เทคนิคการบริหารชั้นเรียนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ


ทำอย่างไรให้การเรียนการสอนในชั้นที่มีทั้งเด็กปกติและเด็กพิเศษเป็นไปอย่างราบรื่น

       ในชั้นที่มีทั้งเด็กปกติและเด็กพิเศษเรียนร่วมกันนั้น  ครูผู้สอนนับว่ากำลังทำงานที่ท้าทายความสามารถอย่างยิ่ง  แต่ขณะเดียวกันก็เป็นงานที่มีคุณประโยชน์สูงมาก  เพราะเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้และทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการพัฒนาให้เป็นคนที่มีชีวิตที่ดีและมีคุณภาพ  การพัฒนาเด็กย่อมส่งผลต่อชีวิตของเขาไปตลอดชีวิตและส่งผลต่อสังคมที่เขาอยู่  อีกทั้งการสอนเด็กพิเศษนั้นจริงๆแล้วเป็นวิธีการสำคัญในการพัฒนาความรู้ความสามารถทางการสอนของครูอย่างที่คุณครูจำนวนมากนึกไม่ถึงเลยค่ะ

       ครูนกขอนำเสนอเทคนิคการบริหารชั้นเรียนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ นำรูปของคำคล้องจองเพื่อให้จำง่ายดังนี้ค่ะ (ศรินธร วิทยะสิรินันท์, 2535)

ฝึกเรียนรู้แม่นในบทบาท

       ครูควรจัดห้องเรียนให้เด็กๆสามารถช่วยตัวเองได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  โดยจัดหาชั้น กล่อง ถาด สำหรับใส่อุปกรณ์ กระดาษ เครื่องเขียน ที่เด็กๆต้องใช้ หรือที่จะแจกให้แก่เด็ก  และตั้งอยู่ในระดับที่เด็กหยิบใช้และเก็บคืนที่ได้ง่าย  และฝึกให้เด็กๆมาเข้าแถวเพื่อหยิบของเหล่านี้เอง  และในตอนท้ายก็มาเก็บคืนที่เอง  การฝึกให้เด็กๆรู้บทบาทของตนเองจะสร้างนิสัยรับผิดชอบและพึ่งตนเองให้แก่เด็ก  และขณะเดียวกันการทำกิจกรรมในชั้นก็จะราบรื่นขึ้น  ไม่ต้องมีเสียง "ครูขา ขอกระดาษค่ะ"  "ครูครับ  กรรไกรอยู่ไหนครับ"  ครูก็จะมีเวลาดูแล แนะนำ ช่วยเหลือเด็กๆเป็นรายบุคคลมากขึ้น 

                                   

 สามารถจัดขั้นตอน

        ในตอนต้นชั่วโมงของวิชาต่างๆ  ครูควรอธิบายว่าเราจะทำอะไรและเขียนกิจกรรมย่อยๆแต่ละกิจกรรมไว้ตรงมุมกระดานด้านใดด้านหนึ่ง  เช่น  ในชั่วโมงภาษาไทย  1. ฟังเพื่อนอ่านบทความ "คำสอนพ่อ" และสนทนาร่วมกัน  2. เขียนเล่าว่านักเรียนจะทำตาม "คำสอนของพ่อ" อย่างไรบ้าง  3. วาดภาพนักเรียนทำกิจกรรมนั้น  4. ส่งใน "ถาดส่งงาน"  5. (สำรอง) อ่านหนังสือในมุมหนังสือ

        นักเรียนที่รู้วัตถุประสงค์ของการเรียนในแต่ละครั้งและขั้นตอนของสิ่งที่ตนจะต้องทำจะสามารถช่วยตัวเองได้มาก  รู้สึกว่าตนเป็นเจ้าของงานและภูมิใจที่ตนสามารถกำกับตนเองได้  ครูเองก็จะทำงานได้ง่ายขึ้น  เพราะนักเรียนรู้หน้าที่ของตนค่ะ

                             

ผ่อนคลาย สนุกสนาน

     ครูควรทำตัวให้เป็นคนอารมณ์ดี  แจ่มใส  มีอารมณ์ขัน  ทั้งเพื่อตัวเองและเพื่อเด็กๆค่ะ  คนอารมณ์ดีจะมีสุขภาพแข็งแรง  ไม่เป็นโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็ง  ส่วนเด็กๆที่อยู่กับครูที่อารมณ์ดี มีอารมณ์ขัน ไม่จิกกัดลูกศิษย์และไม่บ่นพิรี้พิไร ไม่ยอมจบ  ก็จะมีความสุข รู้สึกมั่นคง ปลอดภัย ไม่หวาดระแวงว่าวันนี้ครูจะมาอารมณ์ไหน  มีผลการวิจัยพบว่า  คนที่มีความผ่อนคลาย สบายใจ ไม่กลัว ไม่เครียดเกินไป จะสามารถเรียนรู้ได้มาก คิดอะไรออกได้เยอะค่ะ

     แต่ขอเตือนว่า  ความสุขในการเรียนรู้ไม่ได้หมายความว่า  เด็กๆต้องหัวเราะตลอดเวลา  แม้ขณะที่นั่งทำงานเงียบๆอย่างมีความสุขเพลิดเพลินกับงานที่ทำ หรือความสุขที่ได้รับจากการที่สามารถเข้าใจในเรื่องที่กำลังเรียน  ความรู้สึกที่ว่า "อ๋อ...มันเป็นอย่างนี้นี่เอง" สิ่งเหล่านี้ก็เป็นความสุข ความสนุกในการเรียนที่ควรเกิดขึ้นในห้องเรียน เป็นความสนุกอย่างมีปัญญา  โดยไม่ใช่ว่าครูต้องเป็นตัวตลก คอยพูดเรื่องไร้สาระให้เด็กได้หัวเราะตลอดเวลานะคะ 

                              

ประสานประสาทสัมผัส

      ปราชญ์แต่สมัยโบราณค้นพบตรงกับผลการวิจัยสมัยใหม่เกี่ยวกับสมองว่า  การรับข้อมูลผ่านช่องทางหลายๆช่องทางจะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น  เข้าใจง่ายขึ้น  เข้าใจได้ลึกซึ้งขึ้น  และจดจำไว้ได้ถาวรมากขึ้น  ดังนั้น  ทุกครั้งที่สอนจึงควรพยายามให้เด็กได้รับข้อมูลหลายๆวิธี  ทั้งด้วย

      การฟังครู ฟังเพื่อน ฟังเทป ฯลฯ 

      การดูภาพ ดูข้อความ ดูวิดีโอ ดูการแสดงของเพื่อน ฯลฯ 

      การจับต้อง ลูบคลำของ ได้รับรู้สัมผัสซึ่งมักทำไปพร้อมกับการเคลื่อนไหวบางส่วนของร่างกาย เช่น ใช้มือลูบความเป็นทรงกลมของลูกบอล  หรือผลส้ม

      การใช้มือและแขนเคลื่อนไหวเป็นรูปตัวอักษรที่เรียน หรือสะกดคำศัพท์ที่เรียน

      การชิมรสและการดมกลิ่นสิ่งของที่เรียน (ในกรณีที่ไม่อันตราย) 

      นอกจากนี้ตามหลักพหุปัญญา  เรายังควรช่วยให้เด็กเรียนรู้ผ่านทางสติปัญญาด้านต่างๆ เช่น  การเรียนรู้ผ่านการทำงานร่วมกับผู้อื่น  การเรียนรู้โดยได้มีเวลาได้คิดเงียบๆเกี่ยวกับสิ่งนั้นด้วยตัวเอง  การเรียนรู้ผ่านการใช้ภาษา  การเรียนรู้ผ่านการใช้แผนภาพ แผนภูมิ แผนผัง กราฟ ตาราง ฯลฯ  การเรียนรู้ผ่านเสียงเพลง เช่น ชื่อเต็มของกรุงเทพฯ  เรื่องเกี่ยวกับพระเจ้าตากสินทรงกู้เอกราช  ฯลฯ 

       นอกจากนี้  หากเด็กได้มีโอกาสถ่ายทอดความรู้ของตัวเองด้วยวิธีการที่หลากหลาย  ทั้งได้พูด  ได้แต่งเป็นเพลงและร้องเพลง  ได้ทำท่าทางประกอบ  ได้แต่งบทละครหรือเล่นบทบาทสมมุติ  ได้เขียน  ได้ประดิษฐ์เป็นโมเดล หรือ หุ่นนิ่ง หรือ แบบจำลอง  ได้วาดเป็นภาพ  ได้ทำเป็นสตอรีบอร์ดคือวาดภาพเป็นช่องๆต่อเนื่องเล่าเหตุการณ์หรือเรื่อง  ได้จัดกิจกรรม  ฯลฯ  วิธีการที่แตกต่างกันเหล่านี้จะช่วยให้เด็กมีความเข้าใจและลุ่มลึกในสิ่งที่เรียนมากขึ้น  คุณครูทราบมั้ยคะว่า  วิธีเรียนรู้ที่ได้ผลดีที่สุดคือพยายามพูดอธิบายสิ่งทึ่ตนคิดว่าเข้าใจนั้นให้ผู้อื่นฟัง  ดังนั้นอาชีพครูจึงเป็นอาชีพที่ได้เปรียบมาก  เพราะเป็นอาชีพที่มีคนจ้างเรามาให้ได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆตลอดชีวิตค่ะ

                               

ชี้ชัด  แนวทาง

      ครูควรทำให้นักเรียนมีความชัดเจนว่า  ในแต่ละวันและแต่ละคาบเขากำลังจะเรียนอะไร  จะต้องทำอะไรบ้าง   ในเรื่องของพฤติกรรมก็เช่นเดียวกัน  ครูควรพูดคุยกับเด็กๆและเขียนให้เห็นชัดว่า  เรามีข้อตกลงกันว่าอย่างไรบ้าง  ถ้าฝ่าฝืนกติกาที่ตกลงกันไว้  จะได้รับผลอย่างไร  ถ้าครูมีแนวทางให้แก่เด็กทั้งด้านพฤติกรรมและวิชาการอย่างชัดเจน  เด็กๆก็จะวางตัวได้ง่าย  และสามารถกำกับตัวเองได้ง่ายขึ้น 

      นอกจากนี้  ในการเรียนหรือทำงานต่างๆ  ถ้าครูหมั่นเดินดูและให้แนวทางการทำงาน  สอนวิธีการทำ  สอนเทคนิค แทนที่จะบอกแต่ตัวคำตอบ  และหมั่นทำให้เป็นสิ่งที่เด็กจะกลับไปดูได้ถ้าเกิดลืมไป  เช่น  สำหรับเด็กอ่อน  ครูอาจเขียนขั้นตอนคูณตัวเลขสองหลักอย่างสั้นๆให้เด็กไว้  เมื่อเขานั่งทำงานแล้วเกิดงงหรือลังเลก็จะได้สามารถกลับไปดูแผ่นขั้นตอนและทำงานต่อด้วยตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งครู

                                 

ปล่อยวางเมื่อทำได้

       ขณะที่คุณครูบางคนก็ไม่ค่อยจะติดตามว่าเด็กๆทำได้หรือไม่ เพียงไร  คุณครูบางคนก็คอยทำให้เด็กตลอดเวลา  แม้เด็กจะพอทำเองได้บ้างแล้ว  การฝึกให้เด็กช่วยตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับทั้งเด็กและครู  เมื่อเด็กเริ่มทำส่วนใดได้บ้างแล้ว  เช่น  สามารถเดินไปหยิบกระดาษจากชั้นเองได้  ครูก็ควรค่อยๆลดบทบาทของตนเองลง  แต่ก็ไม่ใช่ทิ้งไปทันที  เพราะเด็กๆที่เริ่มทำได้นั้น มักจะทำได้บ้างไม่ได้บ้างอย่างไม่ค่อยสม่ำเสมอ  ครูต้องคอยกำกับติดตาม  แต่ก็ช่วยให้น้อยลงเมื่อสามารถปล่อยได้  การปล่อยในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าทิ้งไปเลย  แต่ดูอยู่ใกล้ๆ หรือค่อยๆถอยออกมา และดูอยู่เงียบๆ เป็นระยะๆ  การช่วยเหลือมีหลายระดับ  ทำให้  จับมือทำ  แตะมือ  เตือนด้วยคำพูด  พยักหน้าให้กำลังใจหรือเตือน  และมองหน้าและใช้สายตากระตุ้น  คุณครูสามารถค่อยๆลดระดับจากที่ช่วยมากไปหาช่วยน้อยลงทีละน้อยจนในที่สุดก็สามารถปล่อยให้ทำเองได้อย่างสมบูรณ์ค่ะ

เสริมกำลังใจตามจังหวะ

        ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ต่างก็ต้องการกำลังใจ  ต้องการคำพูดหรือสีหน้า ท่าทางของครูที่ยืนยันว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกแล้ว  เขามาถูกทางแล้ว  เขาต้องการให้ครูชื่นชมในความพยายามของเขาแม้ผลงานจะออกมาไม่ได้ดีมากนัก  คุณครูจึงควรให้ความสำคัญกับการชื่นชมในความพยายามของเขาอยู่เสมอ  ควรทักเมื่อเห็นเขาพยายามมากขึ้น  และพูดอย่างเฉพาะเจาะจงในสิ่งที่เขาทำได้ดี  ไม่ใช่พูดลอยๆแค่ "ดีมาก" "เก่งมาก" อยู่ทุกครั้ง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่ซุกซน สมาธิสั้น อยู่ไม่นิ่ง  หรือเรียนอ่อน  เพราะเด็กกลุ่มนี้มักจะได้รับแต่คำบ่นว่าหรือตำหนิติเตียน  ไม่ค่อยมีโอกาสได้รับคำชมจากครูหรือเพื่อนฝูง  ครูจึงต้องคอยหาช่อง  หาโอกาสที่จะชมเด็กก่อนที่เขาจะเริ่มทำผิด  เช่น  ขณะที่เขานั่งทำงาน  ครูก็รีบชมเขาว่า  "หนูนั่งตั้งใจทำงานอย่างนี้ดีมากๆเลยค่ะ" ก่อนที่เขาจะเริ่มยุกยิกหรือก่อเรื่องอะไรขึ้นมาอีก  ประการสำคัญ  อย่าชมจนเกินจริง  หรือเสแสร้ง  เพราะเด็กนั้นไวมากในการจับได้ว่าครูไม่จริงใจกับเขา  และเขาก็จะหมดความไว้วางใจในตัวเรา  และคำพูดเราก็จะไม่มีค่าอีกต่อไปค่ะ  

เมินละผู้ทำไม่ดี

       ครูควรให้ความสำคัญแก่คนที่ตั้งใจ คนที่พยายาม  คนที่ตรงเวลา  ดังนั้นครูจึงควรพยายามให้ความสนใจกับเด็กที่มีพฤติกรรมที่ต้องการเป็นหลัก  พยายามอย่าใช้เวลามากเกินไปในการตำหนิ บ่นว่าเด็กที่ทำผิด  โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่านั่งว่าเด็กไม่ดีให้เด็กดีฟัง  เช่น  นั่งบ่นว่าเด็กที่มาสายให้เด็กที่เข้าเรียนตรงเวลาฟังระหว่างที่คอยเด็กที่มาสาย  เพราะเป็นการไม่ยุติธรรมกับเด็กที่มาตรงเวลาที่ต้องมานั่งฟังคำตำหนิที่เขาไม่ได้ทำผิด  และขณะเดียวกันเด็กที่มาสายก็ได้รางวัลที่มาสายเพราะไม่ต้องฟังครูบ่นว่าโดยครูไม่ได้ตั้งใจค่ะ 

ทำอีกทีจนถูกต้อง

       การสอนเด็กต้องมีความตั้งใจและอดทน  เมื่อเราฝึกให้เขาทำอะไร  ก็ต้องพยายามให้เขาฝึกแล้วฝึกอีก  เด็กที่เพิ่งเริ่มทำได้ใหม่ๆจะลืมได้ง่าย  หรือเด็กที่ทำได้บ้างแต่ยังไม่แม่นก็เช่นกัน  ถึงแม้เมื่อสักครู่นี้เขาจะทำได้  แต่พอข้อต่อมาเขาก็อาจลืมวิธีทำใหม่อีกแล้ว  ก็จะต้องฝึกซ้ำๆ ย้ำๆ จนแน่ใจว่าเขาทำได้จริงๆ  วันรุ่งขึ้นหรือครั้งต่อๆมาก็ต้องตรวจสอบว่าเขายังทำได้อยู่หรือไม่  อย่าด่วนสรุปว่าสอนแล้ว  คราวที่แล้วก็ทำเป็นแล้ว  คราวนี้ก็ต้องทำเองได้แล้ว  และพอเด็กทำไม่ได้ก็หงุดหงิด  เป็นการทำร้ายตัวเอง  ทำลายบรรยากาศและทำลายความนับถือตัวเองของเด็กโดยไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลยค่ะ

ขจัดของเบนสมาธิ

        เด็กที่เสียสมาธิง่าย  ไม่ว่าจะเป็นเด็กพิเศษหรือเด็กปกติ ก็ควรได้รับความช่วยเหลือจากครูโดยการนำสิ่งที่รบกวนสมาธิของเขาออกไป  เด็กที่ชอบแหย่กันหรือชวนกันคุยหรือทะเลาะกันบ่อยไม่ควรนั่งใกล้กัน  ควรให้เด็กเก็บของอื่นออกไปก่อนเริ่มทำกิจกรรมใหม่ ฯลฯ  เรื่องนี้คุณครูหลายท่านรู้ดีและทำอยู่ประจำในเรื่องหลักๆอยู่แล้ว  แต่อย่าลืมสังเกตเด็กที่มีปัญหาสมาธิและคอยดูว่ามีอะไรที่เราสามารถจัดการในเรื่องนี้ได้มั้ยอยู่เสมอด้วยนะคะ 

เตือนสติ...ตัดต้นไฟ

       เวลาเด็กจะทำผิด  ส่วนมากจะมีขั้นตอนของการทำผิดจากน้อยไปหามาก  หรือบางครั้งก็มีสัญญาณพฤติกรรมบางอย่างเกิดขึ้นก่อนความผิดจะเกิดตามมา  หากคุณครูช่างสังเกตและรีบนำเด็กออกจากสภาพการณ์ที่เสี่ยงต่อการทำผิด  ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เด็กทำผิดได้มากทีเดียวค่ะ  เช่น  ถ้ามีเด็กที่ขึ้โมโหและถูกเพื่อนแหย่  เริ่มหน้าแดง กำมือแน่น  คุณครูควรรีบนำเด็กคนนั้นออกจากสถานการณ์นั้นโดยการโอบไหล่เขาพาเดินออกไปนอกห้องหรือเรียกให้เขาทำธุระบางอย่างให้ครู  เช่น  "หนูช่วยไปหยิบหนังสือของครูที่อยู่ในห้องสมุดให้หน่อย" เป็นต้น  การตัดไฟแต่ต้นลมจะช่วยให้เด็กไม่ก้าวไปจนถึงขั้นทำผิด  และเด็กก็จะไม่ต้องถูกลงโทษและถูกรับรู้จากตัวเองและคนอื่นว่าเป็นเด็กไม่ดี   เด็กที่อยู่ไม่นิ่ง สมาธิไม่ดีก็เช่นกันนะคะ  การรีบให้เขาเปลี่ยนกิจกรรมหรือออกจากสถานการณ์ที่เขามีวี่แววว่ากำลังจะทำผิดจะช่วยเขาได้มากค่ะ

โยงใยประสบการณ์

       ครูควรพยายามเชื่อมโยงสิ่งต่างๆที่เด็กๆได้ทำและเรียนรู้ในเรื่องต่างๆเข้าด้วยกันในทุกๆด้าน  การยกตัวอย่างโดยพูดโยงถึงสิ่งที่เคยทำด้วยกัน หรือสิ่งที่เคยไปพบเห็นมาด้วยกันจะช่วยให้เด็กได้เห็นความสัมพันธ์ของข้อมูล  ทำให้เขาเข้าใจและจดจำสิ่งที่เรียนได้ดีขึ้นมากเลย เช่น  เวลาเรียนประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลก  ก็คุยถึงสะพานข้ามแม่น้ำแควที่กาญจนบุรี  เป็นต้น  นอกจากนี้ตามหลักทางสมอง  ยังเป็นการช่วยให้สมองสามารถเก็บรักษาข้อมูลได้ดีขึ้นด้วยค่ะ

ให้งานอย่าปล่อยว่าง

       เด็กๆที่อยู่ว่าง ไม่ว่าจะเพราะทำงานเสร็จเร็วหรือทำไม่เป็นเลยไม่ทำมีแนวโน้มที่จะก่อปัญหาในชั้นเรียนได้มากค่ะ  ถ้าคุณครูเตรียมกิจกรรมไว้อย่างต่อเนื่อง  มีกิจกรรมสำรอง  หมั่นสังเกตดูว่ามีใครทำอะไรไม่ได้  ฝึกให้เขาทำกิจกรรมต่อไปหรือกิจกรรมสำรองด้วยตัวเองโดยไม่ต้องคอยให้ครูบอก  ก็จะทำให้เด็กๆมีอะไรทำตลอดเวลา  เด็กๆก็จะมีความสุข  และห้องเรียนก็จะสงบสุขมากๆเลยค่ะ  ครูนกเคยเอาเทคนิคนี้ไปแนะนำคุณครูประถมศึกษาในโรงเรียนกทม.แห่งหนึ่ง  ปรากฎว่าคุณครูห้องข้างๆถึงขนาดเดินมาดูว่าเกิดอะไรขึ้นเพราะห้องเรียนสงบสุขมากผิดปกติเลยค่ะ

ย้ำเพื่อสร้างนิสัย

      การฝึกให้เด็กมีนิสัยอะไรก็ตาม  ต้องฝึกซ้ำย้ำทวนอยู่เสมอ  อย่าคาดหวังว่าสอนหนเดียวเด็กจะทำได้เลย  หรือเด็กที่ทำเป็นแล้วจะต้องทำทุกครั้งเป็นนิสัย  การสร้างนิสัยต้องการเวลาและความพากเพียรจากครูมากค่ะ  ขอให้คุณครูฝึกแล้วฝึกอีกให้แก่เด็กๆ  ....แต่โดยไม่บ่นแล้วบ่นอีกนะคะ...  คนขึ้บ่นแก่เร็วและเป็นมะเร็งง่ายค่ะ! 

ต่างฝ่ายต่างปรับตัว

      การอยู่และทำงานร่วมกันนั้น  ทั้งเด็กและครูต่างก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน  และก็ต้องใช้เวลาในการปรับตัวเข้าหากัน  คุณครูจึงต้องเข้าใจและให้เวลาเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กที่ปรับตัวยากด้วยนะคะในการที่เขาจะปรับตัวเข้าหากฎระเบียบและความคาดหวังของครูในเรื่องต่างๆค่ะ  นอกจากนี้เมื่อเวลาผ่านไป  เด็กๆก็เปลี่ยนไป  คุณครูก็ต้องปรับความคาดหวังของตัวเองให้สอดคล้องกับพัฒนาการ ความสามารถและ นิสัยใจคอของเด็กด้วยนะคะ  จะไปปักใจยึดติดอยู่กับอดีตนะคะ  เมื่อเด็กทำได้มากขึ้น  เราก็ปล่อยเขาได้มากขึ้น  เมื่อเด็กถอยลง  เราก็ต้องก้าวเข้าไปช่วยเขามากขึ้น  เราควรพยายามเข้าใจและยืดหยุ่นตามสภาพของเด็กเสมอค่ะ

รักเด็กทั่วทุกตัวคน

     เด็กทุกคนมีค่าและควรแก่ความรักจากครู  ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร และเป็นอย่างไร

     ครูที่ยุติธรรม  ไม่มีลูกรัก ลูกชังจะได้รับความนับถือ ยอมรับจากเด็กๆ  แม้ในเด็กอนุบาลก็สามารถสัมผัสได้ถึงความยุติธรรมหรือความลำเอียงของครูนะคะ  เราจึงต้องหมั่นสังเกตความคิดความรู้สึกของตัวเอง  ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเองถ้าเราพบว่าเราลำเอียง  และพยายามระวังอย่าให้ความลำเอียงในใจนั้นส่งผลให้การกระทำของเราลำเอียงไปด้วยนะคะ

      ความยุติธรรมของครูมีผลต่อการปกครองชั้นมากค่ะ  เพราะเมื่อเด็กรู้ว่าทุกคนในห้องนี้จะได้รับการปฏิบัติอย่างเดียวกัน  เมื่อทำดีก็ได้รับการชื่นชม  เมื่อทำผิดก็ได้รับผลการกระทำ  เขาจะรู้สึกมั่นคงปลอดภัย  และเรียนอย่างมีความสุขค่ะ

เสมอต้นเสมอปลาย

      ครูหลายท่านชอบลืมว่าตกลงอะไรกับเด็กไปบ้างแล้ว  เช่น  ตอนต้นชั่วโมงบอกว่า  ทุกคนต้องยกมือก่อน  ครูเรียกแล้วจึงพูดได้  แต่พอสอนไปได้สักกลางชั่วโมง  พอมีเด็กพูดขึ้นมาเลย  ก็ตอบและไม่ได้ทำตามกติกาว่า  ครูจะไม่ตอบคนที่ไม่ยกมือก่อน  ดังนั้น เด็กที่ยกมือก็ไม่ได้พูด  เพราะคอยครูเรียก  ขณะที่คนที่พูดเลยก็ได้พูดและครูก็ตอบด้วย  ไม่นานเด็กที่เหลือก็จะเริ่มพูดโดยไม่ยกมือ  พอคุณครูนึกขึ้นมาได้  ก็ดุว่า  เด็กๆไม่มีระเบียบ  ครูบอกให้ยกมือก็ไม่ยก....  คุณครูเคยเป็นอย่างนี้กันบ้างมั้ยคะ  ถ้าเป็น  ก็ต้องปรับนะคะ  เพราะชั้นเรียนที่ราบรื่นคือชั้นเรียนที่คุณครูมีความเสมอต้นเสมอปลาย  เด็กจึงจะรู้บทบาทและทำตามบทบาทได้อย่างสม่ำเสมอค่ะ

      หวังว่าเทคนิคเหล่านี้ที่รวบรวมมาจากหลักวิชาการผสมกับประสบการณ์จริงของคุณครูหลายๆท่านจะเป็นประโยชน์แก่ทุกท่านที่เข้ามาอ่านนะคะ

ขอขอบคุณเจ้าของภาพใน google.co.th ที่ช่วยให้บทความนี้น่าอ่านขึ้นค่ะ 

บรรณานุกรม:  (เขียนขยายความจากหัวข้อที่อธิบายไว้สั้นๆใน)  ศรินธร  วิทยะสิรินันท์ (2535).  การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบร่วมสำหรับเด็กพิการก่อนวัยเรียน.  วิทยานิพนธ์ปริญญาครุศาสตรดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน   บัณฑิตวิทยาลัย  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

หมายเลขบันทึก: 472903เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2011 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ประทับใจท่อนนี้ค่ะ

ต่างฝ่ายต่างปรับตัว

รักเด็กทั่วทุกตัวคน

เสมอต้นเสมอปลาย

ขอเป็นกำลังใจให้สำหรับครูที่มีความอดทนเป็นอย่างสูง ถือเป็นเทคนิคที่ดีมาก ๆ สำหรับ

แม่พิมพ์ของชาติ

ได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์มากค่ะ

เป็นกำลังใจให้ทั้งครูและนักเรียนค่ะ

เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่สมบูรณ์แบบสำหรับผู้ที่ไม่มีความรุ้เรื่องเลยวึ่งสามารถไปใช้ประโยชน์เป็นอย่างดีสำหรับอาชีพครูอย่างเรา ๆ โดยเฉพาะที่ว่า ชี้ชัดแนวทาง ปล่อยวางเมื่อทำได้ เสริมกำลังใจตามจังหวะ

รักเด็กทั่วทุกตัวคน เป้นหัวใจจริง ๆ

สู้ๆค่ะ และเป็นกำลังใจให้ เด็กๆจะได้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท