ทบทวนงาน (ชีวิต) ในช่วงปลายเดือน ก.ย. 48


สุดท้ายขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับผู้ที่จะได้รับรางวัล “สุดคะนึง” คนต่อไปด้วยครับ

         ลักษณะการเขียน blog ของผมในเดือนนี้ (ก.ย. 48) จะเห็นว่าต่างจากเมื่อเดือนที่แล้ว และอาจจะต่างออกไปอีกในเดือนต่อไป ต้นเดือนที่แล้ว (ส.ค. 48) ผมเขียน blog ในบรรยากาศที่รู้สึก relax หลังจากเสร็จงาน “นเรศวรวิจัย” ซึ่งมีทั้ง prelude และส่งท้ายด้วย ผมแยกตัวเองจากงานวิจัยมาอยู่ห่าง ๆ หนึ่งสัปดาห์เต็ม ๆ เพื่อให้น้อง ๆ ในงานวิจัยซึ่งมีกันเพียง 5+3 คน (5 คนเป็นเจ้าหน้าที่ในงานวิจัยโดยตรง อีก 3 คน ยืมมาช่วยจากคลินิกเทคโนโลยีและเครือข่ายการวิจัยภาคเหนือตอนล่าง) (5 คนในงานวิจัยแบ่งเป็น ข้าราชการ 1 คน เป็นลูกจ้างชั่วคราว 4 คน) ได้รู้สึกผ่อนคลายจากทั้งงานประจำและงานเฉพาะกิจ

         เมื่อแยกตัวออกมาจากงานวิจัยก็เข้ามาขลุกอยู่กับน้อง ๆ ในหน่วยประกันฯ (QAU) เพื่อสานต่องานของท่านอาจารย์มาลินี (รศ.มาลินี ธนารุณ) ผู้ช่วยอธิการบดีด้าน QA ที่ต้องกลับคณะไปเป็นหัวหน้าภาควิชาและเตรียมตัวเป็นคณบดีต่อไป (ขณะนี้เป็นคณบดีไปเรียบร้อยแล้ว)

         ที่ QAU ในช่วงเวลานั้นผมรู้สึกมีความสุขที่ได้กลับมาดูแลต่อ  เนื่องจากคุ้นเคยกับคนกับสถานที่มานาน ช่วงที่ท่านอาจารย์มาลินีมาช่วยอยู่ประมาณครึ่งปีมีอะไรที่ดีกว่าสมัยที่ผมเคยดูแลมาก โดยเฉพาะในเรื่อง 5 ส. นอกจากนี้ยังมีภารกิจเพิ่มขึ้นในช่วงที่ท่านอาจารย์มาลินีอยู่ คือ การส่งเสริมสนับสนุน KM ใน มน. อาจารย์มาลินีก็ทำไว้ได้ดีมากอีกเช่นกัน รวมทั้งเรื่องการเขียน blog ด้วย

         สมัยนั้นผมยังไม่ได้เขียน blog ด้วยตนเอง เป็นแต่เพียงผู้อ่าน ด้วยความที่ไม่อยากให้อะไรดี ๆ ที่อาจารย์มาลินีเริ่มต้นไว้ดีที่ QAU ต้องหยุดชะงักไปด้วย กอปรกับอยากเขียนให้เป็นตัวอย่างกับคนอื่น ๆ ในชุมชน NUKM blog ด้วย (ตัวอย่างว่าเขียนนะครับ ไม่ใช่ตัวอย่างการเขียนที่ดี) ผมจึงต้องมาหัดเขียน blog เพื่อเป็นการสืบทอดงาน ทั้ง ๆที่รู้ตัวว่าไม่ใช่นักเขียนอย่างท่านอาจารย์มาลินี แต่ที่ไหนได้  โชคดี  ปลายเดือนนั้นเอง (ส.ค. 48) เกิดได้รับ “รางวัลสุดคะนึง”  ขึ้นมาอีก เลยต้องพยายามเขียนต่อ เกรงว่าคณะกรรมการที่ สคส. ตั้งขึ้นมาพิจารณามอบรางวัลจะอายคนอื่นเค้า ว่าพิจารณาให้รางวัลผมมาได้อย่างไร ซึ่งก็จะกลายเป็น “สุดคะนึง” ไปอีกแบบหนึ่ง

         ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ คือ หนึ่งในงานที่ผมต้องการจะทบทวนในช่วงปลายเดือน ก.ย. 48 ครับ งานอื่น ๆ ที่ผมกำลังทบทวนอยู่ มีอีกหลายอย่างครับ แต่จะไม่เล่าในรายละเอียด แค่บอกว่ามีอะไรบ้าง ดังนี้ครับ

         1. จัดทำโครงสร้างการบริหารการวิจัยของมหาวิทยาลัยใหม่หมด โดยแยกตัวงานวิจัยออกมาจากกองบริการการศึกษา และยกระดับเป็น “กองบริหารการวิจัยและพัฒนา” ตรงนี้ผมโชคดีที่ได้ท่านอาจารย์เสมอ (ผศ.ดร.เสมอ ถาน้อย) ผู้ช่วยอธิการบดีคนใหม่เข้ามาช่วยจัดทำ ตอนนี้เป็นรูปเป็นร่างมากแล้ว ต้นเดือนหน้าจะเอามาลง blog ขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากสมาชิก

         2. แก้ไข ปรับปรุง (เขียนใหม่ก็มี) ระเบียบและประกาศที่ใช้ในการบริหารงานวิจัย แบบยกเครื่อง ยังคงมีการบ้านอยู่อีกเยอะมาก ประชุมสภามหาวิทยาลัยสัปดาห์ที่แล้ว (เสาร์ที่ 24 ก.ย. 48) ก็เข็นผ่านมาได้ 2 ระเบียบ ประชุมกรรมการบริหารครั้งต่อไป (พุธที่ 5 ต.ค. 48) ก็จะนำเข้าพิจารณา 2 ประกาศ อยากให้ออกมาใช้ทันกับการบริหารจัดการทุนวิจัยจากงบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ. 2550 ซึ่งกำลังประกาศรับเสนอโครงการจากนักวิจัยอยู่ รวมทั้งอยากให้ทันกับการบริหารทุนวิจัยจากเงินรายได้มหาวิทยาลัยปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ด้วย

         3. เรื่องบุคลากรในงานวิจัยเดิมก็มีปัญหาค่อนข้างมากทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพ รวมทั้งเรื่องความรู้สึกที่ไม่ได้รับความยุติธรรมเมื่อเทียบกับบุคลากรในหน่วยงานอื่น ๆ โดยเฉพาะเรื่องการบรรจุเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ซึ่งเรื่องความยุติธรรมนี้ท่านอธิการบดีรับปากจะช่วยจัดการให้แล้ว ส่วนเรื่องที่ต้องรับคนใหม่ พัฒนาคนเก่าให้สามารถรับกับการยกฐานะเป็น “กอง” ก็ยังเป็นงานหนักของทุกคนที่เกี่ยวข้องต่อไป ขณะนี้กำลังจะประกาศรับลูกจ้างชั่วคราวเพิ่มอีก 3 คน จึงขอประชาสัมพันธ์ไว้ตรงนี้ด้วยเลย  ผมขอเน้นนะครับ สำหรับผู้สนใจที่จะสมัคร ว่าเป็นลูกจ้างชั่วคราวโครงการเครือข่ายการวิจัยภาคเหนือตอนล่าง (สกอ.) ทั้ง 3 อัตรา เงินหมดก็งดจ้าง หรือถ้าโชคดีได้รับความกรุณาจาก มน. ในการขยายกรอบอัตราให้กับงานวิจัยในอนาคต ก็จะมีเงินรายได้จากมหาวิทยาลัยมาจ้างต่อ

         4. เรื่องการพิจารณาข้อเสนอโครงการต่าง ๆ ก็อาการหนัก ต้องเร่งดำเนินการในช่วงนี้เช่นกัน ของคลินิกเทคโนโลยี (ประมาณ 2 ล้านบาท) งบประมาณแผ่นดิน (ประมาณ 30 ล้านบาท) งบประมาณรายได้มหาวิทยาลัยซึ่งจะแบ่งไปให้คณะต่าง ๆ (ประมาณ 35 ล้านบาท) งบประมาณจากเครือข่ายการวิจัยภาคเหนือตอนล่าง สกอ. (ประมาณ 7 ล้านบาท) รวมทั้งหมดประมาณ 70-80 ล้านบาท ถ้าบริหารจัดการไม่ดี ไม่ยุติธรรม จะเกิดความวุ่นวายหรือไม่ก็ได้ผลงานวิจัยพื้น ๆ ธรรมดา ๆ  ไม่สามารถแสดงความเป็นเลิศออกมาได้ ตัวผมเองยังต้องเรียนรู้ตรงนี้อีกมาก จนบางทีนึกอยากให้คนอื่นที่เขามีความรู้ความสามารถมากกว่าเข้ามาทำงานแทน เพื่อให้เงินจากภาษีอากรของประชาชนจะได้มีคุณค่ามากขึ้น ขณะนี้แก้ปัญหาโดยเชิญท่านอาจารย์ ดร.เสมอ ถาน้อย มาช่วยเป็นผู้ช่วยอธิการบดี  มาช่วยด้วยอีกแรง ให้ช่วยรับผิดชอบหลักที่ตรงนี้ จึงมีความหวังว่าทุกอย่างจะค่อย ๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ

         5. งานวารสารและทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเดิม รศ.ดร.กัญชลี เจติยานนท์ รับผิดชอบอยู่ ผมกับท่านอาจารย์ ดร.เสมอ จะต้องเตรียมตัวไปสานงานต่อ เนื่องจากท่านอาจารย์กัญชลีได้รับทุนจาก สกว. ต้องเร่งทำวิจัยให้ได้ตามเงื่อนไขทุน  งานใหญ่อีกเช่นกัน

         6. เตรียมการไปประเมินเพื่อพัฒนาความพร้อมของแหล่งฝึก (practice settings) ให้กับนิสิตคณะแพทยศาสตร์ ที่เชียงราย แพร่ และพิษณุโลก ผมไม่ได้เป็นผู้ประเมินเอง แต่ต้องอำนวยความสะดวกและไปกับเขาด้วย รวม 3 วัน (10-12 ต.ค. 48)

         7. เตรียมการประเมินอธิการบดีตอนต้นปี 2549 (15 – 17 ก.พ.49) (ครบรอบ 1 ปี การดำเนินงาน วาระ 2)

         8. ประสานงานกับกองแผนงานจัดทำรายงานประจำปีของมหาวิทยาลัย เนื่องจากปีนี้ท่านอธิการบดีอยากจะเน้นเรื่องการเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย” หรือ “Research-based University”

         9. ประสานงานกับสถาบันอุดมศึกษาในเครือข่ายวิจัยภาคเหนือตอนล่าง (14+1 สถาบัน) เพื่อคัดเลือกผลงานวิจัย และนำเข้าร่วมงาน University Fair ปลายเดือนนี้ (29 ก.ย. – 2 ต.ค. 48)

         10. เตรียมไปเป็นวิทยากรในงาน University Fair เกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ KM ใน มน. [ Link ]

         11. เตรียมประชุมเพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานรับการประเมินจาก กพร. กลางเดือนหน้า (ต.ค. 48)

         12. เร่งจัดทำรายงานสรุปผลการประเมิน IQA (Teaching Unit) ประจำปีการศึกษา 2547 เพื่อดำเนินการต่อไปที่กรรมการบริหาร สภามหาวิทยาลัย ต้นสังกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

         13. เตรียมประเมิน Non-teaching Unit ประจำปีงบประมาณ 2548 (จะมีการประเมินระหว่างเดือน ต.ค. – พ.ย. 48)

         14. เตรียมประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อทบทวนและหาข้อสรุปการดำเนินงาน IQA ตั้งแต่ปี 44-48 (5 ปีย้อนหลัง) เพื่อเขียนออกมาเป็นบทเรียน เป็นกรณีศึกษา อย่างที่เคยทำมาครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อปลายปี 2545

         15. เตรียมประชุมระดมความคิดเห็นครั้งใหญ่เพื่อปรับระบบและกลไกของ IQA ใหม่หมด ให้สอดคล้องกับ EQA (สมศ. รอบ 2) เรื่องนี้ต้องเร่งดำเนินการด่วน เพื่อจะได้ไม่สับสนตอนประเมิน IQA ปลายปีการศึกษา 2548 (มิ.ย. – ก.ค. 49)

         16. เร่งเขียนรายงานการประเมินภายนอกส่งให้ สมศ. อีกหนึ่งสถาบันอุดมศึกษา และต้องให้เสร็จต้นเดือนหน้า ขณะนี้ควรจะเสร็จแล้วด้วยซ้ำ ที่ล่าช้าเนื่องจากมีความเข้าใจผิดในการประสานงานกันภายในทีมผู้ประเมินซึ่งอยู่กันคนละทิศคนละทาง และต่างคนก็ต่างยุ่งในเรื่องของตนเอง

         17. เร่งเขียนต้นฉบับเรื่องเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาใน มน. ให้กับ QA Forum (ทปอ.) เพื่อรวมเล่มเป็นตำรา กำหนดส่งต้นเดือนหน้าเช่นกัน ผมเพิ่งได้รับหนังสือแจ้งเรื่องการแบ่งงาน รู้ทีหลังคนอื่นเนื่องจากไม่ได้เข้าร่วมประชุม QA Forum มา 2 ครั้งติดกัน

         18. เร่งจัดทำ (ปรับ) Action plan ปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ของทั้งงานวิจัยและของ QAU ให้ชัดเจนหลังจากได้รับอนุมัติยอดเงินจากส่วนกลางอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 ก.ย. 48  (ผ่านสภามหาวิทยาลัย) ซึ่งก็มีเรื่องทำให้ต้องคิดต้องทำมากกว่าที่คิดไว้มากกก....  เนื่องจากถูกตัดงบประมาณ ได้รับน้อยกว่าเมื่อปีที่แล้วด้วยซ้ำ ทั้ง ๆ ที่ activity ในรอบปีต่อไปมีแต่เรื่องสำคัญ ๆ ทั้งนั้น โดยเฉพาะที่ QAU (ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รวม 5 คนเช่นเดียวกับงานวิจัย) ที่ต้องรับผิดชอบเรื่อง KM ของมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นจากงานเดิมในปีนี้ด้วย ยังไม่ได้รับการพิจารณาเรื่องงบประมาณที่เกี่ยวกับ KM เลย โดยภาพรวมงบประมาณของ QAU ลดลงจากปีที่แล้วค่อนข้างมาก ทั้ง ๆ ที่ผมตั้งความหวังว่าน่าจะเพิ่ม จะได้เร่งเครื่องเรื่อง KM และ EQA (สมศ. รอบ 2) สุดท้ายเราได้ลดลง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เรารู้สึกท้อถอยครับ เนื่องจากท่านอธิการบดีรับปากว่าจะเพิ่มให้ภายหลังตามความจำเป็น ซึ่งที่ผ่าน ๆ มา ท่านก็พิจารณาเพิ่มให้มาโดยตลอดทุกปี

         19. ..............

         ขอทบทวนให้ฟังเท่านี้ก่อนครับ ต้องรีบไปทำอย่างอื่นแล้ว ขอให้ตัวผมเองโชคดี และสุดท้ายขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับผู้ที่จะได้รับรางวัล “สุดคะนึง” คนต่อไปด้วยครับ ขอบคุณครับ

         ป.ล. ผมไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่ QAU ได้ทำหนังสือตอบขอบคุณว่าผมได้รับ “เสื้อสามารถ” จากคณะกรรมการแล้วหรือยัง ถ้ายังผมขอโอกาสนี้ แจ้งว่าผมได้รับเรียบร้อยแล้วด้วยความภาคภูมิใจและรู้สึกขอบคุณ ถ้าเคยทำหนังสือตอบมาแล้วก็ขอขอบคุณอีกครั้งครับ

         วิบูลย์ วัฒนาธร

หมายเลขบันทึก: 4743เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2005 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

เจ้าหน้าที่ QAU รับทราบและพร้อมปฎิบัติค่ะ  (จริงมั้ยคะทุกคน ?)

รับทราบค่ะ เจ้านาย ... ขอเพิ่ม ข้อ 19. นิดนึงนะคะอาจารย์ ไม่รู้อาจารย์ (ทำเป็น) ลืมหรือเปล่า

19. บันทึกเรื่องดี ดี อย่างที่เคยทำ (บ้าง) มาตลอด (2 เดือนมานี้) ลง NUKM blog ให้สมาชิก ได้รับทราบสิ่งดี ดี เช่นเคยด้วยนะคะอาจารย์

เจ้าหน้าที่ QAU ขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์และจะช่วยทำงานในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบให้เต็มความสามารถอีกแรงหนึ่งด้วยค่ะ

ยินดีและพร้อมที่จะปฏิบัติค่ะ

โอ้พระเจ้า เหนื่อยแทนเลยครับ ข้าพเจ้า เจ้าหน้าที่ QAU

พร้อมลุย  พร้อมขับเคลื่อน เต็มกำลังครับนายท่าน

จะปฏิบัติงานในหน้าที่ให้ดีที่ซู้ด ๆๆๆๆๆ

พวกเราทำงานกัน จนไม่มีเวลาท้อ ไม่มีเวลาทบทวน วันนี้พวกเราคงต้องทบทวน กันบ้างแล้วหละค่ะ..ให้กำลังใจอาจารย์วิบูลย์ นะคะ

ตลอดระยะเวลา หลายเดือนที่รู้จัก อาจารย์วิบูลย์มา หนูคิดว่าอาจารย์เป็นอาจารย์ที่ทำงานเก่งมาก สนุกกับการทำงาน และต้องการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยนเรศวรของเรา อาจารย์ทำงานแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีเวลาราชการ ไม่มีวันหยุดเสาร์ อาทิยต์ ไม่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์อยากให้อาจารย์เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการเป็นผู้บริหารที่มีศักยภาพ มีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการบริหารจัดการโดยเฉพาะทรัพยากรบุคคล อาจารย์ให้ความเป็นกันเองกับผู้ร่วมงาน พี่ที่ทำงานดูเหน็ดเหนื่อยแต่มีความสุขกับการทำงาน และพร้อมจะทำงานอย่างมีความสุข(จากที่ได้สัมผัสในงานนเรศวรวิจัย) อีกทั้งท่านอาจารย์ยังเปิดโอกาสให้นิสิตระดับปริญญาตรีเข้ามาร่วมงานต่างๆ เช่น น้องปืน เด็กศึกษาฯเทคโน  ที่พอใจและพร้อมที่จะช่วยงานอาจารย์เสมอ 

ชื่นชมและส่งกำลังใจให้อาจารย์ค่ะ

มีอีก 2 เรื่องสำคัญที่พี่นาง(หัวหน้างานวิจัย) เตือนอาจารย์ รบกวนเตือนคร่าว ๆ นะคะ

1. เรื่องของ ศ.ดร.จำรัส ลิ้มตระกูล เกี่ยวกับการจัดสรรทุน 10 ล้าน และ

2. เรื่องของ ผศ.ดร.ฉัตรนภา พรหมมา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เสนออยากให้มีประชุมเกี่ยวกับการพิจารณาโครงการวิจัยภาคเหนือตอนล่าง

ทำได้งัยเนี่ย?  ทำได้งัย???

ส่งกำลังใจให้นะค่ะ

มาลินี  ธนารุณ

เรียน อ.วิบูลย์

       ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี สิ่งที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์คือการฝึกให้คิดและทำงานอย่างเป็นระบบ  (ทำงานแบบมีคุณภาพ) แต่ก็ยังไม่ได้แม้กระพี้หนึ่งของอาจารย์  วันนี้ในทีมงานวิจัยทุกคนทำงานกันด้วยความขยันขันแข็ง  ด้วยเพราะมีอาจารย์เป็นหลักยึด  

       สำหรับวันนี้คงต้องขอจากอาจารย์อย่างหนึ่ง   นั่นก็คือ  ขอให้อาจารย์ช่วยดูแลสุขภาพของตนเองให้มาก ๆ ๆ ด้วยนะคะ

                   เคารพรัก

                    จรินทร 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท