เปิดเพลงให้ลูกค้าฟังในร้านอาหาร...ละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่???


ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์..." ความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดย ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น "เพื่อหากำไร"

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8220/2553

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่ม จำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง "กำลังใจที่เธอไม่รู้" อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยฟัง ไม่ปรากฎว่าจำเลยเปิดเพลงเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนหรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าว ซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6380/2553 

ความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไรตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น "เพื่อหากำไร" แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยนำเพลงที่บันทึกในเครื่องคอมพิวเตอร์โดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ขาย เสนอขาย มีไว้เพื่อขาย อันเป็นการกระทำเพื่อการค้าก็ตาม แต่การกระทำ "เพื่อการค้า" กับการกระทำ "เพื่อหากำไร" มีความหมายแตกต่างกันได้ ดังจะเห็นได้จากการที่ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง บัญญัติให้การละเมิดลิขสิทธิ์ตามมาตรา 31 เพื่อการค้า ต้องระวางโทษหนักกว่าการกระทำเพื่อหากำไรตามมาตรา 70 วรรคหนึ่ง ทั้งตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาจะหากำไรโดยตรงจากการนำเพลง ดังกล่าวออกแพร่เสียง จึงเป็นคำฟ้องที่บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ไม่ครบถ้วนไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดี ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้น วินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10579/2551

โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์..." ความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดย ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น "เพื่อหากำไร" เท่านั้น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องปรากฏแต่เพียงว่า จำเลยเปิดแผ่นเอ็มพีสามและซีดีเพลงให้ลูกค้าในร้านอาหารได้ร้องและฟังเพลง ของผู้เสียหาย 1 แผ่น "เพื่อประโยชน์ในทางการค้า" ขายอาหารและเครื่องดื่มของจำเลยแต่ไม่ปรากฏในคำฟ้องว่าจำเลยกระทำเพื่อหา กำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ร้องและฟังเพลงโดยเรียกเก็บค่าตอบแทนจาก ลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าวหรือเรียกเก็บรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่ม แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ตาม พ.ร.บ.จั้ดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณา คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185

หมายเลขบันทึก: 474092เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2012 10:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 17:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท