การใช้ภาษากับการพัฒนาท้องถิ่น


บทบาทของภาษาไทยในวัน เวลา

        อริสโตเติ้ล นักปราชญ์ชาวกรีกได้กล่าวไว้ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” เพราะมนุษย์มีการอาศัยอยู่ร่วมกัน มิได้ใช้ชีวิตอยู่เพียงคนเดียวตามลำพัง เนื่องจากมนุษย์ต้องทำกิจกรรมร่วมกันอยู่ตลอดเวลา ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และแต่ละชีวิตต่างก็ต้องการที่จะเสริมสร้างความสุข ความมั่นใจ และความปลอดภัยให้กับตนเองอยู่เสมอ สังคมจึงเป็นแหล่งรวมศูนย์ทางความคิดที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา เพื่อแสวงหาคำตอบทุกๆ อย่างให้กับตนเอง

        การสื่อสารด้วยภาษาเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ มนุษย์ต้องอาศัยการสื่อสารเป็นเครื่องมือเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ และเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมที่มีความซับซ้อน โดยเฉพาะในสังคมปัจจุบัน เป็นยุคของโลกไร้พรมแดน ข้อมูลข่าวสารต่างๆ จากทุกมุมโลกส่งผ่านถึงกันในเวลาอันรวดเร็ว โดยมีเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัย เช่น โทรศัพท์ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ฯลฯ ผู้ที่รับทราบข้อมูลข่าวสารกว้างไกล ย่อมได้เปรียบ ดังนั้นมนุษย์จึงไม่สามารถอยู่ลำพังโดยปราศจากการติดต่อสื่อสารได้

        “ภาษา” มีความสำคัญต่อมนุษย์มาก เพราะนอกจากจะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารแล้ว ยังเป็นเครื่องมือแห่งการเรียนรู้ การพัฒนาความคิดของมนุษย์และเป็นเครื่องมือถ่ายทอดวัฒนธรรม ที่สำคัญก็คือ ภาษาช่วยสร้างเสริมความสามัคคีของคนในชุมชน ของคนในชาติอีกด้วย เพราะภาษาเป็นถ้อยคำที่ใช้ในการสื่อสารสร้างความเข้าใจกันในสังคม

         การใช้ภาษาไทยกับการพัฒนาท้องถิ่น

         จะเห็นได้ว่า การสื่อสารด้วยภาษามีความสำคัญต่อมนุษย์ ดังนั้นหลายๆ ฝ่าย หลายๆ องค์กร หลายๆ ท้องถิ่น จึงได้ใช้ภาษาไทยมาช่วยในการพัฒนา กรณีของเมืองบางขลังก็เช่นกัน ได้มีการร่วมคิด ร่วมค้นการใช้คำในภาษาไทยมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น

         ๑. ที่นี่...เมืองบางขลัง   แสดงให้เห็นความแตกต่างว่าเป็นที่นี่ ไม่ใช่ที่นั่น หรือที่ไหนๆ เพื่อบ่งบอกลักษณะเฉพาะ เจตจำนงให้เกิดความแตกต่างจากที่อื่น คือเมืองบางขลังนะ ไม่ใช่เมืองบางยม หรือเมืองบางยาง คือที่เมืองบางขลังเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับที่อื่นใด เพื่อกระตุ้นเตือนให้เห็นถึงความแตกต่าง ปลุกจิตสำนึกรักท้องถิ่น หรือท้องถิ่นนิยม

         ๒. ปฐมบทแห่งการสร้างบ้านแปลงเมือง   แยกออกได้เป็น ๒ คำ ได้แก่

         - ปฐมบท หมายถึง จุดเริ่มต้น เป็นการใช้คำที่เพื่อให้เกิดความรู้สึกแปลก ยิ่งใหญ่ อลังการ

         - การสร้างบ้านแปลงเมือง สื่อไปในทางที่เกี่ยวข้องกับเวลา เป็นสิ่งที่ใช้เวลานาน ไม่สามารถกระทำให้เสร็จสิ้นด้วยเวลาอันสั้น มีกระบวนการ และเกี่ยวข้องกับส่วนอื่นๆ คนอื่นๆ เมืองอื่นๆ ชุมชนอื่นๆ แฝงด้วยนัยของความสมัครสมานสมานสามัคคี ความเข้มแข็ง ความเป็นผู้นำ ปฐมบทแห่งการสร้างบ้านแปลงเมือง จึงมุ่งหวัง ปลุก กระตุ้น เร่งเร้า เกิดความภาคภูมิใจ สนใจ ใคร่รู้ถึงความเป็นมาแห่งกลุ่มคนที่มีความรัก ความสามัคคี ความเข้มแข็ง ความเป็นผู้นำในการ ร่วมกลุ่มกันสร้างบ้าน สร้างเมือง สร้างชุมชนเพื่อจะได้อยู่ร่วมกันด้วยความผาสุก

        ๓. จุดกำเนิดประเทศไทย    มุ่งหวังกระชากใจคนที่ผ่านมาได้ยินได้ฟัง ให้ต่อมความคิดเกิดอาการ สงสัย ใคร่รู้ พูดคุย ถกเถียง แสวงหาองค์ความรู้ที่ถูกต้องต่อไป เมืองบางขลังจะใช่จุดกำเนิดประเทศไทย หรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญ สิ่งที่สำคัญคือเมืองบางขลังเป็นที่รู้จัก เป็นที่กล่าวขาน มีคนสนใจมากยิ่งขึ้น เพื่อนำพางบประมาณ การพัฒนาในด้านต่างๆ ตามมา

        ๔. ปาฏิหาริย์แห่งกาลเวลา   เป็นการใช้คำเพื่อตอกย้ำถึงผลการดำเนินงาน ผลของการร่วมแรง ร่วมใจของส่วนราชการ ฝ่ายปกครองท้องที่ ผู้นำชุมชน กับประชาชนในตำบลก่อให้เกิดสิ่งดีงามมากมายตามมา เช่น รางวัลต่างๆ การเสด็จพระราชดำเนินประทับรอยพระบาทของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งสิ่ง เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะได้มาโดยง่าย ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความอดทน ต้องใช้ความรัก ความสามัคคี ฯลฯ ดังนั้นอุปมาได้ว่าคือสิ่งแปลก ประหลาด เสมือนดั่งปาฏิหาริย์แห่งกาลเวลา

        ๕. ประติมากรรมแห่งเวลา  คำว่า ประติมากรรม หมายถึง รูปภาพที่เป็นรูปร่างปรากฏแก่สายตาสามารถสัมผัสได้โดยตรงด้วยการจับต้องซึ่งเกิดจากการสร้างสรรค์ด้วยวิธีการปั้น หล่อ แกะสลัก เป็นต้น เพื่อตอบสนองความเชื่อ ความพึงพอใจ ความภาคภูมิใจ ร่วมไปกับการดำรงชีวิต ทั้งส่วนบุคคลและส่วนรวม เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดประสบการณ์ ค่านิยมที่ได้รับ จากสิ่งแวดล้อมและได้แสดงออกมาเป็นงานประติมากรรมอันเป็นสัญลักษณ์ประจำชนชาตินั้น ๆ

        ประกอบกับทางรายการกบนอกกะลาได้ตั้งชื่อตอนที่มาถ่ายทำการหล่อพระ ๓ พี่น้องและพระร่วงนำทางที่วัดโบสถ์เมืองบางขลังว่า ประติมากรรมแห่งศรัทธา จึงได้ยืมคำนี้มาใช้เพื่อปลุกจิตสำนึก กระตุ้นให้เกิดความภาคภูมิใจ ให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง แต่เกิดจากการสร้างแปลงของบรรพชนส่งผ่านกาลเวลามาแต่ละยุค แต่ละสมัยจนกระทั่งมาถึงยุคปัจจุบันที่ “เรา” ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ ถักทอ สืบทอด แสดงให้เห็นถึงการร่วมกันสร้างรูปที่ปรากฏแก่สายตา สามารถสัมผัสได้ เช่น หนังสือประวัติศาสตร์เมืองบางขลัง ๑-๓, ถ้วยรางวัลต่างๆ, ระบำเทววารีศรีเมืองบางขลัง, การแสดงแสง สี เสียงเมืองบางขลัง, บันทึกการแสดงแสง สี เสียง, ดนตรีพื้นเมืองมังคละ, เพลงลูกทุ่งประจำตำบล, มิวสิควีดีโอเพลงลูกทุ่งประจำตำบล ฯลฯ และสัมผัสได้ด้วยใจ เช่น คำชื่นชม, ความอิ่มเอม, จิตสำนึกรักท้องถิ่น, ความรัก ความสามัคคี เป็นต้น

        ๖. การก้าวข้ามการเวลา  ส่งนัยแห่งการผ่านระยะเวลาที่ยาวนาน แต่สิ่งนั้นยังคงคุณค่าอยู่ มิได้สูญหาย สลายไปตามกาลเวลา ประดุจดั่งการข้ามเวลามาปรากฏให้รับรู้ รับทราบในปัจจุบัน

        ๗. เราจะสร้างพรุ่งนี้ด้วยกัน   เป็นถ้อยคำหนึ่งในเนื้อเพลงที่ขับร้องโดยไมค์ ภิรมย์พร ถูกนำมาใช้เพื่อก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคม เกิดความรัก ความสามัคคี ความผูกพัน เกิดภาพฝันแห่งอนาคตที่จะบังเกิดสิ่งที่ดีงามในการพัฒนา นำพาเราไปสู่สิ่งที่ดีกว่า นำพาความรุ่งเรืองมาสู่เมืองบางขลัง ดังนั้นวันพรุ่งนี้ คือสังคมแห่งอุดมคติที่ทรงคุณค่า เพราะเป็นความหวัง ความฝัน ความเชื่อ ที่หล่อเลี้ยงให้เรามีเป้าหมาย มีสิ่งยึดเหนี่ยวที่จะคอยกระตุ้นให้ก้าวฝ่าไปสู่จุดหมายนั้น

        ๘. เอกลักษณ์   ตามพจนานุกรม เอก แปลว่า เด่น หนึ่ง เอกลักษณ์จึงเป็นลักษณะเด่นของสังคมหรือลักษณะส่วนรวมของสังคมที่มีร่วมกัน เห็นเด่นชัด ซึ่งแตกต่างจากสังคมอื่นๆ เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง เช่น ชุมชนนี้มีเอกลักษณ์อยู่ที่การทอผ้าตีนจก หมายความว่าคนในชุมชนนี้ส่วนใหญ่มีอาชีพทอผ้าตีนจกเหมือนๆ กันหมด, คนไทยมีเอกลักษณ์เป็นคนสนุกสนาน ให้อภัยง่าย ลืมง่าย รักอิสระ รักศักดิ์ศรี เป็นต้น ลักษณะนี้ถือเป็นลักษณะรวมๆของคนไทยโดยทั่วไปที่แตกต่างจากคนชาติอื่น

        วัตถุประสงค์เพื่อสร้างจุดเด่นของท้องถิ่น เพื่อเป็นจุดศูนย์รวมที่บ่งชี้ถึงลักษณะเด่นหรือแบรน (เป็นเครื่องการค้า) ของท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นเป้าหมายที่ “เรา” จะร่วมกันส่งเสริม พัฒนา หล่อหลอมให้เกิดความภาคภูมิใจ ความรัก ความสามัคคี สำนึกรักท้องถิ่นของตน เช่น เมื่อกล่าวถึงท้องถิ่นที่มีผลงานทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ วัฒนธรรมในจังหวัดสุโขทัย หนึ่งในคำตอบนั้นคือ ท้องถิ่นเมืองบางขลัง แห่ง อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย

        ๙. อัตลักษณ์    คำว่า “อัตลักษณ์” ไม่มีบันทึกไว้ในพจนานุกรม แต่มีตำราหลายเล่มให้ความหมายไว้ว่า คุณลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ของลักษณะเฉพาะของบุคคล สังคม ชุมชน หรือประเทศนั้นๆ ซึ่งมีคุณลักษณะที่ไม่เหมือนกับของคนอื่นๆ เป็นผลรวมของลักษณะเฉพาะของสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งทำให้สิ่งนั้นเป็นที่รู้จักหรือจำได้ เช่น นักร้องกลุ่มนี้มีอัตลักษณ์ทางด้านเสียงที่เด่นมาก ใครได้ยินก็จำได้, เชื้อชาติ, ภาษา วัฒนธรรมท้องถิ่น ฯลฯ

        อัตลักษณ์เน้นลักษณะทั้งหมดของบุคคลโดยไม่ได้เปรียบเทียบกับใคร ส่วนเอกลักษณ์เน้นลักษณะที่เป็นหนึ่ง ลักษณะที่โดดเด่นซึ่งเป็นส่วนที่แยกบุคคลนั้นออกจากบุคคลอื่น

        เกิดจากการร่วมกันวิเคราะห์ถึงทุนท้องถิ่น เพื่อนำจุดเด่นหรือลักษณะเฉพาะมาส่งเสริม ขับเน้นให้เด่นชัดขึ้นมา โดยผ่านกระบวนการวิเคราะห์ถึงจุดเด่น จุดด้อย โอกาสในการพัฒนา และปัญหาหรืออุปสรรคในการพัฒนา ทำให้พบว่าท้องถิ่นเมืองบางขลังมีลักษณะเฉพาะตัวทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี จึงได้ร่วมกันทำการส่งเสริมให้โดดเด่นขึ้นมา

        ๑๐. ปรากฏการณ์เทววารีศรีเมืองบางขลัง    คำว่า “ปรากฏการณ์” หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นและสังเกตได้ การสำแดงออกมาให้เห็น

        เทววารีศรีเมืองบางขลัง คือระบำโบราณคดีลำดับที่ ๓ ของจังหวัดสุโขทัย ต่อจากระบำสุโขทัย และระบำเทวีศรีสัชนาลัย ถือกำเนิดขึ้นภายใต้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ โดยการประดิษฐ์ท่ารำของ อ.มงคล อินมา ศิลปินพื้นบ้านดีเด่นด้านนาฏศิลปะ จ.สุโขทัย (ผู้จัดการยศชาติกรุ๊ป) ประดิษฐ์ทำนองเพลงโดย อ.บัณฑิต ศรีบัว แห่งวิทยาลัยนาฏศิลป์สุโขทัย อำนวยการผลิตโดย อบต.เมืองบางขลัง

        วัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่เรื่องราวของระบำโบราณคดีอีกชุดหนึ่งที่ถือกำเนิดขึ้น ณ ชุมชนโบราณที่เกิดร่วมสมัยกับเมืองเก่าสุโขทัย และเมืองเก่าศรีสัชนาลัย เป็นการตอบโจทย์ว่าจะทำอย่างไรในการสำเสนอ เผยแพร่เรื่องราวของระบำโบราณคดีที่ทางตำบลเล็กๆ (แถมยังเป็นตำบลบ้านนอก) ได้ทำขึ้นมาให้เป็นที่สนใจ (จะถูกใจหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง) เกิดความอยากรู้ อยากเห็น อยากได้ยิน ได้ฟัง อยากได้สัมผัส

        ๑๑. ปรากฏการณ์แห่งทุนท้องถิ่น   คือ  การพยายามขับเน้นให้เห็นถึงการนำสิ่งที่ท้องถิ่นมีอยู่แล้วมาพัฒนา ต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน จึงได้รวบรวมเรื่องราวต่างๆ เอาไว้เพื่อนำเสนอให้สังคมได้รับทราบว่า ยังมีชุมชนท้องถิ่นเล็กๆ ได้พยายามนำสิ่งที่ตนเองมีอยู่ ที่เลือกได้ว่าเป็นทุนท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ จึงใช้คำว่า “ปรากฏการณ์” เพื่อให้เป็นการสะดุดหู สะดุดตา และสะดุดใจ

        ๑๒. ประจักษ์พยานแห่งทุนท้องถิ่น   เพื่อชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ได้พยายามช่วยกันนำสิ่งที่ท้องถิ่นมีอยู่แล้วมาเป็นตัวตั้งในการพัฒนา ส่งผลให้เกิดสิ่งดีๆ ตามมา ทำให้เชื่อได้ว่ามาถูกทางแล้ว เป็นการพิสูจน์ถึงสิ่งที่ได้กระทำร่วมกันมา คือหลักฐานหรือผลผลิตในการใช้ทุนท้องถิ่น อันจักเป็นการสร้างขวัญ กำลังใจ แถมยังเป็นแรงจูงใจให้ผู้ที่ได้สัมผัสเห็นคุณค่า และเข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการพัฒนาต่อไป

        ๑๓. แนวรบเมืองบางขลังเหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง  ถึงแม้นว่าชุมชนท้องถิ่นแห่งนี้ ได้เผยตัวตน หรือปรากฏกายให้รับรู้ รับทราบในวงกว้างมากขึ้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม “เรา” ก็จะยังคงร่วมกันในการพัฒนา เสริมสร้างต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่หลงระเริงในสิ่งที่ผ่านมา ยืนยันถึงเจตนารมณ์ที่จะยังจับมือกัน เดินไปข้างหน้าต่อไปเหมือนดั่งที่เคยร่วมกันมา

        ๑๔. บันทึกไว้ในแผ่นดิน  สิ่งที่ “เรา” ได้ช่วยกันคิด ช่วยกันทำภายใต้กระแสของการเปลี่ยนแปลง ภายใต้คลื่นลมแห่งสังคมโลกาภิวัตน์นั้น เป็นสิ่งที่ยากยิ่ง ต้องใช้ความอดทน เพราะไม่เห็นผลในทันทีเหมือนการสร้างถนน เสมือนดั่งการทวนกระแสที่นำของเก่า นำทุนท้องถิ่นด้านประวัติศาสตร์ ศิลปะ วัฒนธรรม มาเล่าขาน ต้องใช้ความอดทนสูง ดังนั้นสิ่งที่บังเกิดขึ้นในวันนี้จึงเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในความรู้สึกของพวกเรา ถึงแม้นว่าจะโยกย้าย หรือจากกันไปตามวิถีแห่งตน สิ่งเหล่านี้จะถูกจดจำ จารึกในใจตลอดไป เป็นดั่งการบันทึกไว้ในแผ่นดินแห่งเมืองบางขลัง และบันทึกไว้ในแผ่นดินไทย ซึ่งจะยังคงอยู่ตลอดไป

        อย่างไรก็ตาม การใช้ภาษาอย่างเดียวไม่สามารถพัฒนาอะไรได้ คงเหมือนกับวลีที่ว่า “ดีแต่พูด” ดังนั้น ในกรณีของเมืองบางขลังจึงมีการใช้ภาษามาเป็นตัวช่วยอีกแรงหนึ่งในการพัฒนาท้องถิ่นเท่านั้น เป็นการสื่อสารที่มีวัตถุประสงค์ไปในทางโน้มน้าวใจ ปลุกจิตสำนึก สร้างความตระหนักรักษ์ท้องถิ่น ร่วมส่งเสริม พัฒนา หล่อหลอมให้เกิดความภาคภูมิใจ ความรัก ความสามัคคี บางครั้งหวังให้สะดุดหู สะดุดตา และสะดุดใจเพื่อให้เกิดความอยากรู้ อยากเห็น อยากได้ยิน ได้ฟัง อยากได้สัมผัส เกิดกระแสแห่งการวิพากษ์ วิจารณ์ ถกเถียง อันนำไปสู่การแสวงหาข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง นั่นก็หมายถึงผู้คนได้รับรู้ถึงการคงอยู่ของ“ชุมชนโบราณเมืองบางขลัง” ตำบลเล็กๆ ตำบลหนึ่งที่ซ่อนตัวอยู่ใน อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย มากยิ่งขึ้น

        “เรา” หวังใช้ภาษาก่อให้เกิดสำนึกรักษ์ท้องถิ่น เพราะสำนึกรักษ์ท้องถิ่นนี้จะเป็นเช่นปลวกซึ่งเป็นเพียงสัตว์ตัวเล็กๆ แต่กลับสามารถที่จะสร้างจอมปลวกอันเข้มแข็งเท่าภูเขาลูกเล็กขึ้นมา ยืนต้านคลื่นลมฝนและพายุที่พัดกระหน่ำได้ ทั้งนี้ก็เพราะปลวกเป็นสัตว์ที่รู้จักช่วยเหลือกัน รู้จักความสามัคคี ทำงานร่วมกันเป็นทีม และมีความรู้สึกรับผิดชอบต่อหน้าที่อยู่ตลอดเวลานั่นเอง.

           ...ทุกวันนี้ศึกไกลยังไม่ห่วง       แต่หวั่นทรวงศึกใกล้ไล่ข่มเหง

          ถ้าคนไทยหันมาฆ่ากันเอง         จะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง.

                               นภาลัย ฤกษ์ชนะ ผู้ประพันธ์

หมายเลขบันทึก: 472515เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2011 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2013 08:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท