เมื่อครู/นักเรียนโรงเรียนวัดกิ่งแก้ว สอบธรรมศึกษา 16 ธันวาคม 2554


                วันนี้ 16 ธันวาคม 2554 เป็นครั้งแรกที่ไปสอบธรรมศึกษา ในระดับชั้นตรี ส่วนครูและนักเรียนก็มีไปสอบ ในระดับที่สูงขึ้นไป คือธรรมศึกษาโท และเอกค่ะ

                ธรรมศึกษาเป็นการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ ที่ส่งเสริมให้ชาวพุทธ ได้เรียนรู้พระพุทธศาสนา

                ตอนแรกก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าคืออะไร

                เข้าไปดูในเว็บพบข้อมูลเกี่ยวกับประวัติธรรมศึกษาว่า 

                “แต่เดิมการจัดการศึกษา “นักธรรม” ให้แก่พระภิกษุสามเณร เมื่อลาสิกขาออกไป ก็สามารถรับราชการเป็นครูสอนตามโรงเรียนต่างๆ เมื่อมีการสอบเลื่อนวิทยฐานะครู ผู้สอบได้ประโยคนักธรรมก็ได้รับสิทธิพิเศษ โดยได้รับการยกเว้นโดยไม่ต้องสอบ ๑ ชุดวิชา เพราะประโยคนักธรรมชั้นตรีจัดเป็นชุดวิชาหนึ่งสำหรับการเลื่อนวิทยฐานะ


[สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ผู้ให้กำเนิดธรรมศึกษา]

                สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ (16 ธันวาคม พ.ศ. 2402 - 25 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เห็นว่า การศึกษานักธรรมก็เป็นประโยชน์แม้แก่ผู้ที่มิใช่ภิกษุสามเณร โดยเฉพาะในหมู่ข้าราชการครู ดังนั้น จึงอนุญาตให้ครูทั้งหญิงและชายเข้าสอบประโยคนักธรรมชั้นตรีในสนามหลวงได้ โดยได้ตั้งหลักสูตรประโยคนักธรรมสำหรับฆราวาส เรียกว่า "ธรรมศึกษาตรี" ซึ่งประกอบด้วยวิชาที่ต้องสอบเช่นเดียวกันกับหลักสูตรนักธรรมชั้นตรีสำหรับภิกษุสามเณร ยกเว้นวิชาวินัยบัญญัติ ใช้เบญจศีล เบญจธรรม และอุโบสถศีลแทน  ธรรมศึกษาตรี เปิดสอบครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2472 ปรากฏว่ามีฆราวาสทั้งชายและหญิงสมัครสอบกันเป็นจำนวนมาก  นักธรรมชั้นโท เริ่มใน พ.ศ.2473  และธรรมศึกษาเอกสอบ ใน พ.ศ.2478 นับเป็นการส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนาให้กว้างขวางยิ่งขึ้น [ที่มา : http://www.oocities.org/watplub และ ประวัติการศึกษาพระพุทธศาสนาในประเทศไทย, หน้า 158.)

                                ………………………………

          โดยการสอบในปีนี้ก็มีนักเรียน และครู ของโรงเรียนวัดสลุด โรงเรียนวัดบางฉโลงใน โรงเรียนวัดกิ่งแก้ว เป็นต้น ที่สนใจส่งเชื่อเข้าสอบ ธรรมศึกษา ในระดับชั้น “ตรี-โท-เอก” ตามลำดับชั้น โดยทางฝ่ายจัดการสอบ แบ่งสถานที่สอบ 2 แห่ง คือ

  1. ระดับธรรมศึกษาตรี  สอบที่บนศาลาการเปรียญ วัดกิ่งแก้ว
  2. ระดับธรรมศึกษาโท และธรรมศึกษาเอกสอบที่ห้องเรียน โรงเรียนวัดกิ่งแก้ว

                วิชาที่สอบมี 4  วิชา คือ

                1. วิชาเรียงความแก้กระทู้ธรรม  หรือวิชา ขอเรียกว่า “เรียงความวิชาธรรมะ”  โดยโจทย์จะให้พุทธศาสนสุภาษิต ที่เราได้ยินทางทีวีบ่อยหลังข่าว ช่อง 7 บ่อย ๆ   มา  1 ประโยค แล้วให้เราแต่งเป็นเรียงความพร้อม ยกพุทธศาสนสุภาษิตมาเชื่อมอีก 1 ประโยค เรียกว่า เรียงความแก้กระทู้ธรรม  ใช้วิธีการเรียงความให้ได้ความตามประโยคต้น และเชื่อมด้วยประโยคที่สอดรับ ให้ได้ความ เรียกว่า กว่าจะเขียนได้ “เหงื่อ” หยดเหมือนกันค่ะ

                สำหรับวิชานี้สอบตั้งแต่ 8.30 น. – 11.30 น. ให้เวลา 3 ชั่วโมงในการเขียน เป็นวิชาแรก


[หนังสือเรียงความแก้กระทู้ธรรม สำหรับธรรมศึกษาชั้นตรี]

                2. วิชาธรรมวิภาค  ออกข้อสอบเป็น ปรนัย ให้เลือกกากบาทเช่นกัน จำนวน ๕๐ ข้อ เนื้อหาเกี่ยวกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่เป็นระดับเบื้องต้น หรือระดับ ธรรมศึกษาตรี 

                สอบเวลา 13.00 น. ใช้เวลา 50 นาที เรียกว่า ให้กากบาทนาทีละ  1 ข้อ ส่วนใครจะใช้เวลาน้อยกว่านั้นก็ไม่ว่ากัน แต่เด็กส่วนใหญ่เท่าที่สังเกตก็ทำกันได้ดี เพราะสอบแว๊บ ๆ เดียวออกกันเกือบหมด คงถนัดการกากบาท และผสมกับมีความรู้จึงสอบกันได้ด้วยความรวดเร็ว


[หนังสือธรรมะ สำหรับธรรมศึกษาชั้นตรี]

                วิชาต่อมาคือ

                3.วิชาพุทธประวัติ  ออกเป็น ปรนัย ใช้เลือกข้อสอบเป็นแบบกากบาท จำนวน 50 ข้อ เนื้อหาเกี่ยวกับประวัติของพระพุทธเจ้า ศาสดาผู้ให้กำเนิดพระพุทธศาสนา

                สอบเวลา 14.00 น.  สอบไปก็มี “จิ้ม” เอาเหมือนกันค่ะ  เรียกว่า เวลาข้อละ 1 นาทีไม่พอเสียแล้ว ก็ผ่านไปด้วยดี เป็นวิชาที่มีลุ้นอีกเช่นกันค่ะ


[ตำราเรียนพุทธประวัติ สำหรับธรรมศึกษาตรี]

                4. วิชาเบญจศีลเบญจธรรม (วินัย) เป็นเป็นวิชาประยุกต์หลักศีลธรรมให้เข้ากับกับดำเนินชีวิต หรือหลักควรปฏิบัติของชาวพุทธ ที่เรียกว่า ปัญจศีล ปัญจธรรม  หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่า ศีล 5 ธรรม 5 มีข้อสอบแบบปรนัยให้กากบาท จำนวน 50 ข้อ เช่นเดียวกัน


[หนังสือวิชาเบญจศีลเบญจธรรม ธรรมศึกษาชั้นตรี]

                สอบเวลา 15.45 น.  เรียกว่าเสร็จตามเวลา แต่ไม่โสภาเหมือนวิชาที่สอบ อย่างไรก็ต้องรอว่าจะมีผลอย่างไร แต่ในฐานะเป็นผู้สอบเองก็ต้องว่า “ตุ๊บๆต๊อม ๆ” อยู่เหมือนกัน เพราะเคยแต่ไล่นักเรียนเข้าห้องสอบ และห่างเหินการสอบมานานพอสมควร  ก็ต้องต้องบอกว่ารอติดตามผลกันตอนต่อไป

 
[บรรยากาศการห้องสอบธรรมศึกษาตรี บนศาลาการเปรียญวัดกิ่งแก้ว สมุทรปราการ]

          ส่วนใครอยากสนใจอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับการสอบนักธรรมแวะเข้าไปศึกษา/ชมได้ที่เว็บ “สำนักงานแม่กองธรรม” ค่ะ http://www.gongtham.net/my_data/history_gongtham/index.php ประวัติสมเด็จพระสังฆราช http://mahamakuta.inet.co.th/buddhism/somdet/somdet11.htm

หมายเหตุ : ขอบคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต

ปิยะดา แพรดำ  บันทึกเล่าเรื่อง
ห้องสมุดโรงเรียนวัดกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ

หมายเลขบันทึก: 471523เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2011 19:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท