อาลัยแสวง


กัลยาณมิตรในดวงใจ,เราห่างกันเฉพาะร่างกายเท่านั้น,อาคิดว่าพ่อผมเป็นคนอย่างไร

อาลัยแสวง  บุญช่วย มีจิต

แสวง อุดมศรี  กัลยาณมิตรในดวงใจ

“ เราแก่แล้วหรือ ? ” เป็นหัวข้อสั้น ๆ แต่มีความหมาย ที่อาจารย์แสวง อุดมศรี เขียนในความคิดเห็นของหนังสือ “ กว่าจะถึงวันนี้ ”  ของผม เมื่อผมแจ้งความประสงค์ว่า อยากได้ความคิดเห็นของท่านไปพิมพ์ในหนังสือ ท่านก็จรดปากกาเขียนให้ในเวลาอันรวดเร็ว  แสดงให้เห็นถึงพลังสมองของท่านมีข้อมูลพร้อมอัพเดทเสมอ และสรุปในย่อหน้าสุดท้ายว่า

ความรัก ความผูกพันทางใจของชาวพุทธศาสตร์บัณฑิต รุ่นที่ ๒๑/๒๕๑๘ ยังหนักแน่นเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงได้ เราห่างกันเฉพาะร่างกายเท่านั้นเอง ชีวิตพวกเราต้องโลดแล่นเพื่อทำประโยชน์ให้แก่พระพุทธศาสนาและประเทศชาติต่อไป ” 

 “มหาจุฬาหรือเปล่า ?” เป็นหนังสือเล่มสุดท้ายที่ผมได้รับจากท่าน เมื่อไปร่วมงานสวดศพท่านเจ้าคุณสำรวมที่จังหวัดนครนายก ปกติแล้วท่านออกหนังสือเล่มไหนมาผมเป็นต้องได้รับแทบทุกครั้ง ตั้งแต่บัวใต้ตม มาจนถึงฉบับสุดท้าย คือ มหาจุฬาหรือเปล่า ? นับว่าเป็นความกรุณาของท่านที่มีต่อผม

                 ถ้าจะพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างผมกับอาจารย์แสวงแล้วละก้อ ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน จริง ๆ แล้วผมไม่ใช่เพื่อนสนิท ไม่ใช่คนรู้ใจ ไม่ใช่เพื่อนซี้ ไม่ใช่เพื่อนร่วมห้อง กับอาจารย์แสวงเลย เพราะเราเรียนคนละปี เลือกคนละคณะ ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิของเราก็ต่างกัน  แต่ที่มารู้จักและสนิทสนมกันเป็นพิเศษ  และติดต่อกันมายาวนาน จนถึงขั้นเรียกเพื่อนได้เต็มปากจนทุกวันนี้ ก็เพราะงาน ครับ การทำงาน

           “ นิมนต์ท่านไปร่วมประชุม....ที่วัดทองศาลางาม ในวันที่.....เวลาบ่ายโมง ”  เป็นโน้ตสั้น ๆ ในเศษกระดาษยับยู่ยี่แผ่นหนึ่ง  เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมได้รู้จักกับท่าน  และท่านได้ให้เกียรติผมเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการ(ยุวสงฆ์) จากวันนั้นเป็นต้นมา เราก็ได้ทำกิจกรรมร่วมกันบ่อย ๆ ไม่ว่าจะประชุมลับที่คณะสลัก ร่วมลงชื่อขอความเป็นธรรมแด่หลวงพ่ออดีตพระพิมลธรรม รวมทั้งการรวมตัวเรียกร้องความเป็นธรรมของยุวสงฆ์ที่ลานอโศกเมื่อปี 2518 ด้วย  แต่ผมก็นับว่าอยู่ชั้นปลายแถว และไม่ได้อยู่ในสายตาของเพื่อนผู้ร่วมอุดมการณ์ทั้งหลาย เพราะมีบริบทของตัวเองอย่างจำกัด แต่ก็ได้ต่อสู้ร่วมกันมาตลอดเกือบทุกครั้งที่มีการเรียกร้องความเป็นธรรม

              ผมมารู้จักและสนิทสนมกับท่านมากยิ่งขึ้น เมื่อท่านมารับหน้าที่บรรณกรเสียงธรรม เพราะผมชอบเขียนเรื่องราวส่งไปให้ท่านพิจารณาเสมอ และท่านก็กรุณาไม่ตัด ไม่เซ็นเซ่อร์ข้อเขียนของผมเลย นำลงให้ทุกครั้ง  รวมทั้งฉบับประวัติศาสตร์ที่หลายคนยังไม่ได้อ่านนั้นด้วย[1] เพราะเหตุว่าขณะนำออกแจกจ่ายแก่สมาชิก ก็ไปเข้าหูผู้บริหาร ก็ถูกอายัด ถูกห้ามแจก และคณะผู้จัดทำก็ถูกลงโทษตามระเบียบ บรรณกรคือท่านอาจารย์แสวงก็ถูกพักการเรียนหนึ่งปี เป็นเหตุให้ได้มาจบพร้อมกับผมและได้รู้จักกันมากขึ้น

                 ท่านอาจารย์แสวง อุดมศรี เป็นนักต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ เงียบขรึม ใจเย็น ซื่อสัตย์ จริงใจ และมีใจเกินร้อย จึงเป็นคุณสมบัติที่เพื่อน ๆ ยกให้เป็นผู้นำมาตลอดเวลา

“ ผมนี่แหละคนจริง ”

เป็นประโยคเด็ดที่เพื่อน ๆ ไม่กล้าหงอเวลามีการโต้เถียงกัน และท่านก็ได้พิสูจน์ให้เห็นตลอดมาว่า เป็นคนจริงเสมอต้นเสมอปลาย  นอกจากเป็นคนจริงแล้ว ท่านยังรักเพื่อน ห่วงเพื่อนมากกว่าตัวท่านเองด้วยซ้ำไป มีน้ำใจโอบอ้อมอารี ไม่เคยทอดทิ้งเพื่อน ทั้งในยามสุขยามทุกข์  ทำให้ท่านมีเพื่อนมาก และเพื่อน ๆ รักท่านมากทุกคน

ด้วยฐานะและอาชีพการงาน ทำให้เราต้องห่างเหินกันไปเกือบสามสิบปี ท่านมีตำแหน่งใหญ่โตถึงหัวหน้าฝ่ายคัมภีร์พุทธศาสตร์ ประธานผู้ชำระพระไตรปิฎฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  นึกว่าจะไม่ได้เจอะเจอกันอีก ผมมาสนิทสนมกับท่านแน่นแฟ้นมากขึ้นก็เมื่อต่างคนต่างพ้นภาระหน้าที่เกษียณอายุราชการกันแล้ว เวลาท่านปลีกวิเวกไปต่างจังหวัด มักจะขอร้องแกมบังคับให้ติดตามไปด้วยเสมอ  เมื่อได้อยู่ใกล้ชิดท่านก็ซึมซับรับเอาข้อมูลเก่า ๆ ที่ผมไม่รู้มาอย่างมากมาย ที่สำคัญค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ท่านรับผิดชอบเองทั้งหมด จนผมต้องเกรงอกเกรงใจ เพราะผมเป็นคนทานมาก ทานยาก ทานในสิ่งท่านไม่ทาน แต่ท่านก็เต็มใจจิบน้ำร้อนรอจนกว่าพวกเราจะได้ที่ทุกครั้ง เรื่องนี้ท่านสังวาล  คล้ายกระแส คอหอยลูกกระเดือกของท่านรู้ดีที่สุด

ท่านเป็นนักต่อสู้ในแนวอหิงสามาโดยตลอด และแม่นข้อมูล กฎระเบียบ มาก ๆ ข้อเขียนของท่านจึงสมบูรณ์ สามารถนำไปอ้างอิงได้ สมกับเป็นนักวิชาการที่ช่ำชองทั้งทางโลกทางธรรม แตกฉานทั้งวิชาการสากลตะวันตก และพระไตรปิฎกอันเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา ท่านจะบอกวัน เวลา กำกับ มีตัวเลขอ้างอิงสมบูรณ์แบบ ยากที่ใครโต้แย้งได้  เพราะเหตุนี้ดอกกระมังจึงอาจจะทำให้มีผู้ไม่เห็นด้วยและแอบเป็นปฏิปักษ์กับท่านอยู่ลึก ๆ ถึงท่านจะเป็นคนเงียบ ๆ แต่พูดจาตรง ๆ โผงผาง อะไรที่ไม่ชอบมาพากลแล้วท่านจะไม่ยอม  แม้แต่ท่านเจ้าคุณอธิการบดีท่านยังพูด(เขียน)เหน็บเอาแรง ๆ ไม่ไว้หน้าเหมือนกัน เพราะถือว่าท่านก็ลูกมหาจุฬาฯคนหนึ่ง และอยู่มานาน ผ่านร้อนผ่านเย็นและอุปสรรคมานับไม่ถ้วน

สำหรับผลงานของท่าน ท่านกำชับเสมอ ๆ ว่า วิพากย์ วิจารณ์ได้นะ ผมก็ไม่กล้าไปวิจารณ์ท่านหรอก ทั้ง ๆ ความคิดเห็นบางอย่างของเราอาจจะไม่ตรงกันก็ได้ เช่น ท่านเขียนยกย่องสมณท่านหนึ่งที่ไปเทศน์ในการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มการเมืองกลุ่มหนึ่ง ไม่นึกเลยว่าผู้ที่เป็นถึงประธานผู้ชำระพระไตรปิฏกอย่างท่าน จะไปสนับสนุนสมณะนักบวชที่องค์กรคณะสงฆ์ไทยไม่ยอมรับขนาดนั้น นี่คือข้อเห็นต่างจากท่าน และลูกชายคนเล็กของท่านเคยถามผมตรง ๆ ในการปลีกวิเวกไปวังน้ำเขียวเมื่อหลายปีก่อนว่า

อาคิดว่าพ่อผม(อาจารย์แสวง)เป็นคนอย่างไร และเขา(สันต์)ก็เฉลยลักนิสัยของพ่อเขาถึงแนวคิดต่าง ๆ ในการเขียนหนังสือ  ท่านเป็นนักวิชาการจึงเขียนแบบมีข้อมูลแจ่มชัด มัดแน่น อ้างอิงได้ สำหรับผมชอบเขียนแนวประสบการณ์ รู้เห็นอะไรก็เขียนไปตามนั้น ไม่คิดว่าจะให้เป็นข้อมูลอ้างอิงอะไร นี่คือคำวิจารณ์ที่ตอบลูกชายวันนั้น ความจริงอยากจะเขียนโต้แย้งท่าน วิจารณ์ ผลงานของท่านเหมือนกัน แต่มือผมไม่ถึงมันคนละชั้นกับท่าน ก็ได้แต่นึกนิยมชมชอบในความอัจฉริยะทรงจำของท่าน เล็ก ๆ น้อย ๆ ท่านบันทึกไว้และมีรายละเอียดหมด ข้อเขียนของผมชิ้นนี้ถือว่าได้ทำตามที่ท่านกำชับมาโดยตลอดว่า แสดงความเห็นบ้างนะ

ผมแสดงความเห็นก็ต่อเมื่อท่านไม่มีโอกาสได้อ่านแล้ว ขอมอบให้ดวงวิญญาณของท่านนำไปอ่านที่ปรโลกอันเป็นอมตะสุขชั่วนิรันดร์

สุดท้ายอาจารย์สังวาล  คล้ายกระแสโทรมาบอกว่า ท่านไม่สบายเข้าโรงพยาบาล แต่ด้วยภารกิจผูกมัดรัดตัวผมไปเยี่ยมไม่ได้ แต่ก็ได้โทรไปคุยกับท่าน เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2554 ท่านยังคุยดีเหมือนเดิมทุกอย่าง บอกว่านอนอยู่โรงพยาบาล สบายดี ไม่เป็นไรหรอก พูดจาตลกหยอกเย้าเสียงใสเหมือนเดิม  แต่เมื่อวันอาทิตย์ที่  25 ธันวาคม 2554 ผมไปเยี่ยมท่านที่โรงพยาบาลกลาง ท่านย้ายไปอยู่ห้องไอซียูเสียแล้ว

และเข้าไปดูอาการเห็นแล้วก็ตกใจ จับเนื้อตัวท่านก็ไม่ตอบสนอง  พูดจาอย่างไรท่านก็ไม่ได้ยิน ก็นึกในใจว่าแย่แล้ว

                พอเช้าวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2554 ก็ได้รับข่าวร้ายจากท่านสังวาลว่าพี่แหวงสิ้นแล้ว  แต่ก็ไม่ทราบรายละเอียดอะไรมากนัก เพราะกำลังโฮมรูมเด็กเสียงดังมาก แต่ก็คิดแล้วว่า เหตุการณ์อย่างนี้มันต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ไม่นึกไม่ฝันว่ามันรวดเร็วขนาดนั้น

         “ เกวียนไม้ไผ่หลังเก่า ” (ตามสำนวนของท่าน) เข้าโรงซ่อมต่อไปไม่ไหวแล้ว และได้เป็นตามหลักอนิจลักษณะของมันแล้ว “ เราห่างกันได้เฉพาะร่างกายเท่านั้นเอง” ยังติดตาตรึงใจของผมอยู่ตลอด บัดนี้ไม่ใช่ห่างเฉพาะร่างกายเท่านั้น แต่มันแตกสลายไปตามกาลเวลา  แน่นอนพันธะทางใจที่เรามีต่อกันจะยังมั่นคงตลอดไป  ไม่ว่าดวงวิญญาณของจะล่องลอยไปอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม ท่านยังก็เป็นกัลยาณมิตรของผมตลอดไป 

                 ด้วยกุศลกรรมที่ท่านบำเพ็ญมานานตลอดชีวิตคงจะนำดวงจิตและวิญญาณของท่านไปสู่สุคติสรวงสวรรค์อย่างแน่นอน  ไปดีเถิดเพื่อน ไปก่อน ไปรอเพื่อน ๆ ที่ดินแดนสุขาวดีโน่นเถิด

 


[1] ฉบับที่มีหน้าปกเป็นรูปพระปฏิมาเบือนหน้าหนีพระสงฆ์ขณะก้มลงกราบ พร้อมคำบรรยายภาพน่าหวาดเสียวว่า” แม้แต่พระปฏิมายังเบือนหน้าหนี”  และมีโคลงล้อเลียนบทหนึ่งว่า “ ทรราชชาติแพ้พ่ายพัง ทรราชศาสตร์ยัง...”

หมายเลขบันทึก: 473298เขียนเมื่อ 3 มกราคม 2012 07:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท