เครือข่ายเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพบริการปฐมภูมิ น่าน-แพร่-เชียงราย


“...การทำ PCA ต้องตอบให้ได้ว่าทำเพื่ออะไร ทำเพื่อส่ง หรือทำเพื่อพัฒนาตนเอง ถ้าทำเพื่อส่งเขียนเสร็จมันก็จบ แต่ถ้าทำเพื่อพัฒนาตนเองก็จะเป็นการเรียนรู้และพัฒนาปรับปรุงไปต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด...”

ท่ามกลางสายลมหนาวที่มาเยือน เมื่อปลายสัปดาห์ได้มีโอกาสร่วมจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การพัฒนาคุณภาพบริการปฐมภูมิตามเกณฑ์ PCA ของ Node รพร.ปัว ที่มี CUP สอง, ลอง, สูงเม่น จังหวัดแพร่, CUP ปัว, สองแคว จังหวัดน่าน และ CUP เชียงของ จังหวัดเชียงราย มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน CUP ละประมาณ ๑๐ คน จากทั้ง รพ. สสอ. และรพ.สต. โดยการสนับสนุนของสปสช.เขต ๑ เชียงใหม่ และยังมีทีม QRT เชียงราย มาสังเกตการณ์อยู่ด้วย

การจัดกระบวนการเรียนรู้ PCA นี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ ๒ สำหรับผู้เขียนได้เข้ามาร่วมสนับสนุนการเรียนรู้ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง (ดูกระบวนการเรียนรู้ครั้งแรก) จริงๆ แล้วทีม Node ปัว ได้จัดกระบวนการเรียนรู้มาแล้วหลายครั้ง นำเอากระบวนการสุนทรียสนทนา(Dialogue) มาเป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกัน เรียกว่าพัฒนาด้าน Soft side ไปสู่ Hard side


ครั้งนี้ CUP เชียงของ เป็นเจ้าภาพในการจัดสถานที่การเรียนรู้ พาทีมงานไปจัดกระบวนการเรียนรู้ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นเชิงดอยตุง ณ ปางสารภีกรีนรีสอร์ท อำเภอแม่จัน เชียงราย เป็นรีสอร์ทที่สวยงามน่าอยู่ และเหมาะกับการเรียนรู้มาก พร้อมการต้อนรับอันอบอุ่นของทีมงานเชียงของ ที่นำโดยพี่น้อย จากรพร.เชียงของ และทีมงาน ขอบคุณจริงๆ ครับ ที่ได้พามาเรียนรู้ท่ามกลางบรรยากาศที่สวยงาม

........................................................................

 

กระบวนการเรียนรู้วันแรก เริ่มด้วยการทักทายต้อนรับจากอบอุ่นจากทีมงาน CUP เชียงของ แล้วผู้เขียนก็ได้เริ่มกระบวนการเรียนรู้ด้วยการชักชวนให้ทุกคนได้นั่งภาวนาแบบมีบทนำ โดยนำการภาวนาของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา มาเป็นบทนำภาวนา จากนั้นได้แจกบัตรคำให้คนละใบเพื่อให้ทุกคนได้เขียนความคาดหวังในการเข้ามาเรียนรู้ในครั้งนี้

...ส่วนใหญ่ต้องการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันและกัน...ได้รู้วิธีการนำเอาเรื่องเล่ามาเขียนเชื่อมโยงกับ PCA...การเขียน PCA ในแต่ละหมวด...

จากนั้นได้เชิญคุณหมอกิติศักดิ์ เกษตรสินสมบัติ ผู้อำนวยการรพร.ปัว โต้โผใหญ่ของทีมกระบวนกร ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์และกระบวนการการเรียนรู้ในครั้งนี้

“....สิ่งที่เราได้เรียนรู้ในแต่ละครั้งล้วนเป็นการเรียนรู้จากของจริง นำเอาเรื่องราวจริง ประสบการณ์จริงเรื่องเล่าดีดีจากการทำงานมาเขียนเป็นเรื่องเล่า กรณีศึกษา แล้วนำมาเชื่อมโยงกับ PCA....การเรียนรู้แต่ละครั้งก็สดใหม่เสมอ ปรับไปตามแต่สถานการณ์จริง ครั้งนี้ก็เช่นกันกระบวนการเรียนรู้ก็จะยึดเอาความต้องการของผู้ร่วมเรียนรู้ แล้วปรับกระบวนการให้เหมาะสม....”

เสร็จแล้วได้ให้แต่ละทีมงานได้แนะนำทีมงานพอให้รู้จักคุ้นเคยกันพอหอมปากหอมคอ

.......................................................................

จากนั้นเป็นการนำเสนอเรื่องเล่าของแต่ละ CUP ๆ ละ ๑๕ นาที เมื่อเล่าจบก็ให้ CUP ที่ได้จับคู่สะท้อนหรือแลกเปลี่ยน ตามด้วยทีมผู้ทรงคุณวุฒิที่มาช่วยเติมเต็ม ทั้งคุณหมอกิตติศักดิ์ ทพญ.มยุเรศ เกษตรสินสมบัติ ทพ.ไพฑูรย์ จากรพ.ญาณสังวร และผู้เขียน เป็นการเติมเต็มจากเรื่องเล่าไปสู่การเชื่อมโยง PCA แต่ละหมวด โดยเน้นไปที่หมวด P, ๓, ๖

 

 

เรื่องเล่าเรื่องแรก เรื่อง “การจัดบริการในชุมชน” โดย รพ.สต.ดอนมูล CUP สูงเม่น เป็นเรื่องของการจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิขึ้นมาใหม่ของรพ.สูงเม่น แล้วนำไปสู่การจัดบริการให้กับคนในเขตชุมชนที่อาจเรียกว่าเป็นชุมชนเมืองแต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการปฐมภูมิพื้นฐานได้ การจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิขึ้นมาทำให้สามารถสร้างงานส่งเสริมป้องกันสุขภาพเชิงรุกและการดูแลผู้ป่วยที่บ้านได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยการทีส่วนร่วมของคนในชุมชนและภาคีเครือข่ายต่างๆ น่าชื่นใจแทนคนดอนมูลจริงๆ ครับ

เรื่องที่สอง “สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่าใจ” โดย รพ.สต.หัวเมือง CUP สอง เป็นเรื่องหมอน้อยๆ รพ.สต.ที่ได้เข้าไปดูแลผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองระยะสุดท้าย ที่ต้องทุ่มเททั้งกาย ใจ ในการเข้าไปดูแลผู้ป่วยระยสุดท้ายที่บ้าน โดยการมีส่วนร่วมของอสม. จิตอาสา และภาคีที่เกี่ยวข้อง นับเป็นการดูแลด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ที่ไม่นิ่งดูดายต่อลมหายใจสุดท้ายของชีวิต เป็นความงามของหมอรพ.สต.ที่น่ายกย่องยิ่งนัก

..............................................................

เรื่องที่สาม “ลมหายใจแห่งชีวิต” โดยรพ.สต.หัวทุ่ง CUP ลอง เป็นการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ที่พัฒนาทั้งระบบการดูแลรักษา การดูแลฟื้นฟูสภาพที่บ้าน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมป้องกันการเกิดโรคในกลุ่มเสี่ยง โดยการนำเอากลุ่มผู้ที่สูบบุหรี่ที่สมัครใจเข้ามาสู่กระบวนการบำบัดในชุมชน โดยใช้มะนาวเป็นตัวช่วยในการลดการใช้นิโคติน ร่วมกับการติดตามกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จัดอย่างต่อเนื่อง จนสามารถทำให้มีผู้เลิกสูบบุหรี่ได้ถึง ๔๒% นับเป็นกระบวนการดูแลผู้ป่วย COPD ทั้งระบบตั้งแต่รพ. รพ.สต. ไปจนถึงชุมชน

 

.......................................................................

เรื่องที่สี่ “การจัดการเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์” โดย รพ.สต.ยอด CUP สองแคว เป็นการวิเคราะห์ปัญหาชุมชนแบบมีส่วนร่วมแล้วนำไปสู่การขับเคลื่อนการลดละเลิกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนที่ทางเดิรยุทธศาสตร์เป็นตัวกำกับทิศทางการทำงาน เกิดมาตรการทางสังคม ๘ ข้อ นำไปสู่การปฏิบัติในชุมชนจนเกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดบุคคลต้นแบบในการเลิกเหล้า

...................................................................

เรื่องที่ห้า “มากกว่าที่เห็น” โดย รพ.สต.อวน CUP ปัว เป็นการดูแลผู้ป่วยความดันโลหิตสูง พิการ ที่ทำให้พยาบาลสาวได้เปลี่ยนทัศนะมุมมองต่อการดูแลผู้ป่วยที่เห็นว่า “สิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากทฤษฎี ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ในชีวิตจริง” เพราะในโลกของความเป็นจริงบริบทและสภาพความเป็นอยู่ของผู้ป่วยแต่ละคนก็แตกต่างกันไป มีเงื่อนไขปัจจัยมากมายในการที่จัดกระบวนการดูแลผู้ป่วย การเข้าใจผู้ป่วยและบริบทของผู้ป่วยแต่ละรายจึงเป็นสิ่งสำคัญของการวางแผนการดูแลผู้ป่วยให้เหมาะสม

...................................................................

เรื่องที่หก “การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในชุมชน” โดย รพ.สต.บญเรือง CUP เชียงของ เป็นการเริ่มจากการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายหนึ่งราย ที่นำไปสู่การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายทั้ง CUP เกิดกลุ่มพระสงฆ์ จิตอาสา และภาคีเครือข่ายมากมายในการเข้ามาช่วยกันดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้ลมหายใจช่วงท้ายของชีวิตมีคุณค่าและความหมาย

...................................................................

การเล่าเรื่องของแต่ละคนมีลีลาที่แตกต่างกันไป ตามสไตล์ของตนเอง แต่ที่เห็นเหมือนกันทุกเรื่องคือ คนเล่ามีความสุข คนฟังปิติสุข มีเสียงหัวเราะเป็นระยะๆ เป็นการสร้างสีสันของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

เรื่องเล่าแต่ละเรื่องจะสามารถเชื่อมโยงไปถึงเกณฑ์คุณภาพ  PCA แต่ละหมวด อาทิ หมวด P คือสภาพบริบทของรพ.สต.และชุมชน ต้นทุนทางสังคมที่มีอยู่ รวมไปถึงสภาพปัญหาที่มีอยู่ที่เป็นความท้าทายของหน่วยบริการปฐมภูมิ แล้วในเรื่องเล่าแต่ละเรื่อก็จะมีตัวละครที่เข้ามาร่วมมีบทบาทในเรื่องหลากหลาย นั่นก็คือ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในหมวดที่ ๓ นั่นเอง ซึ่งก็แตกต่างกันไปตามเรื่อง ตามแต่ละพื้นที่ แล้วกระบวนการดูแลรักษาฟื้นฟู หรือกระบวนการส่งเสริมป้องกันโรคที่ได้ดำเนินการตามเรื่องเล่านั้น ก็เป็นกระบวนการสร้างคุณค่าและกระบวนการสนับสนุนในหมวดที่ ๖ นั่นเอง ว่าแต่ละเรื่องมีกระบวนการอย่างไร ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างไร เป็นกระบวนการ ๑A๔C ตามหลักการให้บริการของหน่วยบริการปฐมภูมินั่นเอง

.........................................................................

กระบวนการเรียนรู้วันแรกก็เป็นไปอย่างสนุกสนานได้ความรู้ที่มาแบ่งปันกัน ช่วงท้ายของวันได้ให้เวลาแต่ละคนได้ไปเที่ยวชมความงามธรรมชาติและจับจ่ายใช้สอยสินค้าพื้นถิ่นเชียงรายและชายแดนพม่าตามแต่ปรารถนา ช่วงค่ำมีอาหารเย็นพร้อมคาระโอเกะพอให้คลายหนาวและสานสัมพันธ์ม่วนชื่นกัน

...........................................................................

วันที่สองของการเรียนรู้ ผู้เขียนเริ่มด้วยการชักชวนกันยืนหลับตาภาวนาด้วยจิตใคร่ครวญไปกับเพลง “ก้อนหินก้อนนั้น” ของโรส ศิรินทิพย์ เพลงดีที่มีความหมาย “...ไม่มีอะไรจะทำร้ายเธอ ถ้าเธอไม่รับมันมาใส่ใจ ถูกเขาทำร้าย เพราะใจเธอแบกรับมันเอง....” ใครจะเป็นอย่างไรไม่สำคัญ สำคัญว่าใจเราเป็นอย่างไร หลายครั้งที่รับเอาคำพูด กิริยาท่าทางของคนอื่น เอามาใส่ใจ นำเอาผัสสะที่เรารับรู้มาปรุงแต่ง แล้วมันก็มาทำร้ายตัวเราเอง

ตามด้วยเรื่องเล่า “เทคนิคการนำความสุขมากระแทกตัว” ของคุณภาวุธในงาน Ignite Thailand มี ๓ เทคนิคง่ายๆ คือ “การอยู่กับปัจจุบัน คิดบวก และพูดดี” เพียงแค่นี้ชีวิตก็จะเป็นสุข

..........................................................................

หลังจากนั้นคุณหมอกิติศักดิ์ ก็ได้ทบทวนการเรียนรู้เมื่อวานแล้วบอกเล่าถึงกระบวนการเรียนรู้ในวันนี้

เริ่มจากให้ รพ.สต.สกาด CUP ปัว โดยคุณพยนต์ อินมณี ได้นำเสนอแบบประเมินตนเองของ รพ.สต.สกาด ตามเกณฑ์ PCA ในหมวด P, 3 , 6 แล้วมาถกแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

“...การทำ PCA ต้องตอบให้ได้ว่าทำเพื่ออะไร ทำเพื่อส่ง หรือทำเพื่อพัฒนาตนเอง ถ้าทำเพื่อส่งเขียนเสร็จมันก็จบ แต่ถ้าทำเพื่อพัฒนาตนเองก็จะเป็นการเรียนรู้และพัฒนาปรับปรุงไปต่อเนื่องไม่มีที่สิ้นสุด...”

“...การทำ PCA ต้องทำด้วยใจ”


ปิดท้ายด้วยการนำเสนอแบบประเมินตนเองของ CUP ปัว โดยคุณกฤษดา พรมวรรณ ในหมวด P, 3 , 6 แล้วมาถกแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเช่นกัน

“...การทำ PCA นั้นง่ายนิดเดียว...” (ที่ง่ายมีนิดเดียว เหลือนั้นยากหมด...ฮา”

โดยแต่ละ CUP ก็จะแลกเปลี่ยนในส่วนของตนเองว่าทำอย่างไร มีอะไรที่แตกต่างกันไป หรือมีอะไรที่ยังไม่เข้าใจ

 

พร้อมให้คุณหมอกิตติศักดิ์ คุณหมอมยุเรศ ได้เติมเต็มว่าจากแบบประเมินแต่ละหมวดยังขาดอะไร ควรเพิ่มเติมอะไร

แก่นของหมวด P คือ รู้จักตัวตนของตนเอง ว่ามีศักยภาพอย่างไร มีต้นทุนอย่างไร เรามีบทบาทหน้าที่อย่างไร มีกำลังคน เครื่องไม้เครื่องมือ ความสามารถ ความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายเป็นอย่างไร กลุ่มประชากรเป้าหมายการทำงานของเราเป็นใคร

รู้ปัญหาและความท้าทายของเรา ว่าสภาพปัญหาสุขภาพของพื้นที่เราเป็นอย่างไร อะไรเป็นปัญหาสำคัญของเรา และมันมีความท้าทายอะไรที่เราต้องการพัฒนา คู่เปรียบเทียบของเราเป็นใคร หรือเราจะวัดรอยเท้าช้างใคร (Benchmark)  

แก่นของหมวด ๓ คือ รู้ว่าใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเรา แล้วเราจะมีวิธีการรับฟังความต้องการของเขาอย่างไร เขาคาดหวังบริการอะไรจากเรา แล้วเรามีวิธีการตอบสนองความต้องการนั้นอย่างไร

รู้ว่าวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเรา และการประเมินความพึงพอใจต่อการให้บริการของเรา

แก่นหมวด ๖ คือ รู้ว่ากระบวนการหลักที่สร้างคุณค่าของเราคืออะไร (ทั้งส่งเสริมป้องกันรักษาฟื้นฟู)แล้วเรามีกระบวนการดำเนินการอย่างไร ตามหลักการ ๑A๔C

รู้ว่ากระบวนการสนับสนุนที่ช่วยให้การดำเนินการตามกระบวนการหลักดำเนินไปด้วยดีมีอะไรบ้าง อย่างไร

ทั้งนี้ในหมวด ๓, ๖ ถ้าจะให้สมบูรณ์ก็ต้องมีการประเมินตนเอง เพื่อกำหนด OFI (Opportunity for improvement) เพื่อให้รู้ว่าเรายังมีจุดอ่อนอะไร ไปกำหนดโอกาสในการพัฒนาตนเอง และแนวทางการพัฒนาตนเอง ก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาที่ต่อเนื่อง

.....................................................................

เสียดายที่เวลาในการจัดกระบวนการเรียนรู้มีน้อย เพราะเราต้องปิดภายในภาคเช้า เพื่อเผื่อเวลาสำหรับการให้เวลาด้านอื่นของชีวิตและการเดินทางกลับ ทำให้วันที่สองมีเวลาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันน้อยมาก

.................................................................................

ก่อนปิดการเรียนรู้ คุณประนอม ผู้รับผิดชอบงานปฐมภูมิ สสจ.เชียงราย และทพ.ไพฑูรย์ ได้กล่าวให้กำลังใจกับทีมงานและผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้

ด้วยเวลาที่เลยเที่ยงมามาก ผู้เขียนจึงจัด AAR แบบ Fast Food โดยแจกกระดาษคนละแผ่น ให้พับเป็น ๔ ช่อง เพื่อให้วาดรูปอารมณ์ความรู้สึกต่อกระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้ เขียนสิ่งที่ได้ตามคาดหวังหรือเกินความคาดหวัง สิ่งที่ไม่ได้ตามที่คาดหวัง และถ้าจะให้ดีกว่านี้ควรทำอย่างไร เป็นการ AAR แบบสั้นที่สุด แต่ก็ได้ประเด็นสำหรับการจัดกระบวนการเรียนรู้ครั้งต่อไป

คุณหมอกิติศักดิ์ ได้กล่าว “....ขอบคุณทุกคนที่ได้เข้ามาร่วมกระบวนการเรียนรู้และมีส่วนเติมเต็มการเรียนรู้ ช่วยทำให้การเรียนรู้มีพลัง ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ได้เสริมกำลังใจกันและกัน ทำให้มีพลังในการที่จะขับเคลื่อนงานต่อไป...การพัฒนาคุณภาพ PCA ไม่มีวันสิ้นสุด แต่ต้องเรียนรู้และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา...”

ปิดท้ายด้วยการถ่ายรูปร่วมกันและล่ำลากันไปด้วยมิตรภาพที่แสนอบอุ่น

...............................................................

ทีมงานเมืองน่านได้แวะไหว้พระธาตุดอยดุง และชมสวนแม่ฟ้าหลวงก่อนเดินทางกลับด้วยพลังที่จะกลับไปสานงานในพื้นที่ต่อไป 

.......................................................................

ขอบคุณทีม CUP เชียงของ และคุณประนอม บัณฑิต รพร.ปัว ที่ช่วยดูแลทุกอย่างและทำให้กระบวนการเรียนรู้ในครั้งนี้เป็นไปด้วยดี

ขอบคุณทุก CUP ที่นำเอาเรื่องราวดีดีมาแบ่งปันกัน

ขอบคุณคุณหมอไพฑูรย์ และทีม QRT เชียงรายที่มาช่วยเติมเต็มความรู้เชิงประสบการณ์

ขอบคุณทุกลมหายใจที่ทำให้ได้มีวันเวลาดีดีของชีวิต

หมายเลขบันทึก: 471575เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2011 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท