งานวิจัยเรื่อง ปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เป็นการเลือกตั้งทั่วไป) พ.ศ. 2554 ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสมุทรปราการ


บทคัดย่อ

การศึกษาเรื่อง ปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (เป็นการเลือกตั้งทั่วไป) พ.ศ. 2554 ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสมุทรปราการ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัดสมุทรปราการ ตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ และข้อกำหนดเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รวมทั้งศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสมุทรปราการในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดสมุทรปราการ และเปรียบเทียบระดับความสำคัญการใช้สิทธิเลือกตั้ง จำแนกตามปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคลของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ประชากรและกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ประกอบด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสมุทรปราการ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสมุทรปราการ  หัวหน้างาน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดสมุทรปราการ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 1-7  และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมจำนวนทั้งสิ้น  519  คน เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามปลายเปิด แบบสอบถามแบบ Check list และแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า และแบบปลายเปิด วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ F-test   แล้วนำเสนอในรูปตารางประกอบบรรยาย

       ผลการศึกษาพบว่า ประเด็นที่เป็นปัญหาอุปสรรคมากของการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งนี้คือ  

  1. ความพร้อมของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (สนง.กกต.) ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งนี้ มีค่อนข้างน้อย 
  2. คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง (กกต.เขต) มีความรู้และประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้งค่อนข้างน้อย 
  3. ระยะเวลาปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง มีค่อนข้างน้อย
  4. ค่าตอบแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง และกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งค่อนข้างต่ำ  
  5. โปรแกรมรวมคะแนนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีความยุ่งยาก ไม่สะดวก และการแก้ไขข้อมูลยุ่งยาก ทำให้เสียเวลามาก 
  6. การร้องเรียนไม่ดำเนินไปตามกฎหมาย ระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

       ผู้ศึกษาใคร่ขอเสนอแนะแนวทาง 7 ประเด็น ที่จะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรและหน่วยงาน  ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งแต่เนิ่นๆ โดยจัดอบรมสัมมนาเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการจัดการเลือกตั้ง และผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ ข้อกำหนด และแนวทางในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้ดำเนินไปทิศทางเดียวกัน โดยเน้นการอบรมเชิงปฏิบัติการ ทั้งนี้เพื่อให้พัฒนาการจัดการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดเตรียมคู่มือการปฏิบัติงานให้พร้อมด้วย
  2. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรขึ้นกำหนดค่าตอบแทนคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ให้สูงขึ้นเพียงพอกับภารกิจในการปฏิบัติงาน และเพิ่มค่าพาหนะแก่ กกต.เขต  ขึ้นค่าตอบแทนกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.)  เป็นวันละ 500 บาท เท่ากับค่าตอบแทนของการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ซึ่งจะทำให้มีประชาชนสนใจสมัครมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีผู้สนใจสมัครเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง มีค่อนข้างน้อย
  3. คณะกรรมการการเลือกตั้งทุกระดับ ควรรณรงค์ประชาสัมพันธ์ประชาธิปไตยและการเลือกตั้งให้มีความเข้มข้น มุ่งให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ มีทัศนคติ และจิตสำนึกที่ดี และมีความตระหนักเห็นความสำคัญของการเลือกผู้แทนที่ดีเข้าสู่สภาและทราบผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเลือกผู้แทนที่ไม่ดี โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุ 46 ปีขึ้นไป และกลุ่มที่มีการศึกษาชั้นประถมศึกษาให้มากขึ้น เนื่องจากประชาชนกลุ่มดังกล่าวไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยกว่าทุกกลุ่ม รวมทั้งประชาสัมพันธ์ทางสื่อโทรทัศน์มากกว่าสื่ออื่นๆ เพราะประชาชนส่วนใหญ่สนใจชอบดูโทรทัศน์ทุกครัวเรือน 
  4. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรบริหารงานด้านธุรการ การเงิน ให้มีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยเฉพาะการบริหารการเงินของ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง (กกต.เขต) ไม่มีอิสระในการดำเนินงาน เกิดความไม่คล่องตัว ดังนั้นควรโอนงบประมาณทั้งหมดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินงานเอง โดยกำหนดกรอบการใช้งบประมาณ และให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเป็นผู้ควบคุมกำกับและตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง  เพื่อให้การดำเนินงานมีความโปร่งใส และตรวจสอบได้
  5. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ควรแก้กฎหมายการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่น ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีคุณสมบัติในการไปใช้สิทธิเลือกตั้งให้เหมือนกัน จะทำให้การทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งครบถ้วนถูกต้อง จะไม่ทำให้รายชื่อผู้มีสิทธิตกหล่นเป็นจำนวนมากเหมือนกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งนี้ และไม่ทำให้ประชาชนไม่สับสน
  6. การลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด ควรจัดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงทะเบียนในแต่ละครั้งที่มีการเลือกตั้ง เนื่องจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางคนย้ายไปอยู่ที่อื่น ทำให้ไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในจังหวัดที่ไปทำงานหรืออยู่ที่ใหม่ได้
  7. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  ควรยกเลิกโปรแกรมรวมผลคะแนน เนื่องจากโปรแกรมรวมคะแนนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีความยุ่งยาก ไม่สะดวก และการแก้ไขข้อมูลยุ่งยาก  เมื่อใช้กับคอมพิวเตอร์ที่ต่าง Version  คอมพิวเตอร์จะไม่รับโปรแกรมนั้น  และควรให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดดำเนินการเอง ซึ่งสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่า
หมายเลขบันทึก: 471517เขียนเมื่อ 16 ธันวาคม 2011 16:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท