สัญญาจ้างอาจารย์ของมหาวิทยาลัยเอกชน...เป็นสัญญาทางปกครอง??????


“สัญญาทางปกครอง” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็น บุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทำสัญญาจ้างให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอาจารย์มีหน้าที่ให้การศึกษาหรือทำการสอนแก่นักศึกษาในหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดี กรณีจึงเป็นสัญญาทางปกครองที่มีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

เดิมเคยมีแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ที่ ๑๔/๒๕๕๐ (ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542) วินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับเขตอำนาจศาลเกี่ยวกับข้อพิพาทระหว่างอาจารย์ VS สถาบันอุดมศึกษาเอกชน กรณีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไว้ว่า " พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีพิพาทเกี่ยวด้วย สิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคสอง (๓) บัญญัติให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครอง คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามพระราช บัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ จ้างผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์ประจำตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยไม่ได้ทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้ถูกฟ้องคดีมอบหมายให้ผู้ฟ้องคดีสอนทั้งสิ้น ๕ วิชา เป็นที่ปรึกษา และงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของผู้ถูกฟ้องคดีโดยเฉพาะงานสอน และจ่ายค่าตอบแทนหรือเงินเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นรายเดือนประจำทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่วิทยาลัยเปิดภาคเรียนหรือปิดภาคเรียน ต่อมาประมาณเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๘ ผู้ถูกฟ้องคดีงดจ่ายเงินเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดีโดยไม่ทราบสาเหตุ ผู้ฟ้องคดีจึงติดตามทวงถาม ผู้ถูกฟ้องคดีมีหนังสือยืนยันไม่จ่ายค่าจ้างโดยอ้างว่าผู้ฟ้องคดีกระทำผิด ข้อตกลงด้วยวาจากับอธิการบดีของผู้ถูกฟ้องคดีและมีนักศึกษาร้องเรียนว่าผู้ ฟ้องคดีกระทำผิดจรรยาบรรณของการเป็นอาจารย์ ซึ่งเป็นความผิดวินัยที่ร้ายแรง ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือชี้แจงข้อกล่าวหาถึงอธิการบดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดียังเพิกเฉย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ย ให้รับผู้ฟ้องคดีกลับเข้าทำงานและจัดการเรียนการสอน พร้อมทั้งจ่ายเงินเดือนประจำและสิทธิประโยชน์ที่อาจารย์ประจำควรจะได้รับตาม กฎหมายจนกว่าจะสิ้นสภาพความเป็นพนักงาน และให้จ่ายค่าตอบแทนพิเศษที่ผู้ฟ้องคดีสอนเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานพร้อม ดอกเบี้ย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์ด้วยวาจาโดยมีข้อตกลงว่าจะจ่าย ค่าตอบแทนให้ก็ต่อเมื่อมีวิชาสอนเท่านั้น ถือเป็นการว่าจ้างให้เป็นอาจารย์สอนพิเศษ การว่าจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งอาศัย อำนาจตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๒๒ ในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดียังไม่มีระเบียบวิทยาลัยศรีโสภณ ว่าด้วยการเลือกสรร การคัดเลือก และการทำสัญญาจ้างทำงาน พ.ศ. ๒๕๔๗ แต่เมื่อระเบียบดังกล่าวใช้บังคับผู้ถูกฟ้องคดีก็มิได้ทำสัญญาว่าจ้างผู้ ฟ้องคดี เพราะผู้ถูกฟ้องคดีได้รับการร้องเรียนจากนักศึกษาในเรื่องความประพฤติของผู้ ฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่จัดชั่วโมงสอนให้และไม่จ่ายค่าตอบแทน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของวิทยาลัยศรีโสภณว่าด้วยการเลิกจ้าง ค่าชดเชย และค่าชดเชยพิเศษ พ.ศ. ๒๕๔๗ ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นอาจารย์ทำหน้าที่หลักด้านการสอนภายใต้ ระเบียบข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดี โดยจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีตลอดเวลาที่ทำงานให้ผู้ถูกฟ้องคดี สัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างแรงงานตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๗๕ การที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีผิดข้อตกลงตามสัญญาจ้างระหว่างผู้ฟ้อง คดีกับผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งมีคำขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายพร้อมดอกเบี้ย รวมทั้งจัดวิชาให้ผู้ฟ้องคดีสอน หากไม่ปฏิบัติขอให้จ่ายค่าชดเชยและค่าทดแทน จึงเป็นการฟ้องเรียกร้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีผิดสัญญาจ้างแรงงาน แม้ตามมาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ บัญญัติว่า กิจการของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครอง แรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ทั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อย กว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ก็เป็นเพียงการกำหนดมิให้นำกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์มาใช้บังคับเท่านั้น กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตาม ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ วรรคหนึ่ง (๑) คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคสอง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายถวิล ทองเซ่ง ผู้ฟ้องคดี วิทยาลัยศรีโสภณ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม"

 

แต่เมื่อปี 2553 ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยไว้ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำสั่งที่ ๓๗๓/๒๕๕๓ ว่าสัญญาจ้างอาจารย์ของสถาบันอุดมศึกษาเอกชน "เป็นสัญญาทางปกครง" จึงอยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลปกครอง

ผมจึงคัดลอกคำวินิจฉัยบางส่วนมา..เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันครับ....

" ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๑) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด... (๒) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อ หน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (๓) คดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทาง ปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎ คำสั่งทางปกครอง หรือคำสั่งอื่น หรือจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติ หน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง (๕) คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฟ้องคดีต่อ ศาลเพื่อบังคับให้บุคคลต้องกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด (๖) คดีพิพาทเกี่ยวกับเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง

โดยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันได้บัญญัตินิยาม “หน่วยงานทางปกครอง” ไว้ว่า หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ ดำเนินกิจการทางปกครอง คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนซึ่งมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. ๒๕๔๖ บัญญัติให้เป็นสถานศึกษาและวิจัย มีวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษา ส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัย ให้บริการทางวิชาการแก่สังคม และทำนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งการจัดการศึกษาอบรมให้แก่ประชาชนเป็นภารกิจพื้นฐานของรัฐที่รัฐจะต้องจัดทำหรือสนับสนุนให้เอกชนจัดทำ กรณีจึงเห็นได้ว่า แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะมิใช่กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีก็เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการบริการ สาธารณะด้านการศึกษาอันเป็นกิจการทางปกครองและใช้อำนาจทางปกครองในการดำเนินกิจการดังกล่าวตามกฎหมาย ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นหน่วยงานทางปกครองตามนัยมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ถูกฟ้องคดีคงเป็นหน่วยงานทางปกครองก็เฉพาะแต่ในกรณีที่กระทำการในการดำเนินกิจการทางปกครองและใช้อำนาจทาง ปกครองในการดำเนินกิจการดังกล่าวตามกฎหมายเท่านั้น คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีบอกเลิกสัญญาจ้างกับผู้ฟ้องคดี ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ที่ ๑๔๖/๒๕๔๘ เรื่อง ให้อาจารย์พ้นจากตำแหน่ง ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ โดยผู้ฟ้องคดีมิได้กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือกฎหมายแต่อย่างใด ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีมิได้จ่ายสินจ้างแทนการบอกเลิกจ้างล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่ผู้ฟ้องคดีให้ครบถ้วน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีใช้เงินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ข้อเท็จจริงในคดีนี้ผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีได้ทำสัญญาจ้างไว้แก่กัน ซึ่งตามนิยามคำว่า “สัญญาทางปกครอง” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้สัญญาทางปกครองหมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็น บุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีทำสัญญาจ้างให้ผู้ฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอาจารย์มีหน้าที่ให้การศึกษาหรือทำการสอนแก่นักศึกษาในหน่วยงานของผู้ถูกฟ้องคดี กรณีจึงเป็นสัญญาทางปกครองที่มีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อมาเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้บอกเลิกสัญญาจ้างกับผู้ฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าว กรณีจึงมีเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากสัญญาทางปกครอง คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ "

ดูฉบับเต็ม

http://cdn.gotoknow.org/ assets/media/files/000/781/ 241/original_1-3-53-373.pdf?1325999051

หมายเลขบันทึก: 473938เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2012 12:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

บ้าไปแล้ว คณะกรรมการชี้ขาดก็ยังยืนยันหลักเดิมว่า ไม่ใช่สัญญาทางปกครองแต่ศาลปกครองพยายามตีความเพื่อขยายเขตอำนาจขอตนอันเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท