต สายต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ฝ่ายจัดการสัมมนาโครงการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นต้น ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2533 ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูสังฆกิจวิสุทธิ์ ในฐานานุกรมของพระสุเมธาธิบดี (บุญเลิศ ทัตตสุทธิ) พ.ศ. 2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชในราชทินนามที่ พระราชรัตนรังษี พระราชรัตนรังษี เป็นพระธรรมทูตรูปหนึ่งของคณะสงฆ์ไทย ที่ได้รับการยกย่องเกียรติคุณอย่างต่อเนื่องว่าท่านเป็นศิษย์ของพระสุเมธาธิบดี อดีตเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธ คยา ท่านเข้ามาประเทศอินเดีย เมื่อปี พ.ศ. 2524 เพื่อแสวงบุญเพิ่มพูนศรัทธา หาวัตถุดิบไปใช้สอยไปทำงานพระศาสนา ท่านจึงตัดสินใจมาวัดไทยพุทธคยา เพื่อช่วยเหลืองานพระธรรมทูตหลวงพ่อพระสุเมธาธิบดี เข้ามาอาสารับใช้ใกล้ชิดท่านเพื่อเรียนรู้งาน และศึกษาต่อปริญญาตรี ท่านยังได้รับการอบรมความรู้ วิธีการ ในการทำหน้าที่พระธรรมทูตจากพระสุเมธาธิบดี ซึ่งเป็นผู้ปลูกฝังอุดมการณ์ปฏิบัติงานในฐานะพระธรรมทูตอย่างมีระเบียบแบบแผน บ่มเพาะความรู้ตามสายงานพระศาสนาในแดนพระพุทธภูมิ ประเทศอินเดียและเนปาล จนเป็นนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ทำคุณประ โยชน์อย่างสม่ำเสมอ มีโอกาสได้แสดงบท บาทในสายต่างประเทศ โดยทำหน้าที่บรรยายให้ความรู้แก่พุทธบริษัท ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ไปแสวงบุญในประเทศอินเดียและเนปาล อย่างต่อเนื่อง กระทั่ง พระสุเมธาธิบดี ได้ละสังขารอย่างสงบ งานหัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย ได้ถูกส่งไม้รับต่อช่วงโดย "พระเทพโพธิวิเทศ" หรือ "หลวงพ่อทองยอด ภูริปาโล" ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ท่านก็คงยังช่วยรับสนองงานหลวงพ่อทองยอดอย่างใกล้ชิด ช่วยให้งานเผยแผ่พระพุทธศาสนารุดหน้าและราบรื่นมาตลอด ต่อมาหลวงพ่อทองยอดมรณภาพอย่างสงบ เมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 พฤษภาคม 2554 ถือเป็นความสูญเสียปูชนียบุคคลในด้านพระธรรมทูตของคณะสงฆ์ไทย งานในตำแหน่งหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล จึงว่างลง ท้ายที่สุดที่ประชุมมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2554 ได้พิจารณาเห็นชอบแต่งตั้งพระราชรัตนรังษี ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย และหัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล สำหรับพระราชรัตนรังษี ก่อนได้รับแต่งตั้งเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ท่านยังเป็นประธานสงฆ์วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ประเทศอินเดีย และปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี ประเทศเนปาล และยังเคยเป็นรองหัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล อีกด้วย ถือเป็นพระเถระอีกรูปหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญยิ่งในการนำพาพระพุทธศาสนากลับคืนสู่ดินแดนพุทธภูมิ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีของการทำหน้าที่พระธรรมทูตเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในต่างประเทศ พระราชรัตนรังษีกล่าวภายหลังเข้ารับตราตั้งเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล ว่า จากนี้งานที่ต้องเร่งดำเนินการได้ตั้งเป้าไว้ 3 เรื่อง คือ 1.ดำเนินการงานเก่าที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น การเตรียมการอัญเชิญพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปประดิษ ฐานที่วัดไทยกุสินารา โครงการบูรณปฏิสัง ขรณ์สถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระ ทรวงวัฒนธรรม วัดสระเกศ มูลนิธิไทยพึ่งไทย กองทุนพัฒนาลุมพินี ประเทศเนปาล 2.การปรับงานของพระธรรมทูตในประ เทศอินเดีย-เนปาล ให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของคณะสงฆ์ไทย และ 3.ดูแลพุทธศาสนิกชนชาวไทยที่เดินทางไปแสวงบุญที่ประเทศอินเดีย-เนปาล เป็นภารกิจที่หนักอึ้งและท้าทายยิ่ง

คำสำคัญ (Tags): #พิหาร
หมายเลขบันทึก: 474975เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2012 18:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 มีนาคม 2013 09:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท