มารดาแห่งศรัทธาชน


ท่านหญิงอาอิชะฮ์ มารดาของบรรดาผู้ศรัทธา

          ท่านหญิงอาอิชะฮฺ ผู้ได้รับฉายานามว่าเป็น “มารดาแห่งศรัทธาชน” สตรีผู้เป็นภรรยาทีรักยิง ของท่านนบีมุฮัมโดย...ฟารีดะห์   โต๊ะทอง

คำนำ

 ในโลกนี้ และเป็นผู้ที่ท่านนบี รับรองว่าเป็นภริยาของท่านในสรวงวสรรค์        อาอิชะฮ์ เป็นบุตรีของอบูบักร อัศศิดดิก ซึงเป็นสหายสนิทของท่านนบีมุฮัมหมัด  และเป็นชายคนแรกที่เข้ารับอิสลาม  อาอิชะฮ์เป็นสตรีที่มีความประเสริฐเหนือบรรดาสตรีทั้งหลาย โดยท่านนบี ได้กล่าวถึงความประเสริฐของท่านหญิงอาอิชะฮ์ว่า

ความเลอเลิศของอาอิชะฮ์ ที่เหนือกว่าสตรีทั้งหลายนั้น เหมือนกับความเลอเลิศของษะรีด (อาหารชนิดหนึ่ง) ที่เหนืออาหารอื่นๆ(รายงานโดยบุคอรีย์)

          เนื่องจากท่านหญิงอาอิชะฮฺ เป็นอัจฉริยสตรีที่มีความเฉลียวฉลาด มีความคิดหลักแหลม มีปฏิภาณไหวพริบ มีวาทศิลป์ พูดจาไพเราะอ่อนหวาน และเป็นผู้ที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรม จริยธรรม มีความรอบรู้ในศาสตร์ต่างๆ ทั้งวิชาอัลกุรอาน อรรถาธิบายอัลกุรอาน อัลฮะดีษ ศาสนบัญญัติ นิติศาสตร์ บทกวี การแพทย์ ประวัติศาสตร์อาหรับ และการสืบเชื้อสายวงศ์ตระกูล

         ท่านหญิงอาอิชะฮ์ เป็นผู้ที่มีความจำยอดเยี่ยม เป็นผู้รู้คนสำคัญ และเป็นนักรายงานฮะดีษ ซึ่งจัดอยู่ในลำดับต้นๆ ของบรรดานักรายงานฮะดิษทั้งหมด โดยได้รายงานฮะดีษมากถึง 2,210 ฮะดีษ นอกจากนี้ ในบรรดาภรรยาทั้งหลายของท่านนบี อาอิชะฮ์เป็นภรรยาที่ท่านนบี   รักมากที่สุด เพราะอาอิชะฮ์ มีความพิเศษหลายประการ และทำหน้าที่ในฐานะภรรยาได้อย่างดีเยี่ยม ในการสร้างความสุขให้กับชีวิตของท่านนบี

         จากการที่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับท่านนบี  อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเยาว์ ท่าน หญิงอาอิชะฮ์ จึงได้รับคำแนะนำ คำสั่งสอน และความรู้ อย่างมากมาย ทั้งในด้านชีวิตความเป็นอยู่ และด้านศาสนา รวมทั้งบทบาทและหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติต่ออัลลอฮฺ ต่อตนเอง ต่อครอบครัว และต่อสังคม จนกลายเป็นผู้ที่มีความรู้อย่างกว้างขวาง และเป็นแบบอย่างที่ดีที่สุด แก่บรรดาสตรีผู้ศรัทธา ยากที่จะหาสตรีใดบนโลกนี้เทียบเคียงได้

 ประวัติชีวิตของท่านหญิงอาอิขะฮ์ (เกิด – ตระกูล – การเติบโต)

1. การกำเนิด

         ไม่มีหนังสือประวัติศาสตร์ และชีวประวัติเล่มใด ที่กล่าวถึงหรือยืนยันถึงวันเกิด ที่แท้จริง ดังนั้น ประเด็นเรื่องอายุของท่านหญิงอาอิชะฮ์ จึงยังคงเป็นประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่ เนื่องด้วยในยุคสมัยนั้น ยังไม่มีระบบการจดทะเบียนการเกิด การตาย หรือการบันทึกเรื่องราวเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่มีปฏิทิน หรือระบบการนับวันที่เที่ยงตรง ดังนั้น บันทึกเหตุการณ์ทั้งหลาย ได้ถูกเก็บรักษาไว้ด้วยความจำ  ซึ่งอาจจะเกิดความคลาดเคลื่อนได้ กอปรกับความต้องการบิดเบือนความจริงโดยพวกตลบตะแลงและศัตรู (เอส เอ็ม มะดานี อับบาซี)

2. วงศ์ตระกูล

           ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เป็นบุตรีของอบูบักร อัศศิดดิก กับนางอุมมุรูมาน เมื่อสืบเชื้อสายย้อนขึ้นไป ท่านหญิงเป็นชาวกุเรช ตระกูลตัยมียะห์จากทางด้านพ่อ และตระกูลกินานียะห์จากทางด้านแม่ ดังนี้ (Ibn Sa’d, 1410/1990: 8: 46)

ตระกูลฝ่ายบิดา: อา อิชะฮฺ บินตุ อับดุลลฮฺ (อบูบักร) อิบนุ อุษมาน (อบูกุฮาฟะห์) อิบนุ อามิร อิบนุ อัมรฺ อิบนุ กะอฺ อิบนุ สะอดฺ อิบนุ ตัยมฺ อิบนุ มุรเราะฮฺ อิบนุ กะอบฺ อิบนุ ลุอัย

ตระกูลฝ่ายมารดา: อาอิชะฮฺ บินตุ อุมมุรูมาน (ซัยนับ หรือ ดะอดฺ) บินตุ อุมัยรฺ อิบนุ อามิรอิบนุ อุวัยมิรฺ อิบนุ ดะฮฺมาน อิบนุ อัลหาริษ อิบนุ ฆอนฺม อิบนุ มาลิก อิบนุ กินานะฮฺ

         อัฏเฏาะบะรี (Al-Tabari, 1407/1987: 2: 497-551) ได้รายงานว่า ตระกูลของท่านหญิง ทางฝ่ายบิดาได้บรรจบ กับตระกูลของท่านรอซูล ที่มุรเราะฮฺ อิบนุ กะฮฺ อิบนุ ลุอัย

พี่น้องร่วมบิดา: ท่านหญิงฯมีพี่น้องร่วมบิดาทั้งหมด (รวมท่านหญิงด้วย) 6 คน ได้แก่ อับดุลลอฮฺ อัสมาอฺ อับดุรเราะฮฺมาน ท่านหญิงอาอิชะฮฺ มุฮัมหมัด และอุมมุกัลษูม

       ครอบครัวของท่านหญิงฯเป็นครอบครัวที่รํ่ารวย และเป็นครอบครัวแรกที่ได้รับแสงสว่างแห่งอิสลาม

3.  ชื่อและฉายานาม

          ชื่อจริง:  คือ อาอิชะฮ์  ซึ่งหมายถึง ผู้มีชีวิตชีวา หรือ ผู้ขายขนมปัง  โดยคำว่า “อาอิชะฮฺ” มาจากคำว่า “อาอิช”  ซึ่งหมายถึง “ขนมปัง” หรือ “การมีชีวิต” และท่านนบี   เคยเรียกเธอว่า “อาอิช” เมื่อครั้งที่ญิบรีลได้ส่งคำกล่าว สลาม มาถึงเธอ

ชื่อเล่นและฉายานาม: ชื่อเล่นหรือฉายานามของท่านหญิงฯนั้น มีมากมาย อาทิเช่น “บินตุ อบีบักร” หมายถึง บุตรีของท่านอบูบักร  “บินตุ อัศศิดดิก” หมายถึง บุตรีของชายผู้ซื่อสัตย์ หรือ “อัศศิดดีเกาะฮฺ บินตุ อัศศิดดิก”หมายถึง หญิงผู้ซื่อสัตย์บุตรีของชายผู้ซื่อสัตย์  “มุวัฟฟะเกาะฮฺ” หมายถึง ผู้หญิงที่ได้รับความสำเร็จ  “สุมัยรอฮฺ” หมายถึง หญิงผู้มีแก้มแดงอมชมพู  “อัลมุบัรเราะฮฺ” หมายถึง หญิงผู้ได้รับการยืนยันความบริสุทธิ์จากฟากฟ้ า  “ฮะบีบัต รอซูลุลลอฮฺ” หรือ “ฮะบีบัตฺ ฮะบีบิลลาฮฺ” หมายถึง หญิงที่รักของท่านรอซูล  หรือหญิงที่รักของผู้เป็นที่รักของอัลลอฮฺ  “ฮุมัยเราะฮฺ” หมายถึง หญิงผู้มีผมแดง เพราะคำว่า “อัล-ฮัมรอ” ในภาษาของชาวฮิญาซ หมายถึง ผมสีแดงสลวยและสวยงาม ซึ่งไม่ค่อยมีปรากฏในหมู่พวกเขา และท่านนบี  ได้บอกผู้คนให้เอาศาสนาจาก “หญิงผมแดงคนนี้”

4.  ชีวิตในวัยเด็กและการเติบโต

          ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เป็นเด็กที่ชอบเล่นสนุกสนาน ชอบมีการเคลื่อนไหว มีความคิดเป็นผู้ใหญ่ เป็นเด็กที่บริสุทธิ์ แต่แฝงด้วยความฉลาดหลักแหลม มีความกระฉับกระเฉงว่องไว และมีความจำที่ดีเลิศ ท่านเติบโตมาในครอบครัว ที่อบอุ่นและอิ่มเอิบ ไปด้วยสัจธรรมแห่งอิสลาม อย่างแท้จริง เพราะพ่อของท่านเป็นสหายสนิทของท่านนบี   ซึ่งท่านนบี   จะมาเยี่ยมเยียนบ้านสหายสนิท เป็นประจำสม่ำเสมอ  ท่านนบี   และอบูบักจะนั่งคุยถึงแผนงานต่างๆ ที่ได้กำหนดไว้ เป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยมีท่านหญิงอาอิชะฮ์นั่งเล่นอยู่ใกล้ๆ

          จากการสังเกต และความจำอันหลักแหลม ท่านสามารถจดจำ และเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ท่านนบี  และพ่อกับแม่ได้แสดงออกเป็นแบบอย่าง ทั้งด้านกิริยาท่าทาง คำพูด การปฏิบัติ หลักธรรมคำสอน ตลอดจนหลักปฏิบัติของศาสนาอิสลาม กอปรกับการถูกอบรมเลี้ยงดูในบรรยากาศที่เป็นมุสลิม และได้รับการฝึกฝนอบรม ให้เป็นลูกทีกตัญญูต่อบิดามารดา เป็นผู้โอบอ้อมอารีย์ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ อดทน ยืนหยัดอย่างมั่นคง ในการต่อสู้เพื่อสัจธรรม จึงทำให้ท่านมีความเลื่อมใสศรัทธา ต่อศาสนาอิสลาม ด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ และกระตือรือร้นมาตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเยาว์

         นอกจากนี้ท่านหญิงอาอิชะฮ์ จะมีลักษณะเด่นบางประการที่ฉายแวว และแสดงถึงความพิเศษนั้น ออกมาตั้งแต่วัยเด็ก เช่น ท่านมีความรู้สึก ถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ แสดงออกถึงการมีมารยาทที่ดี และให้ความเคารพผู้อาวุโส

ท่านหญิงอาอิชะฮ์ ชอบเล่นตุ๊กตาและชิงช้า ครั้งหนึ่งขณะที่กำลังเล่นตุ๊กตาอยู่นั้น ท่านนบี  ได้เดินผ่านมา และสังเกตเห็นของเล่นชิ้นหนึ่งเป็นตุ๊กตาม้ามีปีก

ท่านนบี  จึงถามว่า “อาอิชะฮ์ อะไรจ๊ะนี่ ? ม้ามีปีกด้วยหรือ ?”

ท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้ตอบทันทีว่า “ทำไมจะไม่มีละค่ะ? ก็ม้าของนบีสุลัยมานยังมีปีกเลย”

ท่านนบี   รู้สึกขำ และยิ้มให้กับคำตอบอันฉับพลัน ซึ่งคำตอบนี้ แสดงให้เห็นถึงสติปัญญา สัญชาตญาณ และความรู้ในเรื่องศาสนาของท่านในขณะทียังอยู่ในวัยเยาว์

         สำหรับรูปร่างลักษณะ และบุคลิกของท่านหญิงอาอิชะฮฺนั้น ในขณะที่อยู่ในวัยเด็ก ท่านมีลักษณะผอมบาง แต่เมื่ออย่างเข้าสู่วัยดรุณ ท่านเป็นผู้หญิงที่มีรูปร่างหน้าตาอิ่มเอิบ ใบหน้างดงามผุดผ่อง สูงปานกลาง ผิวสีขาวอมชมพู เป็นคนที่พูดจาไพเราะฉาดฉาน มีความเฉลียวฉลาดอาจหาญ ชอบความสวยงามและของหอม

5.  การแต่งงาน

          ก่อนที่ท่านนบี จะได้แต่งงานกับท่านหญิงอาอิชะฮฺนั้น ท่านนบี  ได้ฝันเห็นอาอิชะฮ์ เป็นเวลาสามคืนติดต่อกัน โดยท่านญิบรีลได้นำรูปอาอิชะฮ์ ห่อด้วยผ้าไหมมาให้ท่านนบี  แล้วกล่าวแก่ท่านนบีว่า นี่คือ ภริยาของท่าน เมื่อท่านนบี  เปิดดู ก็พบว่าเป็นอาอิชะฮ์

ท่านนบี   จึงกล่าวว่า " หากเป็นพระประสงค์ของเอกองค์อัลลอฮฺ มันก็จะบังเกิดขึ้น ตามพระประสงค์ของพระองค์ " (บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม)

         เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า ท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้แต่งงานกับท่านนบี เมื่อเธออายุได้ 6 หรือ 7 ขวบและในตอนที่ท่านอายุได้ 9 หรือ 10 ขวบ อาอิชะฮ์ได้ถูกส่งไปอยู่กับท่านนบี  ซึ่งเป็นสามีของนาง

         ในเรื่องของอายุนั้น ได้เกริ่นนำไว้ในหัวข้อวันเกิดแล้วว่า ไม่มีหนังสือประวัติศาสตร์ และชีวประวัติเล่มใด ที่กล่าวถึง หรือยืนยันถึงวันเกิดที่แท้จริงของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ดังนั้น ในเรื่องอายุของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ช่วงแต่งงานกับท่านนบี  จึงมีประเด็นสำคัญ ที่สมควรจะต้องได้รับการพิจารณา ดังต่อไปนี้ (เอส เอ็ม มะดานี อับบาซี)

          1)  อิหม่ามบุคอรีย์ รายงานจากท่านหญิงอาอิชะฮฺว่า เมื่อซูเราะห์ อัลเกาะมัร ถูกประทานมา ท่านได้โตแล้ว และยังจำบางอายะห์ที่ได้ยินมาจากพ่อแม่ของนางได้ อายะห์นี้ถูกประทานมาในปีที่ 5 ของการประกาศอิสลาม ดังนั้น นางน่าจะมีอายุอย่างน้อยที่สุด 4 ขวบ นั่นหมายความว่า นางเกิดในปีแรก หรือปีที่สองของการที่ท่านนบี  ประกาศอิสลาม ดังนั้น ท่านหญิงอาอิชะฮ์ จะต้องมีอายุระหว่าง 9 หรือ 10 ขวบ เมื่อนางแต่งงาน

         2)  ท่านหญิงฟาติมะห์ ลูกสาวของท่านนบี  มีอายุมากกว่าท่านหญิงอาอิชะห์ 5 ปี ท่านหญิงฟาติมะห์ เกิดก่อนที่พ่อของนางจะประกาศอิสลาม 5 ปี ในขณะที่กำลังมีการบูรณะซ่อมแซมกะบะฮฺ ดังนั้น วันเกิดของท่านหญิงอาอิชะฮฺ ก็น่าจะเป็นปีเดียวกับปีที่มุฮัมมัด ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนบี   และได้แต่งงาน ขณะที่มีอายุได้ 10 ขวบ ในปีที่ 10 ของการเป็นนบี  จากนั้นท่านหญิงอาอิชะฮ์ได้ถูกส่งไปอยู่กับท่านนบี  หลังจากนั้นอีก 5 ปี ดังนั้น นางจะต้องมีอายุได้ 14-15 ปี เมื่อไปเป็นภรรยาของท่านนบี  โดยพฤตินัย

          3)  เป็นที่เห็นพ้องกันโดยทั่วไปว่าตอนที่มีการอพยพนั้น อัสมา พี่สาวของอาอิชะฮ์ อายุได้ 27 ปี และเป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่า ท่านหญิงอาอิชะฮ์อายุน้อยกว่าอัสมา 10 ปี (บิดดายะตุนนิฮายะฮฺเล่ม 8 หน้า 446 อ้างโดยเมาลานา ตะมันนาอิมาดี ในนิการ์ ปากีสถาน, พฤศจิกายน 1964) ดังนั้น อายุของอาอิชะฮ์ในตอนที่มีการอพยพ จึงน่าจะเป็นช่วงระยะ 17 ปี

          4)  เป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่าการแต่งงานของท่านหญิงอาอิชะฮฺมีขึ้นในปีเดียวกับที่ท่านนบี  ได้อพยพไปยังมะดีนะห์ ดังนั้น อายุนางในตอนนั้น จึงไม่น่าจะน้อยกว่า 17 ปี ท่านหญิงอาอิชะฮฺได้แต่งงานกับท่านนบี  ในเดือนเชาวาลของปีที่ 10 แห่งการเป็นนบี ด้วยมะฮัร 500 ดิรฮัม การแต่งงานครั้งนี้เป็นแบบอย่างของความเรียบง่าย โดยอบูบักร ผู้เป็นพ่อได้ประกอบพิธีแต่งงานให้ หลังจากแต่งงานกับท่านนบี  แล้ว นางยังมิได้ถูกส่งตัวไปอยู่กับท่านนบี  จนกระทั่งท่านนบี  และครอบครัวของท่านหญิงอาอิชะฮ์ ได้อพยพไปยังมะดีนะห์ 

เมื่อมาถึงมะดีนะห์ นางได้ล้มป่วยลง แต่หลังจากที่หายป่วยแล้ว อุมมุรูมานแม่ของนาง ก็คิดถึงเรื่องการส่งตัวให้แก่ท่านนบี   เมื่ออาอิชะฮ์อายุได้ 9 ขวบ (ขณะทีบางคนกล่าวว่าธออายุ 16-17 ปี ) และกำลังเล่นอยู่กับเพื่อนๆ แม่ของนางได้ให้คนไปตามอาอิชะฮ์มา และพานางเข้าไปในบ้าน ที่มีผู้หญิงชาวอันซอ รออยู่หลายคน เมื่อพวกผู้หญิงชาวอันซอรเห็นนางมา ก็แสดงความยินดีกับอาอิชะฮ์ และหลังจากนั้น ท่านนบี  ก็มาถึงที่นั่น ซึ่งการส่งตัวครั้งนี้มีขึ้นในเดือนเชาวาลเช่นกัน

          ทั้งการแต่งงาน และการทำพิธีส่งตัวของท่านหญิงอาอิชะฮ์นั้น ได้ถูกจัดขึ้นในเดือนเชาวาล ซึ่งเป็นการทำลายความเชื่อในเรื่องโชคลาง ไสยศาสตร์ของพวกอาหรับ ที่เชื่อว่าเดือนเชาวาล เป็นเดือนที่ไม่มีมงคล เนื่องจากสมัยก่อนหน้าอิสลาม ได้เกิดโรคระบาดขึ้นในเดือนนี้ รวมทั้งความเชื่อเดิมของชาวอาหรับ ที่จะไม่แต่งงานลูกสาวของตัวเองกับพี่ชาย น้องชายที่เป็นบุตรบุญธรรม  ดังนั้น เมื่อตอนที่ท่านนบี  ได้ทาบทามท่านหญิงอาอิชะฮ์ ซึ่งเป็นลูกสาวของท่านอบูบักร

ท่านอบูบักร จึงได้กล่าวว่า เนื่องจากท่านนบี เป็นพี่น้องร่วมศรัทธาของฉัน การแต่งงานจะทำได้อย่างไร

แต่ท่านนบี  ได้บอกกับท่านอบูบักรว่า ท่านเป็นแค่เพียงพี่น้อง ร่วมศรัทธาของฉันเท่านั้น จึงไม่มีข้อห้ามแต่ประการใด ที่จะแต่งงานท่านหญิงอาอิชะฮ์ให้กับท่านนบ  

ดังนั้น ทั้งการแต่งงาน และพิธีการส่งตัวของท่านหญิงอาอิชะฮ์ จึงเกิดขึ้นในเดือนเชาวาล

 

หมายเลขบันทึก: 473993เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2012 15:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 เมษายน 2012 23:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นบุคคลสำคัญที่น่าเคารพมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท