สาลิกาเขียว


สาลิกาเขียว

นกในวงศ์อีกา (Corvid) มีแพร่กระจายอยู่อย่างกว้างขวางเกือบทั่วทุกมุมโลก และอาจเรียกได้ว่าเป็นนกที่ฉลาดที่สุด เห็นได้จากการที่หลายชนิดมีการเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จาก“เครื่องมือ”ต่างๆในสภาพแวดล้อมเพื่อหาอาหาร ลูกนกใช้เวลาค่อนข้างนานในการเจริญเติบโตเมื่อเทียบกับนกตระกูลอื่น ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะต่างๆที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตจากพ่อแม่และสมาชิกในฝูงมากกว่า มีการวิจัยพบว่าสัดส่วนน้ำหนักของสมองต่อร่างกายของนกตระกูลนี้เกือบจะเทียบเท่ากับลิงและโลมาเลยทีเดียว!

เราคุ้นหน้าคุ้นตากับอีกา (Crow) ตัวสีดำๆที่ดูไร้เสน่ห์ไม่น่าสนใจ กับเสียงแหบพร่าบอกยี่ห้อของมัน แต่ญาติในวงศ์เดียวกันของมันหลายชนิดมีสีสันที่สวยงามแปลกตามาก นกตระกูลนี้สามารถกินอาหารได้หลากหลาย ตั้งแต่ ผลไม้ แมลง สัตว์เลื้อยคลาน หนู ไปจนถึงซากสัตว์ นี่อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้สมองของมันมีการพัฒนามากกว่านกอื่นๆ

สมาชิกวงศ์อีกาที่สีสันสวยสดที่สุดคงหนีไม่พ้นนกสาลิกาเขียว (Common Green Magpie) ที่มีสีลำตัวเขียวสดสมชื่อ มีจุดเด่นคือแถบคาดตาสีดำขลับสมกับที่เป็นหัวขโมยตัวยงในการเสาะหารังนกอื่นเพื่อกินไข่หรือลูกนกเป็นอาหาร มีปากหนาสีแดงสดที่งุ้มเล็กน้อยและค่อนข้างยาว วงรอบตาและขาก็เป็นสีแดงเช่นเดียวกัน ปีกเป็นสีส้มเข้ม ปลายขนหางแต่ละเส้นมีแถบสีดำขาวและมีความยาวลดหลั่นกันไปทำให้เห็นเป็นบั้ง ขนหางคู่กลางยาวและแคบที่สุด ไม่มีแถบสีดำ ขนปีกชั้นใน (tertials) ของมันก็มีแต้มสีขาวดำ ซึ่งไม่พบในญาติใกล้ชิดที่หน้าตาถอดแบบเดียวกันมาอย่างนกสาลิกาเขียวหางสั้น (Indochinese Green Magpie) อย่างไรก็ตาม ในเมืองไทยยังไม่พบว่านกสาลิกาเขียวและนกสาลิกาเขียวหางสั้นมีถิ่นแพร่กระจายที่ทับซ้อนกัน โดยชนิดหลังพบได้เฉพาะตามป่าดิบทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเท่านั้น 

นกสาลิกาเขียวในชุดขนเก่าจะมีสีขนที่ค่อยๆเปลี่ยนจากเขียวสดเป็นสีฟ้าครามหมองๆ สีส้มเข้มที่ปีกก็กลายเป็นสีน้ำตาล นกชนิดนี้มีอุปนิสัยที่ต่างจากนกในวงศ์อีกาชนิดอื่นๆตรงที่ตามปกติแล้วมันจะเป็นนกที่ขี้อาย เรามักได้ยินเสียงร้องดังก้องของมันแทบทุกครั้งที่เข้าป่า แต่มีโอกาสเห็นตัวชัดๆได้ไม่ง่ายนัก สามารถส่งเสียงร้องได้หลายรูปแบบ บางครั้งก็เลียนเสียงนกชนิดอื่นๆด้วย

เช่นเดียวกับญาติร่วมวงศ์ของมัน นกสาลิกาเขียวมักหากินเป็นคู่หรือเป็นฝูงขนาดย่อม บ่อยครั้งที่มันจะบินตามนกกะราง (Laughingthrush) ฝูงใหญ่ที่ดึงดูดให้นกป่าขนาดกลางอื่นๆ เช่น นกบั้งรอก (Malkoha) นกขุนแผน (Trogon) นกหัวขวาน (Woodpecker) บางชนิด นกแซงแซว (Drongo)และนกระวังไพร (Scimitar Babbler) มาหากินร่วมกันหรือติดตามอยู่ห่างๆเพื่อจับสัตว์เล็กๆที่ตกใจจากฝูงนกกะราง อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากการมีนกกะรางและนกแซงแซวเป็นตัวคอยส่งเสียงร้องเตือนภัยเมื่อพบสัตว์นักล่าอีกด้วย

นกสาลิกาเขียวเป็นนกประจำถิ่นที่่พบได้บ่อยตามป่าดิบชื้นและป่าดิบแล้งในระดับความสูงไม่เกิน 2,075 เมตรจากน้ำทะเลภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนล่าง นอกจากนี้ยังพบได้ในประเทศเพื่อนบ้าน ทางเหนือของประเทศอินเดีย ทางตอนใต้ของจีน และอินโดนีเซีย




คำสำคัญ (Tags): #สาลิกาเขียว
หมายเลขบันทึก: 473814เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2012 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 17:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เคยเห็นภาพแล้ว สวยมากจริงๆ ตัวนี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท