บันทึกปุจฉา-วิสัชนาอันทรงคุณค่า กรณีศึกษาชุมชนแนวปฏิบัติเรื่องผึ้ง


ควรพิจารณาทำความตกลงเรื่องการจดบันทึกการเรียนรู้ของสมาชิกวงผู้เลี้ยงทุกคน แล้วเอามา ลปรร. ตอนประชุม หรือถ้าให้แต่ละกลุ่มสามารถเอาประเด็นการเรียนรู้หรือคำถามสำคัญๆ ลง บล็อก ได้ ก็ยิ่งดี

ท่านอาจาย์หมอวิจารณ์ ท่านได้กรุณาสละเวลาอันมีค่าของท่าน ช่วย Comment โครงการจัดตั้งชุมชนแนวปฏิบัติเรื่องผึ้งของผม (ทีมงานจะตามมาภายหลัง) และผมได้พยายามตอบหรือชี้แจงดังข้อความต่อไปนี้ครับ

วิจารณ์ พานิช เมื่อ พฤ. 29 ก.ย. 18:45:30 2005 เขียนว่า:
ขอเอาใจช่วยครับ  
ผมมีข้อสงสัยดังนี้
๑.     ทุน ๒๐,๐๐๐ บาทนี้ขอใช้ในเวลา ๔ ปี หรือ ๑ ปีครับ  ข้อ ๖. ควรต้องบอกด้วยว่าเงิน ๒๐,๐๐๐ บาท เอาไปใช้ทำอะไรบ้าง
ตอบ ข้อ 1และ 6 ก่อนนะครับ ทุน 20,000 บาท ใช้ภายใน 3 เดือน ไม่เกิน 1 ปี ครับ และ ใช้ทำอะไรบ้าง แบ่งเป็นโครงการที่ 1 ประมาณ 10,000 บาท ใช้เป็นค่าเช่าห้องประชุมประมาณ 1,500 บาท ค่าอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 5,000 บาท (50 คน x 100 บาท) ค่าจัดการ ค่าวิทยากรและค่าติดต่อ อีก 3,500 บาท (แต่จะพยายามใช้อย่างประหยัดที่สุด วิทยากรอาจขอฟรี หากทำให้เหลือทุนสัก 3-4 พันบาท จะเก็บไว้เป็นทุนในการประสานงานเรื่องอื่น ๆ ต่อ ครับ)
แผนงานที่ 2 จะใช้อีก 10,000 บาท ส่วนมากเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ในการปฏิบัติ และใช้เป็นค่าอาหารกลางวัน 2 วัน (ค่าใช้จ่ายจริงอาจจะรายงานผ่าน บล็อก ครับ)
  ๒. ผู้รับผิดชอบเขียน บล็อก มีใครบ้างครับ    อ่านแล้วคล้ายกับว่า อ. สมลักษณ์คนเดียวเขียน ๓ บล็อก
       ตอบ ขณะนี้อาจารย์สมลักษณ์ เขียน คนเดียวทั้ง 3 บล็อกครับ (แต่ละบล็อกมีวัตถุประสงค์ต่างกัน)  แต่จะใช้ เวทีการจัดกิจกรรม ชักชวนให้นักวิชาการท่านอื่น  มาเขียน blog เพิ่มครับ
Comment
 ๑. กิจกรรมที่จะทำคล้ายๆ มี ๒ วง   คือวงนักวิชาการ/วิจัย    กับวงผู้เลี้ยงผึ้ง    การมี ๒ วง มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
   - ข้อดี  เป็น KS/KM ไปในตัว  เพราะมีการ ลปรร. ข้ามกลุ่ม
  - ข้อเสีย  ไม่ชัดเจนว่าใครรับผิดชอบ action/การปฏิบัติ ส่วนไหน   และถ้าไม่ระวังความสัมพันธ์อาจเดินไปในทาง technology transfer ไม่ใช่ KM
     ตอบครับ ผมคิดเห็นว่า KM ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักวิชาการครับ แต่สำหรับกลุ่มเกษตรกรแล้วยิ่งไม่เข้าใจเลยครับ คราวนี้ผมก็พยายามจะดึงนักวิชาการเข้ามาร่วมแก้ไขปํญหาให้กับเกษตรกร โดย คิดจากนำปัญหาของเกษตรกรมาช่วยแก้ไขมากกว่าการคิดว่าตัวนักวิชาการอยากทำอะไร ขณะที่เกษตรกรยังกลัวกำแพงของมหาวิทยาลัย จึงยังไม่เข้ามา และอาจไม่ไว้ใจนักวิชาการ จึงพยายามดึงให้เข้ามาในมหาวิทยาลัย ครับ อย่างนี้ผมเข้าใจว่าค่อนข้างจะเป็น technology transfer ครับ และเกษตรกรส่วนใหญ่ เข้าใจว่ามหาวิทยาลัยต้องเป็นแบบนี้ แต่ในแผนงานที่ 1 นี้ ต้องการให้เป็นแบบ KM ครับ ผมพยายามทำหน้าที่เป็นคุณอำนวย ครับ โดยจะมีท่านดร.วิบูลย์ มาช่วยทำให้ไม่หลงทาง แผนงานนี้พยายามที่จะดึงศักยภาพในตัวเกษตรกร ที่หลายคนมีความรู้ดี แต่ไม่กล้านำออกมาใช้ และถึงนำมาใช้ก็ยังทำงานเป็นทีมไม่ได้  ผมพยายามจะดึง Knowledge ของพวกเขาออกมากันก่อนครับ แล้วค่อยๆสร้างให้เกิดความมั่นใจ (เป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์) และต้องช่วยให้พวกเขาทำงานเป็นทีมได้ครับ ช่วงแรก ๆ นี้ ผมจะพยายามไม่ให้เกิดการ ลปรร. ข้ามกลุ่มครับ
 ๒. แผนงานที่ ๑  ดีมาก   แต่ยังไม่ชัดว่าการ ลปรร. แต่ละครั้งต้องมาที่ มน. ทุกครั้ง  หรือจะวนไปตามพื้นที่ของกลุ่มเลี้ยงผึ้ง    และไม่ชัดว่า การ ลปรร. ทุกครั้งต้องมีทีม มน. เป็นผู้จัดและอำนวยความสะดวก   หรือจะให้แต่ละกลุ่มเขาติดต่อกันเองด้วย   เช่นโทรศัพท์ไต่ถามกัน   มีการจดบันทึกการทดลอง   เอาไว้นำเสนอเวลาไปเยี่ยมกันเองและเวลามาประชุมกัน ฯลฯ    ผมมองว่าต้องมีกระบวนการส่งเสริมให้เกิกการ ลปรร. อย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุด   มาที่ มน. เท่าที่จำเป็นเท่านั้น 
ตอบครับ ข้อนี้ เป็นแค่จุดเริ่มต้นครับ ปกติผมกับกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งมีการประชุมกันทุกเดือนครับ แต่การประชุมจะเป็นแบบ NATO ครับ คือ พอมีมติอะไรออกมาแล้ว มักจะไม่ได้ทำ (ไม่ใช่ทำไม่ได้) คือขาดเจ้าภาพหรืออาสาสมัครที่อยากจะทำ ผมหวังว่าเวทีนี้ (แผนการที่ 1 อาจจะมีเกษตรกรบางคนเข้าใจ และเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะนำความรู้จาก ลปรร. ไปปฏิบัติกันบ้าง และสามารถทำงานเป็นทีมได้)  และต่อไปทีมมน. ไม่ต้องเป็นผู้จัดแต่เป็นผู้อำนวยความสะดวก  ซึ่งอนาคตต่อไปน่าจะเป็นอย่างที่ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์คาดหวังครับ คืออีกหน่อยเขาไปทำกันเองได้ แต่ต้องเข้าใจหลักการให้ดีเสียก่อน (ใช้ทุนของเขาเองครับ)
 
๓. แผนงานที่ ๒   ควรเลี่ยงสภาพ supply-push ให้มาก    คือต้องจัดให้ตามความต้องการของผู้เลี้ยงผึ้ง   ไม่ใช้นักวิชาการเป็นผู้กำหนด    และต้องไม่จำกัดเฉพาะตามความสามารถของนักวิชาการของ มน.    กล่าวคือถ้าผู้เลี้ยงตกลงกันว่าต้องการฟังการบรรยายเรื่อง X จาก ศ. ดร. ศิริวัฒน์ วงษ์ศิริ ของจุฬา   ทีม มน. ก็ช่วย facilitate ให้ (ผู้เลี้ยงอาจต้องลงขันค่าเดินทางและค่าตอบแทนกันเอง)   ทีม มน. ต้องไม่ตอบว่ามีบริการให้ตามความสามารถของ มน. เท่านั้น    คือต้องสร้างความสัมพันธ์แบบเปิดกว้าง
ตอบครับ ข้อ Comment นี้ มองได้ดังนี้ครับ คือ แผนงานที่ 2 เป็นความต้องการของกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งส่วนหนึ่ง (ไม่ใช่ทั้งหมดครับ) อยากให้ แม่บ้านของเขา ซึ่งบางคนไม่ได้มาเลี้ยงผึ้งด้วย ได้มีความรู้ในเรื่องการผลิตสินค้าพวกสบู่ แชมพู เกี่ยวกับการทำความสะอาดร่างกาย และต้องนำไปทดลองทำและประยุกต์เข้ากับวัตถุดิบที่ตัวเองมี เป็นความรู้ที่จะต้องนำไปปฏิบัติให้ได้ครับ ส่วนผู้ที่จะเข้าร่วมนี้ต้องเป็นคนที่สนใจจริงๆ ครับ เพราะจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเรื่องอาหาร (เช้า-เย็น) ค่าเดินทาง (น้ำมัน) ค่าเช่าที่พัก ส่วนเรื่องติดตามผล สามารถติดตามจากการโทรศัพท์หรือเดินทางไปเยี่ยมครับ
 ๔. ควรพิจารณาทำความตกลงเรื่องการจดบันทึกการเรียนรู้ของสมาชิกวงผู้เลี้ยงทุกคน    แล้วเอามา ลปรร. ตอนประชุม   หรือถ้าให้แต่ละกลุ่มสามารถเอาประเด็นการเรียนรู้หรือคำถามสำคัญๆ ลง บล็อก ได้ ก็ยิ่งดี
    ควรต้องทำความชัดเจนว่าการ ลปรร. ของผู้เลี้ยงผึ้งแบบ ไม่ใช่ F2F จะใช้วิธีใดบ้าง
ตอบครับ ข้อ 4 นี่สำคัญน่ะครับ ผมเกือบลืมไป และจำเป็นต้องทำมาก ผมพยายามจะเอา โมเดล ที่ผมเคยทำใช้กับนิสิตนะครับ คือ พวกที่มาเรียนวิชาการเลี้ยงผึ้ง ผมให้เขาจดใส่สมุดแห่งการเรียนรู้เรื่องที่ผมสอนหรือเรื่องอื่นที่เกี่ยวเนื่อง ถ่ายทอดมาเป็นตัวอักษร ผมเข้าใจว่า ใน 23 คนที่ผมสอน มีคนเข้าใจและทำได้ (คือถ่ายทอดได้ดี)  ไม่เกิน 5 คน และต่อไปก็เปิด บล็อกให้เขาได้เขียนกัน ซึ่งตอนเรียนเขาเข้าไปเขียนกันครบทุกคน แต่หลังจากสอบเสร็จแล้ว ผมคิดว่าอาจจะเหลือสัก 1 คนได้ที่จะเข้ามาเขียนต่อหรืออาจไม่เหลือเลย สำหรับในกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้ง ผมหวังว่าจะมีคนเขียนสมุดแห่งการเรียนรู้มาให้ผมช่วยดูสัก 10 คน แล้วต่อไปจะผลักดันให้คนรุ่นใหม่ (กลุ่มเกษตรกรของผมอายุเกิน 50 ปีเสียเป็นส่วนใหญ่ และไม่มีความสามารถเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เลย) เขียนบล็อกต่อไปครับ ซึ่งอาจจะมีแค่ 1-2 คนก็ยังดีครับ
 ๕. เรื่องแบบนี้ไม่มีการตัดสินได้-ตก ครับ    มีแต่ได้   แต่เราจะช่วยกัน comment ให้เกิดผลสำเร็จครับ
ตอบครับ ผมถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่อาจารย์หมอวิจารณ์ได้กรุณาสละเวลาอันมีค่ามาช่วย Comment ครับ และช่วยเป็นกำลังใจให้ ผมสอนนิสิตเสมอครับว่า ข้อสอบของผมไม่มีถูกหรือผิดครับ แต่ผมจะขอดูวิธีคิดครับ
   ขออวยพรให้สำเร็จครับ    อ่านข้อ ๑๐ - ๑๓ แล้วชื่นใจแทน มน. ครับ

หมายเลขบันทึก: 4740เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2005 12:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
สมลักษณ์ วงศ์สมาโนดน์

ที่ผมต้องนำมาบันทึกไว้ในบล็อกของผม 1.เพื่อกันลืม 2. เพื่อไม่ให้หลงทางครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท