แนวทางชนะความทุกข์ (2)


เมื่อจิตสะอาด สงบเย็น ไม่หงุดหงิด ไม่หลับไหล ไม่วิตกกังวลกับสิ่งใด แสดงว่าสมาธิกำลังเกิดขึ้นในจิต

 

9. ครั้นกำหนดจิตด้วยการนับจนประสบการณ์พอสมควรแล้ว ท่านก็จะรู้สึกว่า จิตนั้นสะอาด สงบเย็น ไม่หงุดหงิด ไม่หลับไหล ไม่วิตกกังวลกับสิ่งใด นั่นแหละคือสัญญลักษณ์ที่แสดงว่าสมาธิกำลังเกิดขึ้นในจิต

10. เมื่อจิตสงบเย็น ไม่หงุดหงิดเช่นนั้นแล้ว อย่าหยุดนิ่งเฉยเสีย ให้ท่านเริ่มน้อมจิตเพื่อพิจารณาเรื่องราวต่างๆ ต่อไป ถ้ามีปัญหาชีวิต หรือปัญหาใดๆ ที่กำลังทำให้ท่านเป็นทุกข์กลัดกลุ้มอยู่ ก็จงน้อมจิตเข้าไปคิดนึกพิจารณาปัญหา ด้วยความสุขุมรอบคอบ ด้วยความมีสติ

11. จงยกเอาปัญหานั้นขึ้นมาพิจารณาว่า ปัญหานี้มันมาจากไหน  มันเกิดขึ้นเพราะอะไร  เพราะอะไรท่านจึงหนักใจกับมัน  ทำอย่างไรที่ท่านจะสามารถแก้ไขมันได้  ทำอย่างไรท่านจึงจะเบาใจและไม่เป็นทุกข์กับมัน

12. การพิจารณาอยู่ด้วยจิตสงบอย่างนี้ การถามหาเหตุผลกับตัวเองอย่างนี้ จิตของท่านมันจะค่อยๆ รู้เห็น และเกิดความนึกคิดรู้สึกฉลาดขึ้นมาโดยธรรมชาติของมัน จิตจะสามารถเข้าใจต้นสายปลายเหตุของปัญหาต่างๆ ได้อย่างชัดเจนและถูกต้อง นักปฏิบัติจึงต้องพยายามพิจารณาปัญหาต่างๆ อย่างนี้เรื่อยไป หลังจากที่จิตสงบแล้ว

13. ในกรณีที่ยังไม่มีปัญหาความทุกข์เกิดขึ้น หลังจากที่ทำจิตให้สงบเป็นสมาธิแล้ว จงพยายามคิดหาหัวข้อธรรมะหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งมาพิจารณา เช่น ยกเอาชีวิตของตัวเองมาพิจารณาว่า มันมีความมั่นคง  จีรังยั่งยืนอะไร เพียงไหน ท่านจะได้อะไรจากชีวิตคือร่างกายและจิตใจนี้ ท่านจะอยู่ไปในโลกนี้นานเท่าไหร่  เมื่อท่านตาย ท่านจะได้อะไร  ให้พยายามถามตัวเองเช่นนี้อยู่เสมอ

14. หรือท่านอาจจะน้อมจิตไปสำรวจการกระทำของตัวเองเท่าที่ผ่านมา พิจารณาดูว่า ท่านได้ทำประโยชน์อะไรให้แก่ส่วนรวมหรือไม่ หรือท่านได้ทำอะไรผิดพลาดไปบ้างและตั้งใจว่า ต่อไปนี้ท่านจะไม่ทำสิ่งผิด จะไม่พูดสิ่งที่ไม่ดี  ที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนและไม่สบายใจ  ท่านจะพูดจะทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่โลกนี้ ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ของชีวิตของท่านเอง

15. จงเข้าใจว่า เป้าหมายที่ถูกต้องของการฝึกสมาธินั้น คือท่านจะฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบจากอารมณ์ภายนอกชั่วระยะเวลาหนึ่ง เมื่อจิตสงบเป็นสมาธิแล้ว จิตนั้นจะมีกำลังและมั่นคง สภาวจิตเช่นนั้นเองที่มันจะมีความพร้อมในการที่จะรู้ จะเข้าใจปัญหาต่างๆ หรือสิ่งต่างๆ ที่แวดล้อมตัวท่านอยู่ได้อย่างถูกต้องตามเป็นจริง

16. สรุปว่า ท่านจะฝึกสมาธิเพื่อเรียกกำลังจิตจากสมาธินั้นไปพัฒนาความคิดนึก หรือความรู้สึกของท่านให้ถูกต้อง ซึ่งความรู้สึกคิดนึกที่ถูกต้องนั้น แท้จริงแล้วก็คือ "ปัญญา" นั่นเอง

อิสระ

หมายเลขบันทึก: 471377เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2011 12:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

รู้และเข้าใจถึงเหตุเสมอ แต่ไม่สามารถจะสงบจิตของตนเองได้ พาลให้คิดในเรื่องที่ไม่ค่อยจะสบายใจอยู่บ่อย ๆ ค่ะ ทำไงต่อดี

คุณโลมาน้อยครับ ลองฝึกปฏิบัติไปเรื่อยๆ อย่าท้อถอยครับ ทุกอย่างจะเข้าที่ครับ อย่าลืมอ่านทุกตอนด้วยนะครับ ผมขอเป็นกำลังใจให้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท