ช่วงเวลาหนึ่ง กับการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์เวรประวัน


การดูแลที่สะท้อนความงามแห่งวิชาชีพ และบทบาทของความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม

ช่วงเวลาหนึ่ง กับการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์เวรประจำวัน

    เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๕๓ ถือเป็นความทรงจำที่มีค่าอย่างยิ่งแก่ข้าพเจ้า นั้นคือขณะปฏิบัติหน้าที่อาจารย์เวรประจำวัน (ช่วงที่มีปัญหาไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ ๒oo๙ ระบาด ) การอยู่เวรแต่ละครั้งของข้าพเจ้า อาจเป็นช่วง ๑ - ๒ วันบ้างแล้วแต่ช่วง ขณะนั้นอากาศมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่นครพนม บางวันมีถึง ๓ ฤดู เช่น เช้าฝนตก สายๆร้อน พอตกบ่ายอากาศเย็น นักศึกษาเริ่มมีอากาศไอ เป็นหวัดกันอย่างมาก วันแรกๆมีจำนวนที่ได้สำรวจและตรวจเยี่ยมที่หอพัก ประมาณ 25 คน (ที่มีอาการไอ มีเสมหะ แต่ไม่มีไข้) วันที่ ๒ ขณะสวดมนต์ พบว่ามีเสียงไอดังไปทั่ว จากที่ประเมินจากการสังเกตและนับจำนวนไม่น้อยกว่า ๖o - ๗o ราย ก็ได้ให้คำแนะนำให้ดูแลตนเองและแจกหน้ากากอนามัยให้ส่วมป้องกันไว้ เพิ่มเติมจากชุดแรกที่มีเพียง 25 คน พอเข้าวันที่ ๓ ปริมาณนักศึกษาที่มีอาการไอ มีเสมหะ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน ๑๕o คน ข้าพเจ้าได้รายงานต่อรองคณบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาฯ ให้เรียนต่อผู้บริหารและมีการประชุม หามาตรการดำเนินการอีกครั้งเนื่องจากจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (ทั้งนี้ได้แจ้งให้ผู้บริหารทราบตั้งแต่ที่มีจำนวน 25 คน เนื่องจากช่วงนั้นไข้หวัด ๒oo๙ มีการระบาดหนักไปทั่ว) จากนั้นได้มีการคัดแยกนักศึกษาที่มีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ ไปตรวจที่โรงพยาบาลนครพนม บางรายที่มีไข้สูงแพทย์ก็ให้ยารับประทานและจัดให้มาพักที่ห้องพักที่ทางวิทยาลัยฯ เตรียมไว้เฉพาะเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย ช่วงนั้นทั้งนักศึกษาและคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ต่างก็วิตกกังวลกันอย่างมาก กับสิ่งที่เกิด มีการเรียกประชุมนักศึกษา และแจ้งผู้ปกครองให้ทราบสำหรับนักศึกษาที่ต้องเข้าห้องแยก (ทั้งนี้ที่โรงพยาบาลมีผู้ป่วยเยอะมาก ไม่มีเตียงเพียงพอให้นักศึกษารักษาตัวได้ จึงให้กลับมาพักรักษาตัวที่วิทยาลัยฯ ( ทั้งนี้จะมีการประสานเจ้าหน้าที่และแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเสมอรายงานอาการอย่างต่อเนื่อง )

    ผลปรากฏว่ามีนักศึกษาที่ได้รับการแยกไว้ที่ห้องแยกจำนวน ๙ ราย ซึ่งรวมระยะเวลาพักรักษาตัวนาน ๑๘ วัน ทั้งนี้ได้รับยาต้านเชื้อด้วย และให้การพยาบาลตามแนวทางการดูแลอย่างครบถ้วน ทั้งครูและนักศึกษาเวรสุขภาพ พร้อมสนับสนุนและช่วยให้นักศึกษาฯ ผ่านแต่ละช่วงอย่างปลอดภัย มีความสุข สิ่งที่พบระหว่างการให้การดูแลทั้งอาจารย์เวรประจำวันและนักศึกษาเวรสุขภาพประจำวัน คือ

     ๑) บุคคลย่อมมีความกังวลอย่างมากต่อภาวะเจ็บป่วยที่เกิด

     ๒) บุคคลมีความต้องการการตอบสนองขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพในทุกสภาวะ

     ๓) บุคคลมีความรู้สึกโดดเดี่ยวสิ้นหวัง ในช่วงการเจ็บป่วยหรือเผชิญสิ่งคุกคามชีวิต

     ๔) บุคคลมีความกลัวตาย เมื่อมีภาวะการเจ็บป่วยที่ยังไม่มีความแน่นอนของการรักษานั้นๆ หรือการรักษาอาจไม่หายขาด

     ๕) บุคคลมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม หรือสิ่งที่มากระทบโดยตลอด

     ๖) บุุคคล ย่อมมีความปรารถนาให้คนที่รักและไว้ใจอยู่ใกล้ๆ (คนในครอบครัว และอื่น) ที่เป็นบุคคลสำคัญในชีวิตของนักศึกษา

     ๗) บุุคคล มีศักยภาพ พลัง และความสามารถ ในตนเอง ทุกขณะหากแต่ต้องอาศัยปัจจัยเสริม เช่นช่วงเจ็บป่วย หรือเผชิญปัญหาในชีวิต

     ๘) บุุคคล มีความต้องการการรับข้อมูล เกี่ยวกับภาวะเจ็บป่วยที่ตนประสบอยู่

     ๙) บุคคล มีความสามารถที่จะดูแลตนเองได้ในพื้นฐานเบื้องต้น ด้วยตนเอง

จากสิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงบางส่วนที่ได้พบตอนที่ ข้าพเจ้าได้ดูแลนักศึกษาที่เจ็บป่วย จำนวนทั้ง ๙ คนนั้น ซึ่งทำให้ครูคนนี้เกิดความเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า " การดูแลที่ดีที่สุด คงไม่มีใครปฏิเสธว่า เสมือนมารดาดูแลบุตร ของตน " และคนเราเมื่อมีการเจ็บป่วยแล้วย่อมต้องการการดูแล และเอาใจใส่ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งเกียรติ ศักดิ์ศรี ของเป็นมนุษย์ ด้วย

     แน่นอนท้ายที่สุดโรคภัยย่อมหายไปและคงไว้ซึ่ง รอยน้ำตาที่เกิดเมื่อเจ็บป่วยรอยยิ้มที่เปี่ยมด้วยความหวังและความดีใจที่ผ่านพ้นแล้วช่วงแห่งความทุกข์ทรมานนั้น

     และนี่เป็นเรื่องเล่าที่มีคุณค่าอย่างยิ่งในการเป็นครูของตัวข้าพเจ้า ขอขอบพระคุณบิดามารดาผู้ให้กำเนิดชีวิตและทุกสิ่ง ครู อาจารย์ผู้ประสิทธ์ประสาทวิชา นักศึกษาที่รักของครูทุกคน ผู้ป่วยทุกท่าน และ "มิสฟรอเรนไนติงเกล" ผู้ก่อรากสร้างฐานและพัฒนาวิชาชีพพยาบาลอย่างงดงาม เป็นที่สุด

                                                                      *** ลายฟ้า

                                                                    ๒ มกราคม ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 473255เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2012 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 07:53 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท